วันจันทร์ที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

มข.วิจัยเห็ดเรืองแสง เล็งใช้ประดับสวนสวย


นักวิจัย มข. ค้นพบเห็ดยุคดึกดำบรรพ์มีสารเรืองแสงในตัว เตรียมพัฒนาเป็นพืชประดับสวนสวย โคกภูตากา มีพื้นที่ประมาณ 700 ไร่ เป็นป่าเต็งรังที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ ตั้งอยู่ในเขตอำเภอเวียงเก่า จังหวัดขอนแก่น  จากปัญหาการบุกรุกแผ้วถางของชาวบ้าน แนวทางการแก้ปัญหาที่ถูกนำมาใช้ก็คือ การประกาศให้พื้นที่โคกภูตากาเป็นเขตอนุรักษ์พันธุกรรมพืช ถวายเป็นโครงการในพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อปี 2542 โดยหน่วยงานในมหาวิทยาลัยขอนแก่นหลายหน่วยงานด้วยกันได้เข้ามาช่วยกันทำงาน อย่างเช่น สำนักงานโครงการพระราชดำริ ศูนย์บริการวิชาการ ศูนย์วิจัยอนุกรมวิธานประยุกต์ คณะวิทยาศาสตร์ คณะเกษตรศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ เป็นต้น ได้เข้ามาดำเนินโครงการต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการฟื้นฟูอนุรักษ์พันธุ์พืช และศึกษาถึงประโยชน์ของพืชแต่ละชนิด จำนวนหลายโครงการด้วยกัน  รศ.ดร.วีระศักดิ์ ศักดิ์ศิริรัตน์ ภาควิชาพืชศาสตร์และทรัพยากรการเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น พร้อมทีมนักวิจัย ได้เดินทางมาสำรวจพื้นที่โคกภูตากาเพื่อศึกษาถึงความหลากหลายทางชีวภาพของเห็ดในพื้นที่โคกภูตากา จนได้พบเห็ดเรืองแสงซึ่งเป็นเห็ดในยุคดึกดำบรรพ์  รศ.ดร.วีระศักดิ์เปิดเผยว่า การค้นพบเห็ดเรืองแสงถือเป็นการรายงานถึงเห็ดเรืองแสงชนิดนี้ครั้งแรกในประเทศไทย มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Neonothopanus nambi มีลักษณะคล้ายกับเห็ดนางรม แต่จัดเป็นเห็ดมีพิษ พบในบริเวณที่มีความชื้นสูงในช่วงที่ฝนตกหนักในรอบปี คือช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม โดยจะขึ้นเป็นกลุ่มๆ กลุ่มละ 4-5 ดอก บนรากไม้หรือกิ่งไม้ที่ตาย ตอนกลางวันไม่มีแสงแต่จะเปล่งแสงในเวลากลางคืน สามารถมองเห็นได้ไกลในระยะทาง 10-20 เมตร
ที่มา : ไทยโพสต์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น