วันอังคารที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2556

ขอประชาสัมพันธ์ กิจกรรมศึกษาดูงาน เชื่อมโยงการลงทุนเชื่อมโยงอุตสาหกรรมอีสาน-ตะวันออก 16-18 พ.ค.56 ด่วนรับจำนวนจำกัด !!!!

                      ด้วยศูนย์เศรษฐกิจการลงทุนภาคที่ 3 กำหนดจัดกิจกรรมเพื่อให้ผู้ประกอบารเกิดการเชื่อมโยง และสร้างเครือข่ายการลงทุน ตลอดจนเสริมสร้างประสบการณ์ารลงทุนและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน จึงจัดกิจกรรม เชื่อมโยงการลงทุนอุตสาหกรรมอีสาน-ตะวันออก : Subcon Thailand 2556 ในระหว่างวันที่ 16-18 พฤษภาคม 2556 ณ จังหัดขอนแก่น-กรุงเทพฯ-ชลบุรี-ระยอง
                      สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ คุณรจนา พรมทองมี หรือ คุณภัทรานุช จินดานุภาพ โทรศัพท์ 043-271300-1 โทรสาร 043-271303 หรือ E-mail : khonkaen@boi.go.th

                        ด่วนรับจำนวนจำกัด เพียง 30 ท่านเท่านั้น !!!!

ต่อยอดงานวิจัยพัฒนาน้ำมัน ม.ขอนแก่นเผยรายละเอียดสู่เชื้อเพลิงชีวภาพเชิงพาณิชย์


          รศ.ดร.กิตติชัย ไตรรัตนศิริชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวในพิธีลงนามความ ร่วมมือในการสนับสนุนโครงการวิจัยเรื่อง "กระบวนการผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพสำหรับ ยานยนต์" ว่า มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ตั้งเป้า ที่จะเป็นมหาวิทยาลัยแห่งการวิจัย และได้เป็น 1 ใน 9 ของมหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ ที่ได้ งบประมาณวิจัยจากส่วนกลางมาสนับสนุน ดังนั้น มหาวิทยาลัยขอนแก่น จึงได้พยายามส่งเสริม และผลักดันให้ก้าวสู่การเป็น Research Based University และผลักดันให้บุคลากรทุกฝ่ายได้ทำงาน วิจัยและมีผลงานวิจัยเผยแพร่ออกไปมากมาย ทั้งระดับชาติและนานาชาติ จนปัจจุบัน มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้ติด 1 ใน 4 ของ มหาวิทยาลัยไทยในประเทศ ที่มีผลงานตีพิมพ์ ในระดับนานาชาติในรอบปีที่ผ่านมา และหนึ่งใน นโยบายของมหาวิทยาลัยขอนแก่นที่สำคัญ ก็คือ การส่งเสริมงานวิจัยของบุคคลากรในมหาวิทยาลัย ขอนแก่น ที่เป็นความร่วมมือทำงานวิจัยร่วมกัน ในการต่อยอดจากห้องปฏิบัติการ ขยายผลงาน วิจัยสู่การใช้ประโยชน์ กระทั่งออกไปสู่ภาคเอกชน หรือภาคอุตสาหกรรม ซึ่งงานวิจัยบางเรื่องสามารถตอบโจทย์และช่วยแก้ปัญหาในระดับ ภาคเอกชนหรือระดับอุตสาหกรรมได้เป็น อย่างดี ไม่ว่างานวิจัยด้านเกษตร อาหาร สิ่งแวดล้อม สุขภาพ รวมทั้งด้านพลังงาน
          อธิการบดี มข.กล่าวอีกว่า กว่า 2 ปี ที่ รศ.ดร.เฉลิม เรืองวิริยะชัย อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ ได้พัฒนางานวิจัย เรื่องการผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพสำหรับยานยนต์ จากห้องปฏิบัติการ จนสามารถต่อยอด งานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์ได้จริง ซึ่งหากได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยเพิ่มเติม จะสามารถพัฒนาพลังงานทดแทนด้านน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพสำหรับประเทศไทยต่อไปได้ หวังเป็นอย่างยิ่งว่ามหาวิทยาลัยขอนแก่น และบริษัท อุบลราชธานี ปาล์ม ออยล์ จำกัด จะเป็นเครือข่ายสนับสนุนการดำเนินการ เพื่อเผยแพร่พันธกิจ ตลอดจน ผลงานอันเกิดจากการศึกษา วิจัย และการสร้างองค์ความรู้ร่วมกัน รวมทั้งการให้ความร่วมมือในการพัฒนาบุคลากรของบริษัท อุบลราชธานี ปาล์ม ออยล์ จำกัด และบุคลากรของอุตสาหกรรม ที่เกี่ยวข้องดังกล่าว โดยความเห็นชอบร่วมกัน
          นายวิเศษ ชำนาญวงษ์ กรรมการ ผู้จัดการ บริษัทอุบลราชธานี ปาล์ม ออยล์ จำกัด กล่าวว่า  โครงการวิจัยที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นร่วมดำเนินการกับบริษัท อุบลราชธานี ปาล์ม ออยล์ จำกัด โดยทั้งสองฝ่ายเห็นควรดำเนินการร่วมกันส่งเสริม สนับสนุน และอำนวยความสะดวกในการฝึกอบรมและจัดหาข้อมูลเพื่อ ทำกรณีศึกษาพิเศษ และสนับสนุนการศึกษาดูงานสำหรับบุคลากรและนักศึกษาที่สนใจงาน ด้านอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มและผลิตภัณฑ์น้ำมันปาล์ม
          รศ.ดร.เฉลิม เรืองวิริยะชัย อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มข. กล่าวถึง กระบวนการผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพสำหรับยานยนต์ ว่า ด้วยความตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน โดยเฉพาะมลพิษทางอากาศ ที่เกิดจากการใช้น้ำมัน เชื้อเพลิงจากฟอสซิล จากเครื่องยนต์ประเภทต่างๆ เช่น เรือยนต์ รถยนต์ ตลอดจนเครื่องบินไอพ่น โดยเฉพาะปัจจุบัน เครื่องบินไอพ่นยังคงใช้น้ำมันที่ผลิตจากฟอสซิล ที่ปล่อยแก๊สพิษ คาร์บอนไดออกไซด์ ออกมาจำนวนมาก ที่ทำให้ เกิดภาวะโลกร้อน และมีแก๊สซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ที่ก่อให้เกิดฝนกรดได้ หากมีการลดการใช้น้ำมันจากฟอสซิลลง และเพิ่มการใช้น้ำมันไบโอเจต ที่ผลิตจากพืชหรือสัตว์แล้ว จะสามารถลดมลพิษ ทางอากาศให้สิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในระดับหนึ่งได้ น้อยลงได้ ผลงานวิจัยชิ้นนี้ช่วยลดปัญหาลงได้ โดยการผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพจากน้ำมันพืช ด้วยกระบวนการไฮโดรแคร็กกิ้งในถังปฏิกรณ์ ชีวภาพต้นแบบ ของภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ ภายใต้อุณหภูมิและความดันสูง โดยสามารถเปลี่ยนโครงสร้างของน้ำมันปาล์มโอเลอิน ให้กลายไปเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพได้หลายประเภท ที่มีการใช้ตัวเร่งปฏิกิริยาจำเพาะร่วมด้วย งานวิจัยนี้สามารถสังเคราะห์ตัวเร่งปฏิกิริยาจำเพาะจากซีโอไลต์ แล้วบรรจุโลหะที่มีความจำเพาะเข้าไป ทำให้เกิดเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพได้ จะมากหรือน้อยนั้น ขึ้นกับปัจจัยหลายอย่างที่ศึกษา ซึ่งงานวิจัยนี้ประสบความสำเร็จที่สามารถผลิตน้ำมันดิบชีวภาพได้ภายใน 2 ชั่วโมง จากการศึกษาวิจัยในห้องปฏิบัติการไม่น้อยกว่า 2 ปี ก่อนนำไปกลั่นเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพประเภทต่างๆ ออกมา
          "นอกจากนั้น ยังพัฒนามาเปลี่ยนจากน้ำมันปาล์มโอเลอิน ที่มีราคาสูง ไปเป็นน้ำมัน Crude Palm oil (CPO) ซึ่งมีราคาไม่กี่บาทต่อลิตร ที่สามารถผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพตามต้องการได้เช่นกัน โดยที่ไม่มีผลกระทบต่อ ระบบการผลิตด้วยเครื่องปฏิกรณ์ชีวภาพแต่อย่างใด และขณะนี้เรากำลังพัฒนางานวิจัยขั้นต่อไป จากตัว เร่งปฏิกิริยาที่เป็นซีโอไลต์ โดยเดิมทีสั่งซื้อจากต่างประเทศ มีราคาสูง มาใช้เป็นซีโอไลต์จากดินขาวที่เป็นวัตถุดิบในเมืองไทยเอง ก้อยิ่งจะทำให้ค่าใช้จ่ายในการผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพ มีต้นทุนที่ต่ำลง เหมาะต่อการนำไปพัฒนางานวิจัยจากห้องปฏิบัติการ ต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ ต่อไปได้ แต่อย่างไรก็ตาม ผมหวังไว้ว่า การลงนาม ในข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้ ทางบริษัท อุบลราชธานี ปาล์ม ออยล์ จำกัด จะเห็นความสำคัญในการให้ทุนส่งเสริมและสนับสนุนในการพัฒนางานวิจัย และต่อยอด จนสามารถนำไปสู่เชิงพาณิชย์ได้ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม เช่น โรงงานอุตสาหกรรมน้ำมันเชื้อเพลิง หรือเกษตรกรที่ปลูกปาล์มน้ำมันในการส่งเสริมการปลูกให้มากขึ้นในภาคอีสานของเรา และงานวิจัยนี้ยังสามารถตอบโจทย์ด้านยุทธศาสตร์ทางพลังงานของประเทศไทยได้ในระดับหนึ่ง" รศ.ดร.เฉลิม เรืองวิริยะชัย กล่าวในที่สุด
ที่มา : แนวหน้า 

