วันพุธที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

นักวิชาการแนะธุรกิจภาคอีสาน หันใช้ไอทีแทนแรงงานรับ' เออีซี


นักวิชาการแนะผู้ประกอบการ ภาคอีสาน เน้นใช้เทคโนโลยีแทนแรงงาน สู้ประเทศเพื่อนบ้านรับเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน  ชี้ "ขอนแก่น" เตรียมพร้อมวางยุทธศาสตร์การเป็นฮับในทุกด้าน
          นายสุทิน เวียนวิวัฒน์ หัวหน้าโครงการอีสานโพล ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจภาคอีสาน คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยว่า ปัจจุบันประเทศไทยกำลังจะก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ทำให้หลายฝ่ายเกิดความกังวลว่า เมื่อเปิดเออีวีแล้วจะกลายเป็นอุปสรรค  หรือเป็นโอกาสต่อคนไทยหรือกลุ่ม ผู้ประกอบการ
          "มองว่าน่าจะมีทั้งโอกาสและอุปสรรคที่อาจเกิดขึ้น  ซึ่งจังหวัดในภาคอีสานจะได้รับประโยชน์มากกว่าอุปสรรค" เนื่องจากภาคอีสานมียุทธศาสตร์ที่สามารถเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านได้เกือบทุกประเทศ  โดยเฉพาะจังหวัดขอนแก่น มียุทธศาสตร์เป็นศูนย์กลางของภาคอีสาน และอาจพัฒนากลายเป็นศูนย์กลางของอาเซียนต่อไป เนื่องจากเส้นทาง "อีสต์-เวสต์คอริดอร์" ที่เริ่มต้นตั้งแต่ท่าเรือทวายของพม่าไปสิ้นสุดที่ท่าเรือน้ำลึก ดานัง ประเทศเวียดนาม
          ทั้งนี้ จังหวัดขอนแก่นเองได้เตรียมความพร้อมในการเข้าสู่เออีซี โดยวางตำแหน่งของจังหวัดเป็นศูนย์รวมกระจายสินค้าหรือเป็นศูนย์รวมของ โลจิสติกส์ ใช้โอกาสของเส้นทางนี้ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด ขอนแก่นนอกจากจะมีจุดแข็งด้านภูมิศาสตร์ของจังหวัดแล้ว ยังมีความโดดเด่นในเรื่องของการเป็นศูนย์กลางการประชุมและการท่องเที่ยว โดยเฉพาะการท่องเที่ยวก่อนยุคประวัติศาสตร์ คือ ยุคไดโนเสาร์ ศูนย์กลางทางการแพทย์และสาธารณสุข ศูนย์กลางการศึกษานานาชาติ เพื่อรองรับเออีซี และจากความโดดเด่นทางด้านอ้อย มันสำปะหลัง ทำให้กลายเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมพืช อาหาร และพลังงาน ตามไปด้วย
          โอกาสเหล่านี้ จะเป็นตัวเร่งการพัฒนาให้จังหวัดในแถบภาคอีสานเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นโครงการการเปิดศูนย์การค้าปลีกวัสดุก่อสร้าง ทั่วภาคอีสานทั้งหมดในปี 2554 รวม 27 สาขา เงินลงทุนรวมประมาณ 12,580 ล้านบาท โดยจังหวัดที่มีการลงทุนมากที่สุดคือ นครราชสีมา 1,900 ล้านบาท ขอนแก่น 1,850 ล้านบาท สกลนคร 1,650 ล้านบาท ร้อยเอ็ด 1,590 ล้านบาท อุบลราชธานี 1,400 ล้านบาท
          รวมถึงโครงการคอนโดมิเนียม เมื่อปี 2555 จังหวัดขอนแก่นมีนักลงทุนทั้งในจังหวัดและนอกจังหวัดเข้ามาลงทุนในพื้นที่ทั้งหมด 21 โครงการ  และมีการวางแผนก่อสร้างคอนโดมิเนียมกว่า 51 อาคาร คิดเป็นยูนิตกว่า 7 พันยูนิต ซึ่งมากที่สุดในภาคอีสานขณะนี้  จนทำให้หลายฝ่ายกังวลว่า ภาคอีสานโดยเฉพาะขอนแก่นมีการเติบโตค่อนข้างรวดเร็ว อาจส่งผลต่อสภาพเศรษฐกิจจนเกิดภาวะฟองสบู่เหมือนปี2540
          นายสุทิน กล่าวต่อว่า โดยส่วนตัวมองในส่วนของคอนโดมิเนียม ยังมีความต้องการที่แท้จริงอยู่ พร้อมทั้งมีส่วนผสมของความต้องการเทียมที่เกิดจากการเก็งกำไร แต่ยังถือว่าไม่มาก  ดังนั้นภาวะฟองสบู่ที่จะเกิดขึ้นเหมือนในปี 2540 อาจเกิดขึ้นยาก หรืออาจเกิดขึ้นเป็นเพียงฟองสบู่เล็กๆ ไม่อยู่ในระดับที่น่ากังวล
          ในเรื่องคอนโดมิเนียมที่ขอนแก่น มองว่าเป็นเทรนด์การอยู่อาศัยแบบใหม่ที่มีความต้องการใช้พื้นที่อาคารในแนวตั้งมากกว่า ส่วนหนึ่งมาจากการที่ราคาที่ดินในขอนแก่นได้ปรับตัวสูงขึ้นค่อนข้างมาก อย่างรอบๆ บริเวณมหาวิทยาลัยขอนแก่น ราคาต่อไร่ ประมาณ 40 ล้าน ส่วนใจกลางเมืองนั้นแพงขึ้นอีกเท่าตัว อยู่ที่ไร่ละ 80 ล้านบาท ดังนั้นการนำที่ดิน ที่มีราคาที่ค่อนข้างแพงมาใช้ประโยชน์ในลักษณะแนวราบก็จะไม่คุ้มกับการลงทุน จึงไม่เห็นโครงการบ้านเดี่ยวในบริเวณที่ที่ดินมีมูลค่าแพง
          "ตอนนี้ทุกจังหวัดกำลังอยู่ในช่วงปรับตัวในการตั้งรับกับการเข้ามาของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยนำเรื่องนี้เข้าไปอยู่ในยุทธศาสตร์ของแต่ละจังหวัด  แต่ละจังหวัดจึงเริ่มมีโครงการต่างๆ ที่เกี่ยวกับอาเซียน เพื่อมารองรับ แต่สิ่งที่น่ากังวลหลังจากนี้ คือ ผู้ประกอบการเองที่ไม่มีการปรับตัวไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของภาษา การศึกษาข้อมูลของอาเซียน การเตรียมความพร้อม ผู้ประกอบการจึงควรมีการปรับตัวตั้งแต่เนิ่นๆ หากเปิดอาเซียนจะมีคู่แข่งเพิ่มขึ้นจากต่างประเทศ แม้ผู้ประกอบการจะมีลูกค้าเพิ่มขึ้น แต่ก็มีคู่แข่งเพิ่มขึ้นด้วย"
          อย่างไรก็ตาม เขากล่าวว่า ธุรกิจที่จะสามารถจะอยู่รอดได้และสามารถแข่งขันได้น่าจะเป็นธุรกิจที่ต้องใช้เทคโนโลยีที่สูงกว่าเพื่อนบ้าน ดังนั้นจึงต้องมีการพัฒนาตรงนี้ แต่ถ้าธุรกิจไหนที่เน้นการใช้แรงงานเป็นหลักอาจสู้ไม่ได้ เพราะว่าค่าแรงประเทศเพื่อนบ้านนั้นต่ำกว่า จึงต้องเน้นไปหาธุรกิจที่มันใช้เป็นลักษณะความคิดสร้างสรรค์หรือว่าเป็นเทคโนโลยีขั้นสูงเพิ่มขึ้น
          "ขอนแก่นมี ยุทธศาสตร์เป็นศูนย์กลางของ ภาคอีสาน และ อาจพัฒนาเป็นศูนย์กลางอาเซียน"
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ 

วันอังคารที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ทุนจีนปักธงขอนแก่นร่วมดันนิคมฯสีเขียว


