วันพฤหัสบดีที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

หม่อนไหมโชว์ศักยภาพสู่อาเซียน


   นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ อธิบดี กรมหม่อนไหม เปิดเผยว่า กรม หม่อนไหม ร่วมแสดงความพร้อม ของไหมไทยในเขตลุ่มน้ำโขงที่จะก้าวไกลไปในประชาคมอาเซียน ทั้งการสร้างระบบเครือข่ายพันธมิตรการค้าด้านหม่อนไหมในเขตลุ่มน้ำโขงและอาเซียน ตลอดจนกการพัฒนาวางระบบการผลิตไหมคุณภาพมาตรฐานเดียวกัน ให้เกิดกระบวนการผลิตที่ตรวจสอบได้ เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ และสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร กรมหม่อนไหม จึงได้ร่วมกับจังหวัดขอนแก่น และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จัดงานเทศกาลไหมนานาชาติ ประเพณีผูกเสี่ยวและงานกาชาดจังหวัดขอนแก่น ประจำปี 2556 ระหว่างวันที่ 29 พฤศจิกายน - 10 ธันความ 2556 ณ ศาลากลางจังหวัดขอนแก่น
          ทั้งนี้ กรมหม่อนไหม ได้ ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง จัดนิทรรศการใหญ่ "หม่อนไหมไทย พร้อมก้าวไกล สู่ประชาคมอาเซียน" โดยแบ่งเป็น 4 ส่วน คือ นวัตกรรมกระบวนการผลิตไข่ไหมคุณภาพที่ปลอดโรค ระบบการตรวจสอบคุณภาพเส้นไหมไทยที่อ้างอิงได้ เช่น มาตรฐาน มกษ. 8000-2555 ผลงานวิจัยกระบวนการผลิตไหมในรูปแบบของเสียเหลือศูนย์ (Zero Waste) และการเจรจาพันธมิตรคู่ค้าระหว่างไทยกับประเทศลุ่มน้ำโขงและสมาชิกอาเซียน นอกจากนี้ยังมีการสัมมนาเชิงปฏิบัติการเรื่อง "ลู่ทางการพัฒนาไหมไทยสู่ตลาดประชาคมอาเซียน" เพื่อสร้างโอกาสเกษตรกรไทยได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนประสบการณ์ซึ่งกันและกัน ก่อให้เกิดแรงกระตุ้นในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดมากยิ่งขึ้น
ที่มา : แนวหน้า 

นักศึกษาลาวกับโอกาสทางการศึกษาในไทย


    สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว มีระบบการศึกษาตั้งแต่ระดับ อนุบาล ประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้น มัธยมศึกษาตอนปลาย และอุดมศึกษาซึ่งถือเป็นการศึกษาขั้นสูงสุด โดยมีสถาบันการศึกษาชั้นสูงและมหาวิทยาลัยภายใน สปป.ลาว เปิดสอนใน 2 หลักสูตร คือ หลักสูตรประกาศนีย บัตรวิชาชีพชั้นสูง และหลักสูตรระดับปริญญาตรี ถึงแม้จะเริ่มมีการเปิดสอนในหลักสูตรระดับปริญญาโทบ้างในบางมหาวิทยาลัยแล้วแต่ก็มีเป็นบางคณะเท่านั้น จึงทำให้นักศึกษาลาวที่ต้องการศึกษาต่อในระดับสูงขึ้นไป ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะเลือกประเทศไทยเป็นประเทศเป้าหมาย เนื่องจากเป็นเพื่อนบ้านที่มีความสัมพันธ์อันดีระหว่างกัน ด้านวัฒนธรรมและภาษาก็ใกล้เคียงกัน
          
มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นมหาวิทยาลัยที่มีความพร้อม และศักยภาพทางการศึกษาสูง มีสิ่งอำนวยความสะดวกและสาธารณูปโภคพื้นฐานครบครัน ทั้งมีการจัดสรรงบประมาณ และมีความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ เพื่อให้การสนับสนุนทุนการศึกษาแก่นักศึกษาจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างเพียงพอ ทำให้ภาระค่าใช้จ่ายลดลง และที่สำคัญการเดินทางระหว่าง สปป.ลาว กับ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ค่อนข้างสะดวก มีระยะทางไม่ไกลกันมากนัก ดังนั้น มหาวิทยาลัยขอนแก่น จึงได้รับความนิยมมากเป็นอันดับต้นๆ จากนักศึกษาลาวที่ต้องการเข้ามาศึกษาต่อระดับปริญญาโทและเอก
          อ.บุญทวี สอสัมพันธ์ นักศึกษาลาวระดับปริญญาเอก สาขาวิชาพัฒนศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยว่า ตนทำงานเป็นอาจารย์อยู่ที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว ณ กรุงเวียงจันทน์ และได้มีโอกาสร่วมทำงานวิจัยกับอาจารย์จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น ในโครงการความร่วมมือระหว่าง 2 มหาวิทยาลัย จากนั้นได้เดินทางมาทำเวิร์คช็อป ในมหาวิทยาลัยขอนแก่นบ่อยครั้ง เมื่อบวกกับความต้องการพัฒนาตนเองอยู่แล้ว จึงตัดสินใจจะศึกษาต่อในระดับปริญญาเอกให้ได้ โดยต้องการพัฒนาความรู้ของตนเอง เพื่อที่จะนำความรู้ดังกล่าวกลับไปใช้ในการสอนนักศึกษาระดับปริญญาตรีและโทที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว หวังให้คนรุ่นใหม่ของ สปป.ลาว เติบโตขึ้นเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพและเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศต่อไป
          น.ส.จันทร์ถนอม สุขเสริม นักศึกษาลาวระดับปริญญาโท สาขาวิชาพัฒนศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยว่า ตนทำงานที่หน่วยงานวางแผนนโยบายพัฒนาอุตสาหกรรมและหัตถกรรม กระทรวงอุตสาหกรรมการค้า สปป.ลาว ด้วยความตั้งใจอยากจะศึกษาต่อในประเทศไทย แต่ไม่ทราบข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับหลักสูตรและทุนการศึกษามากนัก จึงได้สอบถามจากรุ่นพี่ใน
          ที่ทำงาน ประจวบกับที่ทำงานได้รับหนังสือเรื่องทุนการศึกษาต่อโดยเฉพาะ เมื่อผ่านการคัดเลือกและได้รับทุนการศึกษา จึงได้เข้ามาศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดี ทั้งจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น บัณฑิตวิทยาลัย สมาคมนักศึกษาลาว ศูนย์ข้อมูลลาว จากอาจารย์และเพื่อนนักศึกษาที่เรียนด้วยกัน ทำให้รู้สึกประทับใจและอบอุ่นใจเหมือนอยู่ที่บ้าน ส่วนข่าวสารจาก สปป.ลาว ว่ามีเหตุการณ์อะไรใหม่ๆ ขึ้นบ้าง ก็อาศัยติดตามได้อย่างง่ายดายจากสื่ออินเตอร์เน็ต สื่อสังคมออนไลน์ รวมทั้งจากศูนย์ข้อมูลลาว มหาวิทยาลัยขอนแก่น
          ด้าน นายธัญญา ภักดี ผู้อำนวยการกองสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยขอนแก่น เผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ คณะผู้บริหารฝ่ายชุมชนสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร พร้อมด้วยบุคลากร กองสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยขอนแก่น เดินทางจากไปยังแขวงหลวงพระบาง สปป.ลาว เพื่อสร้างความร่วมมือกับ มหาวิทยาลัยสุภานุวงศ์ สถานีโทรภาพแห่งชาติลาว แขวงหลวงพระบาง ที่ออกอากาศทางช่อง 6 และสถานีวิทยุกระจายเสียง สปป.ลาว 98.00 Mhz หลวงพระบาง ซึ่งได้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และการเจรจาข้อตกลงความร่วมมือกันด้านต่างๆ อาทิ การพัฒนาบุคลากร การแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร
          ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีความพร้อมเพียงพอใน
          ด้านการติดต่อสื่อสาร ทั้งด้านบุคลากรและเครื่องมือการสื่อสารมวลชน เช่น สถานีวิทยุ FM 103 MHz และ KKU Channel หากมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารระหว่างมหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยสุภานุวงศ์ สถานีโทรภาพแห่งชาติลาว และสถานีวิทยุกระจายเสียง สปป.ลาว จะเป็นการเพิ่มช่องทางการสื่อสารระหว่างเครือข่ายให้มากยิ่งขึ้น ซึ่งสามารถกำหนดเนื้อหาสาระให้ตรงตามความต้องการของกลุ่มเป้าหมายโดยเฉพาะ เช่น นักศึกษาใน สปป.ลาว จะได้รับการประชาสัมพันธ์หลักสูตร ทุนการศึกษา รวมไปถึงการใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัยขอนแก่น จากสื่อโทรภาพและสื่อวิทยุกระจายเสียง ภายใน สปป.ลาว และขณะเดียวนักศึกษาลาวในมหาวิทยาลัยขอนแก่นก็จะได้รับข่าวสารจาก สปป.ลาว ผ่านสื่อของมหาวิทยาลัยขอนแก่นได้เช่นกัน
          "จากเป้าหมายของมหาวิทยาลัยขอนแก่น คือการอยู่อันดับ 1 ใน 3 ของประเทศ 1 ใน 80 ของเอเชีย และ 1 ใน 400 ของโลก เพราะฉะนั้นการสื่อสารของมหาวิทยาลัยขอนแก่นจะต้องมีความเป็นสากลมากขึ้น โดยอาศัยเครือข่ายความร่วมมือด้านต่างๆ ระหว่างประเทศ โดยเริ่มจากประเทศเพื่อนบ้านก่อน ดังนั้นนโยบายด้านการสื่อสารเชิงรุกจะต้องเข้าถึงพื้นที่เป้าหมายเพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดี ด้วยการเรียนรู้วัฒนธรรม ภาษา และวิถีชีวิตของประเทศเพื่อนบ้านทุกแห่ง ในขณะเดียวกัน องค์กรจะต้องพร้อมสำหรับการสื่อสารระดับสากลโดยสามารถใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสารเป็นหลักด้วย" นายธัญญา กล่าว
          นอกจากความร่วมมือกับสถาบันอุดมศึกษาและองค์กรต่างๆ ใน สปป.ลาว แล้ว มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในฐานะสถาบันอุดมศึกษาหลักของภาคตะวันออกเฉียงเหนือในประเทศไทย ยังมีความร่วมมือกับสถาบันอุดมศึกษาและองค์กรต่างๆ อีกหลายแห่งในประเทศสมาชิกอาเซียนที่อยู่ตอนบน คือ เวียดนาม กัมพูชา และเมียนมาร์ ทั้งหมดล้วนเป็นประเทศที่กำลังพัฒนา เมื่อพิจารณาในบทบาทของสถาบันอุดมศึกษาจะมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการสนับสนุนการขับเคลื่อน "ประชาคมอาเซียน" ให้ก้าวไปสู่ความสำเร็จ และเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการก้าวเข้าสู่ "ประชาคมอาเซียน" มหาวิทยาลัยขอนแก่น จะต้องร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านในด้านต่างๆ และจะต้องเตรียมความพร้อมของตัวเอง นักศึกษา บุคลากร และประชาชนในพื้นที่ ในหลายมิติ ทั้งด้านภาษา วิชาการ งานวิจัย ที่จะช่วยให้มหาวิทยาลัยและประชาชนมีศักยภาพและอยู่ใน "ประชาคมอาเซียน" ได้อย่างมีความสุข
ที่มา : บ้านเมือง 