ต่างชาติแห่เรียนว.นานาชาติ น.ศ.มข.ฮิตหลักสูตรอินเตอร์


   น.ส.ยุพิน เตชะมณี คณบดีวิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) เปิดเผยว่า วิทยาลัยนานาชาติมีมาตรฐานสากลในการผลิตบัณฑิตหลักสูตรภาษาอังกฤษ ที่ผู้เรียนสามารถประยุกต์ความรู้ความสามารถ ทักษะใช้ได้อย่างเหมาะสมกับวิชาชีพ เป็นที่ยอมรับทั้งในระดับประเทศและภูมิภาคเอเชีย ปัจจุบันมีนักศึกษาจากทวีปยุโรป ได้แก่ ฟินแลนด์ เยอรมนี เดนมาร์ก, ทวีปอเมริกา ได้แก่ แคนาดา สหรัฐอเมริกา และนักศึกษาจากประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ เวียดนาม กัมพูชา ลาว พม่า จีน นอกจากนี้มีนักศึกษาจากบราซิล อเมริกาใต้ แกมเบีย ออสเตรเลีย ภูฏาน ญี่ปุ่น เป็นต้น ทำให้บรรยากาศการเรียนการสอนเป็นแบบนานาชาติ ส่วนอาจารย์ผู้สอนมาจากหลายประเทศ ได้แก่ สหรัฐ อังกฤษ ออสเตรเลีย ฮอลแลนด์ นิวซีแลนด์ แคนาดา ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ และไทย
          "ปัจจุบันเปิดสอนในสาขาวิชาต่างๆ เช่น B.A.International Affairs, B.A.Tourism Management เป็นต้น โดยผลิตบัณฑิตจบไปแล้ว 2 รุ่น พบว่านักศึกษาประสบผลสำเร็จในระดับดี มีโอกาสเข้าทำงานในองค์กรระหว่างประเทศ รวมทั้งศึกษาต่อในต่างประเทศ และในปี 2558 คนไทยตื่นตัวในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนกันมากขึ้น ทำให้มีนักศึกษาสนใจสมัครเรียนในโปรแกรมนานาชาติเพิ่มขึ้น สนใจโทร.0-4320-2173, 0-4320-2424 หรือเว็บไซต์ http://www.ic.kku.ac.th" น.ส.ยุพินกล่าว
ที่มา : มติชน

ยางพาราพื้นที่อีสานกรีดได้น้อยลง


           รายงานจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ถึงผลการติดตามสถานการณ์การผลิตยางพารา และอ้อยโรงงานของภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลาง ว่า พื้นที่ดังกล่าวมีเนื้อที่ปลูกยางพารารวมทั้ง 4 จังหวัด   ได้แก่ ขอนแก่มหาสารคาม กาฬสินธุ์ และร้อยเอ็ด รวมประมาณ 230,000 ไร่ เป็นเนื้อที่กรีดได้ประมาณ 128,000 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา  ร้อยละ 22 ผลผลิตที่ได้ประมาณ 23,600 ตัน เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 18 และผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ 185 กิโลกรัม ลดลงจากปีที่ผ่านร้อยละ 4 ทั้งนี้ เนื่องจากประสบปัญหาฝนทิ้งช่วง และภัยแล้งในปีนี้ ทำให้ปริมาณน้ำฝนไม่เพียงพอ ส่งผลให้มีน้ำยางออกน้อย เกษตรกรจึงจำเป็นต้องปิดกรีดเร็วขึ้นกว่าทุกปี โดยเมื่อพิจารณาเป็นรายจังหวัด พบว่า
          จังหวัดกาฬสินธุ์ มีเนื้อที่ปลูกยางพารามากที่สุดประมาณ 137,000 ไร่ เป็นเนื้อที่เปิดกรีดได้ประมาณ 65,000 ไร่ ผลผลิต 11,800 ตัน และผลผลิตต่อไร่ 182 กิโลกรัม รองลงมาได้แก่ จังหวัดขอนแก่น มีเนื้อที่ปลูกประมาณ 50,000 ไร่ เปิดกรีดแล้ว 38,000 ไร่ ให้ผลผลิต 6,600 ตัน และผลผลิตไร่ละ 174 กิโลกรัม ส่วนจังหวัดร้อยเอ็ด มีเนื้อที่ปลูกประมาณ 35,000 ไร่ เปิดกรีดแล้ว 21,520 ไร่ ผลผลิต 4,500 ตัน และผลผลิตต่อไร่ 210 กิโลกรัม และจังหวัดมหาสารคาม มีเนื้อที่ปลูกประมาณ 8,000 ไร่ เปิดกรีดแล้ว 3,880 ไร่ ผลผลิตประมาณ 770 ตัน และผลผลิตต่อไร่ 200 กิโลกรัม
          ดังนั้น เกษตรกรผู้ที่จะลงทุนปลูกยางพาราในพื้นที่ใหม่ ควรพิจารณาสภาพความเหมาะสมของพื้นที่ปลูกหรือโซนนิ่ง ตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง การกำหนดเขตเหมาะสมสำหรับการปลูกข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา ปาล์มน้ำมัน อ้อยโรงงานและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2556 ก่อนที่จะตัดสินใจลงทุนปลูกพืชเศรษฐกิจ ชนิดนี้ เพื่อเป็นการป้องกันความเสี่ยงจากการขาดทุนในอนาคตได้.
ที่มา : เดลินิวส์ 

วันอาทิตย์ที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2556

กรมประมงฟิตจัดสัมมนา 4 ภาคพร้อมรับมือภาวะโลกร้อน-เออีซี


   กรมประมงจัดนิทรรศการและสัมมนาภาคการประมง 4 ภาค หวังให้เกษตรกรมีความรู้รับมือผลกระทบสภาวะโลกร้อน เพื่อกู้วิกฤตน้ำท่วม ฝนแล้ง โรคระบาดสัตว์น้ำ ก้าวทันเออีซี พร้อมปั้นพี่เลี้ยงประมงอาสา
          นายศิริวัฒน์ ขจรประศาสน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงจากสภาวะโลกร้อนและประเทศไทยกำลัง ก้าวเข้าสู่ประเทศประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี ภายในปี 2558 ย่อมส่งผลกระทบต่อเกษตรกรที่ประกอบอาชีพเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำถึง 592,000 รายโดยตรง ที่จะต้องปรับตัวให้สามารถอยู่ในภูมิภาคนี้ ได้และไม่เสียเปรียบ ดังนั้นกรมประมงในฐานะหน่วยงานภาครัฐมีหน้าที่ที่ต้องให้ความรู้แก่เกษตรกร เพื่อปรับตัวรองรับความเปลี่ยนแปลงของโลกทางเศรษฐกิจ จึงได้จัดงานให้ความรู้แก่เกษตรกร ในหัวข้อ "ประมงไทย รับรู้ สู้ภัยพิบัติ ยืนหยัดสู่อาเซียน" โดยเป็นการจัดนิทรรศการพร้อมกันทั่วประเทศ 4 ภาค ดังนี้ ภาคกลาง ระหว่างวันที่ 9-10 พฤษภาคม 2556 ณ มหาวิทยาลัย ราชภัฏราชนครินทร์ จังหวัดฉะเชิงเทรา, ภาคใต้ ระหว่างวันที่ 14-15 พฤษภาคม 2556 ณ โรงแรมวังใต้ จังหวัดสุราษฎร์ธานี, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ระหว่างวันที่ 21-22 พฤษภาคม 2556 ณ โรงแรมพูลแมน ราชา ออคิด จังหวัดขอนแก่น
 และภาคเหนือ ระหว่างวันที่ 29-30 พฤษภาคม 2556 ณ โรงแรมเชียงใหม่ภูคำ จังหวัดเชียงใหม่
          "สำหรับไฮไลต์ภายในงาน ได้จัดให้มีนิทรรศการแสดงพันธุ์ปลาท้องถิ่นหายาก หรือสัตว์น้ำเศรษฐกิจประจำถิ่น อาทิ จังหวัดขอนแก่น
 มีการจัดแสดงปลาสวายและปลาพรมหัวเหม็น, จังหวัดเชียงใหม่ จัดแสดงปลาเทราต์ และปลาสเตอร์เจี้ยน, จังหวัดฉะเชิงเทราและสุราษฎร์ธานี มีการจัดนิทรรศการเกี่ยวกับการแสดงสัตว์น้ำมีชีวิต (Touch Pook) และ การจัดแสดงสัตว์น้ำชายฝั่งสวยงาม มีชีวิต อาทิ ปลิงทะเล ปลาการ์ตูน และหอยมือเสือ พร้อมเสริมสร้างความรู้ให้เกษตรกรในด้านการป้องกันและรักษา โรคสัตว์น้ำชายฝั่ง เช่น โรคตายด่วน (EMS) ในกุ้งทะเล เพื่อให้เกษตรกร ได้เตรียมความพร้อมในการป้องกันให้เลี้ยงกุ้งทะเลปลอดจากโรคระบาด หรือเกิดความเสียหายจากโรคระบาดได้ โดยภายในงานจะมีการรับสมัครประมงอาสาที่มีความรู้ด้านการประมง เพื่อสร้างแกนนำ และผู้ประสานงานในการถ่ายทอดเทคโนโลยีและข่าวสารด้านการประมงให้กับเกษตรกรในชุมชน และระหว่างเกษตรกรกับเจ้าหน้าที่ประมง"
          นอกจากนี้ กรมประมงยังได้จัดให้มีการประชุมสัมมนาและการบรรยายให้ความรู้ด้วย เช่น เรื่อง "ระเบียบการ ช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัย" โดย ผู้แทนสำนักพัฒนาและถ่ายทอด เทคโนโลยีการประมง/"บทบาทของ ประมงอาสา" โดยผู้แทนสำนักงานตรวจราชการกรม กรมประมง/การบรรยาย "การเตรียมตัวสู่การเป็น Smart Farmer ของเกษตรกรประมง" โดยผู้แทนกองแผนงาน กรมประมง/การเสวนา "พัฒนาเกษตรกรประมงไทยสู้ภัยพิบัติในอนาคต" โดยคณะวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ และการเสวนา "เกษตรกรไทยได้อะไรจากการเข้าสู่ AEC" โดย คณะวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ

ธ.ก.ส.ผ่อนปรนชำระหนี้ช่วยผู้ประสบภัย


นายสามารถ  เผ่าภูไทย ผอ.สำนักงาน ธ.ก.ส.จังหวัดขอนแก่น เปิดเผยว่า ได้มอบเครื่องคอมพิวเตอร์ พร้อมอุปกรณ์และโปรแกรมการใช้งานให้แก่กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง (กทบ.) ที่เป็นลูกค้า ธ.ก.ส. ในปีบัญชี 2555-2559 ปีละ 2,500 กองทุน จำนวนทั้งสิ้น 12,500 ทุน พร้อมกับมอบอุปกรณ์โรงเรียนธนาคารต้นแบบ ทุนอาหารกลางวันและเงินสนับสนุนการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ ธ.ก.ส. รวมมูลค่ากว่า 2.3 ล้านบาท
          นายสามารถ กล่าวว่า ในปีบัญชี 2555 (1 เมษายน 2555-31 มีนาคม 2556) ธ.ก.ส.มีนโยบายในการสนับสนุนการดำเนินงานของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง (กทบ.) กว่า 2,500 แห่ง ในส่วนของสำนักงาน ธ.ก.ส. จ.ขอนแก่น มีกองทุนหมู่บ้าน ที่ใช้บริการกับ ธ.ก.ส. และได้รับการจัดสรรงบประมาณเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของ กทบ. จำนวน 74 ทุน มูลค่า 1,850,000 บาท เพื่อเป็นการสนับสนุนและอำนวยความสะดวกในการปฏิบัติงานของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองที่ใช้บริการ กับ ธ.ก.ส.
          ส่วนการช่วยเหลือเกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส. ที่ประสบภัยแล้ง ทาง ธ.ก.ส.ได้ขึ้นทะเบียนผ่อนปรนให้ขยายเวลาชำระหนี้ออกไปโดยไม่เสียดอกเบี้ยปรับ เป็นระยะเวลา 1 ปี ทั้งนี้เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชน ก่อนที่จะเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 58 ต่อไป
ที่มา : เดลินิวส์ 