กลุ่มทุนจากจีนจับมือสภาอุตสาหกรรมขอนแก่น ร่วมผลักดันนิคมอุตสาหกรรมสีเขียว บนพื้นที่ 4.2 พันไร่ โชว์มีงบลงทุนก้อนโตถึง 7.5 หมื่นล้านบาท วาดแผนจัดโซนนิ่งให้เหมาะสม เร่งให้ความรู้ประชาชนหวังลดการต่อต้าน
          นายวิฑูรย์ กมลนฤเมธ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดขอนแก่น เปิดเผยว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เป็นตัวแทนของสภาอุตสาหกรรมจังหวัดขอนแก่นร่วมลงนามความร่วมมือกับผู้แทนของบริษัท แอดวานซ์ ดิจิตอล ซัพพลาย จำกัด ซึ่งเป็นตัวแทนจากประเทศจีน เพื่อผลักดันให้ให้เกิดนิคมอุตสาหกรรมสีเขียว โดยทำการบันทึกความร่วมมือในครั้งนี้ทั้งสองฝ่ายจะร่วมมือกันผลักดันให้เกิดนิคมอุตสาหกรรมสีเขียว ที่บนพื้นที่กว่า 4,200 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ ต.ท่าพระ และ ต.ดอนหัน อ.เมือง จ.ขอนแก่น
          "บริษัทดังกล่าวเป็นตัวแทนกลุ่มทุนของจีนที่ไปดำเนินการฟาร์มไก่ไข่ที่ประเทศกาตาร์ จากนั้นได้รับงบประมาณจากรัฐบาลจีนมาลงทุนในไทยจำนวน 1.5 หมื่นล้านหยวน หรือ 7.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งคาดว่าน่าจะใช้เงินลงทุนในส่วนของนิคมอุตสาหกรรมกว่าหมื่นล้านบาท โดยเป้าหมายของการลงทุนอยู่ที่ขอนแก่น เนื่องจากมองเห็นถึงศักยภาพในแง่ของการเป็นศูนย์กลางทางด้านการคมนาคมที่สำคัญ จึงเป็นแรงผลักดันให้ทุนจีนรุกเข้ามาในภาคอีสานก่อนเป็นอันดับแรก" นายวิฑูรย์กล่าว
          นายวิฑูรย์กล่าวว่า ผู้ลงทุนจากจีนจะจดทะเบียนบริษัทภายใต้เงื่อนไขกฎหมายของไทย 49 ต่อ 51 ส่วนขั้นตอนการเข้าไปทำประโยชน์ สภาอุตสาหกรรมจะเริ่มดำเนินการให้ความรู้แก่ประชาชนทั้งสองตำบล ภายในเดือนมีนาคมที่จะถึงนี้ นอกจากนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดยังเห็นด้วยกับการดึงเอาผังเมืองที่กำลังรอประกาศและยังไม่มีผลบังคับใช้มาทบทวนใหม่เพื่อให้พื้นที่สีม่วงสอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงในปัจจุบัน เพราะเป็นอุปสรรคในการสร้างนิคมอุตสาหกรรม เนื่องจากขณะนี้เมืองขอนแก่นได้เปลี่ยนแปลงไปมาก จึงควรจัดโซนนิ่งให้เหมาะสม ซึ่งคาดว่าจะไม่มีการต่อต้านจากมวลชนเหมือนในช่วงที่ผ่านมา
          "ที่ผ่านมาเราพยายามที่จะผลักดันให้เกิดนิคมอุตสาหกรรมสีเขียวมาโดยตลอด แต่ก็ถูกต่อต้านจากคนในพื้นที่บางส่วน ทำให้โครงการชะงัก แต่ครั้งนี้เป็นการลงทุนของกลุ่มทุนที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลจีน ซึ่งมีความน่าเชื่อถือ เป็นเอกชนร้อยเปอร์เซ็นต์ที่พร้อมจะปฏิบัติตามเงื่อนไขและตามกฎหมายไทยทุกอย่าง" นายวิฑูรย์กล่าว
ที่มา : คม ชัด ลึก 

"ทีเส็บ"ขยับเป้ารับตลาดไมซ์บูม รุกเมืองรอง"อินเดีย-จีน-พม่า"


           "ทีเส็บ" ปรับเป้าปี 2556 ขยายตัว 5-10% กวาดรายได้ไมซ์ทั้งไทย-เทศทะลุ 1 แสนล้านบาท เพิ่มดีกรีเจาะไมซ์ตลาดเมืองรอง "อินเดีย-จีน-พม่า" พร้อมผนึกสายการบินในประเทศขนตลาดคอร์ปอเรตอุดตลาดโรงแรม-รีสอร์ตช่วงโลว์ซีซั่น และลุยแผนเปิดไมซ์ซิตี้เพิ่ม 2 แห่ง "ขอนแก่น-หาดใหญ่" รับเศรษฐกิจต่างจังหวัดขยันโตต่อเนื่อง
          นายธงชัย ศรีดามา กรรมการปฏิบัติหน้าที่แทนผู้อำนวยการ สำนักงาน ส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (สสปน.) หรือทีเส็บ กล่าวว่า ทีเส็บได้ปรับเป้าหมายผลการดำเนินงานปีงบประมาณ 2556 โดยตั้งเป้าขยายตัว 5-10% มีนักเดินทางกลุ่มไมซ์ 940,000 คน สร้างรายได้กว่า 88,000 ล้านบาท จากเดิมตั้งเป้าจำนวนนักเดินทางไมซ์ไว้ที่ 792,000 คน สร้างรายได้ประมาณ 63,920 ล้านบาท หลังปีที่แล้วประสบความสำเร็จ สามารถผลักดันตลาดไมซ์เมืองไทยโตเกินเป้า โดยมีนักเดินทางกลุ่มไมซ์ 895,224 คน สร้างรายได้ 79,770 ล้านบาท
          แบ่งเป็นสัดส่วนธุรกิจการจัดประชุม 25% ด้วยจำนวนนักเดินทาง 231,000 คน ธุรกิจการท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล (อินเซนทีฟ) 24% ด้วยจำนวนนักเดินทาง 229,800 คน ธุรกิจการประชุมสมาคมนานาชาติ 33% ด้วยจำนวนนักเดินทาง 306,600 คน และธุรกิจการจัดงานแสดงสินค้านานาชาติ (เอ็กซิบิชั่น) 18% ด้วยจำนวนนักเดินทางกลุ่มไมซ์ 172,600 คน
          สำหรับการปรับเป้าหมายในปีงบประมาณนี้ได้เพิ่มกลยุทธ์อีก 3 แนวทาง ให้สอดคล้องกับบทบาทและภารกิจใหม่ของทีเส็บในฐานะผู้ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไมซ์สู่ความสำเร็จ หลังจากรีแบรนด์องค์กร ประกอบด้วย 1.การพัฒนากลยุทธ์งานการตลาดทั้งในและต่างประเทศ โดยมุ่งเจาะตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ สำหรับตลาดต่างประเทศ จะเน้นการเปิดตลาดในเมืองรองใหม่ ๆ ที่มีศักยภาพการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของตลาดเป้าหมาย
          ขณะที่ตลาดเอ็กซิบิชั่น เดิมทำตลาดในเมืองหลักอย่างเซี่ยงไฮ้ ปักกิ่ง และกว่างโจว ก็จะทำตลาดในเมืองอื่น ๆ ของมณฑลกวางตุ้ง และเจาะตลาดเมืองทวาย พม่า เพื่อเชื่อมโยงธุรกิจผ่านพม่าไปยังจีน อินเดีย และบังกลาเทศ ส่วนตลาดในประเทศมีแผนเปิดไมซ์ซิตี้ใหม่ ได้แก่ ขอนแก่น และเมืองหาดใหญ่ สงขลา ซึ่งทั้ง 2 เมืองมีความพร้อมทั้งด้านศูนย์ประชุม โรงแรมที่พัก ตลอดจนกิจกรรมไมซ์รองรับ
          2.การขยายเครือข่ายพันธมิตร รุกจับมือกับหน่วยงานด้านไมซ์ในระดับนานาชาติหลายหน่วยงานเพื่อสร้างกิจกรรมที่มุ่งเน้นการพัฒนาสินค้าและบริการ ตลอดจนมาตรฐานการดำเนินงานในด้าน ต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมธุรกิจไมซ์ ส่วนตลาดในประเทศได้ขยายความร่วมมือกับพันธมิตรสายการบินภายในประเทศ เพื่อกระตุ้นตลาดลูกค้ากลุ่มองค์กรให้อุดช่องว่าง ของตลาดในช่วงนอกฤดูกาลท่องเที่ยว (โลว์ซีซั่น) ผ่านการจัดโปรโมชั่นตั๋วบินและแพ็กเกจที่พักราคาพิเศษ
          และ 3.เร่งดำเนินงานเชิงรุกเพื่อรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในปี 2558 ผ่าน 4 แผนงานหลักในระยะเร่งด่วน ได้แก่ แผนการศึกษาวิจัยศักยภาพผู้ประกอบการไมซ์, แผนพัฒนาหลักสูตรไมซ์เพื่อเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการภาคเอกชน, แผนการจัดฝึกอบรมผู้ประกอบการไมซ์อย่างต่อเนื่องในเมืองไมซ์ซิตี้ และแผนการจัดตั้งคณะทำงานของอุตสาหกรรมไมซ์และกิจกรรมประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างการรับรู้ของผู้ประกอบการไมซ์ตามกรอบความร่วมมือเศรษฐกิจอาเซียน
          ด้านแผนระยะยาวเพื่อรับเออีซีจะมุ่งสร้างผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไมซ์ไทยในต่างประเทศ ด้วยการจัดทำหลักสูตร 24 ชั่วโมง เพื่อให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการไมซ์ไทยที่ต้องการทำธุรกิจใน 4 ประเทศเป้าหมายด้านการค้าการลงทุนด้านไมซ์ ได้แก่ ลาว พม่า เวียดนาม และอินโดนีเซีย (LMVI)
          นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมตลาดในประเทศ ทีเส็บ เสริมว่า สำหรับตลาดในประเทศได้ปรับเป้านักเดินทางไมซ์ในประเทศเพิ่ม 3 ล้านคนครั้ง จากเป้าเดิม 13.5 ล้านคนครั้ง เป็น 16.5 ล้านคนครั้ง ส่วนรายได้ตั้งเป้าเพิ่มอีก 10% สร้างรายได้ 1.36 หมื่นล้านบาท จากเดิมที่ตั้งไว้ 1.2 หมื่นล้านบาท
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ

