วันจันทร์ที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

เซ็นทรัลผุดห้างแห่งแรกในอินโดฯควัก600ล.รับเออีซีพร้อมเปิดปี'57


           นายทศ จิราธิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เซ็นทรัลรีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทได้ลงนามเซ็นสัญญากับบริษัท พีที แกรนด์ อินโดนีเซีย ที่กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย เพื่อเช่าพื้นที่ฝั่งตะวันออกของศูนย์การค้า แกรนด์ อินโดนีเซีย ช็อปปิ้งคอมเพล็กซ์ ระดับไฮเอนด์ ใจกลางกรุงจาการ์ตาจำนวน 4 ชั้น รวมพื้นที่ทั้งสิ้น 21,000 ตารางเมตร (ตร.ม.) ใช้เงินลงทุนกว่า 600 ล้านบาท เพื่อตอบรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี ปี 2558 

"เหตุที่เลือกอินโดนีเซียเนื่องจากเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่สุด มีจำนวนประชากรมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เฉพาะกรุงจาการ์ตามีประชากรมากถึง 10 ล้านคน" นายทศกล่าว และว่า ถือเป็นห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลสาขาแรกในอาเซียน กำหนดเปิดให้บริการภายในปี 2557 และตั้งเป้าขยายสาขารวม 5 แห่ง ทั้งกรุงจาการ์ตาและเมืองสุราบายา ภายในปี 2560 

นายทศกล่าวว่า ได้แต่งตั้งนายอลัน ทอมป์สัน เป็น International Business DirectorSoutheast Asia ดูแลการขยายธุรกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่วนสาขาที่ศูนย์การค้าแกรนด์ อินโดนีเซีย บริษัทจะแต่งตั้งผู้จัดการสาขาชาวอินโดนีเซีย เพื่อให้สะดวกต่อการบริการลูกค้าและการติดต่อกับหน่วยงานในท้องถิ่น และเปิดโอกาสให้ผู้มีความรู้ความสามารถจากเมืองไทยได้มีประสบการณ์การทำงานในตลาดแรงงานนานาชาติด้วย 
ที่มา : มติชน

วันอาทิตย์ที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

กรอ.อนุมัติ1.8หมื่นล.ลงทุนถนน8จว.อีสาน


          กรอ.ไฟเขียวงบ 1.8 หมื่นล้าน ยกเครื่องเส้นทางโลจิสติกส์ 8 จังหวัดภาคอีสานตอนล่าง 12 โครงการ ยกระดับสนามบินอุบลฯ เป็นศูนย์กลางการบินในอินโดจีนรองรับเออีซี ใช้งบ 360 ล้านบาท ปรับปรุงรันเวย์-อาคารผู้โดยสาร
          นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) เมื่อวานนี้ (29 ก.ค.) ว่า ที่ประชุมซึ่งมีนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เห็นชอบตามข้อเสนอของคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เพื่อส่งเสริมการพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง รวม 8 จังหวัด คือ ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ยโสธร ศรีสะเกษ อำนาจเจริญ และ อุบลราชธานี โดยข้อเสนอ 3 ด้าน คือ การส่งเสริมการค้าการลงทุน การพัฒนาโครงข่ายคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และส่งเสริมการท่องเที่ยวและบริการ
          สำหรับโครงการส่งเสริมการค้าและการลงทุนของภูมิภาค คือ 1.โครงการนครราชสีมา เมืองศูนย์กลางเศรษฐกิจใหม่ในอนุภูมิภาค วงเงิน 20 ล้านบาท โดยกรมโยธาธิการและผังเมือง จะเป็นผู้ศึกษาร่วมกับ กกร. และ 2.โครงการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษอุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตรชายแดน ที่ อ.กาบเชิง จ.สุรินทร์ โดย การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) จะศึกษาร่วมกับตัวแทน กกร.
          ด้าน นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า โครงการพัฒนาระบบคมนาคมทางถนนมี 12 โครงการ วงเงินลงทุน 1.86 หมื่นล้านบาท เช่น โครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 304 สาย อ.กบินทร์บุรี-อ.ปักธงชัย 2,420 ล้านบาท โครงการขยายช่องทางจราจร จ.สุรินทร์ 3 เส้นทาง เพื่ออำนวยความสะดวกเชื่อมโยงระหว่างจังหวัดกับประเทศเพื่อนบ้าน 2,556 ล้านบาท โครงการก่อสร้างวงแหวนรอบเมือง จ.นครราชสีมา ตอน 2 ระยะทาง 92 กิโลเมตร (กม.) 4,600 ล้านบาท โครงการพัฒนาเส้นทางคมนาคม จาก อ.เสนางคนิคม-อ.ชานุมาน จ.อำนาจเจริญ ระยะทาง 50 กม. 2,000 ล้านบาท 
          โครงการปรับปรุงช่องทางจราจร เส้นทางหมายเลข 2201 บ้านนาเจริญ-บ้านละลม-บ้านแซร์ไปร์ อ.ภูสิงห์-ช่องสะงำ จ.ศรีสะเกษ เชื่อมโยงไปยังประเทศเพื่อนบ้าน 4,400.58 ล้านบาท โครงการเชื่อมผืนป่ามรดกโลกทางหลวงหมายเลข 304 ช่วงที่ 1 และ 2 วงเงินรวม 2,500 ล้านบาท โครงการขยายเส้นทางจราจรทางหลวงหมายเลข 205 โนนไทย-หนองบัวโคก ระยะทาง 31 กม. วงเงิน 1,000 ล้านบาท 
          สำหรับโครงการที่ได้รับอนุมัติจาก ครม. ก่อนหน้านี้ วงเงิน 3,100 ล้านบาทให้ดำเนินการได้ทันที ส่วนงบประมาณอีก 1.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งยังไม่ได้รับการจัดสรร ที่ประชุมให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จัดลำดับความสำคัญโครงการที่จะใช้งบประมาณจาก พ.ร.บ.เงินกู้เพื่อก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานของประเทศวงเงิน 2 ล้านล้านบาท 
          นอกจากนั้น ที่ประชุมยังเร่งรัดการสร้างรถไฟทางคู่อีก 3 เส้นทาง เพื่อลดต้นทุนของผู้ประกอบการ คือ 1.แก่งคอย-บัวใหญ่ ระยะทาง 220 กม. 2.ชุมทางจิระ-อุบลราชธานี ระยะทาง 309 กม. และ 3.
ขอนแก่น-หนองคาย ระยะทาง 172 กม. โดยจะก่อสร้างในปี 2558-2568 
          ทั้งนี้ ที่ประชุมเสนอให้พัฒนาโครงข่ายคมนาคมทางอากาศ โดยยกระดับท่าอากาศยานอุบลราชธานีเป็นศูนย์กลางการบินอินโดจีน ซึ่งกรมการบินพลเรือน (บพ.) จะใช้งบประมาณ 360 ล้านบาท ในปี 2557-2559 ปรับปรุงอาคารผู้โดยสารและทางวิ่ง เพื่อรองรับการเป็นศูนย์กลางการบินอินโดจีน และผลักดันให้เที่ยวบินและสายการบินต่างประเทศในอินโดจีนมาใช้บริการ และทำการบินไปยังเมืองสำคัญในภูมิภาค รองรับการค้าการลงทุน และการท่องเที่ยวหลังการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในปี 2558
          สศช.จะจัดลำดับโครงการ เพื่อใช้งบ พ.ร.บ.เงินกู้ก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ

พาณิชย์เสริมแกร่ง'ร้านถูกใจ'อัดหมู-ไข่ราคาถูกดึงผู้บริโภค


             พาณิชย์แก้ปัญหาหมู-ไข่ล้นตลาด ส่งขายผ่านร้านถูกใจกับโครงการธงฟ้า ขายปลีกหมูเนื้อแดงชำแหละ กก. 85 บาท ไข่ไก่เบอร์ 2 แค่ฟองละ 2.50 บาท 25 จังหวัดนำร่อง "วัชรี วิมุกตายน" เผยกรมการค้าภายในพัฒนาเว็บไซต์ของกรมใหม่ ผู้บริโภคสามารถดูตำแหน่งที่ตั้งพร้อมเบอร์โทรศัพท์ร้านถูกใจที่เปิดบริการได้แล้ว
          นางวัชรี วิมุกตายน อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า กรมได้เชื่อมโยงเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่ นำไข่ไก่ราคาถูกจำหน่ายผ่านร้านถูกใจ เริ่มต้นตั้งแต่เดือนสิงหาคมนี้เป็นต้นไป โดยไข่ไก่เบอร์ 2 จำหน่ายปลีกในราคาฟองละ 2.50 บาท ในพื้นที่นำร่อง 10 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ สุพรรณบุรี กาญจนบุรี นนทบุรี ปทุมธานี สระบุรี สิงห์บุรี ชัยนาท นครสวรรค์ และระยอง เพื่อเป็นการเพิ่มช่องทางการจำหน่าย และช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกร ผู้เลี้ยงไก่ไข่ที่ประสบปัญหาผลผลิตล้นตลาด หลังจากกรมการค้าภายในได้จัดกิจกรรมรณรงค์บริโภคไข่ไก่มาอย่างต่อเนื่อง
          นอกจากนี้ ยังจัดโครงการเนื้อหมู ธงฟ้า โดยให้ผู้เลี้ยงสุกร ผู้ประกอบการนำเนื้อหมูคุณภาพดีจัดจำหน่ายเนื้อหมู ธงฟ้า ในราคาจำหน่ายเนื้อหมูตัดรวมหนัง กก.ละ 75 บาท และหมูเนื้อแดง สะโพก ไหล่ กก.ละ 85 บาท ในพื้นที่นำร่อง 25 จังหวัด 34 แห่ง ได้แก่ เชียงใหม่ อุทัยธานี นครสวรรค์ ลำพูน เพชรบูรณ์ สกลนคร ร้อยเอ็ด อุบลราชธานี 
ขอนแก่น อุดรธานี ลพบุรี ชัยนาท นนทบุรี พระนครศรีอยุธยา นครนายก ชลบุรี นครปฐม เพชรบุรี นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี กระบี่ ยะลา ระยอง พังงา สงขลา และส่วนกลางจำหน่ายที่หน้ากระทรวงพาณิชย์ หน้ามหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และกระทรวงสาธารณสุข โดยจำหน่ายนำร่องเป็นเวลา 2 สัปดาห์ เริ่มตั้งแต่สัปดาห์ที่ 4 ของเดือนกรกฎาคมศกนี้
          นางวัชรีกล่าวว่า การเพิ่มช่องทางจำหน่ายไข่ไก่ในร้านถูกใจ และการจำหน่ายหมูธงฟ้า นอกจากจะเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรแล้ว ยังเป็นการเพิ่มสินค้าให้แก่ร้านถูกใจ ทำให้ประชาชนมีโอกาส เข้าถึงสินค้าได้สะดวกยิ่งขึ้น โดยเฉพาะชาวบ้านในชนบทได้มีโอกาสจับจ่ายใช้สอยสินค้าคุณภาพดี ราคาถูกโดยไม่ต้อง เสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปซื้อสินค้าในตัวเมือง และช่วยลดภาระค่าครองชีพประชาชนได้
          นอกจากนี้ กรมการค้าภายในได้พัฒนาเว็บไซต์ของกรมการค้าภายใน www.dit.go.th เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถดูตำแหน่งที่ตั้งร้านถูกใจที่เปิดให้บริการแล้วได้สะดวกยิ่งขึ้น ซึ่งปัจจุบันได้ดำเนินการในพื้นที่กรุงเทพมหานครแล้ว และอยู่ระหว่างการดำเนินการจัดทำตำแหน่งที่ตั้งร้านถูกใจให้ครบทั่วประเทศ โดยสามารถคลิกเมนูด้านข้าง หัวข้อ ตำแหน่งร้านถูกใจในกรุงเทพฯ ซึ่งจะมีตำแหน่งแผนที่จริงแสดงตำแหน่งร้านถูกใจ โดยจะมีรายละเอียดชื่อร้านถูกใจ ที่อยู่ และเบอร์โทรศัพท์อีกด้วย
          "ปัจจุบันกรมได้มีการพัฒนาระบบสั่งซื้อและจัดส่งสินค้าให้แก่ร้านถูกใจ ทำให้การดำเนินการจัดส่งสินค้าให้แก่ร้านถูกใจเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ"
          รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์แจ้งว่า สถานการณ์ไข่ไก่ล่าสุดผลผลิตไข่ไก่ ล้นตลาดมากถึงวันละ 5-6 ล้านฟอง จากช่วงก่อนหน้าที่ล้นตลาดอยู่ที่วันละ 1-2 ล้านฟองเท่านั้น เพราะแม่พันธุ์ที่นำเข้าเสรีในช่วงก่อนหน้านี้เริ่มให้ผลผลิตเต็มที่แล้ว ส่งผลให้เกษตรกรขายไข่ได้ราคา ถูกลง โดยเฉพาะรายย่อยที่ถูกกดราคารับซื้ออย่างหนัก ทั้งที่กรมได้กำหนดราคาแนะนำขายไข่คละ (หน้าฟาร์ม) ที่ฟองละ 2.20 บาท อย่างไรก็ตามกรมได้หาแนวทางช่วยเหลือเกษตรกร เพื่อผลักดันผลผลิตส่วนเกินออกไปประเทศเพื่อนบ้านให้มากขึ้น รวมถึงจะนำมาขายราคาถูกตามตลาดต่าง ๆ เพิ่มขึ้น ส่วนเรื่องที่จะให้กระทรวงเกษตร และสหกรณ์ ทบทวนนโยบายการนำเข้า พ่อแม่พันธุ์ไก่แบบเสรีนั้น ได้พยายามแจ้งไปหลายครั้งแล้ว แต่ยังไม่ได้รับการตอบสนอง
          ส่วนสถานการณ์ราคาเนื้อหมู ล่าสุดได้ประกาศราคาแนะนำจำหน่ายปลีกหมูเนื้อแดง ประจำวันที่ 18-25 ก.ค.นี้ โดยมีราคาเท่ากับสัปดาห์ที่แล้ว โดยในเขตกรุงเทพฯ ภาคกลาง ตะวันออก และตะวันตก ไม่เกิน กก.ละ 114 บาท ภาคเหนือ และตะวันออกเฉียงเหนือ ไม่เกิน กก.ละ 119 บาท ภาคใต้ ไม่เกิน กก.ละ 124 บาท ยกเว้นเนื้อสุกรราคาพิเศษ เช่น เนื้อหมูอนามัย เนื้อปลอดสาร ส่วนราคาหมูเป็นหน้าฟาร์มในกรุงเทพฯ ภาคกลาง ตะวันออก และตะวันตก ไม่ต่ำกว่า กก.ละ 59 บาท ภาคเหนือ และตะวันออกเฉียงเหนือ ไม่ต่ำกว่า กก.ละ 63 บาท จากเดิม 61 บาท และภาคใต้ ไม่ต่ำกว่า กก.ละ 65 บาท
          นอกจากนี้ ราคาขายส่งหมูชำแหละ (หมูซีก) กรุงเทพฯ ภาคกลาง ตะวันออก และตะวันตก ไม่เกินกว่า กก.ละ 71 บาท ภาคเหนือ และตะวันออกเฉียงเหนือ ไม่เกิน กก.ละ 75 บาท และภาคใต้ ไม่เกิน กก.ละ 77 บาท ขณะที่ราคาขายส่งชิ้นส่วนหมูเนื้อแดง (เนื้อสะโพก เนื้อไหล่) กรุงเทพฯ ภาคกลาง ตะวันออก และตะวันตก ไม่เกิน กก.ละ 99 บาท ภาคเหนือ และตะวันออกเฉียงเหนือ ไม่เกิน กก.ละ 104 บาท และภาคใต้ ไม่เกิน กก.ละ 109 บาท
ที่มา : ประชาชาติธุรกิ

วันศุกร์ที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ไตรพร็อพเพอตี้ลุยเหนือ-ใต้-อีสาน


นายชัยวัฒน์ ตันติวิวัฒน์ ประธานกรรมการบริหารด้านการเงินและการลงทุน บริษัท ไตร พร็อพเพอตี้ จำกัด ทายาทธุรกิจเหมืองแร่ทางภาคใต้ของไทย เปิดเผยว่า หลังจากบริษัทประสบความสำเร็จจากการขายและเตรียมโอนคอนโดมิเนียมในโครงการพราว และพราว เอ็กซ์ทู แจ้งวัฒนะ รวมมูลค่ากว่า 600 ล้านบาท ซึ่งแผนการดำเนินงานของบริษัทในช่วง 1-2 ปีจากนี้ เตรียมรุกตลาดคอนโดมิเนียมและทาวน์เฮาส์ 4-5 โครงการ แบ่งเป็นกรุงเทพฯ 1-2 โครงการ ส่วนที่เหลืออยู่ในหัวเมืองธุรกิจในต่างจังหวัด อาทิ ภูเก็ต, หาดใหญ่-สงขลา, สุราษฎร์ธานี, ขอนแก่น ตลอดจนเชียงใหม่ ซึ่งบริษัทมีที่ดินรองรับอยู่แล้วมูลค่ารวมไม่น้อยกว่า 2 พันล้านบาท โดยขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมแผนด้านเงินลงทุนเพื่อขยายโครงการคอนโดมิเนียมต่อเนื่องอีกอย่างน้อย 1 โครงการในปลายปี จากล่าสุดได้เปิดการขายโครงการซีเคป คอนโดมิเนียม (ZCAPE Condominium) บนทำเลใกล้ลากูน่า อ.ถลาง จ.ภูเก็ต สูง 7 ชั้น 198 ยูนิต มูลค่าโครงการ 495 ล้านบาท เป็นห้องชุดพร้อมตกแต่งเฟอร์นิเจอร์เสร็จ ราคาขายเริ่มที่ 1.19 ล้านบาท หรือราคาตร.ม.เฉลี่ย 60,000 บาท ซึ่งเปิดการขายไปแล้วเมื่อกลางเดือนก.ค.ที่ผ่านมา ล่าสุดมียอดจองแล้ว 140 ยูนิต หรือราว 70%
          สำหรับแนวโน้มการพัฒนาที่ดินในจ.ภูเก็ต จากนี้เติบโตได้อีกมาก แต่ต้องยอมรับว่าวิกฤตเศรษฐกิจยุโรปที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ ส่งผลให้นักท่องเที่ยวยุโรปลดน้อยลง และมีนักท่องเที่ยวจากอินเดีย สแกนดิเนเวีย และรัสเซีย เข้ามาทดแทน ซึ่งพฤติกรรมการใช้จ่ายเปลี่ยนไป โดยใช้จ่ายน้อยลง มองหาที่พักราคาถูกเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้คอนโดมิเนียมระดับล่างเริ่มเป็นที่สนใจของคนไทยที่ต้องการซื้อเพื่อการลงทุน
   ที่มา : ข่าวสด