วันอังคารที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2556

รฟท.เดินหน้าสำรวจที่ดินแนวเขตรถไฟทั่วประเทศไฮสปีดเทรนดันราคาพุ่ง


          ร.ฟ.ท.เร่งสำรวจหน้าดินแนวเขตทางรถไฟทั่วประเทศ  เผยมีผู้เช่ากว่า  14,000  สัญญา  ชี้รถไฟทางคู่-ไฮสปีดเทรน  ดันมูลค่าที่ดินสูงขึ้น  เตรียมนำที่ดินรอบสถานีแนวเส้นทางออกประมูล  คาดสิ้นปี  2556  เปิดประมูล  3  ทำเลทอง  ย่านมักกะสัน-แม่น้ำและ  กม.11  พร้อมทั้งรื้อแผนแม่บทใหม่  13  สถานีรวด
          นายประเสริฐ  อัตตะนันท์  รองผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย  (ร.ฟ.ท.)  เปิดเผย  ว่า  ขณะนี้อยู่ระหว่างให้ฝ่ายบริหารทรัพย์สินของการรถไฟฯ  รวบรวมที่ดินซึ่งมีศักยภาพในการพัฒนาทั่วประเทศในแนวรถไฟทางคู่และรถไฟความเร็วสูง  เพื่อนำมาพัฒนาโครงการเพิ่มรายได้  เพราะอนาคตที่ดิน  2  ข้างทางรถไฟจะมีการเปลี่ยนแปลงมากและมีมูลค่าเพิ่มขึ้น  การรถไฟฯ  จะรวบรวมที่ดินทั้งหมดและจัดจ้างบริษัทที่ปรึกษามาทบทวนราคาที่ดิน  พร้อมกับปรับมูลค่าการลงทุนแต่ละแปลงใหม่ให้สอดคล้องกับปัจจุบัน  พร้อมนำเสนอรูปแบบการพัฒนาโครงการ  เช่น  ที่อยู่อาศัย  ศูนย์การค้า  สำนักงาน  เป็นต้น  เนื่องจากต่อไปจะนำที่ดินแต่ละแปลงออกเชิญชวนให้เอกชนเข้ามาร่วมทุนพัฒนาโครงการด้วย
          "ขณะนี้กำลังรอดูแนวเส้นทางและสถานีจุดจอดของรถไฟทางคู่  และรถไฟความเร็วสูงให้ชัดเจนก่อน  จากนั้นจะให้ที่ปรึกษามาศึกษาโครงการพัฒนาที่เหมาะสมแต่ละสถานีว่าจะทำอะไร  ได้บ้าง  และจะให้เช่าจัดหาผลประโยชน์แบบระยะยาวหรือระยะสั้น  ขณะเดียวกันได้สั่งการให้ฝ่ายบริหารทรัพย์สินหยุดการต่อสัญญาเช่าที่ดินทั่ว  ประเทศกว่า  14,000  สัญญาไว้แล้ว  เพื่อสำรวจว่าที่ดินแต่ละแปลงที่ให้เอกชนมาทำสัญญาให้นั้นอยู่ในแนวรถไฟรางคู่และรถไฟความเร็วสูงหรือเปล่า"
          ทั้งนี้  หากมีแปลงไหนที่อยู่ในเส้นทางจะให้หยุดการต่อสัญญาเช่าออกไป  หากแปลงที่ดินบริเวณไหนที่ไม่อยู่ในแนวเส้นทางให้เดินหน้าต่อสัญญาเช่าหรือ  เปิดประมูลหารายได้ต่อไป  สำหรับแปลงที่พร้อมเปิดประมูลหาเอกชนมาร่วมลงทุนได้เลย  ส่วนแปลงใหญ่    อย่างย่านมักกะสัน  497.1  ไร่  แม่น้ำ  277  ไร่  บริเวณ  กม.11  พื้นที่  359.21  ไร่  อยู่ระหว่างทบทวนมูลค่าโครงการและผลตอบแทนที่จะได้  จากเดิมที่ปรึกษาเคยศึกษาไว้พบว่าตลอดอายุสัญญาเช่า  30  ปี  ที่ดินมักกะสันจะมีรายได้  75,305  ล้านบาท  แม่น้ำมีรายได้  34,475  ล้านบาท  และ  กม.11  มีรายได้  30,208  ล้านบาท  คาดว่าน่าจะเริ่มประกาศเชิญชวนได้ภายในปีนี้
          นายประเสริฐ  กล่าวเพิ่มเติมว่า  ร.ฟ.ท.จะมีการทบทวนแผนแม่บทการพัฒนาจัดหาผลประโยชน์พื้นที่สถานี  จำนวน  13  แห่งที่เคยศึกษาไว้เมื่อปี  2552  โดยจะขออนุมัติจากคณะกรรมการการรถไฟฯ  เพื่อจ้างบริษัทที่ปรึกษามาทบทวนมูลค่าและรูปแบบโครงการใหม่พื้นที่สถานี  13  แห่งนี้เป็นสถานีที่อยู่ในพื้นที่มีศักยภาพประกอบด้วยสถานีกาญจนบุรี  สถานีหัวหิน  สถานีฉะเชิงเทรา  สถานีอรัญประเทศ  สถานีเชียงใหม่  สถานีพิษณุโลก  สถานีลำปาง  สถานีอุตรดิตถ์  สถานีนครราชสีมา  สถานีขอนแก่น  สถานีบุรีรัมย์  สถานีศรีสะเกษ  และสถานีหาดใหญ่
ที่มา : ดอกเบี้ยธุรกิจ 

สศก. เผยผลพยากรณ์ข้าวนาปี ปี 56 ให้ผลผลิตเพิ่ม 0.6 ล้านตัน เนื่องจากราคาที่จูงใจตาม



           นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร(สศก.)เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ภัยแล้งช่วงเดือนธันวาคม 2555 ประกอบกับปริมาณน้ำในเขื่อนน้อยกว่าปีที่แล้วกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึง ประกาศให้เกษตรกงดปลูกข้าวนาปรังเนื่องจากมีน้ำน้อยกว่าปกติมากในพื้นที่เขื่อนห้วยหลวง จ.อุดรธานี เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น เขื่อนลำปาว จ.กาฬสินธุ์ เขื่อนลำมูลบน เขื่อนลำตะคอง และเขื่อนลำแซะ จ.นครราชสีมา ดังนั้น เกษตรกรจึงหันไปปลูกพืชอื่นที่ใช้น้ำน้อยกว่าแทย ส่งผลเนื้อที่ปลูกข้าวนาปรังลดลงกว่า 3.3 ล้านไร่ นอกจากนี้ ผลจากสภาพอากาศแห้งแล้งปริมาณน้ำมีไม่เพียงพอ ได้ส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของต้นข้าว ทำให้ผลผลิตข้าวนาปรังปี 2556 โดยรวมลดลงจากปีที่แล้ว 2.3 ล้านตันเหลือ 9.9 ล้านตันข้าวเปลือก
          สำหรับข้าวนาปี 2556/57 ที่จะเริ่มฤดูการผลิตในเดือนพฤษภาคมที่จะถึงนี้ ปริมาณผลผลิตยังคงเพิ่มขึ้นจากผลของโครงการรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐบาล ทำให้ให้เกษตรกรปลูกข้าวมากขึ้นในแหล่งผลิตทั้งภาคเหนือและภาคกลาง นอกจากนี ปีที่แล้วเกษตรกรบางส่วนในจังหวัดแถบภาคเหนือตอนล่างและภาคกลาง เช่น จังหวัดกำแพงเพชร พิษณุโลก นครสวรรค์ สิงห์บุรี ชัยนาท อยุธยา และนครปฐม ได้เลื่อนการเพาะปลูกเร็วขึ้นเพื่อป้องกันความเสียหายจากอุทกภัย โดยได้เริ่มปลูกในเดือนเมษายนซึ่งอยู่ในฤดูปลูกข้าวนาปรัง แต่ปีนี้คาดว่าจะกลับมาปลูกในช่วงนาปีปกติคือ ในเดือน พฤษภาคม
          ทั้งนี้ คาดว่าเนื้อที่เพาะปลูกข้าวนาปีรวมทั้งประเทศอยู่ที่ 65 ล้านไร่ ปริมาณผลผลิตประมาณ 27.5 ล้านตันข้าวเปลือก เพิ่มขึ้น 0.6 ล้านตัน โดยผลผลิตจะออกมากช่วงเดือนพฤศจิกายน ถึง ธันวาคม รวมประมาณ 21.86 ล้านตัน
ที่มา : ไทยโพสต์ 

