วันจันทร์ที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2554

สนข.เปิดเวทีสาธารณะ ครั้งที่ 2 รับฟังความคิดเห็น รถไฟทางคู่ช่วงชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น

สนข.เปิดเวทีสาธารณะ ครั้งที่ 2 รับฟังความคิดเห็นทุกภาคส่วน

เดินหน้าพัฒนารถไฟทางคู่ช่วงชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น เปิดประตูเศรษฐกิจภาคอีสาน

          วันนี้ (9 ธันวาคม 2554) ที่ โรงแรมเจริญธานีขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น นายพยัต  ชาญประเสริฐ        รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น เป็นประธานเปิดงานสัมมนารับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 2 โครงการศึกษาความเหมาะสมและออกแบบระบบรถไฟทางคู่ เพื่อการขนส่งและการจัดการโลจิสติกส์ (ระยะเร่งด่วน)  ช่วงชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น เพื่อนำเสนอข้อมูลรายละเอียดความคืบหน้าการดำเนินงานโครงการฯ ผลการศึกษาความเหมาะสมและแนวคิดการออกแบบเบื้องต้นระบบรถไฟทางคู่ พร้อมทั้งรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วน โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรธุรกิจเอกชน สถาบันการศึกษาในพื้นที่ หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ตลอดจนประชาชนในพื้นที่เข้าร่วมการสัมมนากว่า 200 คน

โครงการศึกษาความเหมาะสมและออกแบบระบบรถไฟรางคู่ เพื่อการขนส่งและการจัดการโลจิสติกส์ (ระยะเร่งด่วน)  ช่วงชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น มีแนวเส้นทางครอบคลุมพื้นที่ 2 จังหวัด 10 อำเภอ ได้แก่ จ.นครราชสีมา (อ.เมือง อ.โนนสูง อ.คง อ.บัวใหญ่ อ.บัวลาย) และ จ.ขอนแก่น (อ.พล อ.โนนศิลา อ.บ้านไผ่ อ.แฮด อ.เมือง) มีสถานีรถไฟ 19 สถานี ที่หยุดรถ/ป้ายหยุดรถ 7 แห่ง รวมระยะทางประมาณ 187 กิโลเมตร

การสัมมนาครั้งนี้ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้นำเสนอแนวคิดการออกแบบระบบรถไฟทางคู่ รายละเอียดการออกแบบปรับปรุงทางตัดผ่านทางรถไฟ จำนวน 81 จุด ซึ่งมีอยู่ 4 รูปแบบ ตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ ประกอบด้วย ถนนยกระดับข้ามทางรถไฟ ถนนยกระดับกลับรถรูปตัวยู ท่อเหลี่ยมลอดใต้ทางรถไฟ และการยกระดับรถไฟ รวมทั้งออกแบบให้มีรั้วกั้นตลอดแนวเส้นทางโครงการฯ  เพื่อเพิ่มความจุและความเร็วของขบวนรถไฟ ตลอดจนป้องกันอุบัติเหตุร้ายแรงและความสูญเสียที่เกิดขึ้น นอกจากนี้ ยังได้นำเสนอแนวคิดในการปรับปรุงอาคารสถานีใหม่ ให้มีความสวยงาม สะดวกสบาย โดยเน้นออกแบบ            ตัวสถานีเป็นโถงสูง ช่วยกระจายความร้อน มีเอกลักษณ์ที่สื่อถึงสถาปัตยกรรมท้องถิ่นและวิถีการดำเนินชีวิตของชาวอีสาน ซึ่งจะช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั้งในและต่างประเทศให้หลั่งไหลเข้ามาในภูมิภาคนี้ เป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวในภูมิภาคอีสานเป็นอย่างดี

ภายในงานยังนำเสนอมาตรการป้องกันและลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินงานโครงการฯ น้อยที่สุด เช่น มาตรการป้องกันปัญหาการแบ่งแยกชุมชน อาทิ จัดให้มีทางเชื่อมหรือทางลอดในระยะที่เหมาะสม และตรวจสอบการใช้งานของทางลอด ทางข้าม และสะพานลอยอย่างสม่ำเสมอ มาตรการป้องกันปัญหาการระบายน้ำ อาทิ การก่อสร้างสะพานข้ามลำน้ำขนาดเล็ก การยกระดับสันรางให้พ้นระดับน้ำท่วม พร้อมทั้งขยายช่องสำหรับระบายน้ำ มาตรการป้องกันปัญหาด้านการคมนาคมขนส่ง อาทิ ประชาสัมพันธ์และปิดประกาศล่วงหน้า การกำหนดให้มีป้ายเตือน แผงกั้น กรวย แสงสว่าง ไฟกะพริบ ในแต่ละส่วนของพื้นที่ก่อสร้าง มาตรการป้องกันผลกระทบด้านเสียงและความสั่นสะเทือนจากการก่อสร้าง อาทิ กำหนดให้การเจาะ การตอกเสาเข็ม การขุดผิวดิน เฉพาะในเวลากลางวัน การจัดตั้งศูนย์รับเรื่องร้องเรียน และมาตรการแก้ไขปัญหาการโยกย้ายและเวนคืน อาทิ ประชาสัมพันธ์แนวทางการให้ความช่วยเหลือด้านอพยพ และขั้นตอนการชดเชยทรัพย์สินต่อประชาชนที่รับผลกระทบ การสำรวจรายละเอียดทรัพย์สินที่จะต้องรื้อย้ายและจ่ายค่าชดเชยอย่างละเอียด ดำเนินการชดเชยทรัพย์สินตลอดแนวเส้นทางโครงการตามขั้นตอนของกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นธรรม

ทั้งนี้เมื่อการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น แล้วเสร็จ ในปี 2558 จะช่วยเพิ่มความจุของทางจาก 80 ขบวนต่อวัน เป็น 200 ขบวนต่อวัน และเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งสินค้าจาก 4 แสนตัน เป็น 4 ล้านตันต่อปี รวมทั้งเพิ่มจำนวนผู้โดยสารจากปีละ    2 ล้านคนเป็น 10 ล้านคน ซึ่งเป็นการพลิกโฉมการคมนาคมทางรางในสายอีสาน ให้ก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางการค้า การคมนาคมขนส่ง-      โลจิสติกส์ และการท่องเที่ยวในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พร้อมทั้งส่งเสริมคุณภาพชีวิตของชาวอีสานได้อย่างยั่งยืน 

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น