'สตาร์มาร์ค'เทงบ 200 ล้านบุกหนักเฟอร์ฯชุดครัวบิลต์อินยัน AEC


                  นางสาวนันทนา ศรีสกุลภิญโญ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สตาร์มาร์ค จำกัด ผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์ครัวรายใหญ่  เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่าปีนี้บริษัทลงทุนประมาณ 200 ล้านบาท แบ่งเป็นกว่า 100 ล้านบาท ซื้อเครื่องจักรใหม่จากประเทศเยอรมนี เพื่อขยายกำลังผลิต จากเดิมมี 3 โรงงาน เพิ่มเป็น 4 โรงงาน พื้นที่รวม 55,000 ตร.ม. รองรับตลาดที่มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องทั้งในพื้นที่กรุงเทพฯปริมณฑล และต่างจังหวัด โดยเฉพาะตลาดค้าชายแดนพบว่ามีการขยายตัวของกำลังซื้อในทุกภูมิภาคในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา
          แผนบุกตลาดยังรวมถึงร่วมกับพันธมิตรโมเดิร์นเทรดค้าวัสดุ ได้แก่ โฮมโปร โฮมเวิร์ค ไทวัสดุ เพิ่มจุดขายรวมประมาณ 20 แห่ง ใช้งบฯลงทุน 50 ล้านบาท แต่ละสาขามีพื้นที่ขายไม่ต่ำกว่า 100 ตร.ม. ควบคู่กับบริษัทมีจุดขายในห้างสรรพสินค้า 6 สาขา ได้แก่ ห้างเซ็นทรัลเวิลด์ มาบุญครอง เซ็นทรัลฯปิ่นเกล้า เซ็นทรัลฯบางนา ฟิวเจอร์ พาร์ค รังสิต และเอสทู (STWO)
          "คาดว่าเครื่องจักรใหม่จะเริ่มผลิตได้ภายในไตรมาสแรกปีนี้ สิ่งที่ทำไปพร้อม ๆ กัน ก็คือเราปรับปรุงระบบซอฟต์แวร์และระบบโลจิสติกส์ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งหมดนี้เป็นแผนลงทุนเพื่อเตรียมความพร้อมในอนาคต เพราะกำลังการผลิตรวมตอนนี้เพิ่งใช้ไปแค่ 50-60% เท่านั้น"
          กรรมการผู้จัดการสตาร์มาร์คกล่าวว่า ผลดำเนินงานปี 2555 สามารถส่งมอบชุดครัวบิลต์อินทั้งโครงการแนวราบและแนวสูงประมาณ 20,000 ยูนิต ปีนี้ตั้งเป้าเติบโต 20% หรือประมาณ 24,000 ยูนิต โดยชุดครัวที่ได้รับความนิยมจาก ผู้บริโภคในปัจจุบันมีขนาดเล็กประมาณ 1.40 เมตร ถือว่าเป็นเทรนด์เฟอร์ฯชุดครัวที่มาแรงที่สุดในปีนี้ เพราะผู้บริโภคนิยมสินค้าดีไซน์ทันสมัย เรียบ หรู สีโทนสว่าง วัสดุที่ใช้มีหลายแบบ ทั้งหิน หินสังเคราะห์
          "เรามีแบ็กล็อกหรือยอดสั่งสินค้ารอส่งมอบภายในปี 2556-2557 ประมาณ 5,000 ยูนิต มีคอนโดฯ 20 กว่าโครงการ และบ้านเดี่ยว ทาวน์เฮาส์อีก 60 กว่าโครงการ"
          ส่วนตลาดเออีซีที่จะเปิดเต็มที่ในปี 2558 สตาร์มาร์คจะเน้นขายผ่านคู่ค้าโมเดิร์นเทรดที่ขยายการลงทุนเปิดสาขาในต่างจังหวัดทั่วประเทศ ดังนั้นสิ่งที่ต้องเร่งดำเนินการคือกระจายสินค้าหรือแวร์เฮาส์ไปสู่จังหวัดที่เป็นประตูเออีซี ผ่านศูนย์กระจายสินค้า 3 จุดหลักที่เชียงใหม่ 
ขอนแก่น ภูเก็ต แผนลงทุนปีหน้าเตรียมเพิ่มแวร์เฮาส์ในทุกภูมิภาค เพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่การตลาดให้มากที่สุด"
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ 

ยกระดับอาหารอีสานสู่อย.นำร่องเมนู'หม่ำ'ที่เมืองพล


            "หม่ำ" เป็นอาหารอีสานพื้นบ้าน ส่วนผสมหลักมาจากเนื้อสัตว์ทั้งเนื้อหมูและเนื้อวัว สำหรับ จ.ขอนแก่น ที่ อ.พล จากการสำรวจปี 2554 มีร้านหม่ำรวมกว่า 70 ร้าน ถือได้ว่ามากที่สุดในภาคอีสาน ทว่า เกี่ยวกับความสะอาดของอาหารชนิดนี้ที่ผลการวิจัยบ่งชี้มีสารต่างๆ ปนเปื้อน อันส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้บริโภค เป็นเหตุผลให้ ผศ.นสพ.ดร.สรรเพชร อังกิติตระกูล คณะสัตวแพทยศาสตร์ ม.ขอนแก่นและทีมวิจัย ได้เร่งยกระดับเพื่อให้ได้มาตรฐาน อย.
          ผศ.นสพ.ดร.สรรเพชร หัวหน้าโครงการจัดการความปลอดภัยผลิตภัณฑ์หม่ำจากแหล่งผลิตถึงผู้บริโภค คณะสัตวแพทยศาสตร์ ม.ขอนแก่น
 เล่าว่า ด้วยคำถามเกี่ยวกับความสะอาดของหม่ำเมืองพล ปี 2552 ตนพร้อมผู้ร่วมวิจัย จึงนำมาตรวจคุณภาพการผลิตในห้องทดลอง พบว่าหม่ำเนื้อและหมู ปนเปื้อนเชื้อซัลโมเนลลาสูงถึงร้อยละ 51.2 และ 55.8 พบเชื้ออีโคไลปนเปื้อนในหม่ำเนื้อวัวร้อยละ 41.89 และหม่ำหมูร้อยละ 69.76
          จากการตรวจพบเชื้อในหม่ำที่สูงเกินมาตรฐาน อันจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพผู้บริโภค จึงเริ่มโครงการเพื่อแก้ปัญหาเรื่องความสะอาด มีสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย หรือ สกว.สนับสนุน พร้อมได้รับความร่วมมือจากเทศบาลเมืองเมืองพล สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดขอนแก่น
 สำนักงานปศุสัตว์ ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 6 และโรงพยาบาลพล ร่วมยกระดับอาหารอีสานและสร้างต้นแบบหม่ำสะอาด ปลอดภัย
          “มีร้านค้าสนใจร่วมโครงการ 20 ร้าน ระยะเวลาดำเนินงาน 2552-2555 เริ่มตั้งแต่การปรับเปลี่ยนทัศนคติของผู้ประกอบการ ทั้งให้ความสำคัญต่อผู้บริโภค การใช้อุปกรณ์ วัตถุดิบที่ต้องคัดสรรให้ได้มาตรฐาน สด สะอาด รวมถึงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการผลิตด้วย ซึ่งมีหลายขั้นตอนที่ต้องใช้ทั้งงบประมาณในการลงทุน การทุ่มเทเอาใจใส่อย่างต่อเนื่อง
          โดยหลักการที่นำมาใช้พัฒนาคุณภาพการผลิต ใช้การวิเคราะห์ความเสี่ยงที่อาจจะปนเปื้อนเชื้อ ซึ่งจะเริ่มวิเคราะห์ตั้งแต่วัตถุดิบ เช่น เนื้อหมู ตรวจคุณภาพโรงฆ่าสัตว์ว่าได้มาตรฐานหรือไม่ ส่วนผสม เครื่องปรุง สถานที่ผลิต เป็นต้น อีกทั้งการทำความสะอาดอุปกรณ์เครื่องใช้ ขณะที่ผู้ผลิตก็ต้องใส่ถุงมือ ผ้ากันเปื้อน ผ้าปิดจมูก เป็นกระบวนการผลิตที่ต้องนำไปวิเคราะห์ความเสี่ยงทีละขั้นตอน พร้อมนำไปตรวจสอบในห้องทดลอง หากขั้นตอนใดที่ทำให้มีความเสี่ยงติดเชื้อก็จะแก้ไขที่จุดนั้น จนกว่าจะตรวจสอบว่าปลอดภัย
          “ระยะแรกยังไม่ได้รับความร่วมมือจากผู้ผลิตมีข้ออ้างว่าไม่ถนัด ทางนักวิจัยได้นำส่วนผสมที่ผู้ผลิตเคยทำเป็นประจำ และส่วนผสมที่ทำตามคำแนะนำของนักวิจัยไปทดสอบ แล้วนำข้อมูลทั้งสองมาเปรียบเทียบให้ผู้ผลิตรู้ เมื่อเขาเห็นข้อมูลความต่าง เขาจะปรับเปลี่ยน และปรับปรุงแก้ไขในจุดที่บกพร่อง เพื่อให้ผลิตภัณฑ์ที่ได้มีความสะอาด ปลอดภัยมากขึ้น
          ตลอด 3 ปีที่ดำเนินโครงการร้านที่ประสบความสำเร็จในการยกระดับผลิตภัณฑ์หม่ำ ปลอดภัยประสบความสำเร็จจำนวน 2 ร้าน คือร้านหม่ำยายกุ้ง และร้านภูมิสุข ที่พัฒนาผลิตภัณฑ์หม่ำหมู ที่มีความสะอาด ปลอดภัย อยู่ระหว่างการขอ อย.
          “ไม่ใช่เรื่องทำได้ง่ายเพราะตลอด 3 ปี มีร้านได้ทยอยลาออกจากโครงการ เพราะบางส่วนไม่มีงบลงทุน บางร้านต้องเช่าหน้าร้านขายซึ่งเป็นข้อจำกัด ที่สำคัญทุกร้านได้มีการปรับเปลี่ยนและพัฒนาขั้นตอนการผลิต ขณะที่ร้านซึ่งผ่านมาตรฐาน ทางทีมวิจัยได้จัดทำป้ายคุณภาพการันตี และนำผลิตภัณฑ์ไปออกร้านในงานแสดงสินค้า ตามงานระดับประเทศด้วย
          แม้โครงการจะหมดระยะเวลาในการดำเนินการแล้ว แต่เครือข่ายผู้ทำงานทั้งหมดยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง และได้ประสานความร่วมมือเตรียมตั้งคณะกรรมการขึ้นสานต่อโครงการ ถือเป็นการสร้างความมั่นคงให้อาชีพ และยกระดับอาหารสไตล์อีสาน "หม่ำ" ให้เป็นสินค้าขึ้นชื่อของ อ.พล จ.ขอนแก่น
ที่มา : คม ชัด ลึก 