วันอาทิตย์ที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2556

รร.แห่ผุดอีสานรับรถไฟเร็วสูง


          อีสานเนื้อหอม คาดไม่เกิน 5 ปี โรงแรม 5 ดาวยันบัดเจ็ตโฮเต็ลแห่เปิด รับรถไฟความเร็วสูงดันเศรษฐกิจ-ท่องเที่ยวพุ่ง
          นายกงกฤช หิรัญกิจ อดีตประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(สทท.) เปิดเผยว่า กระแสโครงการลงทุนรถไฟความเร็วสูงมายังภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) น่าจะทำให้อีก 5 ปีข้างหน้ามีการลงทุนโรงแรมในภาคอีสานเพิ่มขึ้น หลังจากไม่มีเครือโรงแรมใหญ่มาสร้างโรงแรมใหม่นานนับสิบปี 
          ทั้งนี้ เนื่องจากผู้ประกอบการเห็นศักยภาพการเปิดโรงแรมเพื่อรองรับโรงงานบริษัทที่มีแนวโน้มย้ายฐานผลิตมายัง จ.นครราชสีมา เพราะต้องการลดความเสี่ยงปัญหาน้ำท่วม และการย้ายฐานผลิตนี้อาจลามไปถึง จ.ขอนแก่น ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนสีเขียว ไม่กระทบสิ่งแวดล้อม โดยเห็นจ.ขอนแก่น มีศักยภาพผลิตบุคลากรป้อนอุตสาหกรรม 
          สำหรับปีที่ผ่านมาโรงแรมภาคอีสานแทบทุกพื้นที่มีอัตราเข้าพักไม่เกิน 50% ต่ำกว่าอัตราเข้าพักเฉลี่ยทั้งประเทศ ซึ่งอยู่ที่ 60% 
          นายนิรันดร์ จาวลา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารเครือโรงแรมบีทู ซึ่งดำเนินธุรกิจโรงแรมประเภทมีเอกลักษณ์เฉพาะ (บูทีก)และต้นทุนต่ำ (บัดเจ็ต โฮเต็ล) กล่าวว่า ปี 2557 จะขยายโรงแรมในภาคอีสาน โดยมองไว้ที่ จ.อุดรธานี และขอนแก่น เนื่องจากเป็นเมืองใหญ่และยังสนใจเปิดโรงแรมที่ จ.บุรีรัมย์ เพื่อรองรับคนไทยและจากประเทศเพื่อนบ้านที่น่าจะเพิ่มมากขึ้น
          นายสุรพงษ์ เตชะหรูวิจิตร นายกสมาคมโรงแรมไทย กล่าวว่า ยังไม่เห็นการลงทุนสูงๆ เข้าไปในภาคอีสาน เพราะทุกเมืองยังอยู่ในภาวะห้องพักมากเกินความต้องการ เนื่องจากเป็นภูมิภาคที่มีผู้ประกอบการอพาร์ตเมนต์ปล่อยเช่ารายวันสูงอันดับต้นๆ เมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นอย่างไรก็ตามจากนี้คงเริ่มเห็นโรงแรมเคลื่อนไหวร้องเรียนท้องถิ่นกดดันให้เอาผิดผู้ประกอบการผิดกฎหมายมากขึ้น 
ที่มา : โพสต์ทูเดย์

เอกชนแห่ผุดนิคมใหม่ดึงทุนจีน-ญี่ปุน


           เอกชนเด้งรับนโยบายกนอ.ผุดนิคมฯ แห่งใหม่  ส่วนใหญ่เล็งภาคตะวันออกจ้องรับทุนล็อตใหม่จาก จีน ญี่ปุ่น "นวนคร" แย้มแผนกว่าพันล้านพัฒนาที่ 1 พันไร่ ตั้งนิคมฯเอสเอ็มอี รอดูท่าทีกนอ.ก่อนตัดสินใจเร็วๆ นี้ ด้านนิคมฯไฮเทคซุ่มเงียบควักอีก 500 ล้าน ปลุกกบินทร์อีกรอบ รองรับอุตสาหกรรมเล็ก-กลาง พัฒนาพื้นที่ได้ไตรมาส 3 นี้ ขณะที่ทุนอุดรโดดยื่นแสดงความจำนงจับมือกับกนอ.แล้ว
          สืบเนื่องจากก่อนหน้านี้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ประกาศแผนยุทธศาสตร์ของกนอ. พัฒนาโครงการเพิ่มพื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรมใหม่จำนวน 12 แห่ง แบ่งเป็นพื้นที่พัฒนาเป็นนิคมอุตสาหกรรม 3 กลุ่มคือ พื้นที่ตั้งนิคมอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม หรือนิคมอุตสาหกรรมเอสเอ็มอี ในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออกติดชายทะเล, พื้นที่ตั้งนิคมอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ รองรับการค้าชายแดนเชียงของ จังหวัดเชียงราย และพื้นที่ตั้งนิคมอุตสาหกรรม ที่รองรับการเข้าสู่การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี เพื่อเชื่อมโยงระเบียงเศรษฐกิจตะวันออกและตะวันตกในภาคตะวันออกเฉียงเหนืออีก 8 แห่ง ประกอบด้วยนิคมอุตสาหกรรมในจังหวัดนครราชสีมา ขอนแก่น อุบลราชธานี อุดรธานี มุกดาหาร สกลนคร นครพนม และหนองคาย
          นวนครทุ่มพันล.ผุดนิคมฯเอสเอ็มอี
          ล่าสุดจากการสำรวจของ "ฐานเศรษฐกิจ" พบว่ามีผู้ประกอบการนิคมอุตสาหกรรมเขตและสวนอุตสาหกรรมหลายแห่งแสดงความสนใจที่จะร่วมกับกนอ. พัฒนาเขตประกอบการแห่งใหม่และอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้และบางรายอยู่ในขั้นตอนการเตรียมแผนที่จะดำเนินการอยู่แล้ว
          ซึ่งเรื่องนี้นายนิพิฐ อรุณวงษ์ ณ อยุธยา กรรมการผู้จัดการบริษัท นวนคร จำกัด (มหาชน) หรือ บมจ.นวนครผู้พัฒนาสวนอุตสาหกรรมนวนครที่จังหวัดปทุมธานีและจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ขณะนี้สนใจที่จะลงไปพัฒนาพื้นที่สำหรับตั้งเป็นนิคมอุตสาหกรรมเอสเอ็มอี ในภาคตะวันออกซึ่งขณะนี้ยังไม่พร้อมเปิดเผยชื่อจังหวัด แต่อยู่ในพื้นที่ขนาดกว่า 1 พันไร่ ใช้เงินลงทุนราว 1.2-1.3 พันล้านบาท เพื่อรองรับอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ อาหารและอุตสาหกรรมยา หลังจากที่ผ่านมา บมจ.นวนครลงทุนในภาคกลางและภาค
อีสานไปก่อนแล้ว โดยโครงการนี้จะชัด เจนภายในปีนี้และมีแนวโน้มว่าจะพัฒนาร่วมกับกนอ. เพราะที่ผ่านมายังไม่เคยมีการพัฒนาพื้นที่ร่วมกัน
          โดยนิคมอุตสาหกรรมเอสเอ็มอีที่จะตั้งขึ้นใหม่ จะรองรับกลุ่มทุนขนาดกลางและขนาดย่อมที่ก่อนหน้านี้มีทุนจากจีนและญี่ปุ่นเดินสายเข้ามาสำรวจพื้นที่ลงทุนโดยเข้ามาครั้งละ 30-40 ราย โดยเฉพาะทุนญี่ปุ่นส่วนใหญ่จะเป็นทุนระลอกใหม่ที่ไม่เคยเข้ามาลงทุนในประเทศไทย แต่ขณะนี้กำลังเผชิญปัญหาเศรษฐกิจภายในญี่ปุ่นทำให้ต้นทุนการผลิตไม่สามารถแข่งขันได้ ขณะที่ในกระบวนการผลิตก็มีปัญหาไฟฟ้าขาด และค่าไฟสูง อีกทั้งยังมีความเสี่ยงทางภัยธรรมชาติ ในขณะที่ไทยยังมีความได้เปรียบในแง่ทำเลที่ตั้ง และเป็นจุดยุทธ ศาสตร์ประตูการค้าที่สำคัญ ซึ่งขณะนี้มีเพียงประเด็นค่าแรงงานที่สูงขึ้นและบาทแข็งค่าต่อเนื่องที่จะเป็นปัญหา ทำให้ทุนกลุ่มนี้ยังไม่เร่งรีบตัดสินใจเข้ามาลงทุนทันที
          อย่างไรก็ตามหากดูตามแผนยุทธศาสตร์ของกนอ. จะเห็นว่าในพื้นที่ภาคอีสาน
 บมจ.นวนครจะเป็นกลุ่มแรกๆ ที่เข้าไปพัฒนาพื้นที่ที่จังหวัดนครราชสีมา จนถึงขณะนี้ได้ขยายไปถึงพื้นที่เฟสที่ 3 แล้ว ดังนั้นเมื่อกนอ.มีแผนจะร่วมกับเอกชนพัฒนาพื้นที่ใหม่อีกก็น่าสนใจ เพราะก่อนหน้านี้สวนอุต สาหกรรมนวนครทั้งหมดไม่ได้ร่วมกับกนอ.พัฒนาพื้นที่
          ไฮเทคลงทุนต่อที่กบินทร์
          สอดคล้องกับที่นายทวิช เตชะนาวากุล  กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทย อินดัสเตรียล เอสเตท  จำกัด ผู้พัฒนา นิคมอุตสาหกรรมไฮเทค (บ้านหว้า) จ.พระนครศรีอยุธยา  กล่าวว่า ระหว่างนี้บริษัทเตรียมแผนที่จะลงทุนตั้งนิคมอุตสาหกรรมเอสเอ็มอี ที่กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี  ในขนาดพื้นที่ราว 100 ไร่ ลงทุนตั้งแต่ 300-500 ล้านบาท จะเป็นโครงการที่ต่อยอดกับโครงการไฮเทค กบินทร์ อินดัสเตรียล ปาร์ค ที่เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อปีที่แล้ว โดยโครงการดังกล่าวจะเริ่มพัฒนาได้ในช่วงไตรมาส 3 ปีนี้เน้นอุตสาหกรรมเป้าหมายด้านยานยนต์ อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เป็นหลัก  คาดว่าจะเป็นโครงการที่ร่วมกับกนอ.ได้ เพราะนโยบายสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ของกนอ. ตรงที่เป็นนิคมอุตสาหกรรมเอสเอ็มอีและเป็นนิคมอุตสาหกรรมที่รองรับการเข้าสู่เออีซีได้ด้วย เนื่องจากกบินทร์บุรี ตั้งอยู่ด้านตะวันออกของกทม.และอยู่ทางทิศเหนือของอีสเทิร์นซีบอร์ด และอยู่ห่างจากตะเข็บชายแดนไม่มาก
          แนะปรับเกณฑ์อีไอเอใหม่
          นายทวิช กล่าวอีกว่า ถ้ากนอ. หรือภาครัฐต้องการจะผลักดันให้เกิดการลงทุนตั้งนิคมอุตสาหกรรมแห่งใหม่ให้เร็วขึ้นก็ควรจะปรับเกณฑ์การพิจารณารายงานการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอใหม่ โดยพิจารณาตามประเภทอุตสาหกรรมอย่างมีขอบเขต ไม่ใช่เข้มงวดเหมือนกันทั้งหมด โดยควรพิจารณาไปตามความเสี่ยงของอุตสาหกรรม เช่น ถ้าเป็นอุตสาหกรรมที่มีผลกระทบจากมลพิษมากก็ดำเนินการอีไอเอแบบหนึ่ง หรือควรมีช่องทางพิเศษในการดำเนินการด้านอีไอเอกับอุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงทางมลพิษน้อย  เนื่องจากระยะหลังการผลักดันให้เกิดนิคมอุตสาหกรรมแห่งใหม่เป็นไปได้ยากขึ้น เพราะต้องผ่านกระบวนการพิจารณาเรื่องอีไอเอค่อนข้างนาน
          ทุนภูธรขานรับมติครม.กรุยทางกว่า 2 พันไร่
          นายสุวิทย์ พิพัฒน์วิไลกุล กรรม การผู้จัดการ บริษัท เมืองอุตสาหกรรมอุดรธานี จำกัด เปิดเผยว่า ขณะนี้บริษัทได้ยื่นแสดงความจำนงที่จะร่วมทุนกับกนอ.ไปแล้ว โดยจะพัฒนาพื้นที่จำนวน 2.154 พันไร่ ใช้เงินลงทุนกว่า 1 หมื่นล้านบาท เป็นนิคมอุตสาหกรรมสีเขียว เน้นอุตสาหกรรมที่สร้างมูลค่าเพิ่มอย่างอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และชิ้นส่วนยานยนต์ และที่สนใจร่วมทุนครั้งนี้ เนื่อง จากเห็นว่ากนอ.มีความชำนาญและประ สบการณ์ในการพัฒนาที่ดิน การที่จะออกไปโรดโชว์ดึงนักลงทุนเข้ามามีศักยภาพสูงเมื่อเทียบกับที่บริษัทจะดำเนินการเอง เพราะนักลงทุนจากต่างประเทศที่เป็นบริษัทใหญ่ๆจะมีความเชื่อมั่นกนอ.และสามารถดึงบริษัทลูกให้ตามเข้ามาลงทุนได้อีก
          ที่สำคัญจะสอดรับกับมติคณะรัฐมนตรี ที่ต้องการให้จังหวัดอุดรธานีมีพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมขึ้น และถือเป็นยุทธศาสตร์ของจังหวัดอีกทางหนึ่ง จึงต้องการผลักดันในเรื่องนี้ให้เกิดขึ้น สำหรับสัดส่วนการลงทุนจะเป็นอย่างไรนั้น คงต้องหารืออีกครั้งหลังจากที่กนอ.คัดเลือกผู้ร่วมลงทุนอีกครั้ง ซึ่งสิทธิประโยชน์ที่กนอ.แจ้งมาแล้ว จะสนับสนุนการก่อสร้างศูนย์บริการเบ็ดเสร็จครบวงจรในเนื้อที่ประมาณ 500 ตารางเมตรให้ในวงเงินไม่เกิน 10 ล้านบาท พร้อมยกเว้นค่ากำกับบริการ 2 ปี โดยให้ชำระค่ากำกับบริการในปีที่ 5 เป็นต้นไป รวมถึงกนอ.จะสนับสนุนในเรื่องการประชา สัมพันธ์โครงการทั้งในและต่างประเทศให้ด้วย
          "ปัจจุบันทำธุรกิจโรงโม่หิน ล่าสุดตั้งบริษัท เมืองอุตสาหกรรมอุดรธานีฯ ขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่พัฒนาธุรกิจที่ดิน เนื่องจากมีพื้นที่รองรับอยู่แล้ว จากอดีตที่เคยมีหุ้นส่วนจะทำเขตอุตสาห กรรม แต่ต้องชะงักไปก่อนเพราะวิกฤติต้มยำกุ้งปี 2540 ครั้งนี้จึงได้ซื้อหุ้นกลับมาดำเนินการเองทั้งหมดโดยจะร่วมกับกนอ."
          กนอ.ประกาศร่วมทุนถึง 31 พ.ค.นี้
          ด้านนายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า นิคมอุตสาห กรรมใหม่ 12 แห่ง มีพื้นที่รวมประมาณ 1.8 หมื่นไร่ แนวทางการลงทุนจะเป็นลักษณะการให้เอกชนร่วมลงทุน ซึ่งจะเหมือนกับนิคมอุตสาหกรรมอมตะฯ หรือนิคมอุตสาหกรรมเหมราชฯ โดยอยู่ระหว่างประกาศเชิญ ชวนเอกชนเข้าร่วมลงทุนตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน-31 พฤษภาคม 2556 นี้ซึ่งขณะนี้มีกลุ่มอุตสาหกรรมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบด้วย อุดรธานี ขอนแก่น และนครราชสีมา ได้ยื่นแสดงความสนใจร่วมลงทุนแล้ว ทั้งนี้ การเพิ่มพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมทั้ง 12 แห่ง จะเป็นการรองรับการเข้ามาของนักลงทุน โดยเฉพาะนักลงทุนญี่ปุ่นและจีน ในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน และอิเล็กทรอนิกส์ ที่ปัจจุบันมีการลงทุนสูง
          "งบลงทุนในพื้นที่อุตสาหกรรมทั้ง 12 แห่ง ในเนื้อที่ 1.8 หมื่นไร่ คาดว่าจะใช้เม็ดเงินลงทุนรวม 2.7 หมื่นล้านบาท โดยเงินลงทุนส่วนใหญ่จะมาจากเอกชนทั้งหมด ในขณะที่ภาครัฐจะเข้าไปลงทุนในส่วนของโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะ ระบบสาธารณูปโภคแก่นักลงทุน และมีเอกชนเข้ามาลงทุนตั้ง โรงงานมูลค่ารวม 5.17 แสนล้านบาท"
          ทั้งนี้ คาดว่าภายในเดือนพฤษภา คมจะสามารถสรุปผลการดำเนินงานและรายชื่อเอกชนร่วมลงทุนเสนอต่อคณะกรรมการ กนอ. เพื่อออกระเบียบการลดหย่อนค่ากำกับการบริการให้เอกชนเป็นจำนวน 2 ปี และสนับสนุนการก่อสร้างอาคารศูนย์บริการเบ็ดเสร็จครบวงจร (OSS) พื้นที่ประมาณ 500 เมตร ในวงเงินไม่เกิน 10 ล้านบาทรวมถึงสนับสนุนโรดโชว์ในเรื่องของการประชาสัมพันธ์ทั้งในและต่างประเทศ นอกจากนี้ก็จะเป็นเรื่อง การให้สิทธิประโยชน์จากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ตามเขตการลงทุน
          ปัจจุบัน กนอ.มีนิคมรวม 46 แห่ง แบ่งเป็นนิคมอุตสาหกรรมที่ กนอ.พัฒนาเอง 11 แห่ง และ 35 แห่งเป็นนิคมของเอกชนร่วมลงทุนกับกนอ.ทั้งนี้เชื่อว่าภาพรวมการขายพื้นที่ในเขตประกอบการทั้ง 46 แห่ง ปี 2556 นี้ จะสามารถขายพื้นที่ได้จำนวน 4 พันไร่ จากจำนวนพื้นที่ขายเฉลี่ยปีละประมาณ 3 พันไร่ ในช่วงปี 1-2 ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ สาเหตุที่พื้นที่ในเขตประกอบการขายดี เนื่องจากมีการปรับขยายพื้นที่เพิ่มเติมเพื่อรองรับการขยายตัวในอุตสาหกรรมยานยนต์ และปิโตรเคมี เป็นต้น
ที่มา : ฐานเศรษฐกิจ

