วันพุธที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ธปท.เร่งแผนแม่บทดันไทยลงทุนนอก ยันไม่สนตั้งกองทุนมั่งคั่ง


ธปท.ชี้การออกไปลงทุนนอก ช่วยกระจายความเสี่ยงเศรษฐกิจไทยได้ แต่ทักษะนักลงทุนคนไทยยังอ่อน ต้องใช้เวลาอีก 5-10 ปี ก่อนโกอินเตอร์ ยันต่างชาติยังเชื่อมั่นในตัว ธปท.แม้ขาดทุนสะสม
เมื่อวันที่ 29 ส.ค. นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ธปท.กำลังเร่งดำเนินการตามแผนแม่บทเงินทุนเคลื่อนย้าย เพื่อให้นักลงทุนไทยและบริษัทไทยนำเงินออกไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น เพราะถือเป็นการกระจายความเสี่ยงของบริษัทไทย และเศรษฐกิจไทย เนื่องจากหากเกิดการชะลอตัวในประเทศ บริษัทไทยยังมีความมั่งคั่งที่อยู่ในต่างประเทศ และการนำเงินออกไปยังจะช่วยลดเงินทุนสำรองที่อยู่ในระดับสูงมากลงได้ด้วย โดยในปีที่ผ่านมา มีเงินทุนโดยตรงจากไทยไปลงทุนในต่างประเทศ 1.1 หมื่นล้านเหรียญฯ ขณะที่ 8 เดือนแรกของปีนี้ผมประเมินว่าเงินน่าจะออกไปแล้วประมาณ 7,000-8,000 ล้านเหรียญฯ  ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวต่อว่า ตามแผนแม่บทเงินทุนเคลื่อนย้ายของ ธปท.ยังพยายามที่จะไขก๊อกผ่อนคลายเกณฑ์ให้บริษัทและนักลงทุนไทยออกไปลงทุนต่างประเทศมากขึ้น ทั้งการลงทุนในหุ้นต่างชาติ ตราสารอนุพันธ์ ทั้งการเพิ่มนักลงทุนบุคคล เพิ่มประเภทตราสารหนี้ ตราสารทุนในการลงทุน และขยายวงเงินให้ออกไปได้ นอกจากนั้นยังจะผ่อนคลายเงื่อนไขการยกเลิกสัญญาการป้องกันความเสี่ยงค่าเงินบาท แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าสนใจคือ ความรู้ความสามารถ และมีทักษะในการดูแลความเสี่ยง และการลงทุนสินทรัพย์ของต่างประเทศของนักลงทุนไทยซึ่งยังอยู่ในวงจำกัด โดยหาก ธปท.ผ่อนคลายเกณฑ์และกระตุ้นให้ออกไปลงทุนต่างชาติก็ไม่ใช่ว่าจะออกไปได้ทันที แต่ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 5-10 ปี ก่อนจะมีความเชี่ยวชาญพอ
            ส่วนกรณีที่มีคำถามถึงความเชื่อถือของ ธปท.ของนักลงทุนต่างชาติ ที่มาจากผลขาดทุนของ ธปท.นายประสาร กล่าวว่า ธปท.ไม่ได้กังวล ในขณะนี้จากปัญหาในยุโรป และสหรัฐฯ ทำให้ธนาคารกลางในภูมิภาคนี้ขาดทุนเกือบทุกแห่ง เนื่องจากต้องดูแลเงินทุนที่ไหลเข้ามาจำนวนมาก ขณะเดียวกัน ค่าเงิน 4 สกุลหลักของโลก คือ ดอลลาร์สหรัฐฯ ยูโร เยน และปอนด์ จะมีผลตอบแทนต่ำ แต่เมื่อยังเป็นสกุลเงินที่ทุกประเทศเชื่อถือ ทำให้ธนาคารกลางจำนวนมากยังต้องถือ 4 สกุลนี้ไว้ แต่เราก็ไม่ได้นิ่งเฉย ได้ปรับการลงทุนไปยังประเทศเกิดใหม่ที่มีผลตอบแทนสูงมากขึ้น โดยในขณะนี้เท่าที่เห็นนักลงทุนยังคงมีความมั่นใจต่อ ธปท. และหากดูทุนสำรองรวมทั้ง 2 บัญชียังเป็นบวก ไม่ได้มีปัญหาเรื่องทุนติดลบ ดังนั้น เราจึงยังทำงาน ยังดำเนินนโยบายการเงินต่อไปได้โดยได้รับความเชื่อมั่นเช่นเดียวกับการนำทุนสำรองฯ ไปลงทุนระยะยาว เช่นในสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานนั้น เห็นว่ายังไม่ควรเพราะเงินทุนสำรองส่วนใหญ่มีเจ้าของมากจากการกู้ยืมต่างประเทศที่เป็นระยะสั้น สามารถไหลกลับออกไปได้ ขณะที่ธปท.ไม่มีเป้าหมาย และความสามารถในการบริหารกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติในขณะนี้
ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น