ผ้าเบรกคอมแพ็คทุ่ม 135 ล้าน เพิ่มกำลังผลิตหวังโกยพันล. เล็งผุดโรงงานที่ทวายรับเออีซี


 ผ้าเบรกคอมแพ็คเดินหน้ารุกตลาด ด้วยการเทเม็ดเงินลงทุนเพิ่ม 135 ล้าน ขยายกำลังการผลิตภายในไตรมาส 2 พร้อมเน้นการสื่อสารทางการตลาด-จัดโรดโชว์ มั่นใจสิ้นปีโกยยอด 1 พันล้าน เติบโต 20%เล็งผุดโรงงานที่ทวายรับเออีซี 
          นายพัฒนะ อิสระพิทักษ์กุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานพัฒนาธุรกิจและภาพลักษณ์ บริษัท คอมแพ็ค อินเตอร์เนชั่นแนล (1994) จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ผ้าเบรก ภายใต้แบรนด์ COMPACT, DIAMOND และ MUSASHI กล่าวว่า จากความต้องการผ้าเบรกที่มีเพิ่มมากขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา ทำให้บริษัทมีการทุ่มงบลงทุนเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 100 ล้านบาทในการขยายกำลังการผลิตอีก 30% หรือราว 1.5 ล้านชุด
          "ปลายปี 2555 ที่ผ่านมาความต้องการผ้าเบรกของบริษัทมีสูงกว่ากำลังผลิตกว่า 1-1.5 ล้านชุดในทุกกลุ่ม ทำให้กำลังผลิตทั้งที่โรงงานจังหวัดเพชรบุรีและมหาชัย สมุทรสาคร ที่มีรวมกัน 4 ล้านชุดต่อปีไม่เพียงพอ บริษัทจึงได้ลง ทุนเพิ่มเพื่อเร่งขยายกำลังผลิต โดยคาดว่าจะสามารถเพิ่มได้ในช่วงไตรมาสที่สองนี้ ณ โรงงานจังหวัดเพชรบุรี"
          นอกเหนือจากการขยายกำลังการผลิตแล้ว ในส่วนของแผนงานด้านการตลาด ได้มีการวางงบประมาณจำนวน 35 ล้านบาท โดยจะใช้สื่อสารการตลาดผ่านสื่อประชาสัมพันธ์ต่างๆ รวมไปถึงการจัดโปรโมชันกับร้านค้าผู้แทนจำหน่ายและผู้บริโภค โดยเฉพาะการจัดกิจกรรมโรดโชว์ขึ้นทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย 
          "เราต้องการตอกย้ำภาพลักษณ์บริษัท ตราสินค้า และผลิตภัณฑ์ ภายใต้เทคโนโลยี NAO (Non Asbestos Or- ganics) ทั้งนี้เพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภค นอกจากนี้เรายังจัดทำป้ายตราสัญลักษณ์ "COMPACT" ขนาดต่างๆ นำไปติดตั้งที่ร้านค้าผู้แทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการ พร้อมดูแลการเสียภาษีป้ายอย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยตั้งเป้าติดตั้งให้ครบ 5,000 ร้านค้า ที่เป็นตัวแทน และภายใน 2 ปีจากนี้ก่อนเปิดเออีซี ก็จะติดให้ครบ 20,000 ป้าย"
          ส่วนกิจกรรมโรดโชว์จะมีคอนเซ็ปต์ คือ Pause For Safety "หยุดอย่างปลอด ภัย มั่นใจในผ้าเบรก" โดยจะมีดารา-นักขับรถ-นักการตลาด อาทิ พีท ทองเจือ, อ.ธันยวัชร์ ไชยตระกูลชัย, ณัฎฐ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา มาร่วมสะท้อนความคิดเห็นเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ ซึ่งกิจกรรมโรดโชว์ในครั้งนี้จะจัดขึ้นครั้งแรกระหว่าง วันที่ 15-17 มีนาคมนี้ ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัล แอร์พอร์ต เชียงใหม่ เป็นแห่งแรก ต่อจากนั้นจะเดินทางไปจัดที่ขอนแก่น
 ภูเก็ต และชลบุรี 
          ขณะที่แผนการขยายตลาดต่างประเทศใหม่ๆ ทั้งรัสเซียและบราซิลยังเป็นไปตามแผนธุรกิจที่กำหนดไว้ภายใน 3-5 ปีนับจากนี้ รวมถึงการตั้งโรงงานที่นิคมอุตสาหกรรมเมืองทวาย ประเทศพม่า เพื่อรองรับการเปิดตลาดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ภายในปี 2558 
          นายพัฒนะ กล่าวเพิ่มเติมว่า บริษัท ตั้งเป้ายอดขายในปี 2556 ที่ 1 พันล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นราว 20% จากปีที่ผ่านมา โดยในปี 2555 มียอดจำหน่าย 820 ล้านบาทหรือเพิ่มขึ้น 20% เมื่อเทียบกับปี 2554 แบ่งเป็นตลาดภายในประเทศ (ตลาดทดแทน) 70%, ตลาด OES 10% (ป้อนศูนย์บริการรถยนต์แบรนด์ต่างๆ) และตลาดต่างประเทศประกอบด้วย  มาเล- เซีย อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย และภูมิภาคตะวันออกกลางอีก 20%
          "ตลาดรถยนต์ในเมืองไทยทั้งใหม่และเก่ายังมีความต้องการผ้าเบรกสูง ประกอบกับแนวทางการตลาดและการขยายกำลังการผลิตต่อเนื่อง รวมไปถึงการว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญระดับโลกมาเป็นที่ปรึกษาในด้านการวิจัยและพัฒนา ก็ยิ่งทำให้เรามั่นใจว่าจะทำยอดขายได้ตามเป้าหมายที่วางไว้อย่างแน่นอน"
ที่มา : ฐานเศรษฐกิจ

วันอังคารที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ที่ดินขอนแก่นแพงครองแชมป์อีสาน


 นายอภิชา ประสงค์ธรรม ธนารักษ์พื้นที่จังหวัดขอนแก่น เปิดเผยว่า ราคาประเมินที่ดินของจังหวัดขอนแก่นในรอบใหม่นี้ ภาพรวมเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 8.42 เปอร์เซ็นต์ โดยราคาประเมินที่ดิน อ.ภูผาม่าน เพิ่มสูงที่สุดเฉลี่ยที่ 17.63 เปอร์เซ็นต์ ส่วนเขตอำเภอเมือง เพิ่มขึ้น 2.99 เปอร์เซ็นต์  โซนตามถนนสายหลักมะลิวัลย์และมิตรภาพปรับค่อนข้างสูง เฉลี่ยเกือบ 5-10 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ย่านธุรกิจสำคัญถนนศรีจันทร์ระยะระหว่างศาลหลักเมืองถึงสี่แยกธนาคารแห่งประเทศไทย ไม่มีการปรับราคาเพิ่ม ยังคงไว้ที่ตารางวาละ 200,000 บาท
          สำหรับถนนศรีจันทร์บล็อกจากศาล หลักเมืองจนถึงศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา ปรับขึ้นจาก ตร.ว.ละ 100,000 บาท เป็น 120,000 บาท ฝั่งมิตรภาพปรับเพิ่มจาก ตร.ว.ละ 70,000 บาท เป็น 75,000 บาท อ.หนองนาคำ ปรับเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 4.14 เปอร์เซ็นต์ จากราคาเดิมเฉลี่ยต่ำสุดไร่ละ 140,000 บาท
          โดยประเมินราคาที่ดินใหม่ของ จ.ขอน แก่นครั้งนี้ แม้ในภาพรวมจะเพิ่มขึ้น แต่จากการสำรวจข้อมูลการประกาศซื้อขายราคาส่วนใหญ่ จะสูงกว่าราคาประเมินเกือบเท่าตัว ขณะที่การประเมินจะต้องอาศัยข้อมูลจดทะเบียนซื้อขายจากสำนักงานที่ดิน โดยเฉพาะในปี 54 การซื้อขายที่ดินค่อนข้างคึกคักมีการเข้ามากว้านซื้อที่ดินของนักลงทุนรายใหญ่ โดยที่ผืนใหญ่ใกล้เมืองขณะนี้ตกอยู่ในมือของนักพัฒนาที่ดินรายใหญ่ไม่กี่ราย ประกอบกับกระแสความต้องการที่อยู่อาศัยที่เพิ่มขึ้นของคนต่างจังหวัด หรือแม้แต่จากพื้นที่ที่ประสบอุทกภัย ทำให้เกิดโครงการบ้านจัดสรรหลายทำเล โดยเฉพาะที่บริเวณบึงหนองโคตร ต.บ้านเป็ด ที่ดินจัดสรรในเขตรอบนอก และที่พักคอนโดมิเนียมโซนย่านธุรกิจ และสถาบันการศึกษาเพิ่มขึ้น สำหรับราคาที่ดินก่อสร้างคอนโดมิเนียมที่ยื่นขอประเมินในปีนี้ราคาปรับเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 25 เปอร์เซ็นต์.  
ที่มา : เดลินิวส์ 

