วันจันทร์ที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2556

แห่ยึดอีสานผุดโรงงานวัสดุรับรถไฟทางคู่


เปิดโพยละเอียดยิบวัสดุก่อสร้างหลักในแผนลงทุน 2 ล้านล้าน "ปูน เหล็ก หิน ซีเมนต์ ทราย" รับเค้กอื้อซ่า ธุรกิจรับเหมาขาใหญ่-รายเล็กภูธรคึกคักรับงานประมูล 531 สัญญา มูลค่างาน 1.5 ล้านล้าน เปิดโควตารับแรงงานต่างด้าวเพิ่ม ป้อนความต้องการใช้ในไซต์ก่อสร้างช่วง 7 ปีหน้า 2.8 แสนคน   นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กระทรวงคมนาคม เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า สนข.อยู่ระหว่างติดตามข้อมูลที่ประสานให้หน่วยงานที่ได้รับจัดสรรงบประมาณ 2 ล้านล้านบาท จัดทำข้อมูลรายละเอียดแต่ละหน่วยมีความต้องการใช้ปริมาณวัสดุก่อสร้างและแรงงานในแต่ละโครงการ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมและป้องกันไม่ให้มีปัญหากระทบการก่อสร้างในช่วง 7 ปีตามแผนดำเนินโครงการ


ดักทางแก้ปัญหาของขาด-แพง
       "แผนลงทุน 2 ล้านล้านบาทใช้เวลา 7 ปี ถ้าโครงการก่อสร้างพร้อมกันมีปัญหาแน่ ดังนั้นเมื่อได้ข้อมูลชัดเจนจากหน่วยงาน ขั้นตอนต่อไปจะได้เชิญเอกชนมาหารือเพื่อเตรียมความพร้อม เช่น หอการค้า ผู้ผลิต
        วัสดุก่อสร้าง เพื่อร่วมกันดูว่ามีแหล่งวัสดุที่ไหนบ้าง จะวางแผนสต๊อกสินค้ามากน้อยแค่ไหน อย่างหินอาจจะต้องเปิดประทานบัตรเหมืองหินเพื่อระเบิดหินใหม่ ปูนซีเมนต์ก็เช่นเดียวกัน ถ้าข้อมูลไม่ดีจะทำให้มีปัญหาของขาด ของแพง ทำให้งานช้าหรือเกิดการกักตุนได้ถ้าทำพร้อมกันโดยไม่วางแผนล่วงหน้า"
          นายจุฬากล่าวอีกว่า สำหรับวัสดุก่อสร้างที่ใช้จากผู้ผลิตในประเทศมีหิน ทราย ปูนซีเมนต์ ส่วนเหล็กอาจจะต้องนำเข้าเนื่องจากใช้ในปริมาณที่มาก ซึ่งบริษัทเอกชนที่เป็นผู้ผลิตจะต้องไปดูว่าจะนำเข้าและใช้ในประเทศสัดส่วนเท่าไหร่ รวมทั้งหากนำเข้าจะเป็นเหล็กจากผู้ผลิตประเทศใด
จ้างแรงงาน 2.8 แสนคน
           ผู้อำนวยการ สนข.กล่าวด้วยว่า ด้านแรงงานคาดว่าจะมีความต้องการประมาณ 287,337 คน คิดเป็นงบประมาณการจ้างงาน 282,263 ล้านบาท แยกเป็นไซต์ก่อสร้างระบบทางราง 224,718 คน งบประมาณ 213,164 ล้านบาท ทางถนน 61,405 คน วงเงิน 59,586 ล้านบาท และทางน้ำ 1,214 คน วงเงิน 9,512 ล้านบาท
           พร้อมกันนี้ สนข.จะต้องประสานกระทรวงแรงงานเพื่อจัดสรรโควตาแรงงานจากต่างประเทศเข้ามาเพิ่ม และใน 7 ปีข้างหน้าคาดว่าจะเกิดการจ้างงานประมาณ 500,000 คนในทุกภาคส่วน ทั้งแรงงานก่อสร้างและภาคบริการ
           แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมเปิดเผยเพิ่มเติมว่า เบื้องต้นมีข้อมูลปริมาณการใช้วัสดุก่อสร้างโครงการด้านระบบรางออกมาแล้ว ประกอบด้วยโครงการรถไฟความเร็วสูง 4 สายทาง รถไฟทางคู่ 11 สาย และรถไฟทางคู่สายใหม่ 3 สาย
ระบบรางใช้มากสุด
            แยกเป็น 1.เหล็กราง 764,819,819.40 กิโลกรัม 2.เหล็กเสริม 2,454,873,160.18 กิโลกรัม 3.ซีเมนต์ 8,394,596,133.76 กิโลกรัม 4.หิน 7,875,944,356.86 ลูกบาศก์เมตร และ 5.ทราย 3,596,119,616.53 ลูกบาศก์เมตร
            สำหรับงานก่อสร้างถนนของกรมทางหลวง (ทล.) คิดเป็นมูลค่า 83,269,952,734 บาท ประกอบด้วย 1.ยางแอสฟัลต์ 454,594 ตันราคา 32,365 บาท/ตัน คิดเป็นวงเงิน 14,712,934,810 บาท 2.หินผสมแอสฟัลต์ 48,187,099 ลูกบาศก์เมตร ราคา 200-250 บาท รวมมูลค่า 12,046,774,750 บาท  3.หินคลุก 8,720,292 ลูกบาศก์เมตร ราคา 150-220 บาท มูลค่า 1,918,464,240 บาท 4.ลูกรัง 9,614,118 ลูกบาศก์เมตร ราคา 50-80 บาท รวมมูลค่า 769,129,440 บาท  5.วัสดุคัดเลือก 11,905,072 ลูกบาศก์เมตร ราคา 45-75 บาท รวมมูลค่า 892,880,400 บาท 6.ดินถมและทรายถม 108,729,586 ลูกบาศก์เมตร ราคา 35-100 บาท รวมมูลค่า 10,872,958,600 บาท  7.เหล็ก 1,429,381 ตัน ราคา 19,375 บาท/ตัน รวมมูลค่า 27,694,256,875 บาท   8.ปูนซีเมนต์ 4,411,321 ตัน ราคา 2,194 บาท/ตัน รวมมูลค่า 9,678,435,274 บาท  9.หินผสมคอนกรีต 8,259,956 ลูกบาศก์เมตร ราคา 280-300 บาท รวมมูลค่า 2,477,986,800 บาท 10.ทรายผสมและรองแผ่นพื้นคอนกรีต 6,303,233 ลูกบาศก์เมตร ราคา 320-350 บาท รวมมูลค่า 2,206,131,550 บาท


