วันอาทิตย์ที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

'มิสทิน'ตั้งฐานผลิตมาเลย์-อินโดฯผุดโปรเจ็กต์'เบทเตอร์แลนด์'เสริมแกร่งโลจิสติกส์


               แค็ตตาล็อกฟรายเดย์ เร่งเต็มสูบ เพิ่มดีกรีฝากขาย-จัดจำหน่าย มอง "เออีซี" เอื้อขยายตลาด ลูกค้า ฐานผลิตนำร่องผนึกโรงงานอินโดนีเซีย-มาเลเซียร่วมผลิตสินค้า มุ่งสู่ "รีจินอลแบรนด์" ชูจุดแข็งโลจิสติกส์ เปิดดีซีลาดหลุมแก้ว ทุ่ม 2,000 ล้านพัฒนาระบบซอฟต์แวร์ ขึ้นฮับโลจิสติกส์อาเซียน
                นายดนัย ดีโรจนวงศ์ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท เบทเตอร์เวย์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจขายตรงมิสทิน และแค็ตตาล็อกฟรายเดย์กล่าวว่า บริษัทได้เปิดศูนย์กระจายสินค้าแห่งใหม่ที่ลาดหลุมแก้วตั้งแต่เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา บนพื้นที่ 30,000 ตร.ม. แบ่งเป็นพื้นที่คลังสินค้า 10,000 ตร.ม. โดยในเดือนตุลาคมนี้มีแผนเปิดตัว "เบทเตอร์แลนด์" เป็นโปรเจ็กต์ที่จะให้ความสำคัญเรื่องระบบโลจิสติกส์
                ความโดดเด่นอยู่ที่การจัดส่งสินค้าที่มีความสะดวก รวดเร็ว และเหมาะสมกับพฤติกรรมการซื้อของลูกค้า ซึ่งใช้งบฯลงทุนด้านระบบซอฟต์แวร์ค่อนข้างมาก เตรียมไว้อยู่ที่ 2,000 ล้านบาท สำหรับการลงทุน 10 ปีจากนี้ ที่ผ่านมาได้ซื้อซอฟต์แวร์จากออสเตรียเป็นเงินลงทุน 600 ล้านบาท เพื่อเสริมศักยภาพในการบริหารการจัดส่งผ่านระบบสแกนบาร์โค้ดและพิกัดจุดในการจัดส่งผ่านระบบเนวิเกชั่น ทำให้การจัดส่งมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
                 นอกจากนี้ ได้สร้างศูนย์กระจายสินค้าย่อยตามภูมิภาคอีก 6 แห่ง อาทิ ภาคเหนือที่ลำปาง นครสวรรค์ ภาคอีสานที่สุรินทร์ ขอนแก่น ภาคใต้ สุราษฎร์ธานีและหาดใหญ่ มีแผนเพิ่มหน่วยรถส่งสินค้าอีก 30% จากที่มีกว่า 700 คัน ซึ่งจะทำให้การส่งสินค้ารวดเร็วและสามารถระบุเวลาจัดส่งที่แน่นอนได้ โดยตั้งเป้าไม่เกิน 20 นาที