ดัน'ขอนแก่น'เทียบชั้นเกียวโตเมืองอัจฉริยะ


นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น กล่าวถึงการประชุมร่วมหัวหน้าส่วนราชการว่าด้วยผังเมืองรวมด้านการจราจรและระบบขนส่งมวลชน ร่วมกับผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและผู้บริหารจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น และ ไอบีเอ็ม เพื่อกำหนดแผนการดำเนินงานร่วมกันว่าด้วยการผลักดันให้จังหวัดขอนแก่นเป็น 1 ใน 100 เมืองหลักของโลกของการเป็นเมืองอัจฉริยะ หลังได้รับการคัดเลือกจาก ไอบีเอ็ม ให้จังหวัดขอนแก่น เป็นจังหวัดเดียวของประเทศไทย และเป็น 1 ใน 100 เมืองหลักของโลกที่จะเข้าร่วมโครงการเมืองอัจฉริยะ
          นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ผวจ.ขอนแก่น กล่าวว่า แผนการพัฒนาจังหวัดขอนแก่นมุ่งสู่ความเป็นศูนย์กลางในทุกๆ ด้านเพื่อให้เกิดความหลากหลายและสนองต่อความต้องการของประชาชนในพื้นที่ และผู้ที่จะมาขอรับบริการจากภาคส่วนต่างๆ ซึ่งที่ผ่านมาการทำงานร่วมกันเป็นทีมของทุกภาคส่วนในระดับจังหวัดได้มีการผลักดันและทำงานกันแบบคู่ขนานจนมีการยกระดับของขอนแก่นให้เป็นศูนย์กลางในระดับภูมิภาคอีสานไปแล้ว และเตรียมที่จะยกระดับให้เป็นเมืองแห่งความเป็นศูนย์กลางของกลุ่มภูมิภาคอาเซียน ขณะเดียวกันการกำหนดทิศทางการดำเนินงานดังกล่าวยังคงต้องมองไปข้างหน้า ซึ่งการหารือร่วมในแบบทวิภาคีร่วมระหว่าง เทศบาลนครขอนแก่นมหาวิทยาลัยขอนแก่น และคณะทำงานตามโครงการ ไอบีเอ็ม สมาร์ทเตอร์ ซิตี้ส์ ชาลเลนจ์ จนนำไปสู่การเสนอแผนยุทธศาสตร์ในระดับจังหวัดและได้บรรจุให้ขอนแก่น เป็น 1 ใน 100 เมืองจากทั่วโลกในการเข้าร่วมโครงการดังกล่าวด้วยงบประมาณการลงทุน 50 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1,500 ล้านบาท เพื่อที่จะพัฒนาให้ขอนแก่นเป็นเมืองที่มีการบริหารจัดการของภาครัฐได้อย่างมีประสิทธิภาพและเข้าสู่การเป็นศูนย์กลางด้านอุตสาหกรรมภาคต่างๆ การคมนาคมขนส่ง และเป็นพื้นที่เชื่อมต่อทางการค้าระหว่างตะวันออกและตะวันตก
          "แผนการดำเนินงาน 10 ปี จากนี้ไปจะเริ่มจากการบริหารจัดการภาครัฐ ที่คณะทำงานร่วมจังหวัดและคณะทำงานตามโครงการที่ได้มีการแต่งตั้งขึ้นจะมาทำการส่งเสริมการประสานงานร่วมกันและบูรณาการในทุกองค์กรอย่างมีประสิทธิภาพ มีการจัดทำโครงการรณรงค์ให้ความรู้เกี่ยวกับกฎระเบียบจราจร และการเพิ่มการบังคับใช้กฎหมายจราจร สำหรับในด้านของการเพิ่มประสิทธิภาพเครือข่ายด้านการขนส่ง โครงการดังกล่าวนี้จะดำเนินการปรับปรุงระบบวีดีโอวงจรปิด ด้วยการนำระบบวิเคราะห์ข้อมูลแบบอัจฉริยะ รวมไปถึงการใช้ระบบการจัดการไฟจราจรอัตโนมัติ การใช้ระบบตรวจสอบป้ายทะเบียนรถยนต์ในกรณีที่มีการฝ่าฝืนกฎจราจร การนำระบบ GPS มาใช้เพื่อระบุตำแหน่งรถโดยสาร ขณะที่ในด้านการคมนาคมขนส่งแบบครบวงจร คณะทำงานมีการหารือในการใช้ระบบการจัดการค่าโดยสารแบบบัตรเดียวสำหรับทุกระบบ โดยครอบคลุมบริการขนส่งสาธารณะที่หลากหลายรูปแบบ สร้างระบบเพื่อรายงานสภาพการจราจรให้แก่ผู้สัญจรบนท้องถนน"
          ผวจ.ขอนแกน กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการดังกล่าวได้ดำเนินการไปแล้วในหลายเมือง ทั้งที่ประเทศเกาหลีใต้ ที่เมืองเชจู ประเทศญี่ปุ่น ที่เมืองเกียวโต ประเทศออสเตรเรีย ที่เมืองโตโคส และแคนาดา ที่เมืองดิวเวสต์ ซึ่งการนำโครงการดังกล่าวมาใช้ที่ขอนแก่นจะถือเป็นการยกระดับเมืองให้สู่ความเป็นมหานครชั้นนำของอาเซียน ภายใต้แนวทางการจัดตั้งศูนย์ ARC ใน 3 ระยะ และจะสำเร็จตามโครงการดังกล่าวใน 10 ปี แบ่งเป็น 2 ปีแรกจะเน้นการสร้างทักษะและศักยภาพในการใช้เครื่องมือการวิเคราะห์ข้อมูล รวมไปถึงการจัดเตรียมบุคลากร โดยใช้ข้อมูลต่างๆ และทรัพยากร สำหรับในระยะที่ 2 เริ่มตั้งแต่ปลายปีที่ 2 ถึงปีที่ 5 จะเป็นช่วงของการพัฒนาไปสู่ศูนย์ความเป็นเลิศทางด้านการวิเคราะห์ข้อมูล โดยจะระบุในแผนยุทธศาสตร์ที่เชื่อมต่อระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคการศึกษาทั้งในประเทศและระดับประเทศ ระยะที่ 3 จะเริ่มตั้งแต่ปีที่ 6 เป็นต้นไป ที่จะมีการนำวิวัฒนาการหรือศูนย์ที่สามารถสร้างนวัตกรรมทางการวิเคราะห์ข้อมูล ที่ทุกหน่วยงานสามารถนำไปใช้งานได้ ผสมผสานกับการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยมาประกอบการดำเนินธุรกิจของภาคการลงทุน การใช้ในชีวิตประจำวันของชาวขอนแก่นและผู้ที่เข้ามาในพื้นที่ ดังนั้น ทั้งหมดที่กล่าวมาถือเป็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ ที่จะส่งผลให้ขอนแก่นเป็นเมืองแห่งอัจฉริยะที่สมบูรณ์แบบที่สุดในทุกๆ ด้าน
ที่มา : บ้านเมือง

ซีพีรีเทลลิงค์ขยายตลาดกาแฟ"เพื่อนบ้าน


           ซีพี รีเทลลิงค์ ดันเครื่องชงกาแฟ "นูโอว่า" เจาะ ตลาด ลาว-พม่า-กัมพูชา รับเทรนด์บริโภค กาแฟสดพุ่ง กรุยทางขยายตลาดอาเซียน ดันรายได้ รวมทะลุ 3 พันล้านปีหน้า
          นายนริศ ธรรมเกื้อกูล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีพี รีเทลลิงค์ จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจจัดจำหน่ายและให้บริการอุปกรณ์ธุรกิจค้าปลีกสำหรับ ร้านสะดวกซื้อ และอุปกรณ์ประกอบอาหาร-เครื่องดื่ม  ในเครือซีพีออลล์  เปิดเผยถึงนโยบายธุรกิจว่ามีแผนขยายตลาดในประเทศอาเซียนมากขึ้น โดยเฉพาะสินค้าเครื่องชงกาแฟภายใต้แบรนด์นูโอว่า ในต้นปีหน้าเตรียมเข้าเปิดตลาดประเทศลาว ในเวียงจันทน์ ปากเซ และจำปาสัก หลังจากนั้นจะขยาย ตลาดในกัมพูชา ที่เมืองเสียมเรียบ และพนมเปญ ตามด้วยประเทศพม่า เปิดตลาดที่ย่างกุ้ง เนปิดอร์ และ มัณฑะเลย์ และขยายตลาดในเวียดนามต่อเนื่อง
          ทั้งนี้ รูปแบบการลงทุนจะเน้นร่วมมือกับพันธมิตรท้องถิ่นจัดตั้ง "บริษัท" ดำเนินการใน ประเทศนั้นๆ เพื่อความคล่องตัวในเรื่องข้อกฎหมาย การลงทุนต่างๆ ที่มีความแตกต่างกันของแต่ละประเทศ ตั้งเป้าหมายมีรายได้จากเปิดตลาดในลาว พม่า กัมพูชา รวม 100 ล้านบาทในปีแรก
          "การทำตลาดทั้ง 3 ประเทศ จะต้องปรับภาพลักษณ์และพฤติกรรมการบริโภคกาแฟ ที่คน ส่วนใหญ่มองว่าเป็นสินค้าพรีเมียมให้เป็นสินค้า ทั่วไป (แมส)  ซึ่งจะทำให้ราคาจำหน่ายถูกลง เกิดการ บริโภคกาแฟที่แพร่หลายมากขึ้น คาดใช้เวลาประมาณ 5 ปีในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมดังกล่าว"
          นอกจากนี้ยังมีแผนเปิดโชว์รูมซีพี รีเทลลิงค์ และซีพี รีเทลลิงค์ คอฟฟี่ ในต่างประเทศ โดยเฉพาะ ในภูมิภาคอาเซียน จากปัจจุบันมี 8 สาขาในไทย อาทิ สนามบินดอนเมือง วิภาวดี 64  รวมถึงสาขา ในอุดรธานี  
หาดใหญ่ ขอนแก่น เป็นต้น
          สำหรับภาพรวมตลาดเครื่องชงกาแฟเพื่อการค้าของไทยมีมูลค่า 1,200-1,300 ล้านบาท ขณะที่ การบริโภคกาแฟของคนไทยขยายตัว 10% ต่อปี ทำให้ตลาดเครื่องชงกาแฟเติบโตตามไปด้วย
          ในส่วนของผลประกอบการปีนี้ คาดมีรายได้ 2,500 ล้านบาท เติบโตจากปีก่อน 10% แบ่งเป็นรายได้ จากกลุ่มธุรกิจอุปกรณ์ประกอบอาหารและเครื่อง ดื่ม 40% กลุ่มธุรกิจสัญญาเช่าบริการ 60% ปีหน้า ตั้งเป้าหมาย 3,000 ล้านบาท เติบโต 10%
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ

วันพฤหัสบดีที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

เทศบาลชุมแพเปิดถนนคนเดินเงินสะพัดวันละกว่า 2 ล้านบาท

                           
                                                            ที่มาของภาพ : จากอินเตอร์เน็ต
        
           เมื่อเร็ว ๆ นี้ นายสมเกียรติ ดีบุญมี ณ ชุมแพ นายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองชุมแพ จ.ขอนแก่น จัดโครงการถนนคนเดิน เทศบาลเมืองชุมแพ เพื่อส่งเสริมกิจกรรมการท่องเที่ยวด้านนันทนาการ และเป็นแหล่งพักผ่อน สร้างอาชีพ เสริมรายได้ให้กับประชาชน สำหรับชาวอำเภอชุมแพและพื้นที่ใกล้เคียง บริเวณถนนสันติสุข 1 ข้างสำนักงานเทศบาลเมืองชุมแพนายสมเกียรติ กล่าวว่า ถนนคนเดินเทศบาลเมืองชุมแพ หรือ Chumphae walking street เป็นหนึ่งในแนวทางพัฒนาเมืองและกำหนด การใช้ประโยชน์พื้นที่ในเขตเทศบาลเมือง ให้เป็นที่รู้จักส่งเสริมการท่องเที่ยวของอำเภอ ชุมแพ โดยรูปแบบที่กำหนดไว้ในเบื้องต้น ให้เน้นจำหน่ายสินค้าชุมชน งานฝีมือ หรือศิลปะด้านต่าง ๆ แสดงให้เห็นถึงวิถีชุมชนที่เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละพื้นที่
          ทั้งนี้ ได้คัดเลือกให้ถนนสันติสุข 1 ข้างสำนักงานเทศบาลเมืองชุมแพเริ่มต้นจากแยกสามเหลี่ยมถนนมลิวรรณทางหลวง หมายเลข  12 ไปจนถึงหน้าโรงเรียนเทศบาล 1 ระยะทางกว่า 1 กม.เป็นถนนสายวัฒนธรรม เพื่อเปิดโอกาสให้ พ่อค้า แม่ค้า ได้นำสินค้า มาจำหน่ายโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น ทุกวันศุกร์ เริ่มวันศุกร์ที่ 1 พ.ย. 56 เป็นต้นไป โดยเริ่มปิดถนน ตั้งแต่เวลา 14.00-22.00 น. ซึ่งปรากฏว่าได้รับความสนใจจากพ่อค้า แม่ค้า ตลอดจนผู้ที่เดินทางมาจับจ่ายใช้สอยเลือกซื้อสินค้าในวันนี้เป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังมีการแสดงศิลปวัฒนธรรม เช่น รำวงย้อนยุค การแสดงของนักเรียน เยาวชนที่มีความสามารถในด้าน ต่าง ๆ ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันไป เพื่อสร้างความเพลิดเพลินเป็นช่วงตลอดระยะทาง.
ที่มา : เดลินิวส์

บิ๊ก PS คาดอสังหาฯปี 57โต 5% เปิดแผนเข็น 50 โครงการใหม่


        "บิ๊กพฤกษา" คาดอสังหาฯปี 57 โตแค่ 5% เหตุปัจจัยลบจากปัญหาเงินตึงตัว เผยแผนลงทุนปีหน้า เปิด 50 โครงการใหม่ มูลค่าครึ่งแสนล้าน   นายทองมา วิจิตรพงศ์พันธุ์ ประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน)หรือ PS เปิดเผยถึง ภาพรวมอสังหาริมทรัพย์ปี2557 คาดว่าจะมีการเติบโตประมาณ 5%อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยลบที่ทุกฝ่ายทั้งผู้ประกอบการ ผู้บริโภค สถาบันการเงิน ควรปรับตัวพร้อมที่จะรับมือกับปัญหาที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจาก 2 เรื่องหลัก คือ ปัญหาเงินตึงตัวทั้งภายในและภายนอกประเทศ โดยปัญหาภายนอกประเทศที่สำคัญคือ คาดการณ์ว่ารัฐบาลสหรัฐฯจะยกเลิกมาตรการ QE ซึ่งจะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยในตลาดสูงขึ้น ต่างชาติจะโยกเงินกลับไปลงทุนในอเมริกา
          ส่วนปัญหาในไทย คาดว่าการลงทุนเพิ่มมากขึ้นทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งจะเกิดการระดมเงินในตลาดเงินจำนวนมาก จนอาจเกิดปัญหาเงินตรึงตัวหนุนให้ดอกเบี้ยเงินกู้เพิ่มสูงขึ้น ปัญหาดังกล่าวจะส่งผลต่อผู้บริโภคทำให้กู้เงินได้น้อยลง ซื้อบ้านได้หลังเล็กลง
          "สำหรับพฤกษา ปัจจุบันยังไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด  โดยเฉพาะในเรื่องของยอดขาย  นอกจากนี้ นับจากต้นปีจนถึงปัจจุบันได้สร้างยอดขายไปมากแล้วถึง 95%ของเป้าหมายทั้งปี จึงไม่มีความกังวลเท่าใดนัก"
          ขณะที่การลงทุนสร้างโรงงานพรีคลาสอีก2 โรง มูลค่าการลงทุน 2,200 ล้านบาททำให้มีกำลังผลิตเพิ่มขึ้น หากคำนวณจากบ้านเดี่ยว 150 ตร.ม. จะเพิ่มเป็น 1,100 หลังต่อเดือน จากเดิม  620 หลังต่อเดือน โดยจะเริ่มเดินกำลังการผลิตได้ในช่วงไตรมาส 3/57 และจะทำให้สามารถลดการผลิตแบบทันเนิลฟอร์ม (Tunnel form) เป็นระบบพรีแคสมากขึ้นสำหรับทาวน์เฮาส์ โดยระบบดังกล่าวจะทำให้งานก่อสร้างมีคุณภาพมากขึ้น
          สำหรับแผนการดำเนินธุรกิจในปี 2557 บริษัทคาดว่าจะมีการเปิดโครงการใหม่ 50 โครงการ มูลค่า 50,000 ล้านบาท โดยเน้นโครงการแนวราบทั้งทาวน์เฮาส์และบ้านเดี่ยวเป็นหลัก และจะมีการขยายตลาดต่างจังหวัดที่มีศักยภาพเพิ่มมากขึ้น เช่น ภูเก็ต ชลบุรีอยุธยา ขอนแก่น และเชียงใหม่ เป็นต้น ส่วนโครงการคอนโดมีเนียมยังเน้นตลาดกรุงเทพฯและปริมณฑล เนื่องจากมองว่าตลาดต่างจังหวัด ความต้องการคอนโดมีเนียมมีจำกัด
ที่มา : ASTVผู้จัดการรายวัน