หวั่นธุรกิจชอร์ตเจอวิกฤตไฟฟ้าขาดเอกชนจี้รัฐโชว์ข้อมูล-เร่งผลิตสินค้าเก็บสต๊อก


 นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยถึงกรณีที่กระทรวงพลังงานระบุว่าช่วงเดือนเม.ย. ก๊าซธรรมชาติอาจขาดแคลน เนื่องจากพม่าปิดซ่อมบำรุงแหล่งขุดเจาะก๊าซในวันที่ 4-12 เม.ย.นี้ ขณะที่มาเลเซียจะหยุดส่งก๊าซ จากกรณีท่อส่งก๊าซไทย-มาเลเซีย เสียหายจากอุบัติเหตุการทิ้งสมอเรือ ว่า ต้องการให้กระทรวงพลังงานประสานข้อมูลให้ภาคเอกชนรับทราบโดยเร็วว่าสามารถรับมือวิกฤตได้หรือไม่ และมีความจำเป็นต้องใช้ไฟ รวมถึงสามารถผลิตได้เป็นจำนวนเท่าใด เพื่อให้เอกชนวางแผนการผลิต ล่วงหน้า เพราะหากได้ข้อมูลล่าช้า กระบวนการผลิตอาจต้องหยุดชะงัก ทำให้เกิดผลเสียหายเป็นอย่างมาก
          ทั้งนี้ ภาคเอกชนยินดีช่วยเหลือรัฐบาล เช่น ลดกำลังการผลิต หรือเว้นการผลิตชั่วคราวในช่วงที่มีปัญหา หรือเร่งการผลิต เพื่อสำรองสินค้าก่อนที่พม่าจะไม่สามารถส่งก๊าซมาให้ได้ โดยภาคอุตสาหกรรมที่อาจได้รับผล กระทบจากวิกฤตครั้งนี้ เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่ใช้ไฟฟ้าค่อนข้างมาก เช่น อุตสาหกรรมเหล็ก ปิโตรเคมี และอุตสาหกรรมอาหาร เป็นต้น
          นายวัลลภ วิตนากร รองประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า ผู้ประกอบการไม่ต้องการให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (เรกกูเลเตอร์) ปรับเพิ่มค่าไฟฟ้าผันแปร (เอฟที) ในกรณีที่มีการนำน้ำมันดีเซลและน้ำมันเตาซึ่งมีต้นทุนสูงมาผลิตไฟฟ้าแทนก๊าซธรรมชาติ เนื่องจากไม่ใช่ความผิดของประชาชนและโรงงานอุตสาหกรรม แต่ควรให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับภาระแทน ขณะเดียวกันต้องการให้กระทรวงพลังงานเจรจากับพม่าเพื่อให้ผู้ผลิตก๊าซเลื่อนการซ่อมแท่นไปเป็นวันที่ 13-21 เม.ย. เนื่องจากช่วงต้นเดือนเม.ย. ผู้ประกอบการต้องเร่งเดินเครื่องการผลิตสินค้าก่อนช่วงเทศกาลสงกรานต์
          ด้านนายโอภาส เพชรมุณี ผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) กล่าวว่า หากเกิดปัญหาก๊าซขาดแคลน คาดว่าขสมก. จะได้รับผลกระทบไม่มาก เนื่องจากรถขนส่งสาธารณะที่ให้บริการประชาชนส่วนใหญ่หรือประมาณ 3 พันคัน ใช้น้ำมันดีเซล มีเพียง 120 คันเท่านั้นที่ใช้ก๊าซธรรมชาติ
          นายยู เจียรยืนยงพงศ์ ประธานสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ผู้ประกอบการขนส่งจะต้องช่วยตัวเอง ด้วยการวางแผนการเติมก๊าซให้เหมาะสม เช่น ผู้ประกอบการแถบภาคเหนือควรเลือกเติมก๊าซจากแหล่งลานกระบือ จ.กำแพงเพชร ส่วนภาคอีสาน ควรเติมแถบน้ำพอง จ.ขอนแก่น ซึ่งเป็นแหล่งในประเทศ ไม่ควรมาแย่งเติมก๊าซในพื้นที่ภาคกลางซึ่งส่วนใหญ่ต้องรับก๊าซมาจากแหล่งพม่า และมาเลเซีย
ที่มา : ข่าวสด
 

