แม้เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศไทยจะเริ่มเข้าสู่ภาวะชะลอตัวตาม
เทรนด์เศรษฐกิจโลกแต่ในพื้นที่ หัวเมืองใหญ่ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
หรือภาคอีสานยังคงมีการลงทุนใหม่ ๆ เกิดขึ้นไม่ขาดสาย
ทีมข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" ลงพื้นที่สำรวจเศรษฐกิจจังหวัดขอนแก่น พบว่า การลงทุนคึกคักสวนกระแสมาก เนื่องจากมีกลุ่มทุนขนาดใหญ่ทั้งทุนไทย
ทุนต่างชาติ
และทุนในท้องถิ่นเดินหน้าทุ่มเม็ดเงิน ลงทุน
เพื่อตั้งฐานการผลิตบุกตลาดส่งออกกลุ่มประเทศอินโดจีนและอาเซียน อาทิ
ค่ายน้ำดำบิ๊กโคล่าจากประเทศเปรู กลุ่มกระทิงแดง และกลุ่มทุนท้องถิ่นเตรียมลงขัน 1,000
ล้านบาทลงทุนโครงการอาเซียนเวิลด์
แม็กเนตท่องเที่ยวแห่งใหม่ใจกลางเมือง
ขณะที่ทุนจีนได้รุกคืบมาร่วมทุนกับคนไทยเตรียมแจ้งเกิดนิคมอุตสาหกรรมแห่งแรกของจังหวัดขอนแก่น
มหานครแห่งอาเซียนนายสมิง ยิ้มศิริ ประธานหอการค้าจังหวัดขอนแก่น เปิดเผย
"ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ตามแผนพัฒนาจังหวัดขอนแก่น (2557-2560)
มีเป้าหมายที่จะผลักดันให้ขอนแก่นเป็นมหานครแห่งอาเซียน
ภายใต้ยุทธศาสตร์หลัก อาทิ 1) การพัฒนาเศรษฐกิจให้มีความมั่นคง
และมีความสามารถในการแข่งขัน โดยลดต้นทุนการผลิตภาคการเกษตร เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต
สร้างมูลค่าเพิ่มและขยายตลาดใหม่ 2) ส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์และอุตสาหกรรมสีเขียว
การพัฒนานวัตกรรมสิ่งทอ, บรรจุภัณฑ์ และการทำตลาดเชิงรุก
3)
พัฒนาประสิทธิภาพภาคการตลาด การค้า การลงทุน
บริการและเทคโนโลยีพลังงานทดแทน 4) พัฒนาคุณภาพการท่องเที่ยวและการบริการ
และ 5) เชื่อมโยงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเข้ากับโครงการลงทุนของภาครัฐ
ไม่ว่าจะเป็นโครงการรถไฟความเร็วสูง, โครงการก่อสร้าง
รถไฟทางคู่สายชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น ระยะทาง 185 กิโลเมตร โครงการพัฒนาโครงข่ายถนนเพื่อผลักดันให้จังหวัดขอนแก่นเป็นศูนย์กลางคมนาคมขนส่งของภูมิภาค เช่น การปรับปรุงทางหลวงสายหลัก เป็นต้น
หอการค้าปั้น "ขอนแก่นแบรนด์"
นายเข็มชาติ สมใจวงษ์ รองประธานหอการค้าจังหวัดขอนแก่นกล่าวว่า
ตามแผนยุทธศาสตร์พัฒนาของจังหวัดขอนแก่น ภายใน 3 ปีมีแผนที่จะผลักดันให้จังหวัดขอนแก่นเป็นศูนย์กลางการจัดประชุมและสัมมนาระดับอาเซียน
(ไมซ์ซิตี้) เนื่องจากมีศักยภาพความพร้อม เช่น มีห้องพักมากกว่า 5,000 ห้อง ขณะเดียวกัน ยังมี
เซอร์วิสอพาร์ตเมนต์และอพาร์ตเมนต์กว่า 10,000 ห้อง
มีห้องสัมมนาขนาดใหญ่รองรับผู้เข้าร่วมงานได้ 3,000 คน
สำหรับบทบาทของหอการค้าจังหวัดขอนแก่นในฐานะหน่วยงานภาคเอกชน
มีแผนจะจัดทำตราสัญลักษณ์ หรือ "ขอนแก่นแบรนด์"
ซึ่งจะใช้เป็นโลโก้ติดสินค้าของฝาก/ของที่ระลึกที่เป็นผลิตภัณฑ์ของจังหวัด
คลอบคลุมถึงธุรกิจการให้บริการต่าง ๆ เช่น ร้านอาหาร โรงแรม สินค้าโอท็อป ระดับ 3 ดาวขึ้นไป
โดยสินค้าที่ติดโลโก้