ททท.รุกลาวขายทะเลตะวันออก


               เมื่อวันที่ 26 ก.ค. นายบริสุทธิ์ ประสพทรัพย์ ผู้อำนวยการภูมิภาคภาคตวันออก การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า ปัจจุบัน สปป.ลาว มีประชากรอยู่ประมาณ 7 ล้านคน โดย 5% หรือประมาณ 200,000 คน คือกลุ่มคนที่เริ่มมีกำลังจับจ่ายสูง และมักเดินทางมาพักผ่อนยังประเทศไทย โดยเฉพาะที่เมืองพัทยา จ.ชลบุรี โดยพฤติกรรมนักท่องเที่ยวจากลาวจะนิยมขับรถมากันเองแบบครอบครัว ส่วนใหญ่มาจากเมืองหลวงคือเวียงจันทน์ รองลงมาได้แก่แขวงสะหวันนะเขต และ เมืองปากเซ แขวงจำปาสัก ช่วงที่เดินทางเข้ามามากสุด จะเป็นช่วงเทศกาลผลไม้ระหว่างเดือนเมษายนกรกฎาคม ของทุกปี
          เนื่องจาก "ภาคตะวันออกมีถนนเชื่อมกับภาคอีสานหลายเส้นทาง และยังมีสินค้าเด่น ๆ และสถานที่ท่องเที่ยวอีกมากมาย เช่น หาดทรายชายทะเล สวนผลไม้ และแหล่งท่องเที่ยวประเภทบันเทิง ทำให้คนในภาคอีสานรวมถึงเพื่อนบ้าน สปป.ลาว เริ่มให้ความสนใจกันมากขึ้นผู้ประกอบการในพื้นที่เองต้องการที่จะบุกเจาะตลาดด้านนี้ ก่อนจะเปิดประตูการค้าเสรีอาเซียน ททท.จึงได้จัดนำผู้ประกอบการจาก 7 จังหวัดในพื้นที่ภาคตะวันออก 180 คน ไปบุกตลาด เริ่มจาก จ.นครราชสีมาขอนแก่น
-อุบลราชธานี-เมืองปากเซ แขวงจำปาสัก โดยสินค้าที่นำไปเสนอขาย มีทั้งจากทะเลและสวนผลไม้ ถนนอัญมณี จันทบุรี กิจกรรมล่องแก่งเรือยาง จ.ปราจีนบุรี สำหรับบรรยากาศของการซื้อขายธุรกิจท่องเที่ยว ที่โรงแรมจำปาสัก แกรนด์ เมืองปากเซ นั้นมีผู้ประกอบการในพื้นที่ และจากแขวงสะหวันนะเขต รวมกว่า 40 รายที่สนใจเข้าร่วมงาน สร้างความคึกคักให้กับบรรดาผู้ประกอบการทั้งสองประเทศ" นายบริสุทธิ์ กล่าว.
ที่มา : เดลินิวส์

วันอังคารที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

เซเว่น-โลตัสแห่ยึดพื้นที่อีสานขยายสาขา


ห้างค้าปลีกในพื้นที่ภาคอีสานแข่งดุ ทั้งเซเว่น - โลตัสเบียดกันขยายสาขา ชี้แนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง เหตุนโยบายรัฐเอื้อทุนต่างชาติ เอกชนท้องถิ่นแนะกระจายสู่ชายแดนรองรับอาเซียน
          นายทวิสันต์ โลณานุรักษ์ เลขาธิการหอการค้าภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เปิดเผยว่า ภาวะค้าปลีก ในภาคอีสานถ้ามองในภาพของค้าปลีกรายใหญ่เติบโตมาก ขณะที่ท้องถิ่นและรายย่อยหดตัวและหายไปจากระบบในอัตราที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากขณะนี้ เซเว่นและโลตัสเอ็กซ์เพรส แทบจะเรียกได้ว่าแข่งขันกันแค่ 2 เจ้า สร้างเบียดกันแทบทุกพื้นที่ ไปที่ไหนร้านค้าย่อยตายเป็นแถบๆ
          การเข้ายึดกำลังซื้อย่อยของคนอีสานหรือแม้แต่คนไทยทั้งหมดตอนนี้เป็นความเคยชินไปแล้วสำหรับเซเว่น-อีเลฟเว่นและโลตัสเอ็กซ์เพรส ที่มีโปรโมชั่นเบียดกันทุกอย่างแม้แต่จ่ายค่าน้ำค่าไฟที่หั่นราคาสู้กันร้านค้าปลีกย่อยที่ยังพอมีบ้างก็ต้องอาศัยร้านค้าปลีกยักษ์ใหญ่ โลตัส บิ๊กซี แม็คโคร ทำให้ยักษ์ใหญ่ไม่กี่เจ้าครองตลาดค้าปลีกในประเทศอย่างแท้จริงลงโฆษณาครองหน้าสื่อของยักษ์ใหญ่ค้าปลีกแค่ของโลตัสบิ๊กซีก็กินพื้นที่ไปหลายหน้าแล้วในแต่ละวันเรียกได้ว่าสองเจ้านี้เข้าไปอยู่แทบทุกวงการแล้ว
          นายทวิสันต์ กล่าวว่า นโยบายเอื้อต่างชาติของรัฐบาลเป็นอันตรายต่อผู้ประกอบการคนไทย โดยเฉพาะผู้ประกอบการท้องถิ่น จะเห็นว่าขณะนี้ มีห้างค้าปลีกทุกแบรนด์ไปลงที่จังหวัดมุกดาหาร ทั้งที่มีกำลังซื้อแค่ 3 แสนคน  เนื่องจากเห็นว่ามุกดาหารจะสามารถรองรับลูกค้าประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งนโยบายของภาครัฐ ไม่สร้างโอกาสให้คนไทยเป็นเจ้าของ แต่ส่งเสริมให้เป็นลูกจ้าง
          "ตอนนี้ผมกำลังเตรียมผลักดัน เรื่องการ จัดตั้งสหกรณ์ผู้ค้าปลีก เพื่อสร้างอำนาจต่อรองและสร้างความเข้มแข็งสู้กับค้าปลีกยักษ์ใหญ่และให้ค้าปลีกย่อยท้องถิ่นสามารถดำรงอยู่ได้"
          นายนริศ จรรยานิทัศน์  เลขาธิการชมรม ผู้ค้าปลีกและผู้ประกอบการอาชีพอิสระ จังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า  ภาวะค้าปลีกในพื้นที่ขอนแก่นส่วนใหญ่อยู่ที่ที่ห้างค้าปลีกรายใหญ่เกือบ 100% แล้ว อย่างไรก็ตาม  ปัจจุบันกำลังซื้อโดยรวมค่อนข้างทรงตัว โดยเฉพาะช่วงครึ่งปีหลัง อาจเป็น เพราะคนซื้อระมัดระวังการใช้จ่าย เพราะการเมืองไม่นิ่ง ขณะที่แนวโน้มการแข่งขันสูงจะเห็นว่ามีการก่อสร้างเพิ่มขึ้นหลายพื้นที่ ทั้งบิ๊กซี โลตัส เช่น เส้นทางไปชุมแพ  น้ำพอง
          "ผู้ประกอบการท้องถิ่นแย่ไปตามๆ กัน ในขอนแก่นค้าปลีกที่ยังมีลมหายใจอยู่ไม่กี่ราย เช่น สหสินและอาร์เอส เพราะมีการปรับตัว เรื่องนี้ กรมพัฒนาธุรกิจการค้าพยายามดึงให้ผู้ประกอบการทั้งปลีกย่อยปลีก รวมตัวกัน ส่วนร้านค้าย่อยในเมืองขอนแก่นตอนนี้แทบหายไปหมดแล้ว ตอนนี้ตัวเลขจีดีพีของเมืองของขอนแก่นดูเหมือนดี แต่กระจุกอยู่ที่กลุ่มทุนไม่กี่กลุ่ม แค่ตัวเลขดี ถ้าวันไหนยักษ์ใหญ่ค้าปลีกไม่กี่รายจับมือกัน ประชาชนก็ตายแล้ว"
          นายนริศ ยังแสดงความเห็นด้วยกับการจัดตั้งสหกรณ์ค้าปลีก ซึ่งเป็นองค์กรที่เห็นว่าน่าจะเข้มแข็งและถูกต้องที่สุด หากว่ามีการผลักดันขึ้นมาตนก็เชื่อว่าจะมีผู้ประกอบการเป็นแนวร่วมไม่น้อย และจะสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้ค้าปลีกท้องถิ่นได้อยู่รอดและสู้กับยักษ์ใหญ่ได้เช่นเดียวกับห้างค้าปลีกของต่างประเทศเช่นที่เกาหลีก็ประสบความสำเร็จจากระบบสหกรณ์เช่นกัน
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ

สนข.เล็งเปิดรางให้เอกชนวิ่งหาเงินป้อนร.ฟ.ท.


สนข.คิดนอกกรอบ เตรียมเปิดทางให้เอกชนเช่ารางและโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆของการรถไฟฯนำไปบริการเดินรถเพื่อการขนส่งสินค้าและผู้โดยสาร เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าด้านการลงทุนของภาครัฐและกระตุ้นให้เกิดการแข่งขัน เผยอาจเปิดทางเอกชนลงขันตั้งบริษัทร่วมลงทุนจัดหารถและโบกี้ นำร่องภาคอีสานก่อนขยายเส้นทางอื่นๆ ในระยะต่อไป
          ดร.จุฬา สุขมานพผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ" ว่าเตรียมผลักดันให้มีการต่อยอดแผนการพัฒนาองค์กรการรถไฟแห่งประเทศไทยโดยเฉพาะโครงการที่เกิดจากการใช้งบประมาณ 1.7 แสนล้านบาทซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรื่องการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานไม่ว่าจะเป็นรางหมอน ระบบอาณัติ สัญญาณหรือการจัดซื้อหัวรถจักรใหม่ให้การเดินทางสะดวกรวดเร็วมีความปลอดภัยมากขึ้น
          โดยแนวคิดดังกล่าวเตรียมเปิดทางให้เอกชนที่มีศักยภาพด้านการจัดซื้อหัวรถจักรและโบกี้ขนสินค้ามาเช่ารางที่การรถไฟฯจัดสร้างขึ้นและโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆให้บริการเดินรถทั้งเพื่อการขนส่งสินค้าและผู้โดยสารเพื่อให้เกิดความคุ้มค่าด้านการลงทุนที่รัฐบาลจัดสรรงบประมาณให้มากถึง 1.7 แสนล้านบาท โดยเอกชนที่สนใจอาจลงทุนเองหรือร่วมลงทุนจัดหาหัวรถจักรพร้อมจัดซื้อโบกี้-แคร่ขนสินค้าเองเนื่องจากเห็นว่าหากเข้าสู่กระบวน การของการรถไฟฯจัดซื้อจัดหาก็จะเกิดความล่าช้าเช่นที่ผ่านมาจนส่งผลให้ผลประกอบการของการรถไฟฯไม่เป็นไปตามแผน
          "เล็งเห็นว่าการรถไฟฯควรเร่งปรับการบริหารจัดการเพื่อรองรับการเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ควรเน้นเชิงรุกมากกว่าจะตั้งรับ โดยเฉพาะการรุกสู่กลุ่มประเทศเพื่อนบ้านของไทย โดยรางและโครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่ควรนำมาใช้ประโยชน์ให้เกิดความคุ้มค่าสร้างรายได้ให้การรถไฟฯมากกว่านี้ แนวทางหนึ่งคือการเปิดตลาดรถไฟด้านการขนส่งสินค้าด้วยภาคเอกชนมาลงทุนมากกว่าจะเปิดทางให้มาเลเซียหรือสิงคโปร์ที่ในอนาคตเมื่อเปิดเสรีเออีซีจะเป็นการแข่งขันกันได้การรถไฟไทยจึงต้องเร่งปรับตัวรับการแข่งขันจากภายนอกตั้งแต่วันนี้ โดยแนวทางต่อมาจะเกิดผลให้ต้องมีการเพิ่มบุคลากรเพื่อป้อนเข้าสู่ตลาดรถไฟในหน้าที่ต่างๆโดยไม่ไปแก่งแย่งคนที่มีอยู่เดิม โดยสวัสดิการในส่วนภาคเอกชนเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด"
          ผอ.สนข.กล่าวอีกว่าในเบื้องต้นมีแนวคิดหารือกับภาคเอกชนในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ต้องการเป็นผู้นำร่องเพราะมีความโดดเด่นด้านพื้นที่ที่มีปริมาณสินค้าป้อนเข้าสู่ระบบการขนส่งจำนวนมากอีกทั้งมีนักลงทุนที่มีศักยภาพหลายๆคนที่มีความสนใจจะลงทุนด้านโลจิสติกส์การขนส่งด้วยระบบรางของรัฐบาล
          "ในช่วงแรกจะทำเป็นโซนเพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงสู่ท่าเรือแหลมฉบังให้มากขึ้น โดยเฉพาะจุดใหญ่ที่
ขอนแก่นซึ่งพบว่าศักยภาพของผู้ประกอบการด้านการขนส่งสินค้าภาคเอกชนในพื้นที่ภาคอีสาน  หลายคนมีความพร้อมขอเพียงรัฐบาลและการรถไฟฯมีความชัดเจนด้านนโยบายเท่านั้นโดยอาจมีการลงทุนร่วมกัน ส่วนการรถไฟฯรับรายได้จากค่าเช่าราง พร้อมทำหน้าที่อำนวยความสะดวกให้เกิดความคุ้มค่าด้านการลงทุนเพื่อให้ได้รับสวัสดิการและผลประกอบการที่ดีขึ้นกลับคืนมาในที่สุด โดยจะได้มีการหารือกับผู้เกี่ยวข้องและภาคเอกชนพร้อมผลักดันให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป"
ที่มา : ฐานเศรษฐกิจ

วันอาทิตย์ที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ชูลุยท่อส่งน้ำมันเหนือ-อีสานเซฟพลังงาน25ปี4.2หมื่นล้าน



             ปตท.ลุยศึกษาโปรเจ็กต์สร้าง "ท่อส่งน้ำมัน" เหนือและอีสาน 958 กม. เซฟต้นทุนพลังงานอนาคตมหาศาลกว่า 4.2 หมื่นล้าน ลดงบฯซ่อมแซมถนน และก๊าซเรือนกระจก
          นายวีระพล จิรประดิษฐกุล อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) เปิดเผยว่า ได้ว่าจ้างสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยศึกษาแนวทางลงทุนโครงการสร้างท่อขนส่งน้ำมันไปภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือส่วนต่อขยายจังหวัดสระบุรี เบื้องต้นจะพัฒนาความยาว 958 กม. แบ่งเป็นการสร้างท่อส่งน้ำมันไปยังลำปาง 613 กม. และ จะสร้างคลังน้ำมันเส้นทางนี้อีก 2 แห่ง ที่พิษณุโลก กับลำปาง