ถมลงทุน 2 ล้านล้าน 'คมนาคม' ฝุ่นตลบบิ๊กเพื่อไทยเปิดศึกชิงเค้กโปรเจ็กต์ถนน


         ยังไม่จบ สำหรับบัญชีโครงการของ "กระทรวงคมนาคม" ตามแผนลงทุน 2 ล้านล้านบาท ที่ "รัฐบาลเพื่อไทย" กำลังเร่งผลักดันให้ผ่านการพิจารณาของรัฐสภาแบบผ่านฉลุยในเดือนมีนาคม-เมษายนนี้   เพราะติดเม็ดเงินลงทุนโครงการถนนที่ยังไม่สะเด็ดน้ำ ล่าสุดเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2556 ที่ผ่านมา เจ้ากระทรวง "ชัชชาติ สิทธิพันธุ์" จัดคิวประชุมด่วนช่วงบ่าย แก่ ๆ หวังให้สรุปจบโดยเร็ววัน
          แต่สุดท้ายก็ไม่ได้นั่งเป็นประธาน เมื่อ "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" นายกรัฐมนตรี เรียกไปพบที่ทำเนียบด่วน พร้อม 2 รัฐมนตรีช่วยฯ "พล.อ.พฤณท์ สุวรรณทัต" และ"ประเสริฐ จันทรรวงทอง"
          ว่ากันว่า...ที่ 3 บิ๊กหูกวางถูก "นายกฯหญิง" เรียกตัวด่วนแบบไม่ได้ตั้งตัว นอกจากกรณีเกิดเหตุประท้วงหยุดทำโอทีของสหภาพ "กทท.-การท่าเรือแห่งประเทศไทย" และต้องการเร่งงานที่ยังล่าช้าให้เร็วขึ้น
          อีกเป้าหมายเพื่อติดตามบัญชีรายชื่อโครงการลงทุน 2 ล้านล้านบาทของ "คมนาคม" ที่ยังไม่ลงล็อก โดยเฉพาะแผนโครงการถนนของ 2 หน่วยอย่าง "กรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบท" ที่มีเทศกาล "ชักเข้า-ชักออก" อยู่ตลอดเวลา ด้วยผู้คุมหน่วยก็ไม่อยากตัดโครงการของตัวเองออก
          เพราะต่างก็รู้กันดีว่า "งบฯถนน" เป็นสิ่งที่ "ส.ส." อยากดึงไปลงพื้นที่ตัวเองให้มากที่สุด เนื่องจากจับต้องง่ายและเกิดได้เร็ว จึงไม่แปลกที่แผนลงทุนถนนจึงยังไม่นิ่ง เพราะยังมีคลื่นใต้น้ำตีกระเพื่อม "จัดสรรเงิน-จัดสรรพื้นที่" ลงทุน
          แต่ที่ยิ่งแปลกไปกว่านั้น เมื่อ "วราเทพ รัตนากร" รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เด็กในคาถา "เจ๊ ด." แห่งวัง บัวบาน จู่ ๆ ก็มาปรากฏตัวที่ "คมนาคม" และทำหน้าที่ประธานที่ประชุมแทน "ชัชชาติ" ทันทีที่มีภารกิจด่วนอยู่ที่ทำเนียบ
          แม้การประชุมใช้เวลาไม่นาน ประมาณ 1 ชั่วโมง และยุติลงแบบไร้ข้อสรุป เมื่อเจ้ากระทรวงไม่อยู่ โปรเจ็กต์ต่าง ๆ ที่ "กรมทางหลวง" และ "กรมทางหลวงชนบท" เสนอเพิ่ม จึงยังไม่สามารถบรรจุในสารบบบัญชีได้
          ถึงการประชุมจบไปแล้ว แต่ยังมีเสียงวิพากษ์ถึงการมาของ "วราเทพ" มีนัยสำคัญซ่อนเร้น จะมาช่วยสแกนจุดอ่อนจุดแข็งของโครงการให้จบโดยเร็ว หรือมีจุดเป้าหมายอื่น
          หลังก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวออกมาเป็นระยะว่า งานถนนที่ยังไม่ตกผลึก เพราะยังมีคลื่นแทรกของคนกันเอง
          ขณะที่บรรยากาศในที่ประชุม ยังมีโครงการถนนที่ 2 อธิบดีจาก "กรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบท" พยายามเสนอขอใช้เงินลงทุนจาก 2 ล้านล้านบาท
          "มีโครงการถนนทั้งทางหลวงและทางหลวงชนบทเสนอกลับเข้าสู่ที่ประชุมอีก หลังรอบที่แล้วถูกตัดเงินลงทุนไป แต่ยังไม่ได้อนุมัติและวงเงินก็ยังไม่สรุป รอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมาพิจารณาก่อน" แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมกล่าวและว่า
          สำหรับแผนงานที่ "กรมทางหลวง" เสนอเพิ่มมี  2 รายการ มูลค่าลงทุนกว่า 15,000 ล้านบาท หลังถูกตัดโครงการไปเหลือ 180,230 ล้านบาท (ณ วันที่ 4 ก.พ.)
          โดยโครงการใหม่ที่เสนอ ประกอบด้วย โครงการขยายถนน 4 ช่องจราจร จำนวน 15 สายทาง วงเงิน 13,200 ล้านบาท ในพื้นที่ศูนย์กลางเศรษฐกิจ 11 สายทาง มีจังหวัดพังงา สุราษฎร์ธานี สงขลา ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา นครปฐม และเมืองระดับรอง 4 สายทาง ในพื้นที่จังหวัดพิจิตร ลำพูน ลพบุรี และนครศรีธรรมราช และโครงการก่อสร้างสะพานกลับรถบนถนนสายหลัก จำนวน 9 แห่ง ประมาณ 2,000 ล้านบาท
          "หลังโครงการใหญ่อย่างมอเตอร์เวย์ 2 สาย ทั้งสายบางปะอิน-โคราช และสายบางใหญ่-กาญจนบุรี ที่กรมทางหลวงพยายามจะขอค่าก่อสร้างด้วย แต่ได้เฉพาะค่าเวนคืนที่ดิน จึงหาโครงการอื่นมาแทน แต่ยังไม่สรุป" แหล่งข่าวกล่าว
          สำหรับในส่วนของ "กรมทางหลวงชนบท" ขอเพิ่มอีก 8,000 ล้านบาท จากเดิมที่ถูกตัดเหลือ 48,731 ล้านบาท สำหรับค่าเวนคืนที่ดินก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาเชื่อม "อ.พระสมุทรเจดีย์ กับ อ.มหาชัย" ในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการและสมุทรสาคร จากเดิมถูกตัดออกไปแล้ว เนื่องจากใช้เงินก่อสร้างค่อนข้างสูงถึง 49,000 ล้านบาท
          ขณะที่บทบาทของ "รองนายกฯ วราเทพ" ในที่ประชุมวันนั้น กำชับให้แต่ละหน่วยพิจารณาโครงการเป็นภาพรวมตามยุทธศาสตร์ เชื่อมโยงเมืองเศรษฐกิจหลักในภูมิภาค และใช้เงินลงทุนในงบประมาณปกติไม่ได้
          แต่ไม่ลืมโฟกัสไปที่ "โครงการถนน" ซึ่งระบุว่าต้องเป็นเส้นทางโครงการใหญ่ที่พร้อมดำเนินการ ช่วยเสริมศักยภาพของการเป็น "ฮับ" หรือศูนย์กลางทั้ง "เมืองหลัก-เมืองรอง" ครอบคลุมทุก ภูมิภาค
          และรองรับประตูการค้าชายแดนทั้ง 9 แห่ง ประกอบด้วย ด่านเชียงของ แม่สาย แม่สอด หนองคาย มุกดาหาร นครพนม อรัญประเทศ สะเดา และปาดังเบซาร์ เช่น ขยายถนนสายหลักเป็น 4 ช่องจราจร เชื่อมระหว่างเส้นทางเศรษฐกิจการค้า
          ซึ่ง "ภาคเหนือ" เมืองศูนย์กลางอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ พิษณุโลก นครสวรรค์ ส่วนเมืองระดับรองอยู่ที่จังหวัด "ลำปาง แม่ฮ่องสอน ลำพูน กำแพงเพชร สุโขทัย พิจิตร และเพชรบูรณ์" มีประตูการค้าอยู่ที่ "เชียงราย-ตาก"
          "ภาคอีสาน" เมืองศูนย์กลางอยู่ที่จังหวัด
ขอนแก่น อุดรธานี หนองคาย นครราชสีมา อุบลราชธานี ซึ่งเมืองระดับรองอยู่ที่จังหวัด "เลย-กาฬสินธุ์-ชัยภูมิ-ร้อยเอ็ด-บุรีรัมย์ และสุรินทร์" ส่วนประตูการค้าอยู่ที่ "มุกดาหารและนครพนม"
          ขณะที่ "ภาคกลาง" มีกรุงเทพฯและเมืองปริมณฑลเป็นเมืองศูนย์กลาง และมีจังหวัด "สระบุรีและลพบุรี" เป็นเมืองระดับรอง
          "ภาคตะวันตก" เมืองศูนย์กลางอยู่ที่ "ประจวบคีรีขันธ์และเพชรบุรี" มี "ราชบุรีและสมุทรสงคราม" เป็นเมืองระดับรอง มีจังหวัดกาญจนบุรีเป็นประตูการค้า
          "ภาคตะวันออก" มีจังหวัด "ชลบุรีและระยอง" เป็นเมืองศูนย์กลาง ส่วนเมืองระดับรองอยู่ที่จังหวัด "ฉะเชิงเทรา จันทบุรี"
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ 

วันจันทร์ที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ฟันธงคอนโดฯไม่เจอฟองสบู่


 ฟันธงคอนโดฯยังไม่เกิดฟองสบู่ แนวรถไฟฟ้ายังพัฒนาได้ดี จับตาอสังหาฯภูธรตามหัวเมืองใหญ่เติบโตสูง แนะผู้ประกอบการศึกษาก่อนลงทุน
          นายธำรง ปัญญาสกุลวงศ์ นายกสมาคมอาคารชุดไทย กล่าวว่า แม้จะมีหลายฝ่ายกังวลว่าคอนโดมิเนียมจะเกิดปัญหาฟองสบู่ แต่ขอยืนยันว่ายังไม่พบปัญหาดังกล่าว โดยตั้งแต่เมื่อ 8 ปีที่ผ่านมา คอนโดฯมีอัตราการเติบโตต่อเนื่องควบคู่กับดีมานด์ และปี 2556 น่าจะเป็นโอกาสของคอนโดฯที่เป็นรอยต่อของกรุงเทพมหานครและปริมณฑลในแนวรถไฟฟ้า เพราะต้องการหลีกเลี่ยงเรื่องอัตราส่วนพื้นที่อาคารรวมต่อพื้นที่ดิน (Floor Area Ratio : FAR) และสามารถขายในราคาที่ถูกลง มาร์จินก็ถูก แต่คอนโดฯ ในเมืองถูกจำกัดด้วยกฎหมายผังเมือง ที่พื้นที่ลดลง แต่ยังเป็นตลาดที่น่าสนใจ
          "ราคาที่ดินที่จะนำมาพัฒนาคอนโดฯนั้นสูงเกินความเป็นจริง ผู้ประกอบการต้องคำนวณให้ดีว่าคุ้มค่าหรือไม่ โดยภาพรวมยังขายได้ดีโดยเฉพาะพื้นที่ใจกลางเมือง"
          นายอิสระ บุญยัง นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร กล่าวว่า เมื่อปี 2555 อาคารชุดมีสัดส่วนเข้ามาในตลาดใหม่ 63% ที่ผ่านมามีเพียงไม่กี่ประเทศที่นำอัตราส่วน FAR มากำหนดผังเมือง และไม่อยากให้ต่างจังหวัดทำแบบ กทม. เพราะจะไม่มีสิทธิเห็นอาคารสูงเกิน 23 เมตร โดยสัดส่วนแนวราบใน กทม.-ปริมณฑลจะเติบโตขึ้น ราคาปรับตัว 5-10% ทาวน์เฮาส์ราคา 1 ล้านบาท และคอนโดฯราคาต่ำกว่า 1 ล้านบาท จะค่อยๆหายไปจากตลาด และตลาดภูมิภาค เช่น ขอนแก่น อุดรธานี มหาสารคาม ปราจีนบุรี จะมีอัตราการเติบโตที่ดีมาก แต่ผู้ลงทุนต้องศึกษาข้อมูลก่อน
ที่มา : โลกวันนี้ 