ขอนแก่นจัดใหญ่ไหมนานาชาติดึง 6 ชาติลุ่มน้ำโขงร่วม-คาดคนแห่เที่ยวอื้อ


                                                         ที่มาของภาพ : ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต
     ขอนแก่น-จังหวัดร่วมกับกรมหม่อนไหมและททท.จัดใหญ่ "เทศกาลไหมนานาชาติ ประเพณีผูกเสี่ยวและงานกาชาดจังหวัดขอนแก่น ประจำปี 2556" ระหว่างวันที่ 29 พฤศจิกายน-10 ธันวาคม ดึงกลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง 6 ชาติเข้าร่วม หวังยกระดับผ้าไหมไทยสู่สากล และอนุรักษ์ประเพณีผูกเสี่ยวเอกลักษณ์ชาวขอนแก่นไว้ คาดมีนักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างชาติแห่เที่ยวมากกว่าปีที่ผ่านมา
          นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น เปิดเผยว่า จังหวัดได้ร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยและกรมหม่อนไหม จัดงานเทศกาลไหมนานาชาติ ประเพณีผูกเสี่ยวและงานกาชาดประจำปี 2556 ระหว่างวันที่ 29 พฤศจิกายน-10 ธันวาคม ที่บริเวณศาลากลางจังหวัดขอนแก่น ปีนี้คณะกรรมการจัดงานได้เปลี่ยนรูปแบบและจุดเด่นการจัดงานให้แตกต่างจากที่ผ่านมา โดยเน้นกิจกรรมเกี่ยวกับงานไหมให้ยกระดับสู่สากลเพื่อประชาสัมพันธ์ผ้าไหมขอนแก่นออกสู่อาเซียนและนานาชาติ อาทิ การจัดแสดงผ้าไหมและสินค้าเกี่ยวกับผ้าไหมจาก 6 ชาติสมาชิกกลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง คือ จีน พม่า ลาว ไทย เวียดนามและกัมพูชา
          งานไหมขอนแก่นจัดครั้งแรกเมื่อปี 2522 ต่อมาได้นำเอาประเพณีผูกเสี่ยว ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของชาวขอนแก่นและ ภาคอีสานเข้าจัดร่วมกับงานไหมในปี 2526 พร้อมกับรวมงานกาชาดเข้าด้วยจึงมีชื่อว่า "งานเทศกาลไหม ประเพณีผูกเสี่ยวและงานกาชาดจังหวัดจังขอนแก่น" ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา และปี 2558 ไทยจะเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ดังนั้น เพื่อเป็นการพัฒนาและยกระดับงานไหมขอนแก่นให้เป็นงานที่ก้าวสู่สากล จังหวัดจึงพัฒนาและยกระดับรูปแบบงานไหมขอนแก่นให้เป็นงานก้าวสู่ระดับสากลภายใต้ชื่องานว่า "เทศกาลไหมนานาชาติ ประเพณีผูกเสี่ยวและงานกาชาดจังหวัดขอนแก่น ประจำปี 2556"
          นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า งานปีนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสดงเอกลักษณ์ความสวยงามของลายผ้าไหมขอนแก่น ยกระดับผ้าไหมขอนแก่นให้เป็นที่รู้จักระดับนานาชาติ อนุรักษณ์การผูกเสี่ยวประเพณีพื้นบ้านที่สืบทอดมายาวนานจนเป็นวัฒนธรรมท้องถิ่นที่แสดงออกถึงความรักความผูกพันประดุจพี่น้อง เผยแพร่แหล่งท่องเที่ยวของจังหวัดให้เป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติ และหารายได้ให้เหล่ากาชาดจังหวัดนำไปช่วยราษฎรที่เดือดร้อนจากภัยต่างๆ และปีนี้แม้จะพัฒนางานไหมให้ก้าวสู่สากลแต่ยังอนุรักษ์ประเพณีผูกเสี่ยวซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของชาวขอนแก่นเอาไว้ โดยมีกิจกรรมการผูกเสี่ยวที่ศาลาผูกเสี่ยวทุกคืน จังหวัดหวังว่าจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาเที่ยวงานจำนวนมากกว่าทุกๆ ปีที่ผ่านมา
          ด้านนายสุชาติ เกติมา ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจลุ่มน้ำโขงเปิดเผยว่า ได้เชิญ ประเทศสมาชิกอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงเข้าร่วมประชุมวิชาการและจับคู่เจรจาธุรกิจเรื่อง "เส้นทางไหมลุ่มน้ำโขง" ระหว่างวันที่ 27-28 พฤศจิกายน ที่โรงแรมราชาวดีรีสอร์ท แอนด์ โฮเต็ล จ.ขอนแก่น โดยมีการเสวนาและแสดงความเห็นเกี่ยวกับผ้าไหมในหัวข้อ "การค้าผ้าไหมในกลุ่มประเทศอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ความสำคัญและการผลิตไหมสู่ตลาดสากลแนวโน้มและโอกาสการค้าในภูมิภาคและนานาชาติ นวัตกรรมการผลิตไหม" และนำผู้เข้าร่วมสัมมนาลงพื้นที่อำเภอชนบทไปเจรจาจับคู่ธุรกิจผ้าไหม เยี่ยมชมงานการผลิตผ้าไหม แลกเปลี่ยนธุรกิจไหมพร้อมกับจัดแสดงและจำหน่ายสินค้าจากชาติสมาชิกลุ่มน้ำโขงในเทศกาลไหมนานาชาติขอนแก่น โดยแสดงบูธผ้าไหมไทยของกลุ่มจังหวัดร้อยเอ็ดขอนแก่น กาฬสินธุ์และมหาสารคาม
          นายนกรณ์ ไกรอนุพงษา ผู้อำนวยการศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติ กรมหม่อนไหม กระทรวงเกษตรฯ เปิดเผยว่า ได้สร้างโดม 40x80 เมตร 2 หลังตั้งเครื่องปรับอากาศเพื่อเป็นสถานที่จัดแสดงนิทรรศการกระบวนการผลิตหม่อนไหมครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำกลางน้ำและปลายน้ำ ตลอดจนจัดแสดงนวัตกรรมและเทคโนโลยีการผลิตผ้าไหมและพิเศษสุดคือการแสดงชุดผ้าไหมฉลองพระองค์ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และการแสดง แบบแฟชั่นผ้าไหมให้ผู้มาเที่ยวงานได้ชมใกล้ชิดในวันที่ 2 ธันวาคม และมีการจำหน่ายสินค้าผลิตภัณฑ์ผ้าไหมจากจีน เวียดนาม พม่า กัมพูชา และลาว รวมทั้งผ้าไหมจากจังหวัดต่างๆ ในไทยและจังหวัดขอนแก่นกว่า 70 บูธ การแสดงศิลปวัฒนธรรมของ 4 ชาติ คือ จีน เวียดนาม ลาวและไทย ณ เวทีกลางงานเทศกาลไหมนานาชาติ
          นอกจากนี้ยังมีมหกรรมอาหารนานาชาติจำหน่ายให้ผู้มาเที่ยวงานทั้งอาหารไทย อาหารจีน อาหารเวียดนามและอาหารลาว และมีการแสดงของจังหวัดขอนแก่นและการออกสลากกาชาดด้วย

ที่มา : คม ชัด ลึก

วันพุธที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

เอสเอ็มอีญี่ปุ่นบุกไทยยึดทำเลทองขอนแก่น


               "ขอนแก่นเองมีพื้นที่หรือภูมิศาสตร์ที่เหมาะสมมีความเสี่ยงภัยน้อยซึ่งสถานการณ์ในญี่ปุ่นน่าจะส่งผลดีกับเราในแง่ด้านการลงทุน"
          "เมืองหมอแคน"เนื้อหอม นักลงทุนแห่เข้าสำรวจพื้นที่เตรียมย้ายฐานผลิตพร้อมลงทุนรองรับเปิดเสรีอาเซียนในอีก 2 ปีข้างหน้าระบุที่ตั้งได้เปรียบอยู่ในจุดศูนย์กลางภูมิภาค แถมปลอดภัยจากเหตุแผ่นดินไหว ประธานอุตฯ ขอนแก่นระบุเอสเอ็มอีญี่ปุ่นจ่อย้ายฐานมาไทย
          ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า คือ ปี 2558 ประเทศที่เป็นสมาชิกอาเซียนเปิดเสรีการค้าอาเซียนการย้ายแรงงาน ทุน หรือด้านอื่นๆ จะดำเนินไปโดยเสรี โดยเฉพาะภาคอีสาน ตั้งอยู่จุดศูนย์กลางของภูมิภาคพอดีไม่ว่าจะไปทางด้านจีนก็ไม่ไกลมาก ไปด้านอินเดียระยะทางก็ไม่ต่างจากจีนมากนัก ขณะที่ทั้งจีนและอินเดียมีประชากรเมื่อรวมกันแล้วประมาณ 2,000 กว่าล้านคน เมื่อรวมกับชาติอาเซียน เกือบประมาณ3,000 ล้านคน หรือประมาณ1/3ของโลกซึ่งถือว่าเป็นตลาดที่ใหญ่เป็นที่หมายปองของนักลงทุนนักธุรกิจนอกเหนือไปจากนั้นเมื่อสำรวจย้อนหลังไป 100 ปี อีสานยังไม่พบแผ่นดินไหว ไม่มีภัยธรรมชาติที่น่ากลัวจากปัจจัยเหล่านี้จึงเป็นที่สนใจของนักลงทุนและนักธุรกิจทั้งหลาย
          เมื่ออีสานเป็นจุดศูนย์กลาง การย้ายฐานการผลิตมายังอีสานมากขึ้นเพื่อความสะดวกในการขนถ่ายสินค้าไปทั้งด้านตะวันออกและตะวันตก ดังนั้น ไม่เฉพาะคนในแถบเอเชียเท่านั้นที่สนใจจะมาลงทุนภาคอีสานทั้งอเมริกายุโรปต่างทยอยเข้ามาสำรวจพื้นที่ในภาคอีสานแทบทุกตารางนิ้วส่งผลให้นายหน้าค้าที่ดินเริ่มกว้านซื้อที่ดินกักตุนไว้เก็งกำไรให้กับนักลงทุนที่จะเข้ามาในอนาคตอันใกล้นี้
          นายวิฑูรย์ กมลนฤเมธ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดขอนแก่น กล่าวถึงแนวโน้มการลงทุนในจังหวัดขอนแก่นว่า ขณะนี้มีนักลงทุนจำนวนมากสนใจจังหวัดขอนแก่นและเริ่มเข้ามาลงทุนมากขึ้นเนื่องจากจังหวัดขอนแก่นเป็นศูนย์กลางด้านการค้าการลงทุนที่ในอนาคตจะสามารถเชื่อมต่อภูมิภาคต่างๆ ได้มากขึ้น พร้อมทั้งระยะทางไม่ไกลซึ่งนักลงทุนที่เข้ามามีทั้งคนไทยและชาวต่างประเทศ จนทำให้คนเริ่มซื้อที่ดินไว้เพื่อเก็งกำไร
          "แนวโน้มที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในญี่ปุ่นจะย้ายฐานเข้ามาเมืองไทยมีค่อนข้างมากเพราะรัฐบาลญี่ปุ่นเปิดโอกาสให้ย้ายฐานการผลิตออกนอกประเทศเพื่อลดความเสี่ยงนอกเหนือจากบริษัทขนาดใหญ่ และขอนแก่นเองมีพื้นที่หรือภูมิศาสตร์ที่เหมาะสมมีความเสี่ยงภัยน้อย ซึ่งสถานการณ์ในญี่ปุ่นน่าจะส่งผลดีกับเราในแง่ด้านการลงทุน แต่จะกระทบการส่งออกบ้างประมาณ 10% ของ GDP
          สำหรับการส่งออกในภาคอุตสาหกรรมยานยนต์นายวิฑูรย์กล่าวว่า สำหรับอีกบริษัทหนึ่งที่มีทุนมากพอๆ กับเทมาเส็กที่จะเข้ามาได้แก่ บริษัท One North Capital ซึ่งเป็นบริษัทของเอกชนชาวสิงคโปร์ บริษัทดังกล่าวสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในขอนแก่น ทั้งในด้านพรอพเพอร์ตี้ หุ้น และอื่นๆ ซึ่งบริษัทนี้มีเงินทุนมากกว่าแลนด์แอนด์เฮ้าส์มากกว่าศิวาลัยดังนั้น จึงเป็นสิ่งที่น่ากลัวสำหรับผู้ประกอบการในขอนแก่น หากต้องรับมือกับบริษัทขนาดใหญ่เช่นนี้
          ขณะที่ก่อนหน้านี้กระทรวงอุตสาหกรรมโดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมจับมือจังหวัดยามานาชิ ประเทศญี่ปุ่น เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมระหว่าง2 ประเทศ และภายหลังที่รัฐบาลญี่ปุ่นได้มีนโยบายในการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ออกไปลงทุนยังต่างประเทศมากขึ้นโดยกรอบของความร่วมมือประกอบด้วย 3 เรื่อง ได้แก่ ส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการ SMEs จากจังหวัดยามานาชิ และประเทศไทย สนับสนุนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในจังหวัดยามานาชิ และประเทศไทย เพื่อขยายธุรกิจในระดับสากลรวมถึงการแลกเปลี่ยนข้อมูลและดำเนินกิจกรรมที่สร้างความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจของทั้ง 2 ประเทศ
          โดยคาดว่าจากความร่วมมือดังกล่าวผู้ประกอบการประเทศญี่ปุ่นจะขยายฐานการผลิตในประเทศไทยและเกิดการจ้างงานในประเทศไทยมากขึ้น รวมถึงประเทศไทยจะได้รับประโยชน์จากองค์ความรู้ในการบริหารธุรกิจและเทคโนโลยีอุตสาหกรรมจากญี่ปุ่นซึ่งเป็นประเทศชั้นนำด้านอุตสาหกรรมของโลก
          โดยกลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่คาดว่าจะได้ประโยชน์ได้แก่อุตสาหกรรมชิ้นส่วนเครื่องจักรกล และชิ้นส่วนเครื่องจักร ฯลฯ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมหลักของจังหวัดยามานาชิทั้งนี้ที่ผ่านมากรมส่งเสริมอุตสาหกรรม(กสอ.)มีโต๊ะญี่ปุ่นเป็นศูนย์กลางของการดำเนินงานด้านการลงทุนในการส่งเสริมและพัฒนาระหว่างไทยและญี่ปุ่นในหลายจังหวัดอาทิจังหวัดฟูกุโอกะ,โอซาก้า,ยามานาชิ,โทโทริ,ฮิโรชิม่าและจังหวัดชิมาเน่ ตลอดจนความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนญี่ปุ่น อีกจำนวนมาก โดยรัฐบาลได้ตั้งเป้าหมายเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างไทย-ญี่ปุ่น เป็น 100,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปี 2557
ที่มา : สยามธุรกิจ