          ในเส้นทางตะวันออกเฉียงเหนือจะวางท่อส่งน้ำมันจากคลังน้ำมันสระบุรีไขอนแก่น ความยาว 345 กม. ใช้งบฯ 15,237 ล้านบาท แบ่งเป็นระบบท่อส่งน้ำมัน 8,854 ล้านบาท คลังจ่ายน้ำมัน 4,374 ล้านบาท อื่น ๆ 2,009 ล้านบาท ตามแผนหากก่อสร้างและใช้ประโยชน์จากโครงการนี้สำเร็จจะเป็นช่องทางหลักสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้ทั้ง 2 ภาค โดยจะประหยัดพลังงานในอีก 25 ปี คิดเป็นมูลค่า 42,000 ล้านบาท ประหยัดค่าซ่อมแซมรถบรรทุกน้ำมันได้ 19,500 ล้านบาท ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 530 ล้านบาท และลดค่าใช้จ่ายการบำรุงรักษาถนนได้อีกเป็นอย่างมาก
          ทำให้ราคาน้ำมันสำเร็จรูปในพื้นที่ปลายท่อลดลง 20-30 สตางค์/ลิตร เมื่อเทียบกับการขนส่งด้วยรถบรรทุกขนาดกลาง ซึ่งขนส่งน้ำมันจากกรุงเทพฯไปเชียงใหม่ จะมีต้นทุน 66 สตางค์/ลิตร หากเป็นรถสิบล้อ 1.20 บาท/ลิตร และยังเฉลี่ยราคาน้ำมันให้เท่ากันได้ทั้งประเทศด้วย
          "โครงการนี้จะได้ข้อสรุปจากผลการศึกษาของสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยอีก 1-2 เดือน จากนั้นจึงนำเสนอปลัดกระทรวงพลังงานนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) และเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป เมื่อได้รับอนุมัติจะต้องใช้เวลาก่อสร้างอีก 4-5 ปี โดยต้องศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและต้องทำประชาพิจารณ์จากชุมชนที่ท่อส่งน้ำมันผ่าน
          ส่วนแนวทางการลงทุนมีหลายรูปแบบ อาจเป็นการลงทุนระหว่างรัฐกับเอกชน หรือเอกชน หรือรัฐลงทุนฝ่ายเดียวก็ได้ การบริหารจัดการควรจะ มีเพียงบริษัทเดียวจัดการโครงสร้างท่อส่ง น้ำมันและคลังทั้งหมด ควรเป็นหน้าที่ของบริษัท ท่อส่งปิโตรเลียมไทย จำกัด (แทปไลน์) ผู้บริหารท่อส่งน้ำมัน คลังน้ำมัน จากกรุงเทพฯไปสระบุรี หรือหากแทปไลน์ไม่อยากลงทุนเพิ่มก็ให้เอกชนรายอื่นก่อสร้าง แล้วว่าจ้างแทปไลน์บริหาร"
          นายวีรพลกล่าวว่า ขณะนี้ยังได้จัดทำแผนสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์ 90 วัน โดยสั่งการให้ผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 เพิ่มการสำรองน้ำมันจาก 5% เป็น 6% หรือ 36 วัน เป็น 43 วัน ตามมติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ขณะนี้มีโรงกลั่น 1 ราย คือ บริษัท สตาร์ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (เอสพีอาร์ซี) ยื่นขอผ่อนผันเพิ่มการสำรองตามกฎหมาย ระบุไม่มีคลังน้ำมันรองรับ แต่ ธพ.จะพิจารณาอนุญาตเป็นราย ๆ ไป
          ขณะที่การสำรองน้ำมันของภาครัฐ อยู่ระหว่างศึกษาวิธีการและจัดตั้งองค์กรเฉพาะด้านมาบริหารจัดการ โดยศึกษาตัวอย่างในต่างประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ซึ่งภาครัฐต้องลงทุนไปซื้อน้ำมันมาสำรองส่วนที่เหลือราว 1 แสนล้านบาท เมื่อคำนวณจากน้ำมันดิบ 100 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ส่วนการสร้างคลังอีก 30,000-40,000 ล้านบาท จะเป็นรัฐหรือเอกชนลงทุนก็ได้
          ด้านนายพีระพงษ์ อัจฉริยชีวิน รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ได้ทำสัญญาระยะสั้นเพื่อจัดซื้อก๊าซธรรมชาติ (LNG) ระหว่างปี 2556-2557 จากกาตาร์ ปี 2558 จะทำสัญญาซื้อระยะยาวเพื่อความมั่นคงของประเทศ ครั้งละ 2 ล้านตัน
          แต่ขณะนี้ ปตท.ยังไม่มีแผนจะสร้างคลังเก็บก๊าซแอลเอ็นจีใหม่ เพราะคลังที่ระยองระยะ 1 และ 2 กำลังจะเสร็จเร็ว ๆ นี้ มีความจุ 10 ล้านตัน เพียงพอในการจ่ายให้กับโรงไฟฟ้าแห่งใหม่แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (PDP 2010) ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 3
ทีมา : ประชาชาติธุรกิจ

"ไทวัสดุ"ติดปีกปรับเป้าเพิ่ม


ซีอาร์ซี สปีดอัพร้านไทวัสดุ ปรับเป้าเปิดใหม่เพิ่มเป็น12 สาขาปีนี้ ด้วยงบทุนกว่า 4,000-8,000 ล้านบาท ดันรายได้เพิ่มเท่าตัวลั่นปีหน้าปูพรมเปิดอีก 10 สาขา ยันโฮมเวิร์คยังไปได้ดี เผยรายได้ปีนี้รวม12,000 ล้านบาท
          นายสุทธิสาร จิราธิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ซีอาร์ซี เพาเวอร์รีเทล จำกัด ผู้บริหาร ร้านโฮมเวิร์คและร้านไทวัสดุ และ บริษัท เพาเวอร์บายจำกัด ผู้บริหารร้านเพาเวอร์บาย ในเครือเซ็นทรัล เปิดเผยว่า บริษัทฯได้ปรับเป้าหมายการขยายสาขาร้านไทวัสดุใหม่ในปีนี้เป็น 12 สาขา จากเดิมที่วางไว้เมื่อต้นปีว่าจะเปิดสาขาใหม่ 10 สาขา
          ทั้งนี้ แค่ช่วงครึ่งปีแรกปีนี้สามารถเปิดไปได้แล้ว  8 สาขา ที่
ขอนแก่น หาดใหญ่ ชะอำ ลพบุรีจันทบุรี อุบลราชธานี เชียงใหม่ ร้อยเอ็ดล่าสุดเปิดที่สุพรรณบุรี ซึ่งมั่นใจว่าครึ่งปีหลังที่เหลือนี้จะเปิดสาขาเพิ่มมากกว่าเดิมแน่นอน โดยล่าสุดเตรียมเปิดสาขาใหม่ที่กาญจนบุรี ฉะเชิงเทราระยอง
          "ปีนี้ร้านไทวัสดุ เติบโตเร็วมากทั้งในแง่ยอดขายและการขยายสาขาใหม่ ซึ่งเดือนมีนาคมเดือนเดียวปีนี้เราเปิดมากถึง 4 สาขา ส่วนเดือนมิถุนายนเดือนเดียวเราเปิดมากถึง3 สาขา ซึ่งเป็นเพราะตลาดให้การยอมรับร้านไทวัสดุอย่างมาก รวมไปถึงเราได้ทำเลที่ดีที่สามารถเปิดได้จำนวนมากเราก็เลยเปิดได้เร็วขึ้น ซึ่งทุกวันนี้เราเป็นร้านวัสดุรูปแบบรีเทลโมเดิร์นเทรดรายใหญ่ในตลาดแล้ว" นายสุทธิสารกล่าว
          ปัจจุบันร้านไทวัสดุมีสาขาประมาณ19 สาขา จากสิ้นปีที่แล้วมีเพียง 10 สาขาหลังจากเปิดบริการมาเพียง 3 ปีเท่านั้นเอง เริ่มต้นสาขาแรกที่บางบัวทองในเดือนมกราคมปี 2553 และคาดว่าสิ้นปีนี้จะมีสาขารวมทั้งสิ้น 22 สาขาแน่นอน
          ส่วนปีหน้าบริษัทฯ ก็ยังมีแผนขยายสาขาเพิ่มอีกต่อเนื่อง เพื่อให้ครอบคลุมความต้องการทุกพื้นที่อย่างต่ำ10 สาขาใหม่ ซึ่งงบลงทุนเฉลี่ย 400-800 ล้านบาทต่อสาขา หรือต้องใช้งบประมาณ ไม่ต่ำกว่า 4,000-8,000 ล้านบาท ใกล้เคียงกับงบประมาณลงทุนปีนี้เช่นกัน
          นายสุทธิสารกล่าวถึงในส่วนของร้านโฮมเวิร์คด้วยว่า บริษัทฯยังคงให้ความสำคัญเช่นกัน เพราะเป็นร้านที่มีกลุ่มเป้าหมายแตกต่างกันกับร้านไทวัสดุโดยโฮมเวิร์คจะเน้นไปที่กลุ่มเอนด์ยูสเซอร์หรือเจ้าของบ้านที่ซื้อสินค้ามาตกแต่งเอง แต่ร้านไทวัสดุเน้นไปที่กลุ่มผู้รับเหมาเป็นหลัก
          โดยปีหน้าวางแผนที่จะเปิดสาขาใหม่ของโฮมเวิร์คไม่ต่ำกว่า 2-5 สาขาแต่ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับทำเลด้วยว่าจะมีทำเลที่ดีและหาได้หรือไม่ ปัจจุบันมีร้านโฮมเวิร์คเปิดบริการแล้ว 7 สาขา คือภูเก็ต พัทยา ราชพฤกษ์ พระรามสองรังสิต รัตนาธิเบศร์ เพชรเกษม ส่วนปีนี้ยังไม่มีการเปิดสาขาใหม่แต่อย่างใด
          สำหรับผลประกอบการปีนี้ แบ่งเป็นร้านไทวัสดุ คาดว่าจะมีรายได้ประมาณ9,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวจากปีที่แล้วที่มีรายได้ประมาณ 5,000 ล้านบาท   ส่วนร้านโฮมเวิร์คคาดปีนี้มีรายได้3,600 ล้านบาท รวมแล้วปีนี้คาดว่าทั้งบริษัทฯจะมีรายได้รวม 12,000 ล้านบาทซึ่งอาจจะมากกว่าเป้าหมายรายได้ปีนี้ที่ตั้งไว้ตั้งแต่ต้นปีที่ 10,000 ล้านบาทเนื่องจากร้านไทวัสดุเติบโตดีมาก
          ล่าสุดบริษัทฯจัดงาน "โฮมเวิร์คเอ็กซ์โป" ครั้งที่ 3 ระหว่างวันที่ 2-13 สิงหาคม ที่ไบเทค คาดมีรายได้รวม600 ล้านบาท ขณะที่ใช้งบลงทุนจัดงาน120 ล้านบาท ซึ่งปีนี้พิเศษมากขึ้นโดยมีห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลและท็อปส์ซูเปอร์มาร์เก็ตเข้าร่วมงานด้วยเป็นครั้งแรก และมีชิงโชครางวัลใหญ่แพกเกจเที่ยวเกาหลี
ที่มา : ASTVผู้จัดการรายวัน