มข.ทุ่ม 43 ล้านบาท เพิ่มความเข้มแข็งบริการวิชาการ


รศ.ดร.อำนวย คำตื้อ ผอ.ศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) เปิดเผยว่า มข.ได้ชื่อว่ามีความเป็นเลิศด้านการเรียนการสอน การวิจัยพัฒนาและนวัตกรรมเชื่อมโยงกับการบริการวิชาการ ถ่ายทอดเทคโนโลยีและการแก้ไข พัฒนาในพื้นที่จริงโดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง โดยการใช้การวิจัยเป็นฐาน ศูนย์บริการวิชาการ มข.องค์กรที่มีส่วนร่วมผลักดันพันธกิจการบริการวิชาการ ใช้งบประมาณ (งปม.)เกือบ 43 ล้านบาท ในการบริการชุมชน ปี 2555 โดยแยกเป็นเงินงบประมาณแผ่นดิน 16.8 ล้านบาท และรายได้ 26 ล้านบาท แบ่งประเภทเป็น 1. ประโยชน์เชิงสาธารณะ 2. ไม่หวังผลกำไร 3. สร้างรายได้
          "ศูนย์บริการวิชาการ มข.ใช้งบประมาณ 42,939,692 บาท เพื่อให้บริการวิชาการแก่สังคม แยกเป็น งปม.เงินแผ่นดิน 16,840,800 บาท และ งปม.เงินรายได้ 26,098,892 บาท แบ่งประเภทการให้บริการวิชาการออกเป็น 1. ประโยชน์เชิงสาธารณะ คือให้เปล่า ไม่เก็บค่าลงทะเบียน 2. ไม่หวังผลกำไร คือโครงการบริการวิชาการที่สามารถเลี้ยงตัวเองภายในโครงการนั้น ๆ และ 3. สร้างรายได้ คือโครงการที่ศูนย์บริการวิชาการสร้างหลักสูตร และจัดเก็บค่าลงทะเบียน และศูนย์บริการวิชาการ รับบริการวิชาการให้กับหน่วยงานอื่น เช่น การฝึกอบรม การเป็นที่ปรึกษา เป็นต้น โดยในปี 2555 ศูนย์บริการวิชาการ มข.มีจำนวนโครงการที่ให้บริการวิชาการทั้งสิ้น 183 โครงการ ได้รับการประเมินความพึงพอใจ ร้อยละ 88.24 มีผู้ใช้บริการทั้งสิ้น 161,380 คน"
          ศูนย์บริการวิชาการ มข.มีความภูมิใจที่ประสบผลสำเร็จในการให้บริการวิชาการแก่ชุมชน โดยได้สร้างชุมชนต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียง จนสามารถเป็นแหล่งศึกษาให้กับชุมชนอื่นได้ คือ ชุมชนนาอ้อ อ.เมือง จ.เลย ประสบผลสำเร็จในหลากหลายโครงการ เช่น การสร้างโฮมสเตย์ จนสามารถได้รับการรับรองจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย โครงการนวดกตัญญู จนเป็นต้นแบบให้กับหน่วยงานกระทรวงสาธารณสุขนำไปขยายผลได้ ส่วนโครงการที่ไม่หวังผลกำไรที่มีความภูมิใจคือโครงการบ้านหลังเรียน สร้างกิจกรรมให้นักเรียนทำกิจกรรมหลังเลิกเรียน เป็นภูมิคุ้มกันจากยาเสพติด เป็นโครงการที่มีงบประมาณน้อย แต่อาศัยเครือข่ายสถาบันอุดมศึกษาในภาคอีสาน จนสามารถดำเนินการใน 19 อำเภอ 20 พื้นที่ และบางหน่วยงานใช้งบประมาณของตัวเองดำเนินการต่อยอดโครงการต่อไป.
ที่มา : เดลินิวส์ 

วันอาทิตย์ที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

สะพัด 300 ล้านยอดจองรถล้นมอเตอร์เฟสติวัลปิดฉากขอนแก่นลงภาคใต้ต่อ


 ปิดฉากอย่างยิ่งใหญ่และประสบความสำเร็จอย่างสวยงามหลังประเดิมเปิดการจัดงาน มหกรรมแสดงรถยนต์แห่งประเทศไทย ไทยแลนด์ มอเตอร์ เฟสติวัล 2013 ภาคแรกตะวันออกเฉียงเหนือที่ จ.ขอนแก่น ด้วยยอดจองรถยนต์ที่ยังคงได้รับความสนใจเข้าจองอย่างต่อเนื่องสร้างเม็ดเงินสะพัดกว่า 300 ล้านบาท ตอบโจทย์วัตถุประสงค์การจัดงานกระตุ้นภาพรวามเศรษฐกิจตลาดรถยนต์ระดับภูมิภาคได้เป็นอย่างดี มีผู้สนใจทั้งชาว จ.ขอนแก่น และจังหวัดใกล้เคียงแห่กันมาร่วมงานเป็นจำนวนมาก พร้อมเตรียมตบเท้าสู่การจัดงานภาคใต้ วันที่ 19-28 เม.ย. 2556 ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัล พลาซา จังหวัดสุราษฎร์ธานี
          ไทยแลนด์ มอเตอร์ เฟสติวัล 2013 มหกรรมแสดงรถยนต์แห่งประเทศไทย งานแสดงและจำหน่ายรถยนต์พร้อมรถจักรยานยนต์จากค่ายรถยนต์เอเชียและยุโรป รวมทั้งบริษัทผู้ผลิตและจัดจำหน่ายอุปกรณ์ตกแต่งรถยนต์ ขานรับการเติบโตของอุตสาหกรรมรถยนต์ในต่างจังหวัด พร้อมพัฒนางานแสดงรถยนต์ประจำภูมิภาคสู่เวทีการจัดงานแสดงและจำหน่ายยานยนต์รูปแบบมาตรฐานระดับสากล ภายใต้ความร่วมมือของนายจตุพร ขันมณี รองประธานบริหาร/บรรณาธิการอำนวยการ บริษัทยานยนต์สแควร์ กรุ๊ป จำกัด และ นายวิลักษณ์ โหลทอง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท อินสไพร์ เอนเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด ประธานการจัดงานร่วม
          สำหรับงานครั้งนี้กำหนดจัดงานขึ้น 5 ภาค 7 จังหวัด นำร่องภาคแรกตะวันออกเฉียงเหนือ จ.ขอนแก่น
 ที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัล พลาซา ขอนแก่น พร้อมแบ่งพื้นที่เป็น 2 ส่วนคือบริเวณชั้น 5 ขอนแก่นฮอลล์ได้จัดแสดงบูธรถยนต์จากบริษัทต่างๆ นำโดย ซูซูกิ, ฟอร์ด, นิสสัน, มาสด้า โตโยต้า และ อีซูซุ ที่นำรถยนต์ รถกระบะ รถอีโคคาร์ มาจัดแสดงพร้อมโปรโมชั่นแคมเปญพิเศษรับปีใหม่กันอย่างเต็มที่ สำหรับงานครั้งนี้ถือเป็นงานแสดงรถยนต์และรถจักรยานยนต์ครั้งแรกระดับภูมิภาคของไทย ที่อำนวยความสะดวกให้กับผู้บริโภคอย่างเต็มที่ ในการมีข้อมูลและรายละเอียดของค่ายรถที่สนใจให้ได้เปรียบเทียบอยู่ภายในงานเดียว ซึ่งมีผู้สนใจทั้งจาก จ.ขอนแก่น และจังหวัดใกล้เคียงเข้าร่วมงานอย่างคึกคักทั้งก่อนช่วงตรุษจีนและหลังตรุษจีน โดยยอดจองจากบริษัทรถยนต์และรถจักรยานยนต์รวมทั้งการจำหน่ายอุปกรณ์ตกแต่งรถยนต์ตลอดทั้ง 10 วันเรียกว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีสามารถสร้างเม็ดเงินสะพัดกว่า 300 ล้านบาท กระตุ้นให้เศรษฐกิจในระดับภูมิภาคคึกคักและเติบโตได้เป็นอย่างดี
          นายจตุพร ขันมณี รองประธานบริหาร/บรรณาธิการอำนวยการ บริษัท ยานยนต์สแควร์ กรุ๊ป จำกัด "สำหรับการจัดงานครั้งนี้แม้เป็นครั้งแรกของการจัดงานแสดงรถยนต์ระดับภูมิภาค แต่ตลอดทั้ง 10 วันที่ผ่านมาประสบความสำเร็จและได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดี ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ นอกจากนั้นงานครั้งนี้ยังส่งผลกระตุ้นให้เศรษฐกิจของตลาดรถยนต์ทั้งในตัว จ.ขอนแก่น และจังหวัดใกล้เคียงคึกคักเป็นอย่างดีอีกด้วย ต้องขอบคุณผู้สนับสนุนทุกบริษัทที่ได้เข้าร่วมงานครั้งนี้ด้วย"
          นายวิลักษณ์ โหลทอง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท อินสไพร์ เอนเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด ประธานการจัดงานร่วม เผยว่า "งานครั้งนี้ได้รับความสนใจเป็นอย่างยิ่งดีทั้งยอดการจองรถและการซื้อขายภายในงาน รวมทั้งกิจกรรมความบันเทิงที่ได้นำดาราศิลปินมามอบความบันเทิง ซึ่งถือเป็นสีสันของงานครั้งนี้ สำหรับภาคต่อไปจะเดินทางไปจัดงาน ที่ภาคใต้ จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งคณะผู้จัดงานได้เตรียมความพร้อมไว้ในเบื้องต้นแล้ว ต้องขอบคุณหลายๆ ฝ่ายที่ทำให้งานครั้งนี้ประสบความสำเร็จครับ"
          นอกจากนั้นภายในงานยังมีพื้นที่โชว์รถแต่งทั้งจากคาร์คลับ จ.ขอนแก่น และรถคลาสสิก, รถแข่งดริฟท์สุดร้อนแรงจากดีวัน ไทยแลนด์ ฯลฯ และมินิคอนเสิร์ตจากดาราศิลปินชื่อทั้ง บุรินทร์, "พอร์ช-ศรัณย์", "เกรซ-กาญจน์เกล้า", "มะนาว-ศรศิลป์", เนสท์ เอเอฟ 9, ซาร่า เอเอฟ 6, รุจ เดอะสตาร์, กรีน เอเอฟ 5 และโชว์ล้างรถจากดาราดัง "นก-อุษณีย์", "ต่าย-ชัชฎาภรณ์" ร่วมด้วยสาวข้างบ้านสุดเซ็กซี่ FHM GND ส่วนบริเวณ ชั้น 1 ลานโปรโมชั่นมีผู้สนใจเข้าร่วมชมเป็นจำนวนมาก เพราะทั้งบูธรถจักรยานยนต์จากยามาฮ่า รวมทั้งอุปกรณ์ตกแต่งรถยนต์ ได้แก่ Marshall, Mantus, Dunlop, Vanda pac, Plus1 และ Rester ต่างพร้อมใจขนโปรโมชั่นลดกระหน่ำและแคมเปญเด็ดๆ จนโดนใจผู้เข้าร่วมงาน
          งานไทยแลนด์ มอเตอร์ เฟสติวัล 2013 กำหนดจัดขึ้นในครั้งต่อไป วันที่ 19-28 เม.ย. ศูนย์การค้าเซ็นทรัล พลาซา จังหวัดสุราษฎร์ธานี, วันที่ 8-12 พ.ค. ลานกีฬาในร่ม การกีฬาแห่งประเทศไทย จังหวัดชลบุรี, วันที่ 9-18 ส.ค. ศูนย์การค้าเซ็นทรัล พลาซา จังหวัดอุดรธานี, วันที่ 7-17 ก.ย. ศูนย์การค้าเซ็นทรัล พลาซา ลาดพร้าว กรุงเทพมหานคร, วันที่ 18-27 ต.ค. ศูนย์การค้าเซ็นทรัล แอร์พอร์ต พลาซา จังหวัดเชียงใหม่ และวันที่ 13-22 ธ.ค. ศูนย์การค้าเซ็นทรั พลาซา หาดใหญ่ โดยจะเปิดให้ผู้สนใจเขัางานฟรี สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ทาง 0-2508-8173
          ศรันย์ อัตถาวร ผู้เข้าร่วมงานเผยว่า ผมเดินทางมาจากมหาสารคาม เพื่อชมงานนี้โดยเฉพาะ เป็นงานที่ดีมากครับเครื่องความบันเทิง โปรโมชั่นองแต่ละบูธก็คุ้มค่าคุ้มราคามาก อยากให้จัดงานแบบนี้ตามต่างจังหวัดอีกงานที่อุดรธานีผมคงไปอีกแต่คงไม่ได้ซื้อรถ เพราะซื้อในงานนี้ไปแล้วคงไปซื้ออุปกรณ์แต่งรถ
          ศุภชัย พรหมนภาศิริกุล ผู้เข้าร่วมงานเผยว่า มางานเป็นครั้งที่ 2 แล้ว ชอบมากวันสุดท้ายจึงตัดสินใจมาอีกรั้ง ทั้งลานด้านล่าง ในฮอลล์ด้านบน บูธแสดงสินค้า, รถยนต์ และจักรยานยนต์ มีให้เลือกเยอะ แต่ละบูธก็มีโปรโมชั่นดีกว่าที่เราไปซื้อที่อื่น สำคัญที่สุดไม่ต้องไปไกลถึงกรุงเทพฯ เพื่อชมงานแบบนี้เหมือนเมื่อก่อน
ที่มา : สยามกีฬา