สธ.ดันเมกะโปรเจ็กต์แสนล.พัฒนาโรงพยาบาลทั่วปท.


          สธ.ดันเมกะโปรเจ็กต์ 1 แสนล้านบาท พัฒนาระบบสาธารณสุข ทั่ว ปท.ด้วย 12 เขตบริการสุขภาพ ดึงมหาวิทยาลัยร่วมจัดตั้ง 'ศูนย์การแพทย์เฉพาะทาง' คาดเริ่มแผนปี 2558
          เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เรียกประชุมผู้แทนจากสภาวิชาชีพพยาบาล เภสัชกรรม ทันตแพทย์ และสถาบันการศึกษา ประกอบด้วย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยมหิดล หารือนโยบายยกระดับขีดความสามารถของ สธ.ด้วย 12 เขตบริการสุขภาพ
          นพ.ประดิษฐกล่าวว่า ขณะนี้รัฐบาลมีนโยบายพัฒนาสาธารณสุขทั้งประเทศ โดยจัดทำเป็นแผนเมกะโปรเจ็กต์ คาดว่าจะใช้งบประมาณ 1-2 แสนล้านบาท ในระยะ 10 ปี โดยเริ่มในปี 2558 แบ่งการดำเนินงานเป็น 12 เขตบริการสุขภาพ มีผู้ตรวจราชการ สธ.กำกับดูแลในแต่ละเขต เบื้องต้นมอบหมายให้สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) จัดทำมาตรฐานเขตบริการสุขภาพ โดยทุกเขตต้องมีศูนย์รักษาโรคหัวใจ ศูนย์อุบัติเหตุ ศูนย์มะเร็ง ฯลฯ
          "มาตรฐานดังกล่าวจะต้องมีการพัฒนาบุคลากรให้พร้อมปฏิบัติงานและเพียงพอ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ต้องมีแพทย์ประจำทุกแห่ง ซึ่งการผลิตแพทย์จะใช้เวลา 6 ปี ตั้งเป้า 3 ปีแรก ผลิตแพทย์ให้ได้ 1 คนต่อประชากร 7,000 คน จากนั้น 3 ปีหลัง อาจเป็น 1 คนต่อประชากร 6,000 คน เป็นต้น ขณะนี้ได้มอบให้ปลัด สธ.จัดทำแผนเพื่อแบ่งบทบาทหน้าที่ของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น จ.เชียงใหม่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) มีศูนย์โรคหัวใจ รัฐบาลจะสนับสนุนงบประมาณให้ ส่วนโรงพยาบาลในสังกัด สธ.ให้ดูแลรักษาด้านอื่นๆ ซึ่งทั้งหมดจะทำให้การทำงานด้านสาธารณสุขเป็นองค์รวม" นพ.ประดิษฐกล่าว
          ด้าน นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัด สธ. กล่าวว่า สธ.แบ่งโรงพยาบาล 3 ระดับ คือ ระดับตติยภูมิ หรือโรงพยาบาลระดับใหญ่ มีโรงพยาบาลศูนย์ (รพศ.) โรงพยาบาลทั่วไป (รพท.) 116 แห่ง ระดับทุติยภูมิ เป็นโรงพยาบาลชุมชน 774 แห่ง และระดับปฐมภูมิ เป็นโรงพยาบาลระดับเล็ก เช่น รพ.สต. ศูนย์สุขภาพชุมชนเมือง (ศสม.) และสถานบริการสาธารณสุขชุมชน (สสช.) 10,174 แห่ง โดยโรงพยาบาลทุกระดับจะต้องลดอัตราป่วย อัตราตาย ค่าใช้จ่าย พัฒนามาตรฐานการบริการ และให้ประชาชนเข้าถึงการบริการที่สำคัญ และต้องทำงานร่วมกับเครือข่ายต่างๆ ในพื้นที่ โดยเฉพาะโรงพยาบาลที่เป็นโรงเรียนแพทย์ สังกัดมหาวิทยาลัยต่างๆ เบื้องต้นได้มอบหมายให้ผู้ตรวจราชการ สธ.แต่ละเขต หารือกับผู้บริหารโรงพยาบาลสังกัดมหาวิทยาลัยในสัปดาห์หน้า เพื่อจัดทำแผนงานให้แล้วเสร็จในเดือนพฤศจิกายนนี้
          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับแผนการลงทุนที่ สธ.จัดทำเพื่อเสนอรัฐบาลในการทำเมกะโปรเจ็กต์พัฒนาระบบบริการสุขภาพระดับประเทศ จะมีการลงทุนพื้นฐานในสถานบริการ 3.3 หมื่นล้านบาท ลงทุนในแผนบริการสุขภาพ 2.1 หมื่นล้านบาท และลงทุนในเมดิคัลฮับอีก 4.6 หมื่นล้านบาท รวมงบประมาณลงทุน 1 แสนล้านบาท
ที่มา : มติชน 

วันอังคารที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ดัน'ก่อสร้าง'บุก CLMV'พม่า-กัมพูชา'เป้าใหญ่'วินเซอร์'รุกหัวเมืองรับโอกาส