วันพฤหัสบดีที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

เฮเฟเล่ เตรียมบุกตลาดภาคอีสานเปิดศูนย์กระจายสินค้า ณ จ.ขอนแก่น ตั้งเป้าส่งต่อสินค้าและบริการครบทุกภูมิภาค พร้อมรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558


ปีนี้เฮเฟเล่ พร้อมเติบโตอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดบอสใหญ่อย่าง มร. โฟลเคอร์ เฮลสเติร์น กรรมการผู้จัดการ บริษัท เฮเฟเล่ (ประเทศไทย) จำกัด เตรียมบุกตลาดภาคอีสาน เปิดศูนย์กระจายสินค้า แห่งที่ 3 ในประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ณ จ.ขอนแก่น ในวันศุกร์ที่ 20 กรกฎาคมนี้ เวลา 17.00 — 21.00 น. โดยมุ่งหวังเป็นศูนย์กลางในการขนส่งสินค้าและอำนวยความสะดวกให้แก่เหล่าพันธมิตร ซัพพลายเออร์ และลูกค้า ทั้งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภูมิภาคอื่นๆ อย่างทั่วถึง ด้วยพื้นที่ทั้งหมดกว่า 2.2 ไร่ และพื้นที่คลังสินค้า 900 ตร.ม. ขอบอกเลยว่า อัดแน่นไปด้วยโปรดักส์คุณภาพเยี่ยมนานาชนิดจากเฮเฟเล่ ที่พร้อมส่งถึงมือคุณ แหม !...เอาใจลูกค้าด้วยคุณภาพและบริการทั่วไทยขนาดนี้ ดูท่าทางปีนี้ยอดขาย 3 พันล้านคงไม่ไกลเกินเอื้อมแล้วละมั้ง
ที่มา : RYT 9

ศูนย์กลางแฟชั่นผ้าไหมอีสาน





สมบัติ ตรีวัฒน์สุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น เป็นประธาน งานแถลงข่าว "มหัศจรรย์ผ้าไหมไทย เทิดไท้องค์ราชินี" ในโครงการ ส่งเสริมให้จังหวัดขอนแก่นป็นศูนย์กลางแฟชั่นผ้าไหม โดยมี ชาม-ไอยวริญท์ โอสถานนท์ อดีตมิสไทยแลนด์ยูนิเวิร์สประจำปี พ.ศ.2549 และนางแบบชื่อดัง โย-ยศวดี หัสดีวิจิตร รวมถึงตัวแทนดีไซเนอร์ที่ร่วมออกแบบเสื้อผ้า ที่จะมาโชว์ในงานซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 27-29 กรกฎาคม ที่จังหวัดขอนแก่น ณ โรงแรม เซ็นทาราแอนด์คอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ จ.ขอนแก่น วันก่อน
ที่มา : แนวหน้า

วันพุธที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

SIRIผุด14คอนโดฯใหม่ครึ่งปีหลัง


            ถ.พระราม 1 : "แสนสิริ" เผยยอดขายคอนโดฯรวมครึ่งปีแรก 12,000 ล้านบาท สูงสุดในธุรกิจอสังหาฯไทย ครึ่งปีหลังเตรียมเปิดอีก 14 โครงการใหม่ มูลค่ารวม 16,000 ล้านบาท มั่นใจตลาดคอนโดฯอยู่ในช่วงขาขึ้น
          นายอุทัย อุทัยแสงสุข รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส สายงานพัฒนาธุรกิจและพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียม บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) หรือ SIRI เปิดเผยว่า ในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้บริษัทประสบความสำเร็จจากการเปิดตัวคอนโดมิเนียมโครงการต่างๆไปแล้วจำนวนทั้งสิ้น 13 โครงการ มูลค่าโครงการรวม 12,300 ล้านบาท สามารถสร้างยอดขายได้แล้ว 12,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 65% จากเป้าหมายยอดขายพรีเซลทั้งปีที่ตั้งไว้ 19,000 ล้านบาท ซึ่งนับว่าสูงที่สุดในกลุ่มผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในขณะนี้ จากแผนงานเปิดตัวคอนโดฯใหม่ที่ตั้งเป้าไว้จำนวน 27 โครงการ มูลค่ารวมกว่า 28,000 ล้านบาท
          สำหรับแผนการเปิดตัวคอน- โดฯในช่วงครึ่งหลังปี 2555 บริษัทจะเปิดโครงการใหม่อีก 14 โครง การ มูลค่าโครงการรวมประมาณ 16,000 ล้านบาท โดยจะทยอยเปิดตัวในกรุงเทพมหานครและหัวเมืองต่างจังหวัด อาทิ หัวหิน ภูเก็ต ขอน- แก่น เขาใหญ่ และพัทยา เป็นต้น โดยบริษัทตั้งเป้ายอดขายพรีเซล ในช่วงครึ่งปีหลังไว้ที่ 7,000 ล้านบาท คาดว่าจะได้ตามเป้าที่ตั้งไว้ที่ 19,000 ล้านบาท
          ด้านภาพรวมตลาดคอนโดฯในครึ่งปีหลังมองว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ชัดเจนมากในส่วนของคอนโดฯที่ไม่ได้เติบโตเฉพาะในกรุงเทพฯและ ปริมณฑล แต่กลับขยายตัวไปยังจังหวัดเศรษฐกิจหลักทั่วประเทศด้วย โดยเฉพาะในตลาดต่างจังหวัด แสนสิริถือเป็นผู้ประกอบการที่เข้า ไปทำตลาดให้คึกคักยิ่งขึ้นในทุกพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นหัวหิน ภูเก็ต หรือในอนาคตที่เชียงใหม่ 
ขอนแก่น และพัทยา ซึ่งบริษัทวางแผนที่จะพัฒนาโครงการในพื้นที่ดังกล่าวในระยะยาวเช่นเดียวกับในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล
          ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์ตลาด โดยรวมพบว่าปัจจุบันมีผู้ประกอบการรายใหญ่ขยายการพัฒนาโครง การไปตามจังหวัดเศรษฐกิจด้วยเช่นกัน เพื่อดูดซับกำลังซื้อที่เพิ่มปริมาณ มากขึ้น ทั้งคนในพื้นที่และกลุ่มคนที่ย้านถิ่นฐานไปทำงาน เชื่อว่าภายในปลายปีนี้ราคาคอนโดฯที่เกิดขึ้นใหม่จะขยับราคาขายเพิ่มขึ้นตามกระแสความต้องการของตลาด
ที่มา : โลกวันนี้

ค้าวัสดุอีสานระอุแข่งลงทุนหมื่นล. บิ๊กแบรนด์-เจ้าถิ่นซัดกันนัว27สาขาคลุม11จังหวัด