เปิดเออีซีดันสินเชื่อธอส.อีสานโตไม่หวั่นฟองสบู่-ยันดีมานด์จริง

         กรรมการผู้จัดการหญิง  ธอส.เปิดใจต้องการให้สตรีมีงานทำเลี้ยงตัวเองได้  เปิดเออีซี  ส่งผลให้สินเชื่อที่อยู่อาศัยในภาคอีสานเติบโตและราคาที่ดินปรับขึ้นสูง  โดยเฉพาะจังหวัดขอนแก่นมีผู้มาขอสินเชื่อสูงขึ้น  20%  ไม่หวั่นฟองสบู่  เพราะมีดีมานด์และขายโครงการได้จริง  ตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อใหม่  120,000  ล้านบาท
          นางอังคณา  ปิลันธน์โอวาท  ไชยมนัส  กรรมการผู้จัดการ  ธนาคารอาคารสงเคราะห์  (ธอส.)เปิดเผยว่า  ปี 2556  ถือเป็นปีที่  ธอส.ครบรอบ  60  ปีของการจัดตั้งธนาคาร  จึงเน้นความเป็นเลิศในทุกด้าน  โดยกำหนดให้เป็นปีแห่งการให้บริการ  เพื่อให้  ธอส.อยู่ในใจของลูกค้าและครองความเป็นสถาบันการเงินอันดับ  1  ในด้านสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย  ปี  2556  ตั้งเป้าหมายด้านสินเชื่อปล่อยใหม่อยู่ที่  120,000  ล้านบาท  ยอดสินเชื่อคงค้าง  733,107  ล้านบาท  สินทรัพย์รวมไม่น้อยกว่า  764,642  ล้านบาท  จาก    สิ้นปี  2555  มีสินทรัพย์  735,996  ล้านบาท  โดยมีเป้าหมายเงินฝากรวม  594,440  ล้านบาท  และตั้งเป้ากำไรสุทธิ  8,119  ล้านบาท  ส่วน  NPL  ของ  ธอส.ในปัจจุบันลดลง  5-6%
          "ปี  2558  จะเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน  หรือเออีซี  ปรากฏว่าสินเชื่อที่อยู่อาศัยในภาคอีสานขยายตัวมากขึ้น  ประชาชนไปซื้อที่อยู่อาศัยกันมาก  โดยเฉพาะอีสานเหนือ  ทำให้ราคาที่ดินปรับขึ้นสูง  ส่วนจังหวัดขอนแก่น  มีผู้มาขอสินเชื่อเพิ่มมากถึง  20%  แต่  ธอส.ปล่อยสินเชื่ออย่างมีหลักเกณฑ์  มีการวิเคราะห์สินเชื่ออย่างรัดกุม  เพราะพิจารณาแล้ว  เป็นความต้องการจริง  ขายโครงการได้จริง  ขณะนี้แบงก์ชาติไม่อยากให้ธนาคารใช้ดอกเบี้ย  0%  แต่  ธอส.ให้ดอกเบี้ย  0%  จากใจจริง  เพราะเราจับกลุ่มลูกค้ารายได้น้อยและปานกลาง  90%  ใครเตือนสิ่งที่ดีเราก็ฟัง  ปัญหาฟองสบู่  แบงก์ติดตามและวิเคราะห์อย่างใกล้ชิด  แต่  ธอส.อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง  ธอส.เจาะกลุ่มลูกค้าคนละกลุ่มกับแบงก์พาณิชย์"
          นางอังคณา  กล่าวต่อไปว่า  กลยุทธ์ในการขับเคลื่อนองค์กรไปสู่เป้าหมายคือ  การขยายสินเชื่อลูกค้าทุกกลุ่มรายได้ด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่หลากหลาย  ผู้ที่มีรายได้  15,000  บาท  ธอส.จัดเป็นกลุ่มผู้มีรายได้น้อย  ผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่า  70  ,000  บาท  เป็นผู้มีรายได้ปานกลางและผู้มีรายได้สูงกว่า  70,000  บาทเป็นผู้มีรายได้สูง  ขณะที่ด้านเงินฝากมุ่งขยายฐานเงินฝากรายย่อยเพิ่มขึ้น  พร้อมทั้งปรับปรุงและยกระดับคุณภาพการให้บริการ  พัฒนาระบบบริหารจัดการองค์กร  บุคลากร  ระบบบริหารความเสี่ยง  และระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งธนาคารได้ให้ความสำคัญในเรื่องการกำกับดูแลกิจการที่ดี  การมีธรรมาภิบาล  ความโปร่งใส  และรับผิดชอบต่อสังคม  โดยเน้นกิจกรรมเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมในโครงการที่ต่อเนื่องกับที่อยู่อาศัย  เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตแบบยั่งยืนให้กับชุมชนฐานราก  ส่งเสริมความเข้มแข็ง  สร้างอาชีพที่มั่นคง  สร้างรายได้ระยะยาว
          "ในฐานะที่เป็นกรรมการผู้จัดการหญิงคนแรกของ  ธอส.  จะพยายามทำงานให้ได้อย่างผู้ชาย  ต้องการพัฒนาสตรีให้มีงานทำเลี้ยงตัวเองได้เป็นสตรีของชุมชน"  นางอังคณา  กล่าว
ที่มา : ดอกเบี้ยธุรกิจ 