          อุตสาหกรรมก่อสร้างและวัสดุก่อสร้างไทย กำหนดวิสัยทัศน์ไทยเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีการผลิตวัสดุก่อสร้างทันสมัยอาเซียน กุมส่วนแบ่งตลาด 50% แนะไทยปูพื้นฐานอาเซียนเน้นเพิ่มR&D ภายใต้แผนกลยุทธ์เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมในอนาคต
          นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ  เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมก่อสร้างและวัสดุก่อสร้าง เป็นคลัสเตอร์ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงอยู่ที่ระดับ 2 ล้านล้านบาทต่อปีคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 20% ของผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) ของไทย มีทั้งผู้ประกอบการรายใหญ่ที่เป็นบริษัทระดับโลกสามารถพัฒนาศักยภาพ จนขยายธุรกิจสู่ตลาดสากล รัฐจึงกำหนดวิสัยทัศน์ให้ประเทศไทยเป็นผู้นำในด้านเทคโนโลยีการผลิตวัสดุก่อสร้างที่ทันสมัยที่สุดในอาเซียน โดยมีส่วนแบ่งตลาดในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ไม่ต่ำกว่า 50%ภายในปี 2560 พร้อมกับการเป็นศูนย์กลางของการวิจัยและพัฒนา (R&D) ทางด้านอุตสาหกรรมก่อสร้าง
          นางนันทวัลย์ กล่าวต่อว่า ไทยจำเป็นต้องส่งเสริมศักยภาพผู้ประกอบการให้มีความเข้มแข็ง เพิ่มการวิจัยและพัฒนาด้านแรงงาน ด้านรูปแบบผลิตภัณฑ์ และนวัตกรรมใหม่ ในขณะเดียวกันต้องหาแนวร่วมกับหน่วยงานอื่น เพื่อนำเสนอผลิต-ภัณฑ์หลากหลาย ภายใต้แผนกลยุทธ์พัฒนาเพื่อเป็นฐานสำหรับอุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้างในอนาคต
          ทั้งนี้ การเชื่อมโยงตลาดเออีซีนับเป็นการปูรากฐานและเครือข่ายเพื่อสร้างความแข็งแกร่งก่อนก้าวอย่างมั่นคงในภูมิภาคอื่น โดยเน้นขยายตลาดธุรกิจก่อสร้างไปยังประเทศเพื่อนบ้าน การสร้างมูลค่าเพิ่มในผลิตภัณฑ์ การใช้ประโยชน์จากแหล่งวัตถุดิบในประเทศสมาชิกอาเซียน การเคลื่อนย้ายแรงงานได้อย่างเสรี และการปรับตัวต่อการแข่งขันในตลาดที่รุนแรงขึ้น อันเนื่องมาจากสินค้านำเข้ามีราคาที่ถูก
          "เมื่อประเทศไทยเข้าสู่เออีซี แน่นอนว่าโอกาสทางธุรกิจขนาดมหาศาลก็รออยู่ด้วย แผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศนับเป็นการลงทุนขนาดใหญ่ครั้งสำคัญ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในอนาคต และสนับสนุนการเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมกับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาค เพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยเฉพาะชายแดนที่ติดกับกลุ่ม CLMV (กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม) ที่กำลังพัฒนาเมือง และโครงสร้างพื้นฐานภายในประเทศอย่างแข็งขัน ต่างต้องการสินค้าและวัสดุก่อสร้างของไทยเพราะเป็นที่ยอมรับเรื่องคุณภาพและมาตรฐาน" นางนันทวัลย์ กล่าว>> พม่าตลาดใหม่ยิ่งนานยิ่งโต
          นายบูรณ์ อินธิรัตน์ ผอ.สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงย่างกุ้ง เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมภาคบริการมีศักยภาพมากในพม่า อาทิ ก่อสร้าง และการท่องเที่ยว ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างเครือ-ข่ายการค้าการลงทุนในธุรกิจต่อเนื่องได้แก่ วัสดุก่อสร้าง การตกแต่งภายในโรงแรม ภัตตาคาร สปา สถาบันการศึกษาโรงพยาบาล คลินิกความงาม เป็นต้น โดยสินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ ปูนซีเมนต์ เหล็กเหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เป็นต้น
          พม่าเป็นตลาดใหม่ที่นับวันจะเติบโตขึ้นเรื่อยๆ การค้าระหว่างไทยกับพม่าในช่วง 9 เดือนแรก (ม.ค.-ก.ย.) ของปีนี้ การส่งออกขยายตัวดีกว่า 22% คิดเป็นมูลค่ากว่า 2,777 ล้านเหรียญสหรัฐ (86,087 ล้านบาท) ขณะที่การนำเข้าขยายตัว 12%มีมูลค่า 2,912  ล้านเหรียญสหรัฐ (90,272 ล้านบาท)และทั้งปีคาดว่าจะขยายตัวได้ตามเป้าหมาย 25% ซึ่งในปี 57 ทูตพาณิชย์ได้ประเมินในเบื้องต้นไว้ว่าจะขยายตัวราว30% ทั้งนี้ในพม่าจะมีสถานการณ์สำคัญหลายอย่าง เช่น ในเดือนธันวาคมปีนี้จะเป็นเจ้าภาพซีเกมส์  ในปี 2558 จะมีการเลือกตั้งใหญ่ ซึ่งในปัจจุบันมีความพยายามเปิดประเทศมากขึ้น และในปี 2557 จะเป็นประธานอาเซียน รวมทั้งเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจบิมสเทค (BIMSTEC)และการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (ACMECS)>> "WINDSOR" เจาะหัวเมืองรับโอกาส
          นายธีรัตถ์ อุทยานัง กรรมการผู้จัดการ บริษัท นวพลาสติกอุตสาหกรรมจำกัด เปิดเผยว่า WINDSOR ได้สร้างปรากฏการณ์ใหม่ในกลุ่มสินค้าประเภทประตูหน้าต่างไวนิล ด้วยการรุกเข้าสู่ตลาดรีเทล จากเดิมที่เน้นขายให้กับโครงการอสังหาริมทรัพย์เป็นหลัก ด้วยการเปิดโชว์รูม WINDSOR 25 แห่งทั่วประเทศโดยจะเริ่มต้นเปิดตัวก่อน 4 แห่งในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ประกอบด้วยสนามบินน้ำ รัตนาธิเบศร์ ลาดพร้าว และฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต เพื่อสร้าง experience ให้กับลูกค้า และเป็นการพัฒนาช่องทางการจัดจำหน่ายเข้าสู่ผู้บริโภคโดยตรงขณะที่ในต่างจังหวัดอยู่ในหัวเมืองหลัก เช่น เชียงใหม่ เชียงราย 
ขอนแก่นอุดรธานีภูเก็ตหาดใหญ่เป็นต้นเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าในภูมิภาค ขณะเดียวกันก็เป็นการรองรับลูกค้าจากประเทศเพื่อนบ้านที่จะเดินทางเข้ามามากขึ้นเมื่อเป็นเออีซีด้วย
ที่มา : สยามธุรกิจ 

เปิดงานวิจัยลอจิสติกส์-โซ่อุปทาน สนข.ชี้ไทยต้องแต่งสวยรับเออีซี


         โครงการวิจัยด้านลอจิสติกส์ ร่วมระหว่างวช.และสกว.ร่วมประชุมเผยแพร่ผลงานวิจัยด้านลอจิสติกส์และโซ่อุปทานภายใต้บริบทประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หวังดันงานวิจัยด้านลอจิสติกส์และขยายผลวิจัยสู่ผู้ที่เกี่ยวข้องสามารถนำผลงานวิจัยสู่การนำไปปฏิบัติได้จริง อีกทั้งเสริมสร้างความร่วมมือในการพัฒนาเครือข่ายด้านลอจิสติกส์อย่างยั่งยืน
          ศ.นพ.สุทธิพันธ์จิตพิมลมาศผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) กล่าวว่า ปัจจุบันต้นทุนลอจิสติกส์ของประเทศไทยอยู่ในเกณฑ์ที่สูงประมาณร้อยละ14.5ต่อจีดีพีถ้าสามารถวิจัยและพัฒนาเพิ่มประสิทธิภาพของลอจิสติกส์เพื่อลดต้นทุนและพัฒนาระบบต่างๆจะเป็นการเพิ่มการแข่งขันของประเทศสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในการลดต้นทุนพลังงานด้วย การก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนทำให้จากนี้ไปประเทศไทยจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปและจะมีการเชื่อมโยงกับประเทศต่างๆโดยเฉพาะ5ประเทศทางเหนือของภูมิภาค ภาคอุตสาหกรรมสินค้าและบริการจะมีผลกระทบอย่างกว้างขวาง แต่ไม่เกินความสามารถของนักวิจัยในการศึกษาและสังเคราะห์ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อประเทศไทย
          ขณะที่ ดร.จุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจรกระทรวงคมนาคม ได้ปาฐกถาพิเศษเรื่อง"โครงสร้างพื้นฐานด้านโลจิสติกส์และอนาคตประเทศไทย"เพื่อสร้างความเข้าใจเรื่องเงินกู้ 2 ล้านล้านบาท ซึ่งมีความสำคัญต่อโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งของประเทศตามแนวคิดสมัยใหม่ในการพัฒนาที่ทำขึ้นเพื่อประโยชน์สาธารณะจึงจำเป็นต้องมีการลงทุนสร้างไว้เพื่อใช้เป็นฐานในการสร้างคุณค่าสำหรับประชาชนรุ่นหลังที่ผ่านมาไทยลงทุนเรื่องการขนส่งทางถนนค่อนข้างมากถึง5.3แสนล้านบาทปัจจุบันมีรถจดทะเบียน15ล้านคัน ทำให้เกิดปัญหาการจราจรจึงต้องปรับเพิ่มการลงทุนทางน้ำและทางอากาศมากขึ้นในอนาคตระบบรางรถไฟจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของการเดินทางและคาดว่าจะมีผู้ใช้บริการมากขึ้นเมื่อพิจารณาแผนยุทธศาสตร์ของประเทศ พบว่า มีโจทย์การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 3 โจทย์ คือ ลอจิสติกส์เออีซีและการแก้ปัญหาจราจรแต่ข้อจำกัดด้านการลงทุนของไทยภาครัฐจะต้องมีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพื่อนำไปสู่การก่อสร้างของภาคเอกชนเกิดการจ้างงานสร้างรายได้ตามมาแต่แม้ว่างบประมาณแผ่นดินจะเพิ่มขึ้นเป็น 2.4 ล้านล้านบาทในปี พ.ศ.2555 แต่งบลงทุนกลับเพิ่มขึ้นเพียง1แสนล้านล้านบาทเท่านั้น
          แต่โจทย์ที่ยากกว่าและใช้งบประมาณมากกว่าคือโจทย์ของอาเซียนเมื่อเป็นตลาดเดียวกันและฐานการผลิตสามารถเคลื่อนย้ายได้โดยเสรีจึงต้องศึกษาว่าการขนส่งดีพอหรือไม่ จะเคลื่อนย้ายไปในทิศทางใด พื้นที่ใดมีความน่าสนใจเรื่องเร่งด่วน คือเปิดเสรีการให้บริการสาขาลอจิสติกส์โดยเฉพาะการขนส่งสินค้าทางรถไฟระหว่างประเทศและทางถนนระหว่างประเทศจึงต้องพัฒนาเชื่อมโยงการเดินทางและขนส่งกับประเทศเพื่อนบ้านและเชื่อมโยงประตูสู่ประเทศเพื่อนบ้านกับศูนย์กลางของภูมิภาคทั่วประเทศโดยเชื่อมต่อบริเวณประตูการค้าชายแดนที่มีศักยภาพเชื่อมโยงพื้นที่ภายในภูมิภาคของประเทศโดยสนับสนุนฐานการผลิตหลักและภาคบริการ พัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกและองค์ประกอบต่อเนื่องเพื่อเชื่อมโยงระบบขนส่งระหว่างประเทศเข้ากับขนส่งภายในประเทศ ซึ่งต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก
          ด้าน รศ.ดร.รุธิร์ พนมยงค์ นักวิจัยจากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์บรรยายเรื่องผลกระทบต่อประเทศไทยจากการจัดการโครงสร้างพื้นฐานด้านลอจิสติกส์และการปรับรูปแบบโซ่อุปทานภายใต้บริบทประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนโดยมุ่งหวังพิจารณาผลกระทบทางเศรษฐกิจของประเทศไทยจากการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนรวมถึงผลกระทบที่เกี่ยวข้องจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานภายใต้ พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท ที่น่าจะเป็นตัวเร่งให้เกิดการขยายตัวของเศรษฐกิจได้รวดเร็วเพิ่มขึ้นจากกรอบประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนเพียงอย่างเดียวทั้งนี้ คาดว่าในปี2563ไทยจะมีอัตราการเจริญเติบโตของจีดีพีเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ0.05 ต่อปี หรือประมาณ 977 พันล้านเหรียญสหรัฐโดยผลกระทบส่วนใหญ่จะอยู่ในพื้นที่ที่มีอุตสาหกรรมตั้งอยู่แล้วส่วนจังหวัดอื่นๆจะมีความเจริญขยายตัวเข้าไปถึงมากขึ้นจากการอำนวยความสะดวกทางการค้าและโครงสร้างพื้นฐานที่พัฒนาขึ้นตามกรอบเออีซีซึ่งจังหวัดที่ได้รับผลทางบวกมากที่สุดคือสมุทรปราการและระยองร้อยละ21.5 และ16.7 ตามลำดับขณะที่ลำพูนและขอนแก่นมีการขยายตัวของจีดีพีมากที่สุด ส่วนกรุงเทพฯได้รับผลกระทบประมาณร้อยละ 15
          "ประเทศไทยคาดว่าจะหลุดจากประเทศรายได้ปานกลางในปีค.ศ.2030 การเข้าสู่เออีซีไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงใหญ่หลวง เพราะเราได้มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เข้าร่วมเขตการค้าเสรีอาเซียนในปี 1992 แล้ว ส่วนโจทย์ที่มองต่อไปในอนาคตคือประเทศอื่นในภูมิภาคจะมีการพัฒนาโครงการต่างๆอย่างไรและประเทศใดจะมีศักยภาพในการแย่งชิงผลประโยชน์ทางการค้ามากกว่ากัน" รศ.ดร. รุธิร์ กล่าวทิ้งท้าย
ที่มา : สยามธุรกิจ 

'ทีเส็บ' วางกลยุทธ์'3Cs' ดันรายได้ไมซ์ปี57แตะ9.69หมื่นล.