ตลาดค้าวัสดุก่อสร้างภาคอีสานระอุ โมเดิร์นเทรดบิ๊กแบรนด์แห่ถมงบฯ ผุด 27 สาขา คลุมพื้นที่ 11 จังหวัดกำลังซื้อสูง มูลค่าลงทุนรวม 1.26 หมื่นล้าน "โฮมโปร-โกลบอลเฮ้าส์-ไทวัสดุ" รวมกัน เปิด 23 สาขา ล่าสุดน้องใหม่ "เฮเฟเล่" จากเยอรมนี ยึดหัวหาดขอนแก่นผุดศูนย์กระจายสินค้ารับ AEC
          ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" สำรวจความเคลื่อนไหวกลุ่มผู้ประกอบการ "ศูนย์ค้าวัสดุ" แบบโมเดิร์นเทรดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) พบว่า ขณะนี้มีผู้เล่นหลัก ๆ 5 ราย ประกอบด้วย โฮมโปร สยามโกลบอลเฮ้าส์ ไทวัสดุ ดูโฮมในเครืออุบลวัสดุ ล่าสุดมี เฮเฟเล่ จากประเทศเยอรมนี ที่เข้าไปเปิดศูนย์กระจายสินค้าเป็นครั้งแรก เบ็ดเสร็จมีการเปิดสาขาไปแล้วกว่า 27 สาขา ใช้งบฯลงทุนรวมประมาณ 12,580 ล้านบาท ลักษณะการเปิดสาขาส่วนใหญ่จะเน้นไปที่จังหวัดใหญ่ที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจและกำลังซื้อ รวมทั้งการขยายตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ในพื้นที่ (ดูตารางประกอบ)
          สยามโกลบอลฯแข่งชิงพื้นที่นายวิฑูร สุริยวนากุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.สยามโกลบอลเฮ้าส์ เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ปัจจุบันบริษัทได้ขยายสาขาครอบคลุมพื้นที่ภาคอีสานเกือบหมดแล้ว และยังมองหาที่ดินเพื่อสร้างสาขาใหม่เพิ่มเติม โดยเน้นจังหวัดที่อยู่ติดกับประเทศเพื่อนบ้านเป็นหลักเพื่อรองรับการเปิดเสรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี ล่าสุดปลายปีนี้เตรียมเปิดสาขาใหม่ที่ จ.มุกดาหาร บนที่ดิน 25-30 ไร่ งบฯลงทุนประมาณ 300-400 ล้านบาท
          "ศักยภาพตลาดค้าวัสดุในภาคอีสานมีอัตราเติบโตต่อเนื่องไม่แพ้ภูมิภาคอื่น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจและราคาพืชผลเกษตรที่ดีขึ้น ทำให้กำลังซื้อเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ยอดขายของบริษัทในภาคนี้โตไม่ต่ำกว่าปีละ 10% ซึ่งปี 2554 มียอดขายรวม 8,000 ล้านบาท เป็นยอดขายภาคอีสาน 40-50%" นายวิฑูรกล่าว
          เฮเฟเล่ยึด
ขอนแก่นรับ AEC นายรัตนะ พูนสง่า ผู้อำนวยการฝ่ายขาย บริษัท เฮเฟเล่ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า บริษัทตัดสินใจลงทุนเปิดศูนย์กระจายสินค้าในอีสานเป็นครั้งแรกที่ จ.ขอนแก่น และเป็นสาขาที่ 4 ในประเทศไทย บริเวณถนนเลี่ยงเมือง บนที่ดินเช่า 2.2 ไร่ จากบริษัท หยั่น หว่อ หยุ่น ก่อสร้างคลังสินค้า 1,000 ตร.ม. มีสินค้ากว่า 1,500 รายการ ตั้งเป้าให้เป็นศูนย์กลางในการกระจายสินค้าคลุมพื้นที่อีสานทั้งภาครวม 20 จังหวัด รวมทั้งรองรับการเปิด AEC ในปี 2558
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ

วันอังคารที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

คอลัมน์ ย่อยข่าวภูมิภาค: ผุด 4 นิคมอุตฯ ใหม่ในภาคอีสาน


นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า ในปีงบประมาณ 2556 กนอ. ได้เสนอของบเพื่อดำเนินโครงการศึกษาความเหมาะสมการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม 5 โครงการ ในวงเงิน 110 ล้านบาท  สำหรับนิคมอุตสาหกรรมทั้ง 5 แห่ง ประกอบด้วย 1. นิคมอุตสาหกรรมในจังหวัดขอนแก่น 2. นิคมอุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี 3. นิคมอุตสาหกรรมจังหวัดนครพนม 4. นิคมอุตสาหกรรมในจังหวัดนครราชสีมา
ที่มา : ทรานสปอร์ต เจอร์นัล

แนะลงทุนธุรกิจบริการกัมพูชา


            นักวิจัยด้านเศรษฐกิจภาคอีสาน มองบรรยากาศการท่องเที่ยวในกัมพูชา มีอนาคตสดใส ชี้ถือว่าเป็นจังหวะที่ดีในการสนับสนุนภาคเอกชนไทยที่มีความเชี่ยวชาญเข้าไปลงทุนด้านโรงแรมที่พัก ร้านอาหารทัวร์นำเที่ยว รับเปิดเออีซี 
          น.ส.ณาตยา สีหานาม ผู้จัดการศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน (ECBER) คณะวิทยาการจัดมหาวิทยาลัย
ขอนแก่น เปิดเผยว่าจากศักยภาพของการท่องเที่ยวกัมพูชา พร้อมกับการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวจากรัฐบาลอย่างจริงจังทำให้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นทุกปี ส่งผลให้ความต้องการห้องพัก ร้านอาหาร และบริการด้านต่างๆ เพิ่มขึ้น ขณะที่ธุรกิจด้านบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวนั้น พบว่าไทยมีจุดแข็งด้านนี้มายาวนานจึงน่าจะมีศักยภาพในการเข้าไปลงทุนในกัมพูชาเพิ่มขี้น
          "การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 ทำให้ภาคการท่องเที่ยวจะมีการเปิดเสรีมากขึ้นดังนั้นจึงเป็นโอกาสของนักลงทุนไทยที่จะเข้าไปลงทุนในธุรกิจที่พักโดยเฉพาะโรงแรมขนาดกลางเกสต์เฮ้าส์ และโฮมสเตย์ เนื่องจากนักท่องเที่ยวต่างชาติส่วนใหญ่เป็นผู้มีรายได้ระดับกลางจากภูมิภาคเอเชีย และตลาดยังมีโอกาสของการขยายตัว รวมไปถึงการลงทุนในธุรกิจบริการทัวร์และนำเที่ยวร้านอาหาร และธุรกิจฝึกอบรมเป็นต้น" น.ส.ณาตยา กล่าวและว่าความท้าทายในการลงทุนคือการติดต่อหน่วยงานราชการที่ยังมีความยุ่งยากซับซ้อน รวมทั้งราคาที่ดินกำลังปรับตัวสูงขึ้น
ที่มา : คมชัดลึก

รับน.ศ.'แพทย์-ทันตะ'12สถาบัน1-31ส.ค.


                         เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม พญ.บุญมี สถาปัตยวงศ์ ประธานคณะอนุกรรมการจัดสอบคัดเลือกระบบรับตรงของกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (กสพท.)กล่าวในการแถลงหลักเกณฑ์การสมัครสอบคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต และหลักสูตรทันตแพทยศาสตรบัณฑิต ปีการศึกษา 2556 ผ่านระบบรับตรงของ กสพท. ว่า กสพท.เปิดรับสมัครประจำปีการศึกษา 2556 ในระบบออนไลน์วันที่ 1-31 สิงหาคม ทางเว็บไซต์ กสพท.www9.si.mahidol.ac.th และกลุ่มสถาบันแพทย์ที่ร่วมคัดเลือก ได้แก่ คณะแพทยศาสตร์ 12 สถาบัน และคณะทันตแพทย์ 5 สถาบัน รับ 1,421 คน แบ่งเป็น คณะแพทยศาสตร์ ได้แก่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น20 คน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 200 คนมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) 55 คน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 65 คน มหาวิทยาลัยนเรศวร 30 คน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล (มม.)156 คน คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลมม. 250 คน มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ(มศว) 180 คน มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์(ม.อ.) 25 คน วชิรพยาบาล กรุงเทพมหานคร70 คน วิทยาลัยแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต 40 คน และวิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า เพศชาย 60 คน เพศหญิง40 คน และคณะทันตแพทย์ ได้แก่ จุฬาฯ 80 คน มม. 80 คน มช. 25 คน ม.อ. 20 คน และมศว 25 คน
          พญ.บุญมีกล่าวว่า สำหรับปฏิทินการรับสมัครสอบและสอบนั้น จะเริ่มรับสมัครผ่านระบบอินเตอร์เน็ต วันที่ 1-31 สิงหาคม ชำระเงินผ่านธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด ทุกสาขาภายในวันที่ 5 กันยายน โดยผู้สมัครไม่ต้องส่งใบสมัคร และเอกสารประกอบการสมัครมาให้ กสพท.แต่ต้องเก็บเอกสารทั้งหมด เพื่อนำมาให้คณะ/สถาบันตรวจสอบภายหลังประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิสัมภาษณ์ และตรวจสุขภาพ ผู้สมัครตรวจสอบสถานภาพการสมัครได้ 7 วันหลังวันชำระเงินค่าสมัครจนถึงวันที่ 15 กันยายน และต้องพิมพ์บัตรประจำตัวผู้เข้าสอบ เพื่อใช้แสดงก่อนเข้าห้องสอบ วันที่ 1 ตุลาคม-10 พฤศจิกายน สอบวิชาเฉพาะ วันที่ 10 พฤศจิกายน สอบวิชาการ 7 วิชา วันที่ 5-6 มกราคม 2556 หรือตามประกาศของสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) ประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิสอบสัมภาษณ์ และตรวจสุขภาพ ภายในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ ทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) ตามประกาศสทศ. ทั้งนี้ รายวิชา และสัดส่วนคะแนนที่ใช้ยังคงยึดหลักเกณฑ์เดิม
ที่มา : มติชน