แห่ผุด รง.หมอนคอนกรีต
       นายประภัสร์ จงสงวน ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า ตอนนี้ได้รับรายงานจากฝ่ายก่อสร้างว่ามีการตั้งโรงงานผลิตหมอนคอนกรีตใหม่เกิดขึ้นประมาณ 4-5 แห่งในภาคอีสาน และได้ประสานกับ ร.ฟ.ท. ขอนำสินค้ามาทดสอบมาตรฐานโดยเสนอผ่านบริษัทรับเหมาก่อสร้าง เพื่อรองรับกับโครงการใน 2 ล้านล้านบาท ซึ่งจะมีการก่อสร้างทางรถไฟใหม่เพิ่มขึ้นอีกกว่า 2,000 กิโลเมตรทั่วประเทศ
        แหล่งข่าวกระทรวงคมนาคมเปิดเผยอีกว่า นอกจากวัสดุก่อสร้างและแรงงานก่อสร้างที่จะได้รับประโยชน์จากโครงการ 2 ล้านล้านบาทแล้ว ในส่วนของผู้รับเหมาก่อสร้างจะมีงานประมูลถึง 531 สัญญา มีทั้งรูปแบบอีออกชั่นหรือประมูลทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ และแบบนานาชาติ วงเงินรวมประมาณ 1,526,188 ล้านบาท ส่วนงานประมูลระบบรถไฟฟ้าอีก 16 สัญญา วงเงินประมาณ 297,595 ล้านบาท ค่าจ้างที่ปรึกษาวงเงินประมาณ 41,339 ล้านบาท
 
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น