ดังกล่าวจะการันตีด้านคุณภาพระดับสากล
คาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ภายในเดือนตุลาคม 2556 นี้
เนรมิต "อาเซียนเวิลด์" นายเข็มชาติกล่าวถึงการลงทุนใหม่ใน
พื้นที่ ว่า ขณะนี้หอการค้าจังหวัดขอนแก่นได้ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)
มีแผนที่จะสร้างแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมระดับอาเซียน ภายใต้ชื่อ
"อาเซียนเวิลด์" บนเนื้อที่ประมาณ 1,600 ไร่ บริเวณบึงทุ่งสร้าง
อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ซึ่งเป็น
พื้นที่ที่อยู่ในความรับผิดชอบของเทศบาลนครขอนแก่น คาดว่าจะใช้เม็ดเงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท
รูปแบบการลงทุนจะพัฒนาให้เป็น ศูนย์รวมสถาปัตยกรรม
แหล่งท่องเที่ยวด้านอาหาร วัฒนธรรมของประเทศใน กลุ่มอาเซียน 10 ประเทศ ขณะนี้อยู่ระหว่างให้มหาวิทยาลัยขอนแก่นศึกษาความเป็น
ไปได้ของโครงการ คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในต้นปี 2557 ซึ่งโครงการนี้จะเป็นแม่เหล็กใหม่ของการท่องเที่ยว
เพื่อรองรับการเป็นศูนย์การ จัดประชุมและสัมมนาระดับนานาชาติในอีก 3 ปีข้างหน้า และจะสามารถสร้างอุตสาหกรรม ต่อเนื่องได้อีกจำนวนมาก
ด้านความเคลื่อนไหวการลงทุนในพื้นที่อื่น ๆ
พบว่าขณะนี้มีกลุ่มทุนจากประเทศเปรูเตรียมเข้ามาตั้งโรงงานผลิตน้ำอัดลม บิ๊กโคล่า
เพื่อเป็นฐานการผลิตส่งออกไปในอินโดจีน
นอกจากนี้ ยังมีตระกูลอยู่วิทยา ของกลุ่มกระทิงแดง
ได้ซื้อที่ดินใกล้กับเขื่อนอุบลรัตน์เพื่อตั้งโรงงานเป็นฐานผลิตสินค้าส่งออกไปยังภูมิภาคอาเซียน
และในเร็วๆนี้จะมีการเปิดนิคมอุตสาหกรรมแห่งแรกของจังหวัด
บริเวณแยกท่าพระติดกับโรงงานเบียร์ลีโอของตระกูลภิรมย์ภักดี เนื้อที่ประมาณ 4,000
ไร่ ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่างทุนไทยและจีน
ขณะนี้มีความคืบหน้าไปแล้วกว่า 90%
ค้าปลีก-ค้าส่งเฟื่องฟูขณะที่ภาคค้าปลีกในเมืองขอนแก่นก็ร้อนแรงเช่นกัน
เพราะมีการลงทุนใหม่เกิดขึ้นหลายโครงการ "ชวลิต ประตูน้ำขอนแก่น" ประธานกรรมการบริษัทประตูน้ำขอนแก่น จำกัด
บิ๊กค้าปลีกค้าส่งรายใหญ่ในจังหวัดขอนแก่นบอกว่า
ภาคการค้าปลีกค้าส่งมีแนวโน้มขยายตัว
เนื่องจากเศรษฐกิจในจังหวัดขยายตัวประชาชนยังคงมีกำลังซื้อ ในเร็ว ๆ
นี้ประตูน้ำขอนแก่นเตรียม ทุ่มงบประมาณกว่า 2,000 ล้านบาท ขยายพื้นที่ให้เช่าเฟส 6 อีก 700 ไร่ สามารถเพิ่มร้านค้าให้เช่า 200 ร้านค้า
จากเดิมที่สามรถรองรับได้ 600 ร้านค้า
และจะสร้างสวนน้ำขนาดใหญ่เพื่อใช้เป็น แม่เหล็กทางการท่องเที่ยวดึงดูดผู้คน
เข้ามาช็อปปิ้งที่ประตูน้ำขอนแก่น
นอกจากนี้ กลุ่มทุนวราศิริ - แฟรี่พล่าซ่า กลุ่มอสังหาริมทรัพย์และห้าง
สรรพสินค้า เตรียมที่จะเปิดตัวโครงการ อู้ฟู่ ค้าปลีก-ค้าส่งขนาดใหญ่
บริเวณใกล้กับประตูน้ำขอนแก่น
คลื่นลงทุนยังคงหลั่งไหลเข้าไปตั้งฐานการผลิตที่ขอนแก่น รวมถึงการลงทุนของกลุ่มทุนรายใหญ่ในท้องถิ่นกำลังจะพลิกโฉมเมืองขอนแก่นในเร็ว ๆ นี้
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