วันศุกร์ที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2556

พลัสฯ ขยายฐานหัวเมืองใหญ่


พลัส พร็อพเพอร์ตี้" เดินหน้าธุรกิจบริหารโครงการแบบครบวงจร จับกระแสการเติบโตหัวเมืองใหญ่ขยายตลาดภูธร ปลื้ม Q1 รายได้ทะลุ 200 ล้านบาท
          นายภูมิภักดิ์ จุลมณีโชติ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท พลัส พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด เปิดเผย ว่า  ปี 2556 บริษัทจะยังคงเน้นธุรกิจการให้บริการด้านอสังหาริมทรัพย์ เป็นหลัก โดยได้ขยายตลาดไปใน ต่างจังหวัดที่มีแนวโน้มการเติบโตดี เช่น ภูเก็ต เชียงใหม่ขอนแก่น
 อุดรธานี โคราช สงขลา ชลบุรี ระยอง นอกจากนี้จะให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากรรองรับการเติบโต ของธุรกิจอสังหาฯทุกเซกเมนต์ในภูมิภาคต่างๆ
          ทั้งนี้ บริษัทยังคงเป้าหมายการเติบโตของธุรกิจ ซึ่งคาดว่ารายได้รวมในปี 2556 จะเติบโตกว่าปีก่อน 11% ซึ่ง ณ ไตรมาส 1/2556 (สิ้นสุด 31 มี.ค.) บริษัทมีรายได้รวม 211 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกัน ของปีก่อนที่มีรายได้ 163 ล้านบาทที่ 29%
          "ปัจจัยสำคัญสำหรับการเติบโตของธุรกิจอสังหาฯภายในระยะเวลาอันใกล้นี้คือ การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ที่กระตุ้นให้ชาวไทยและต่างชาติมีการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์สูงขึ้น ส่วนเรื่องสัญญาณฟองสบู่ในภาคธุรกิจอสังหาฯที่หลายฝ่ายจับตามองนั้น ปัจจุบัน ยังไม่พบสัญญาณใดๆ โดยฝ่ายวิจัยและพัฒนาของบริษัทตรวจสอบ ข้อมูลด้านความต้องการซื้อของ ผู้บริโภคในแต่ละพื้นที่ก่อนจะเริ่มบริหารงานขายโครงการ"
ที่มา : โลกวันนี้ 

มข.เพิ่มมูลค่าสินค้าจักสาน ผุด'กระติบข้าว-ปิ่นโต-กระเป๋า-โคมไฟ'


           ชาวบ้านยางคำ ต.ยางคำ อ.หนองเรือ จ.ขอนแก่น มีอาชีพหลักคือเกษตร กรรม และหลังจากงานประจำ ก็จะทำอาชีพหัตถกรรมจักสาน โดยรวมกลุ่มกันสาน "กระติบข้าว" จัดตั้งเป็นกลุ่มที่ผลิตสินค้างานหัตถกรรมจักสานโดยใช้ชื่อ "กระติบข้าวไผ่ตะวัน" โดยมี นายกองมี หมื่นแก้วเป็นประธานกลุ่ม
          งานจักสานจากภูมิปัญญาที่ชาวบ้านยางคำสืบทอดต่อกันมาจากบรรพบุรุษ ลวดลายจักสานแบบดั้งเดิม เช่น ลายคุบ ลายสอง ลายสาม ลายดอกจิก ตลอดจนการทำลวดลายที่ละเอียด การสานที่แน่นหนา วิธีการสานที่สืบทอดกันมาแต่โบราณ ที่ผลิตเป็นกล่องข้าว และกระติบข้าว ที่สามารถเก็บอุณหภูมิของข้าวเหนียวได้ดี อันเป็นเอกลักษณ์ของกลุ่มไม้ไผ่สีสุก หรือไผ่สีทอง เป็นวัสดุที่ใช้ในการจักสาน ก็ใช้ไม้ไผ่ในหมู่บ้านที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ และได้ขยายพันธุ์อย่างต่อเนื่อง จากการปลูกเพื่อรองรับการขยายสินค้าตามความต้องการมากขึ้น
          ด้วยศักยภาพดังกล่าว กลุ่มสานกระติบข้าวบ้านยางคำจึงถูกคัดเลือกให้เป็นกลุ่มเป้าหมายของการศึกษาวิจัยในโครงการสนับสนุนนักวิจัยหน้าใหม่ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น
 (มข.) โดยมี ผศ.ดวงจันทร์ นาชัยสินธุ์ สาขาวิชาออกแบบนิเทศศิลป์ โปรแกรมบรรจุภัณฑ์และนิทรรศการ หัวหน้า ทีมวิจัย นายเจด็จ ทองเฟื่อง สายวิชาประติมากรรม และ นายทรงวุฒิ แก้ววิศิษฏ์สาขาวิชาจิตรกรรม คณะศิลปกรรมศาสตร์ ลงพื้นที่ศึกษาพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ และ
          บรรจุภัณฑ์ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม สำหรับสินค้าผลิตภัณฑ์ชุมชน จ.ขอนแก่น
          เพื่อให้ผลิตภัณฑ์หัตถกรรมจักสานที่มีรูปแบบเฉพาะตัว เน้นการใช้วัสดุไม้ไผ่สีทองที่เป็นทรัพยากรหลักของชุมชน มีกระบวนการสร้างสรรค์ของนักออกแบบร่วมกับกลุ่มชุมชนผู้ผลิตกระติบข้าวบ้านยางคำ คือกำหนดกลุ่มเป้าหมายทางการตลาดใหม่ เป็นกลุ่มผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อสูงขึ้น รับรู้ถึงคุณค่ารสนิยมของผลิตภัณฑ์ ใช้วัสดุที่มีอยู่ในท้องถิ่นเป็นหลัก ประยุกต์อย่างกลมกลืนให้เป็นเอกลักษณ์ของกลุ่ม สร้างแนวคิดของผลิตภัณฑ์ใหม่ ด้วยการสื่อความหมายจากแนวคิด "วัฒนธรรมการกิน" สร้างตราสินค้า ให้แตกต่างกันในเรื่องของรูปร่าง สีสัน และ
          สัญลักษณ์
          จากผลงานวิจัย ทำให้กระติบข้าวไผ่ตะวันของชาวบ้านยางคำมีเอกลักษณ์ รูปทรงแปลกตา ทำเป็นปิ่นโต กระเป๋า เพื่อให้เกิดประโยชน์อเนกประสงค์มากกว่ากระติบข้าวแบบเดิม การเลือกใช้สีที่ลงตัว ลวดลายที่ดูแปลก และสวยงาม สีที่ใช้ย้อมเป็นสีธรรมชาติจากเปลือกไม้ ด้วยเทคนิคการย้อมพิเศษติดทนนาน ทำให้ขยายกลุ่มลูกค้าจากชาวบ้านไปสู่นักท่องเที่ยวที่มีกำลังซื้อที่สูงขึ้น
          ทีมนักวิจัยคณะศิลปกรรมศาสตร์ มข.ยังสนใจคิดสร้างสรรค์ นำเอาวัสดุธรรมชาติที่เหลือใช้ เช่น ใช้หนามไม้ไผ่ ผลน้ำเต้า นำมาสร้างสรรค์เป็นโคมไฟ ที่แขวนชุดเสื้อผ้า โดยเจ้าของผลงานคือนายเจด็จ และนายทรงวุฒิ
          ผู้ประกอบการ หรือผู้ที่สนใจ สอบถามได้ที่ ผศ.ดวงจันทร์ นาชัยสินธุ์ โทร.08-1562-5892
ที่มา : มติชน 

วันพุธที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2556

มข.เผยผลสำรวจประชาชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือคนอีสานอยากได้รถไฟความเร็วสูงแล่นถึงหนองคาย