                 "ปัจจุบันศูนย์กระจายสินค้าที่ลาดหลุมแก้ว มีที่ดินทั้งหมด 74 ไร่ ใช้ไปแล้ว 60% สามารถรองรับการเติบโต 5-7 ปีข้างหน้า โดยจะทยอยเปิดใช้งานช่วงแรกอาจรองรับได้ 10% ของออร์เดอร์ และจะเพิ่มเป็น 100% ในเดือนตุลาคมนี้ ด้วยระบบซอฟต์แวร์และการบริหารจัดการ การคมนาคมของไทยที่เชื่อมโยงอาเซียนจะทำให้ศูนย์แห่งนี้เป็นโลจิสติกส์ที่มีความทันสมัยที่สุดในภูมิภาค และเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ในอาเซียนได้" นายดนัยกล่าวและว่า
                ศูนย์กระจายสินค้าดังกล่าวสามารถรองรับธุรกิจขายตรงมิสทินที่มีสินค้า 4,000 เอสเคยู และแค็ตตาล็อกฟรายเดย์ 3,500 รายการ รวมถึงรองรับการฝากขายและรับจัดจำหน่ายให้กับแบรนด์อื่น ๆ ผ่านแค็ตตาล็อกฟรายเดย์ ทั้งนี้ การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 จะเอื้อให้สามารถนำสินค้าเข้าไปทำตลาดในประเทศต่าง ๆ ช่วยขยายลูกค้า และใช้เป็นฐานผลิตมากขึ้น โดยรูปแบบมีทั้งบริษัทลงทุนเอง หรือร่วมทุนพัฒนาสินค้าร่วมกัน โดยมีเป้าหมายมุ่งไปสู่การเป็น "รีจินอลแบรนด์"
          ที่ผ่านมาได้เริ่มเข้าไปในอินโดนีเซีย มาเลเซีย เพื่อใช้เป็นฐานการผลิตสินค้าบางกลุ่ม และเตรียมจะนำเข้ามาจัดจำหน่ายในแค็ตตาล็อกฟรายเดย์ในช่วงต้นปี 2557 อีกประเทศที่น่าสนใจคือ ฟิลิปปินส์
          การทำตลาดในประเทศของแค็ตตาล็อกฟรายเดย์ เป็นอีกกลยุทธ์ที่จะช่วยสร้างความหลากหลายของสินค้า เปรียบเสมือนห้างสรรพสินค้าเคลื่อนที่ซึ่งจะรุกหนักยิ่งขึ้น โดยตุลาคมนี้จะเปิดโซน "บิวตี้พลาซ่า" ในแค็ตตาล็อกรวบรวมสินค้าความงาม 60 แบรนด์ดังกว่า 400 เอสเคยู ทั้งแบรนด์ที่มีจำหน่ายตามเคาน์เตอร์ แบรนด์ไทย และนำเข้าจากญี่ปุ่น เกาหลี ออสเตรเลีย
          นายดนัยกล่าวว่า ช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา อัตราการเติบโตของฟรายเดย์สูงกว่ามิสทิน หรือเฉลี่ยปีละกว่า 10% ปัจจุบันมีสัดส่วนยอดขายคิดเป็น 40% ของรายได้ทั้งหมด คาดว่าปีนี้จะปิดรายได้ที่ 5,500 ล้านบาท ถือเป็นตัวขับเคลื่อนการเติบโตที่สำคัญ จากกลุ่มสินค้าที่หลากหลาย เป็นสินค้าที่มีมาร์จิ้นดี รองรับความต้องการของลูกค้าได้ครอบคลุมทั้งผู้หญิง ผู้ชาย เด็ก ขณะที่มิสทินมีกลุ่มลูกค้าหลักเป็นผู้หญิง
          สำหรับการลงทุนในต่างประเทศ ได้เข้าไปดำเนินธุรกิจขายตรงบ้างแล้วที่พม่า ปัจจุบันมีสมาชิก 70,000 ราย เดือนตุลาคมนี้จะเข้าไปลงทุนที่ลาว ใช้งบฯ 40 ล้านบาทเปิดศูนย์ธุรกิจที่เวียงจันทน์ ส่วนกัมพูชาวางแผนเข้าไปปี 2557 คาดว่าตลาดต่างประเทศในปีนี้จะมีรายได้แตะ 1,000 ล้านบาท โดยรายได้หลัก ๆ มาจากพม่าไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาท ส่วนในประเทศตั้งเป้าเติบโต 7% คาดว่าจะทำได้ตามเป้าหรือมากกว่า คิดเป็นรายได้กว่า 13,700 ล้านบาท จากปีที่แล้ว 12,800 ล้านบาท
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น