            ท่ามกลางปัญหาชุมนุมทางการเมืองที่เกิดขึ้นใน ขณะนี้ จะมีผลอย่างไรต่อธุรกิจไมซ์ของประ  เทศไทย และแนวทางขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไมซ์ของทีเส็บในปีหน้าจะมีทิศทางอย่างไร อ่านได้จากการสะท้อนมุมมองของ นายนพรัตน์ เมธาวีกุลชัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ(องค์การมหาชน) หรือทีเส็บ
          มั่นใจไมซ์ปีนี้โตเกินเป้า
          บอสใหญ่ทีเส็บ มองว่า การชุมนุมทางการเมืองของประเทศไทยที่เกิดขึ้นในโค้งสุดท้ายของปีนี้ ยังไม่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมไมซ์ไทย เพราะในขณะนี้การจัดงานด้านไมซ์ต่างๆที่วางไว้แล้วก็ยังเดินหน้าต่อ ที่เป็นเช่นนี้เพราะการจัดงานไมซ์ต่างๆไม่ได้อยู่ในพื้นที่ที่มีการชุมนุม แต่ทีเส็บก็ไม่ได้นิ่งนอนใจต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยได้ร่วมมือระหว่างกระทรวงการต่างประเทศ และการท่องเที่ยวแห่งประ เทศไทย(ททท.) เพื่อตั้งเป็นศูนย์บอกข่าวสารแก่นักท่องเที่ยว และทีเส็บก็มีการอัพเดตข่าวสารบนหน้าเว็บไซต์ตลอดทุกช่วงเวลาของการเคลื่อนไหวสถานการณ์ รวมไปถึงติดต่อสอบ ถามเรื่องความจำนงในการจัดงานแก่ลูกค้าอยู่ตลอดเวลา
          รวมถึงทีเส็บยังได้เตรียมแผนรับมือในกรณีหากสถาน การณ์การชุมนุมเกิดความรุนแรงหรือไม่อยู่ในกรอบของความสงบ จนนำไปสู่การที่ประเทศต่างๆประกาศเตือนนักท่องเที่ยวไม่ให้เข้ากรุงเทพฯ ทีเส็บก็มองการโปรโมตการจัดงานไมซ์ในจังหวัดไมซ์ซิตีใน 4 จังหวัดทั้ง เชียงใหม่ ภูเก็ต 
ขอนแก่น และพัทยา ก็ยังมีศักยภาพมากพอที่จะรองรับการจัดงาน
          "มองจากสถานการณ์ในขณะนี้ ผมก็ยังมั่นใจว่าเป้าหมายการเติบโตของอุตสาหกรรมไมซ์ไทยในปีนี้ มีแนวโน้มเติบโตเกินกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยคาดว่าจะมีนักเดินทางกลุ่มไมซ์มากกว่า 1 ล้านคนในปีนี้ สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้เดิมที่อยู่ที่ 9.4 แสนคน และประเทศไทยจะมีรายได้จากอุตสาหกรรมไมซ์กว่า 8.8 หมื่นล้านบาท จากจำนวนการจัดงานด้านไมซ์รวมกว่า 516 งาน"
          ขับเคลื่อนไมซ์ตลาดเอเชีย
          หากแยกเป็นรายตลาดจะพบว่า ผู้เดินทางกลุ่มไมซ์สูงสุดจะมาจากเอเชีย คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 75.25%, ยุโรป 10.06% และอเมริกา 4.72% ซึ่ง 5 ประเทศที่มีนักเดินทางไมซ์สูงสุด ได้แก่ ประเทศจีน อินเดีย มาเลเซีย ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ ที่เป็นเช่นนี้เพราะทีเส็บ ให้ความสำคัญในการดึงงานระดับนานาชาติจากต่างประเทศมาจัดในประเทศไทย ภายใต้การเน้นจุดเด่นที่มีอยู่ใน 3 มิติหลัก คือความได้เปรียบทางทำเลที่ตั้งที่สามารถเชื่อมโยงไปในหลายๆ ประเทศได้ ความหลากหลายทางการท่องเที่ยวที่มีให้เลือกหลังการเดินทางมาเพื่อจัดประชุม และสัมมนา รวมไปถึงความเป็นมืออาชีพของบุคลากร
          "เป้าหมายการทำงานของทีเส็บ จะเน้นขับเคลื่อนการเติบโตของอุตสาหกรรมไมซ์ไทย พร้อมกับส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็น TOP OF MIND ของอุตสาหกรรมไมซ์ในภูมิภาคเอเชีย โดยตั้งเป้าการเติบโตของจำนวน และรายได้ในปี 2557 ว่า จะสามารถเพิ่มจำนวนนักเดินทางกลุ่มไมซ์ขึ้นเป็น 5% สร้างรายได้ให้กับอุตสาหกรรมไมซ์เพิ่มขึ้น 10% คิดเป็นมูลค่า 9.69 หมื่นล้านบาท"
          ชู 5 ยุทธศาสตร์แผนปีหน้า
          เอ็มดีทีเส็บ ยังฉายภาพการทำงานในปีหน้าว่า ทีเส็บ จะใช้งบกว่า 880 ล้านบาท เพื่อผลักดันยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไมซ์ไทยสู่เป้าหมายศูนย์กลางการจัดประชุมในภูมิภาคเอเชีย  โดยเน้นดำเนินการใน 5 ยุทธศาสตร์หลัก ตามแผนแม่บทอุตสาหกรรมไมซ์ปี 2555-2559 คือ 1.รักษาตลาดเดิม-ขยายตลาดใหม่ 2. ผลักดันให้ไทยเป็น Top  of  Mind ของภูมิภาคเอเชีย 3. สร้างความแตกต่างและเพิ่มมูลค่าด้วยเศรษฐกิจสร้างสรรค์ 4. เสริมสร้างความเข้มแข็งระหว่างเครือข่ายความร่วมมือทั้งใน และต่างประเทศ และ 5. ยกระดับศักยภาพและบทบาทของทีเส็บ
          ขณะเดียวกันยังได้วางแนวทางพัฒนาตามวิสัยทัศน์ในปี 2557 คือ "การยกระดับไมซ์ไทยสู่ตลาดคุณภาพ" โดยบูรณาการเข้ากับยุทธศาสตร์ของประเทศตามนโยบายรัฐบาล หรือ Thailand' s New Growth Model มาเป็นรากฐานของการพัฒนาแผนแม่บทประจำปี เน้นเจาะกลุ่มตลาดในภาคอุตสาห กรรมอาหาร เกษตร ยานยนต์ และเมดิคัล เป็นหลัก ควบคู่ไปกับการประชาสัมพันธ์ดึงงานในกลุ่มคุณภาพ เช่น การเงิน การธนาคาร และสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้จะพัฒนาตลาดตามนโยบายรัฐบาลเพื่อเจาะกลุ่ม วัฒนธรรม เอนเตอร์เทนเมนต์ และพลังงาน ซึ่งถือเป็นกลุ่มตลาดใหม่ไฟแรงที่ทางรัฐบาลมองว่าจะเติบโตดีในปีหน้า
          นอกจากนี้ทีเส็บ ยังได้ใช้กลยุทธ์ทำการตลาดด้วยแผน "3Cs" ประกอบไปด้วย 1.การสร้างเครือข่ายความร่วมมือในทุกระดับจากท้องถิ่นสู่ระดับโลก (Corcreation) 2.จัดแบ่งกลุ่ม
          ตลาดเชิงกลยุทธ์ทั้งในและต่างประเทศ (Cuatomisation) และ 3.การใช้เศรษฐกิจสร้างสรรค์เพิ่มมูลค่าให้กับอุตสาหกรรมไมซ์ของประเทศ (Creativity) เพื่อสร้างความแตกต่างในการแข่งขัน
          สำหรับภาพรวมของการจัดงานไมซ์ในปีหน้า เบื้องต้นมีงานธุรกิจไมซ์ระดับอินเตอร์เนชั่นแนล ที่คอนเฟิร์มการจัดในไทยซึ่งเป็นที่แน่ชัดแล้ว ประมาณ 70-100 งาน เฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ ก็มีไฮไลต์งานสำคัญที่คาดว่าจะนำจำนวนนักเดินทางกลุ่มไมซ์เข้าสู่ประเทศไทย ได้แก่ กลุ่มการประชุมและท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล อาทิ Unicity Global Convention จำนวน 2 หมื่นคน, Herbal Life Asia Pacific World Team University 2013 ราว 1.2 หมื่นคน และ Jeunesse Expo-Annual World Conference 2013 จำนวน 5,000 คน
          รวมไปถึงกลุ่มการประชุมนานาชาติ อาทิ งาน World Marketing Forum 2014 จำนวน 4,000 คน, งาน International Congress of Pharmaceutical Sciences-FIP 2014
          จำนวน 2,500 คน และงาน The 3 Global Congress for Consensus จำนวน 2,000 คน กลุ่มการแสดงสินค้านานาชาติ อาทิ งาน Metalex 2014 จำนวน 5 หมื่นคน, งาน Intermach 2014 จำนวน 4 หมื่นคน, งาน Propak 2014 จำนวน 3 หมื่นคน และงาน TFBO&TRAFS 2014 จำนวน 2.5 หมื่นคน เป็นต้น
          ทั้งหมดล้วนเป็นภาพรวมของธุรกิจไมซ์ไทยในขณะนี้ และแนวโน้มการผลักดันธุรกิจที่จะเกิดขึ้นในปีหน้า
ที่มา : ฐานเศรษฐกิจ 