            อีสานโพล (E-Saan Poll) ศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน (ECBER) คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เผยผลสำรวจเรื่อง "ชาวอีสาน กับโครงการรถไฟความเร็วสูง" โดยผลสำรวจพบว่า กลุ่มตัวอย่างชาวอีสานส่วนใหญ่บ่นการให้บริการรถไฟในปัจจุบัน และต้องการให้มีรถไฟความเร็วสูงไปถึงหนองคาย โดยประมาณ 1 ใน 3 จะหันมาใช้รถไฟความเร็วสูงแทนพาหนะอื่นๆ ในการเดินทางเข้ากรุงเทพฯ
          ดร.สุทิน เวียนวิวัฒน์ หัวหน้าโครงการอีสานโพล เปิดเผยว่า การสำรวจนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เกี่ยวกับโครงการรถไฟความเร็วสูง ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการหลักที่อยู่ใน พ.ร.บ.กู้เงิน จำนวน 2.2 ล้านล้านบาท เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โดยทำการสำรวจระหว่างวันที่ 29-31 มีนาคม 2556 จากกลุ่มตัวอย่าง 1,207 ราย ในเขตพื้นที่ภาคอีสาน 20 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา 
ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ หนองคาย ชัยภูมิ เลย อุบลราชธานี อุดรธานี นครพนม หนองบัวลำภู สุรินทร์ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ สกลนคร มุกดาหาร ยโสธร อำนาจเจริญ และบึงกาฬ
          จากผลสำรวจ เมื่อถามความเห็นถึงระบบรถไฟสายอีสานในปัจจุบัน พบว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ร้อยละ 40.3 ตอบว่าพอใช้ รองลงมาร้อยละ 30.2 ตอบว่า แย่ และร้อยละ19.2 ตอบว่า แย่มาก โดยมีเพียงร้อยละ 10.4 เท่านั้นที่เห็นว่าระบบรถไฟสายอีสานดีอยู่แล้ว ซึ่งกลุ่มตัวอย่างที่มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาทต่อเดือน และกลุ่มที่มีรายได้ตั้งแต่ 15,000 บาทต่อเดือน ตอบไปในทิศทางเดียวกัน โดยกลุ่มผู้มีรายได้ตั้งแต่ 15,000 บาทต่อเดือน จะประเมินให้คะแนนน้อยกว่า เนื่องจากมีความคาดหวังสูงจากการใช้บริการ กล่าวคือ ส่วนใหญ่ร้อยละ 38.3 ตอบว่าพอใช้ รองลงมาร้อยละ 29.9 ตอบว่าแย่ และร้อยละ 23.9 ตอบว่าแย่มาก มีเพียงร้อยละ 8.0 เท่านั้นที่ตอบว่าดี
          อีสานโพล ได้สอบถามต่อว่า หากจังหวัดของท่านมีรถไฟความเร็วสูงมีความเร็วอยู่ที่ 250-300 กิโลเมตรต่อชั่วโมงผ่าน ค่าโดยสาร 2.5 บาท/กิโลเมตร เช่น ค่าโดยสาร หนองคายไป กทม. ขาเดียวประมาณ 1,540 บาท/เที่ยว และ ค่าโดยสาร 
ขอนแก่นไป กทม. ประมาณ 1,050 บาท/เที่ยว ท่านคิดว่าส่วนใหญ่ท่านจะเดินอย่างไร กลุ่มที่มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาทต่อเดือน เลือกที่จะเดินทางด้วยรถทัวร์ถึงร้อยละ 41.0 รองลงมาจึงเป็นรถไฟความเร็วสูง ร้อยละ 37.0 รถยนต์ส่วนตัว ร้อยละ 12.9 รถไฟความเร็วธรรมดา ร้อยละ 5.0 มีเพียงร้อยละ 3.7 ที่เลือกเดินทางด้วยเครื่องบิน แตกต่างจากกลุ่มที่มีรายได้ตั้งแต่ 15,000 บาทต่อเดือน ซึ่งส่วนใหญ่เลือกเปลี่ยนมาเดินทางด้วยรถไฟความเร็วสูง ร้อยละ 31.8 รองลงมาเลือกเดินทางด้วยรถทัวร์ ร้อยละ 29.2 รถยนต์ส่วนตัว ร้อยละ 23.2 และเครื่องบิน ร้อยละ 23.2 รถไฟความเร็วธรรมดา ร้อยละ 1.7
          นอกจากนี้ เมื่อถามกลุ่มตัวอย่างว่าการสร้างรถไฟความเร็วสูงสายอีสานเส้นทางใด จึงจะคุ้มค่ากับการลงทุนที่มีงบประมาณอย่างจำกัดมากที่สุด กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 36.7 เห็นว่าเส้นทาง กรุงเทพฯ-หนองคาย มีความคุ้มค่าเหมาะสมที่สุด (โดยร้อยละ 43.2 ของกลุ่มผู้มีรายได้ตั้งแต่ 15,000 บาทต่อเดือน เห็นว่าเส้นทางนี้มีความเหมาะสมในการลงทุนมากที่สุด) รองลงมาร้อยละ 18.5 เห็นว่า เส้นทางกรุงเทพฯ-อุบลราชธานี มีความเหมาะสม ตามมาด้วยร้อยละ 17.6 เห็นว่าเส้นทางกรุงเทพฯ-
ขอนแก่น มีความเหมาะสม และร้อยละ 17.1 เห็นว่าเส้นทางกรุงเทพฯ-อุดรธานี มีความเหมาะสม โดยมีเพียงร้อยละ 10.0 ที่เห็นว่าเส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา มีความเหมาะสม
          "จากผลสำรวจจะเห็นว่า ครึ่งหนึ่งของกลุ่มตัวอย่าง เห็นว่ารถไฟสายอีสานในปัจจุบันให้บริการในระดับ แย่ถึงแย่มาก ทั้งนี้ หากค่าโดยสารรถไฟความเร็วสูงอยู่ที่ 2.5 บาทต่อกิโลเมตร กลุ่มผู้มีรายได้ต่ำ ยังคงเลือกเดินทางด้วยรถทัวร์เป็นหลักในการเดินทางเข้ากรุงเทพฯ ตามมาด้วยรถไฟความเร็วสูง และรถยนต์ส่วนตัว ตามลำดับ ส่วนรูปแบบการเดินทางของผู้มีรายได้สูง จะเน้นการเดินทางด้วยรถไฟความเร็วสูง รถทัวร์ รถส่วนตัว และเครื่องบิน ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม มีกลุ่มตัวอย่างเพียงร้อยละ 10 เท่านั้น ที่เห็นว่าเส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา เป็นเส้นทางที่เหมาะสมในการลงทุน ทั้งนี้ อาจเป็นเพราะระยะทางจากนครราชสีมาไปยังกรุงเทพฯ สามารถเดินทางได้ในระยะเวลาประมาณ 2 ชั่วโมงครึ่งด้วยรถยนต์ โดยกลุ่มตัวอย่างทั้งสองกลุ่ม เห็นว่า เส้นทางกรุงเทพฯหนองคาย เป็นเส้นทางที่เหมาะสมกับการลงทุนมากที่สุด" ดร.สุทิน กล่าวตอนท้าย
          ข้อมูลทั่วไปของกลุ่มตัวอย่าง มีความเชื่อมั่นในการพยากรณ์ 99.99% และคลาดเคลื่อนได้บวกลบ 5.7% ประกอบด้วย เพศหญิง ร้อยละ 49.5 เพศชาย ร้อยละ 50.5 ส่วนใหญ่อายุ 26-35 ปี ร้อยละ 33.6 รองลงมาอายุ 36-45 ปี ร้อยละ 27.8, 46-55 ปี ร้อยละ 26.8, อายุ 18- 25 ปี ร้อยละ 6.9 และอายุ 61 ปีขึ้นไป ร้อยละ 5.0โดยอาศัยอยู่ในเขตเทศบาล (เขตเมือง) ร้อยละ 45.4 และอยู่นอกเขตเทศบาล (เขตชนบท) ร้อยละ 54.6
          ส่วนระดับการศึกษาของผู้ตอบส่วนใหญ่จบการศึกษาระดับปริญญาตรี ร้อยละ 30.0, ประถมศึกษา/ต่ำกว่า ร้อยละ 20.0, มัธยมศึกษาตอนปลาย/ปวช. ร้อยละ 17.6, อนุปริญญา/ปวส. ร้อยละ 13.8, ปริญญาโทและเอก ร้อยละ 5.7
          ด้านอาชีพส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ร้อยละ 31.3 รองลงมาอาชีพรับราชการ/รัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 20.5 พนักงานบริษัทเอกชน ร้อยละ 15.2 ค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว ร้อยละ 14.8 รับจ้างทั่วไป/ใช้แรงงาน ร้อยละ 9.3 อาชีพ พ่อบ้าน/แม่บ้าน ร้อยละ 4.7 นักเรียน/นักศึกษา ร้อยละ 3.3 อื่นๆ 0.8
          ด้านรายได้เฉลี่ยต่อเดือนส่วนใหญ่รายได้อยู่ที่ 10,001-15,000 บาท ร้อยละ 27.4 รองลงมารายได้ 5,001-10,000 บาทร้อยละ 25.3 รายได้ 20,001-40,000 บาท ร้อยละ 17.6 รายได้ 15.001-20,000 บาท ร้อยละ 15.8 รายได้ไม่เกิน 5,000 บาท ร้อยละ 8.5 และมากกว่า 40,001 บาทขึ้นไป ร้อยละ 5.4
ที่มา : บ้านเมือง

ขอนแก่นจัดงานสงกรานต์ถนนข้าวเหนียวประสบผลสำเร็จเล็งปีหน้าเพิ่มคลื่นมนุษย์ไร้แอลกอฮอล์เล่นน้ำแบบซิดแทน


วันสุดท้ายของการจัดงานสุดยอดสงกรานต์อีสานถนนข้าวเหนียว จังวัดขอนแก่น มีประชาชนมาร่วมเล่นคลื่นมนุษย์ไร้แอลกอฮอล์ ซิดแทนสาดจนล้นถนนข้าวเหนียว เผยการจัดงานสงกรานต์ประสบผลสำเร็จดีประชาชนร่วมเล่นน้ำแบบประหยัด ซิดแทนสาด เล็งปีหน้าบันทึกสถิติโลก GUINESS WORLD RECORDS การล่นคลื่นมนุษย์ไร้แอลกอฮอล์ไม่ต่ำกว่า 60,000 คนบรรยากาศการเล่นสงกรานต์ที่ถนนข้าวเหนียว จังหวัดขอนแก่น ในวันที่ 15เม.ย.56 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการจัดงานมีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติมาเที่ยวจำนวนมาก แม้ช่วงหัวค่ำที่ผ่านมาจะมีสายฝนโปรยปรายลงมา แต่ก็ไม่เป็นอุปสรรค จนกระทั่งเวลาประมาณ 19.00น. นายธีระศักดิ์ ฑีฆายุพันธุ์นายกเทศมนตรีเทศบาลนครขอนแก่น ได้ให้ผู้ที่เข้าร่วมงานตลอดถนนข้าวเหนียวระยะทาง 840 เมตรได้นั่งลงเพื่อร่วมเล่นคลื่นมนุษย์ไร้แอลกอฮอล์ ซิดแทนสาด ช่วยช่วยประหยัดพลังงาน
          โดยการเล่นคลื่นมนุษย์ไร้แอลกอฮอล์ จะเล่นคลื่นกลับไป-มา ตั้งแต่หัวถนนจัดงาน ถนนศรีจันทร์ตัดถนนหน้าเมือง ไปจนถึงหน้าวงเวียนศาลเจ้าพ่อหลักเมืองขอนแก่น
 โดยเล่นทั้งสิ้น 3 รอบครึ่ง เมื่อเสร็จการเล่นคลื่นมนุษย์ไร้แอลกอฮอล์แล้ว ได้จุดพลุฉลองความสำเร็จการจัดงาน โดยนักท่องเที่ยวได้ร่วมเต้นรำ ในบริเวณถนนข้าวเหนียวกันอย่างสนุกสนาน
          นายธีระศักดิ์ ฑีฆายุพันธุ์ นายกเทศมนตรีเทศบาลนครขอนแก่น
 กล่าวว่า การจัดงานสุดยอดเทศกาลอีสานถนนข้าวเหนียว จังหวัดขอนแก่น ในปีนี้ประสบความสำเร็จเกินคาด โดยเฉพาะการรณรงค์เล่นน้ำแบบประหยัด ตามชื่อจัดงานในปีนี้คือ"ซิดแทนสาด" นักท่องเที่ยวตลอดจนบ้านเรือนประชาชนตลอด 2 ข้างทางถนนข้าวเหนียว ให้ความร่วมมือเล่นน้ำแบบประหยัด ส่วนการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปีนี้ไม่พบมีการจำหน่าย รวมถึงเหตุทะเลาะวิวาทไม่เกิดขึ้นบริเวณที่จัดงาน
          และการจัดงานถนนข้าวเหนียวในปีหน้า จะทำการบันทึกสถิติโลก GUINESS WORLD RECORDS การล่นคลื่นมนุษย์ไร้แอลกอฮอล์ หลังจากเมื่อปี 2555 สามารถบันทึกสถิติโลกผู้เข้าร่วมเล่นได้จำนวนทั้งสิ้น 51,814 คน หรือมีความหนาแน่น 4.05 คนต่อตารางเมตร คาดว่าในปีหน้าจะมีผู้เข้าร่วมบันทึกสถิติโลก GUINESS WORLD RECORDS ไม่ต่ำกว่า 60,000 คน
ที่มา : พิมพ์ไทย