วันอาทิตย์ที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ยอดขายที่ดินนิคมขยับนักลงทุนไม่หวั่นน้ำท่วม


             กนอ.เผยยอดขายและเช่าที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมในรอบ  9  เดือนของปีงบประมาณ  2555  ขยายตัวเพิ่มขึ้น  1,113  ไร่  ชี้นักลงทุนไม่หวั่นวิกฤตอุทกภัย  มั่นใจไทยยังเป็นฐานการผลิตที่มีศักยภาพ  พร้อมรับมือเออีซีในปี  2558  เตรียมจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมรองรับเพียบ  ส่วนนิคมอุตสาหกรรมบ้านพุน้ำร้อน  จ.กาญจนบุรี  บนพื้นที่  500  ไร่  จะพัฒนาด้านโลจิสติกส์  การขนส่ง  เพื่อเชื่อมโยงทวายในพม่า
          นายวีรพงศ์  ไชยเพิ่ม  ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย  (กนอ.)  เปิดเผยว่า  ผลการดำเนินงานของ  กนอ.ในรอบ  9  เดือนของปีงบประมาณ  2555  (ตุลาคม  2554-มิถุนายน  2555)  มียอดขายและเช่าพื้นที่ของนิคมอุตสาหกรรมทั้งที่  กนอ.  ดำเนินการเอง  และนิคมฯ  ร่วมดำเนินงาน  รวม  3,342  ไร่  แบ่งเป็นนิคมฯ  ร่วมดำเนินงาน  3,305  ไร่  และนิคมฯ  กนอ.ดำเนินการ  37  ไร่  เมื่อเทียบกับปีงบประมาณ  2554  ในช่วงเดียวกันมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องอยู่ที่  1,113  ไร่
          “กรณีดังกล่าวจะเห็นว่ายอดขายพื้นที่ยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง  แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นนักลงทุนในด้านแผนการป้องกันภาวะน้ำท่วมของรัฐบาล  รวมถึงการเป็นฐานการผลิตของไทยที่มีศักยภาพทั้งในเรื่องระบบสาธารณูปโภค  การเชื่อมโยงธุรกิจตั้งแต่ต้นน้ำไปยังปลายน้ำ  ที่จะทำให้ธุรกิจมีความเข้มแข็งที่จะรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน  หรือ เออีซี ในปี  2558” 
          นายวีรพงศ์  กล่าวอีกว่า  กนอ.ยังมีแผนในการพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมใหม่  เพื่อรองรับการลงทุนในอนาคตที่จะเชื่อมโยงกับเพื่อนบ้าน  ได้แก่  โครงการจัดตั้งนิคมฯ  ชายแดนบ้านพุน้ำร้อน  อำเภอเมือง  จังหวัดกาญจนบุรี  ซึ่ง  กนอ.ได้รับงบประมาณ  12  ล้านบาท  เพื่อดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้  และสำรวจพื้นที่ที่เหมาะสม  เป็นจำนวนพื้นที่ประมาณ  500  ไร่  โดยรูปแบบการพัฒนาจะเป็นนิคมฯ  บริการด้านโลจิสติกส์  การขนส่งสินค้า  เพื่ออำนวยความสะดวกเรื่องการขนส่งสินค้าผ่านแดน  เชื่อมโยงกับโครงการท่าเรือน้ำลึก  สำหรับนิคมฯทวาย  ประเทศพม่า  โครงการจัดตั้งนิคมฯ  อำเภอเชียงของ  จังหวัดเชียงราย  อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้และการสำรวจพื้นที่ที่เหมาะสม  โดยจะพัฒนาในรูปแบบนิคมอุตสาหกรรมบริการด้านโลจิสติกส์  การขนส่งสินค้าเพื่ออำนวยความสะดวกเรื่องการขนส่งสินค้าผ่านแดน  และเชื่อมโยงกับโครงการท่าเรือน้ำลึก  และนิคมฯทวาย 
          ทั้งนี้  พื้นที่เบื้องต้นที่จะพัฒนาเป็นนิคมฯประมาณ  500  ไร่  โดย  กนอ.  ได้รับจัดสรรงบประมาณ  6  ล้านบาท  เพื่อดำเนินการส่งเสริม  และเชิญชวนนักลงทุนเพื่อให้เกิดการดำเนินการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมอย่างเป็นรูปธรรม  โดย  กนอ.  ได้ลงนามในสัญญาจ้าง  คณะเศรษฐศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  เป็นที่ปรึกษาโครงการ  เมื่อวันที่  30  เมษายน  ที่ผ่านมา  ขณะนี้อยู่ระหว่างกระบวนการเชิญชวนและหาพันธมิตรทางธุรกิจ  คาดว่าจะมีความชัดเจนภายในเดือนกันยายนนี้  นิคมฯ  ดังกล่าวจะรองรับการเชื่อมโยงทางด้านคมนาคมขนส่งเส้นทางสาย  R3A  (ไทย-ลาว-จีนตอนใต้)  ซึ่งสร้างเสร็จแล้ว  และเส้นทางสะพานข้ามแม่น้ำโขง  (เชียงของ-ห้วยทราย)  คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จในปี  2556  พื้นที่การพัฒนาเป็นนิคมฯ  200  ไร่  ซึ่งรูปแบบการลงทุนอาจเป็นแบบนิคมฯร่วมพัฒนา  นอกจากนี้ในปีงบประมาณ  2556  กนอ.ยังมีโครงการศึกษาความเหมาะสมในการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมที่สำคัญ  ได้แก่  โครงการศึกษาความเหมาะสมจัดตั้งนิคมฯ ในจังหวัดขอนแก่น  นิคมฯ จังหวัดอุดรธานี  นิคมฯ ในจังหวัดนครพนม  นิคมฯในจังหวัดนครราชสีมา  นิคมฯสื่อบันเทิง 
          นายวีรพงศ์  กล่าวเพิ่มเติมว่า  แผนการสร้างเขื่อนคันกั้นน้ำถาวรในพื้นที่เสี่ยง  6  นิคมฯ  คือ  นิคมฯ  ลาดกระบัง  นิคมฯ  บางชัน  นิคมฯ  บางปู  นิคมฯ  บางพลี  นิคมฯ  สมุทรสาคร  และนิคมฯ  พิจิตร  ซึ่งจะใช้วงเงินลงทุน  3,546  ล้านบาท  เพื่อนำมาก่อสร้างแนวป้องกันน้ำท่วมถาวรโดยจะเริ่มก่อสร้างภายในกรกฎาคมนี้  ส่วนความคืบหน้าการทำเขื่อนกั้นน้ำถาวรในนิคมฯ/เขต/สวน  อุตสาหกรรมที่ประสบภาวะน้ำท่วมในปี  2554  จำนวน  6  แห่ง  ประกอบด้วย  บางปะอิน  บ้านหว้า  (ไฮเทค)  บางกะดี  โรจนะ  นวนคร  ขณะนี้การดำเนินงานก้าวหน้า  ประมาณ  80% 
          “ในส่วนของนิคมฯ  สหรัตนนคร  ล่าสุด  ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติงบประมาณ  3,236  ล้านบาท  (รวมความยาวรอบพื้นที่  143  กิโลเมตร)  เพื่อนำมาก่อสร้างแนวป้องกันน้ำท่วม  โดยกระทรวงอุตสาหกรรม  มีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานโครงการปรับปรุงระบบเขื่อนป้องกันอุทกภัยฯ  เพื่อตรวจสอบความถูกต้อง  เหมาะสมของการก่อสร้างเขื่อนฯ  ของแต่ละแห่ง  ประกอบการพิจารณาอนุมัติการเบิกจ่าย  โดยมีผู้ว่าการ  กนอ.เป็นประธาน  และผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ  ที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นคณะทำงานฯ  ในชุดนี้ด้วย  เชื่อว่าการสร้างแนวป้องกันน้ำท่วมจะแล้วเสร็จทันเดือนสิงหาคมนี้  ยกเว้นนิคมฯ  สหรัตนนครที่คาดว่าจะแล้วเสร็จล่าช้ากว่านิคมฯอื่น  อย่างไรก็ดี  กนอ.ได้เตรียมความพร้อมแผนสำรองกรณีฉุกเฉินไว้แล้ว"  นายวีรพงศ์  กล่าวในที่สุด
ที่มา : ดอกเบี้ยธุรกิจ