วันพุธที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

เกษตรก้าวไกล: พริกพันธุ์อัคนีพิโรธ ต่อยอดสู่อุตสาหกรรมยา


            “เกษตรก้าวไกลฉบับนี้ ยังคงอยู่ที่เรื่องราวของพริกพันธุ์อัคนีพิโรธเหมือนเดิม หลังจากที่ได้เล่าถึงความเป็นมาของพริกพันธุ์ใหม่นี้ โดยทางรองศาสตราจารย์ ดร.สุชีลา เตชะวงค์เสถียร หัวหน้าคณะผู้วิจัย ได้เล่าต่อว่า อย่างไรก็ตาม การดำเนินงานเพื่อพัฒนาพันธุ์พริกเผ็ดยังดำเนินการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง จนได้พริกลูกผสม อัคนี-พิโรธที่เกิดจากพริกพันธุ์พิโรธ (Bhut Jolokia) ซึ่งเป็นพริกที่มีรายงานว่าเผ็ดที่สุดในโลกพันธุ์หนึ่ง โดยพริกลูกผสม อัคนีพิโรธเป็นพืชกึ่งยืนต้น สามารถเก็บเกี่ยวได้หลายฤดู มีความเผ็ดสูงเป็น 10 เท่าของพริกจินดามากกว่า 500,000 สโคว์วิลล์ (SHU) มีผลผลิตพริกสดสูงประมาณ 3,600 กก./ไร่ (เก็บเกี่ยว 4 ครั้ง) หรือพริกแห้งของพันธุ์อัคนีพิโรธประมาณ 32 กิโลกรัม ให้ผลผลิตสารเผ็ดประมาณ 1 กิโลกรัม ต่างจากพริกพันธุ์จินดา ที่ต้องใช้พริกแห้งถึง 616 กิโลกรัม นอกจากนั้น ยังสามารถปรับตัวได้ดีกว่า และให้ผลผลิตสูงกว่าพริกพิโรธพันธุ์เดิม รวมทั้งทนทานต่อโรคแอนแทรกโนส ขณะนี้บริษัท บางกอกแล็ป แอนด์ คอสเมติค จำกัด ได้นำตัวอย่างพริกแห้ง อัคนีพิโรธไปทดลองพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์บรรเทาอาการปวดเมื่อยในสูตรใหม่ และจะได้ยื่นขอขึ้นทะเบียน ตำรับยาต่อไป
          สำหรับการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากผลงานวิจัยในระดับอุตสาหกรรมนั้น นายศุภชัย สายบัว กรรมการบริษัท บางกอกแล็ป กล่าวโดยสรุปว่า ธุรกิจหลักของบริษัทคือ ผลิตยาแผนปัจจุบันที่ได้มาตรฐานทั้ง GMP และมาตรฐานนานาชาติ รวมทั้งมาตรฐานห้องปฏิบัติการ บริษัทให้ความสนใจทางด้านสมุนไพรต่อเนื่องมาหลายปี โดยสนับสนุนการตั้งศูนย์วิจัย DLC ขึ้นมาเพื่อที่จะรองรับการถ่ายทอดเทคโนโลยี หรือการพัฒนาเทคโนโลยี ส่วนการแสวงหานวัตกรรมหรือการต่อยอดนวัตกรรมต่างๆ ก็ได้ตั้งศูนย์วิจัยขึ้นมาเพื่อรองรับงานด้านนี้โดยเฉพาะ เมื่อทำการวิจัยจนถึงขั้นตอนจะออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ ก็จะเกิดปัญหาขึ้นมา อย่างแรกคือ วัตถุดิบจะเพียงพอกับความต้องการหรือไม่ อย่างกรณี ของพริก แม้มีอยู่ในประเทศมากมายแต่บางฤดูกาลก็ขาดตลาด หรือบางอย่างแม้มีอยู่ในธรรมชาติก็จริง แต่เมื่อเรานำมาใช้ก็จะเกิดการทำลายป่าอย่างมโหฬาร ถ้าเมื่อใดเป็น การตลาดแล้วไม่ทำการเพาะปลูกขึ้นมาก็จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
          และอย่างที่สองคือ คุณภาพของวัตถุดิบจะมีสาระสำคัญสูงหรือสม่ำเสมอหรือไม่ ซึ่งอาจส่งผลต่อคุณภาพของผลิตภัณฑ์ในอนาคตด้วย เช่น การใช้พริกตามท้องตลาดที่ควบคุมคุณภาพไม่ได้ที่อาจมีเชื้อรา ก็จะส่งผลให้ผลิตภัณฑ์ไม่น่าเชื่อถือ การให้เกษตรกร ปลูกจึงเป็นหนทางหนึ่งที่จะช่วยแก้ปัญหานี้ได้ แต่ก็มีปัญหาว่าจะใช้พันธุ์อะไร โดยก่อนหน้านี้นับว่าโชคดีที่ได้รับสิทธิ์ให้ใช้พริกพันธุ์ยอดสน นำไปใช้ได้ในระดับดีมาก และเมื่อต้องการผลิต Capsika Gel ในระดับความเข้มข้นที่สูงขึ้น เมื่อได้ใช้พริกพันธุ์ใหม่ ซึ่งมี Capsaicin สูงก็จะทำให้ได้สารสำคัญที่บริสุทธิ์มากขึ้น แต่ทว่าใช้ปริมาณพริกน้อยลง ซึ่ง เป็นการเพิ่มความเข้มข้นตามธรรมชาติของพริกพันธุ์ใหม่ ที่สำคัญเป็นการใช้วัตถุดิบภายในประเทศทำให้ลดการนำเข้า ในการเพาะปลูกก็สามารถให้ความรู้แก่เกษตรกรในการดูแลรักษาให้เป็นไปตามมาตรฐาน คิดว่าผลงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น จะช่วยให้การพัฒนาผลิตภัณฑ์ในด้านสมุนไพรมีจุดเริ่มต้นที่ดี
ที่มา : สยามธุรกิจ 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น