'ถั่วเหลือง' พืชเศรษฐกิจอนาคตไกลผลิตได้แค่ 10% ไม่มีปัญหาล้นตลาด


ปัจจุบันประเทศไทยมีความต้องการใช้ถั่วเหลืองสูงถึง 2.2 ล้านตัน แต่มีพื้นที่ปลูกถั่วเหลือง ลดน้อยลงอย่างต่อเนื่องทุกปี มีพื้นที่ปลูกถั่วเหลืองประมาณ 580,000 ไร่ สามารถผลิตถั่วเหลืองได้เองเพียง 2 แสนตัน คิดเป็น 10 เปอร์เซ็นต์ของความต้องการใช้ จึงต้องนำเข้าจากต่างประเทศถึงปีละ 2 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 67,000 ล้านบาท/ปี
          สาเหตุที่เกษตรกรปลูกถั่วเหลือง น้อยลง เพราะมีพืชทางเลือกอื่น ๆ มากขึ้น ถึงแม้จะมีตลาดรองรับผลผลิต 100% อีกทั้งมีการประกันราคา แต่ถั่วเหลือง เป็นพืชที่ใช้แรงงานในการผลิตมาก ผลผลิตและค่าตอบแทนต่อไร่ยังต่ำเมื่อเทียบกับพืชเศรษฐกิจอื่น ถั่วเหลืองจึงกลายเป็นพืชสำรองหลังฤดูกาลเก็บเกี่ยว พืชหลักเท่านั้น
          จึงมีการร่วมมือกันระหว่าง 3 องค์กรเอกชน ประกอบด้วย บริษัท สยามคูโบต้า คอร์ปอเรชั่น จำกัด บริษัท กรีนสปอต จำกัด และสมาคมผู้ผลิตน้ำมันถั่วเหลืองและรำข้าว เข้าไปส่งเสริมการปลูก ถั่วเหลืองหลังการเก็บเกี่ยวข้าว
          สยามคูโบต้าเข้าไปส่งเสริมการ เพาะปลูกให้แก่เกษตรกร ส่วนบริษัทกรีนสปอต และสมาคมผู้ผลิตน้ำมัน ถั่วเหลืองและรำข้าว เป็นผู้รับซื้อผลผลิต อีกทั้งยังมีความร่วมมือกับ 4 หน่วยงานภาครัฐคือ กรมวิชาการเกษตร ช่วยผลิต พัฒนาเมล็ดพันธุ์ กรมวิชาการเกษตร และกรมส่งเสริมสหกรณ์ เป็นผู้กำหนดนโยบายส่งเสริมและคัดเลือกพื้นที่ ส่งเสริม ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เป็น ผู้สนับสนุนเงินทุนแก่เกษตรกร
          นายประจวบ ตยาคีพิสุทธิ์ ผู้อำนวยการสายงานรัฐกิจและองค์กรสัมพันธ์ บริษัท กรีนสปอต จำกัด กล่าวว่า ถั่วเหลือง เป็นพืชที่ตลาดยังรองรับได้อีกมาก จะไม่มีปัญหาว่าเกษตรกรผลิตแล้วไม่มีผู้รับซื้อหรือผลผลิตล้นตลาด เนื่องจากผลผลิตในประเทศเป็นเพียง 10% ของความต้องการใช้
          สำหรับการรับซื้อถั่วเหลืองจากเกษตรกรอิงตามราคาตลาดโลก ซึ่งสูงกว่าราคารับประกันในประเทศไทย โดยเกรด 2 และเกรด 1 ซึ่งเป็นเกรดที่ใช้ในกลุ่มอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร ราคารับซื้อที่ไร่นาอยู่ที่ 22-22.50 บาท และ 23-23.50 บาท/กก. ตามลำดับ
          ถั่วเหลืองที่ผลิตเองในประเทศประมาณ 2 แสนตันนั้น มีการเก็บไว้ในครัวเรือน และซื้อ-ขายรายย่อยเพื่อใช้ในการทำน้ำเต้าหู้ เข้าสู่การซื้อ-ขายอย่างเป็นระบบประมาณ 1 แสนตัน ในแต่ละปีกลุ่มสกัดน้ำมันและกลุ่มผลิตอาหารสัตว์ต้องการใช้มากที่สุดถึง 1.5-1.7 ล้านตัน ส่วนกลุ่มผลิตแปรรูปอาหารต้องการใช้ประมาณ 6-7 หมื่นตัน แต่ยังหาซื้อในประเทศได้ไม่มาก ปีที่ผ่านมา ต้องนำเข้าถึง 87%
          ในส่วนของบริษัทกรีนสปอต ซึ่งต้องซื้อถั่วเหลืองเกรดคุณภาพมาผลิตนม ถั่วเหลืองในแต่ละปีหาซื้อถั่วเหลืองในประเทศได้ไม่คงที่ ในปี 2554 ซื้อในประเทศ 40% นำเข้า 60% แต่ปี 2555 หาซื้อในประเทศได้เพียง 20% และนำเข้า 80%
          นายประจวบกล่าวอีกว่า ราคาถั่วเหลืองที่นำเข้าใกล้เคียงกับราคาในประเทศ ถ้าเทียบเฉพาะราคาเมล็ดถั่วเหลืองแล้ว ถั่วเหลือง ต่างประเทศราคาต่ำกว่าไทยมาก เพราะผลผลิตต่อไร่สูงกว่า แต่เมื่อบวกกับค่าขนส่งซึ่งถือเป็น 25-30% ของต้นทุนแล้วทำให้ราคาสูงกว่าถั่วเหลืองในประเทศเล็กน้อย การผลิตถั่วเหลืองในประเทศไทยต้นทุนสูงเนื่องจากยังมีการใช้แรงงานในการผลิตมาก โดยต้นทุนในปี 2555 จากการประเมินของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) อยู่ที่ 13.21 บาท/กก. คิดเป็นต้นทุนค่าแรงถึง 60% ของต้นทุนทั้งหมด ถ้ามีการนำเครื่องจักรเข้ามาใช้แทนแรงงานคน จะทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง
          ในส่วนโครงการส่งเสริมการปลูกถั่วเหลืองหลังการเก็บเกี่ยวข้าวนาปี นายโอภาส ธันวารชร กรรมการรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัท สยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่าโครงการนี้เริ่มตั้งแต่ ปี 2553 ในพื้นที่ 6 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ อุดรธานีขอนแก่น
 อุบลราชธานี ศรีสะเกษ สุรินทร์ และบุรีรัมย์ มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 13 กลุ่ม รวมพื้นที่ปลูกประมาณ 12,000 ไร่ ส่วนในฤดูกาล 2556/57 คาดว่าจะขยายเพิ่มอีก 4 จังหวัด ได้แก่ ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ ชัยภูมิ หนองบัวลำภู และจะดำเนินโครงการจนถึงปี 2558/59 โดยตั้งเป้าหมายการส่งเสริมเกษตรกรเพิ่มเป็น 30 กลุ่ม
          พื้นที่ที่มีศักยภาพเหมาะที่จะ ส่งเสริมการปลูกถั่วเหลือง ต้องมีแหล่งน้ำเพียงพอ โครงการจะส่งเสริมในรูปกลุ่มเกษตรกร โดยจะเลือกสหกรณ์การเกษตร หรือกลุ่มสหกรณ์ที่มี ความเข้มแข็งด้านการรวมกลุ่ม หรือมีแกนนำกลุ่มในการทำงานที่ชัดเจน เพื่อบริหารจัดการกลุ่มอย่างเป็นระบบ และแต่ละกลุ่มควรมีพื้นที่รวมกัน ไม่น้อยกว่า 500 ไร่ เพื่อความคุ้มค่าของการใช้เครื่องจักรกลการเกษตร
          นายใจเพชร ฤทธิบุญ เกษตรกรชาวอำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี ที่เข้าร่วมโครงการ กล่าวว่า ได้ใช้ที่นา 25 ไร่เป็นพื้นที่ปลูกถั่วเหลืองหลังการเก็บเกี่ยวข้าวนาปี ทำให้มีรายได้ขึ้นมารวมประมาณ 70,000 บาท หรือประมาณ 2,800 บาท/ไร่ หักต้นทุนไร่ละ 2,000 บาท แม้จะเป็นรายได้ที่ไม่มากนัก แต่ก็เป็นรายได้ที่เพิ่มขึ้นมาจากเดิมที่ไม่มี รายได้ในช่วงหลังเกี่ยวข้าว และผลพลอยได้ที่ได้จากการปลูกถั่วเหลืองคือเป็นการเพิ่มสารอาหารบำรุงดิน หลังจากการปลูกถั่วเหลืองแล้วทำให้ผลผลิตข้าวนาปีสูงขึ้นจากเดิมที่เคยได้ ผลผลิตไร่ละ 400 กก. เพิ่มเป็น ไร่ละ 500 กก.
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