วันจันทร์ที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

เวียดนามเชื่อมท่องเที่ยวไทย หวังขับเคลื่อนเศรษฐกิจ


             เวียดนามตอนกลาง เป็นอีกแหล่งท่องเที่ยว หนึ่งที่มีเสน่ห์ของประเทศเวียดนาม เนื่องจากมีต้นทุนทางธรรมชาติและการร้อยเรียงประวัติศาสตร์ ในยุคสงครามเวียดนามให้นักท่องเที่ยวได้เดินตามรอยเท้า ย้อนรำลึกถึงความกล้าหาญของวีรชนรุ่นก่อนที่เสียสละชีวิต รัฐบาลเวียดนามได้มีโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งชาติเวียดนาม ช่วงปี 2012 - 2015 หวังนำการท่องเที่ยวมาเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ  แผนการส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งชาติเวียดนามนั้นเริ่มตั้งแต่ ปี 2012 โดยหน่วยงาน การท่องเที่ยวเวียดนามได้เริ่มปฏิบัติและ เผยแพร่ยุทธศาสตร์การพัฒนาช่วงปี 2012-2020 และวิสัยทัศน์ถึงปี 2030 อย่างเป็นทางการ หวังผลักดันให้การท่องเที่ยวเวียดนามพัฒนายิ่งขึ้น ช่วยให้เวียดนาม กลายเป็นจุดท่องเที่ยวที่น่าสนใจและมี ชื่อเสียงของภูมิภาคและโลก ดังนั้น เพื่อเป็นการพัฒนาพื้นที่การท่องเที่ยวของเวียดนามตอนกลาง การท่องเที่ยวเวียดนามจึงได้เชิญการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมถึงหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องและนักธุรกิจมาศึกษาดูงาน เพื่อกระชับความสัมพันธ์ และส่งเสริมโอกาสทางการค้า รวมถึงความร่วมมือทางการ ท่องเที่ยวร่วมกัน โดยคาดหวังว่าจะพัฒนาการท่องเที่ยวของเวียดนามตอนกลางให้มีมาตรฐานรองรับการเปิดประชาคมอาเซียนในอีก 2 ปีข้างหน้าดันเชื่อมท่องเที่ยวไทย-เวียดนาม
          นาย Nguyen Van Tuan อธิบดีทบวงการท่องเที่ยวเวียดนาม บอกว่า ประเทศเวียดนามกับไทยเป็นประเทศที่มีศักยภาพ ทางด้านการท่องเที่ยวสูงมาก แต่ทั้ง 2 ประเทศ ยังไม่มีการเชื่อมโยงการท่องเที่ยวเข้าด้วยกัน เท่าที่ควร ดังนั้น เพื่อความก้าวหน้า 2 ประเทศ ควรจับมือพัฒนาท่องเยวร่วมกัน ซึ่งจะช่วย ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของจังหวัดและประเทศ ให้สามารถก้าวหน้าต่อไปได้อีกทางหนึ่ง สิ่งแรกที่ต้องดำเนินการ คือการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ให้สินค้าที่ออกมาของแต่ละประเทศและพื้นที่ได้มาตรฐานเหมาะสมกับความต้องการของนักท่องเที่ยว
          นอกจากนี้ ยังมีความคิดเห็นในเรื่องของความสะอาดของประเทศเวียดนาม ที่จะต้องมีการพัฒนาให้ได้มาตรฐาน สำหรับการรองรับนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้ารวมไปถึงนักลงทุนต่างๆด้วย ดังนั้น เพื่อเป็นการพัฒนาการท่องเที่ยวของทั้ง 2 ประเทศ การเชิญคณะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับ การท่องเที่ยวจากประเทศไทยมา ก็เพื่อเป็นการดึงดูดนักท่องเที่ยวจากประเทศไทยให้มาท่องเที่ยวที่ประเทศเวียดนาม มากขึ้น
          นอกจากนี้ ส่วนตัวเห็นว่าท่องเที่ยวของประเทศไทยที่ดีมากๆ จึงจะน้อมรับ คำแนะนำต่างๆ กลับไปพัฒนาการท่องเที่ยว ของประเทศเวียดนามให้ดียิ่งขึ้น โดย คาดหวังว่าการท่องเที่ยวของเวียดนาม จะสามารถดึงนักท่องเที่ยวชาวไทยเข้ามา ในพื้นที่ในปี 2015 นี้กว่า 1ล้านคนเง๋อานพร้อมรับนักท่องเที่ยวไทย
          นาย Huynh Than Dien รองผู้ว่าราชการจังหวัดเง๋อาน ประเทศเวียดนาม กล่าวว่า สำหรับตลาดการท่องเที่ยวของ จ.เง๋อาน นั้น ที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวไทยเข้ามาเป็นจำนวนมากและมั่นใจว่าจากนี้ต่อไปนักท่องเที่ยวชาวไทย จะเดินทาง เข้ามาในพื้นที่มากขึ้นกว่าเดิม เนื่องจาก ทางจังหวัดมีการพัฒนาในหลายๆ ด้าน โดยจะนำเรื่องท่องเที่ยว มาเป็นอันดับแรกในการสร้างเศรษฐกิจของจังหวัด
          เป้าหมายหลัก กลุ่มคนไทยภาคอีสาน ซึ่งเดือนธ.ค.นี้ จะมีการเปิดสายการบิน ต่างประเทศจาก เมืองบิ๋ง กับประเทศลาว คาดว่าเส้นทางนี้จะทำให้มีนักท่องเที่ยวและนักธุรกิจจากไทย จะเดินทางสะดวกและเพิ่มจำนวนมากขึ้น  ส่วนในเรื่องของการเตรียมรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 นี้ ทางจังหวัดได้เตรียมยุทธศาสตร์โดยเน้นทางด้านการท่องเที่ยว การศึกษา โดยจะศึกษารูปแบลาว ไทย เพื่อจะนำแผนงานที่ได้เรียนมาปรับปรุงทางด้านการท่องเที่ยวให้ได้มาตรฐานและปัจจุบันที่จังหวัดมีโรงแรมทั้งหมดประมาณ 300 กว่าโรงแรม ซึ่งมีศักยภาพในการรองรับท่องเที่ยว ทั้งนี้ที่ จ.เง๋อานเองมีสัดส่วนนักท่องเที่ยวที่ เดินทางเข้ามาคือ ลาว 30% ไทย 20 % ส่วนที่เหลือเป็นนักท่องเที่ยวเวียดนามและ ประเทศอื่นๆ 50 %ดึงนักลงทุนเว้นภาษี 4 ปีแรก
          นาย Le Tran Sang รองการท่องเที่ยว จ.ฮาติ๋ง ระบุว่า เพื่อดึงดูดนักลงทุน ดังนั้นทางจังหวัดจึงได้มีนโยบายที่ชัดเจน เพื่อให้ นักลงทุนมีความสนใจ ทั้งเรื่องที่ดิน ภาษี และการพัฒนาท้องถิ่นที่จังหวัดได้ตั้ง เป้าหมายไว้ สำหรับนโยบายนั้นเริ่มจากการใช้กฏหมายร่วมกัน ไม่มีการแบ่งแยกว่านำมาใช้กับคนเวียดนามหรือนักลงทุนประเทศอื่น
          ส่วนในเรื่องของนักลงทุน ที่มีความสนใจลงทุนทางด้านธุรกิจการท่องเที่ยวนั้น 4 ปีแรก ไม่มีการเก็บภาษี หลังจากนั้น เก็บภาษี 50 % โดยปีที่ 10 เก็บภาษีเต็ม และขณะนี้ จ.ฮาติ๋ง กำลังเจริญมากฉะนั้น จึงมีความต้องการนักธุรกิจที่จะมาลงทุน ทางด้านที่พัก โรงแรม เพื่อจะมารองรับ นักท่องเที่ยวหรือ ที่พักคนงานเนื่องจาก จ.ฮาติ๋งนั้น มีโรงงานอุตสาหกรรมเป็น จำนวนมากแต่ยังขาดในเรื่องของสถานที่พัก ไทย-เวียดนามตลาดเดียวกัน
          นายเกียรติพงษ์ คชวงษ์ ผู้ช่วยการท่องเที่ยว แห่งประเทศไทย จ.อุดรธานี กล่าวว่า จากการ ที่ได้เดินทางมาศึกษาดูงานที่ประเทศเวียดนาม โดยเฉพาะเวียดนามตอนกลางนั้น มองว่าตลาดนักท่องเที่ยวของทั้ง 2 ประเทศเป็นตลาดเดียวกัน เพราะฉะนั้นการที่ประเทศไทยมีประชากร 70 กว่าล้านคน เมื่อรวมประเทศเวียดนามที่มีประชากร 80 กว่าล้านคน ตัวเลขการท่องเที่ยวก็จะ เพิ่มขึ้นเป็น 150 ล้านคน และในมุมมองของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย การแบ่งเขตการท่องเที่ยวจะไม่มีแล้ว เนื่องจากทุกประเทศได้เล็งเห็นแล้วว่าเรื่องของ การท่องเที่ยว เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ และเมื่อมาพิจารณาจะเห็นว่าช่วงหน้าการท่องเที่ยวของประเทศเวียดนามนั้ นจะเป็นช่วงเม.ย.-ก.ค.และ ช่วงที่ไม่ค่อยมีนักท่องเที่ยวคือช่วงต.ค.-มี.ค. นับว่าเป็นฤดูการท่องเที่ยวที่กลับกันกับ ฤดูการท่องเที่ยวของประเทศไทย ดังนั้น จึงเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนนักท่องเที่ยว ทั้ง 2 ประเทศกันได้
          ทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยหรือททท. ได้วางแผนที่จะกระตุ้นนักท่องเที่ยว จากประเทศเวียดนาม ซึ่งมีอัตราการขยายตัว เพิ่มขึ้นทุกปี โดยส่วนใหญ่จะเดินทางเข้ามา เพื่อท่องเที่ยวตามเส้นทางการเดินทางของ ประธานาธิบดีโฮจิมินห์ โดยจะเดินทางไป 3 จังหวัด คือ จ.พิจิตร จ.อุดรธานีและจ.นครพนม
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