เศรษฐกิจขอนแก่นรุ่ง...!รายได้เฉลี่ยต่อหัวสูงสุดอีสาน


 สภาอุตสาหกรรมจังหวัดขอนแก่นซึ่งอยู่ภายใต้การนำของ "นายวิฑูรย์ กมลนฤเมธ" ได้จัดทำรายงานศักยภาพการลงทุนและอุตสาหกรรมจังหวัดขอนแก่น  ระบุว่า ข้อมูลผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด (GPP) ขอนแก่นในปี 2553 มีมูลค่า 155,469 ล้านบาท สูงสุดเป็นอันดับที่ 2 ในภาคอีสาน รองจากจังหวัดนครราชสีมา มีรายได้เฉลี่ยต่อหัวประชากรอยู่ที่ 82,211 บาทต่อคนต่อปี อยู่ในอันดับที่ 1 ของภาคอีสาน และเป็นอันดับที่ 38 ของประเทศ
          ในด้านการลงทุน มีโรงงานอุตสาหกรรมได้รับอนุญาตให้ประกอบการมีจำนวนทั้งสิ้น 1,368 โรงงาน  เงินลงทุน 71,206,090,959 บาท  คนงาน  47,648 คน  นอกจากนี้ขอนแก่นยังเป็นจังหวัดที่มีประชากรมากเป็นอันดับ 4 ของประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,895,330 คน
          จุดแข็งสำคัญของจังหวัดขอนแก่น เช่น มีที่ตั้งอยู่บนจุดศูนย์กลางของภาคอีสานและศูนย์กลางประชาคมลุ่มน้ำโขง, อยู่บนเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจตะวันออกตะวันตก, เป็นจุดเชื่อมต่อเส้นทางการเดินทางทั้งทางบก-ทางอากาศของภูมิภาค, มีความพร้อมด้านการแพทย์และสาธารณสุขสูง  และอยู่ในกลุ่มจังหวัด "ร้อยแก่น สารสินธุ์" (ร้อยเอ็ด-ขอนแก่น-มหาสารคามกาฬสินธุ์) ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีพืชเศรษฐกิจสำคัญ คือ ข้าว มันสำปะหลัง อ้อย และยางพารา  ล่าสุดขอนแก่นยังเป็นเมืองที่มีการลงทุนทางด้านอสังหาริมทรัพย์คึกคักที่สุดของภาคอีสาน
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ 

แรงงานวิชาชีพที่เปลี่ยนแปลงไปในอาเซียน


     สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา หรือ ITD ร่วมกับศูนย์อาเซียนศึกษาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แนะแนวทางการปรับตัวเพื่อรองรับข้อตกลงยอมรับร่วม (MRA) ของตลาดแรงงานวิชาชีพต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปใน เขตการค้าเสรีอาเซียน
          ดร.วัชรัศมิ์ ลีละวัฒน์ รองผู้อำนวยการวิชาการสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและพัฒนา หรือ ITD เปิดเผยว่า กลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน ที่จะมีการรวมตัวกันเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC)ได้มีการจัดทำข้อตกลงยอมรับร่วมกัน (Mutual Recognition Arrange ment : MRA) เพื่อรองรับคุณสมบัติแรงงาน ให้สามารถขอขึ้นทะเบียนและใบอนุญาตประกอบวิชาชีพในประเทศอาเซียนได้สะดวกยิ่งขึ้น ซึ่งปัจจุบันประเทศสมาชิกอาเซียนได้ลงนามใน MRA ไปแล้ว 7 วิชาชีพ ได้แก่ แพทย์ทันตแพทย์ พยาบาล วิศวกรรม สถาปัตยกรรม บริการบัญชี และการสำรวจรวมทั้งอีก 1 วิชาชีพ คือ การบริการการท่องเที่ยว นับว่าเป็นการอำนวยความสะดวกในการให้บริการวิชาชีพข้ามพรมแดนระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนโดยจะต้องมีการขึ้นทะเบียนวิชาชีพ เพื่อรับรองคุณสมบัติวิชาชีพ อาจต้องมีการทดสอบ ตามมาตรฐานที่แต่ละประเทศกำหนด นอกจากนี้แล้ว ต้องได้รับใบอนุญาตทำงาน จากประเทศที่เข้าไปทำงาน และต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบของประเทศนั้นๆด้วย ในกรณีของประเทศไทย มีการกำหนดข้อตกลงว่า จะต้องมีประสบการณ์ ไม่ใช่ผู้ที่จบการศึกษาใหม่ เช่น พยาบาลต้องมีประสบการณ์อย่างน้อย 3 ปี แพทย์ ต้องมีประสบการณ์อย่างน้อย 5 ปีเป็นต้น
          "การจัดทำข้อตกลงยอมรับร่วม (MRA) นอกจากจะเป็นการอำนวยความสะดวกในการให้บริการวิชาชีพข้ามพรมแดนระหว่างประเทศแล้ว ทางสถาบันฯ ยังเห็นว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ต่อการจัดสรรทรัพยากรมนุษย์ในภูมิภาค ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และข้อตกลงนี้ยังได้ครอบคลุมถึงคุณภาพการศึกษาของไทย ซึ่งเงื่อนไขการจ้างงานแรงงานต่างชาติ ชี้ให้เห็นว่าควรแก้ไขจุดอ่อนของแรงงานไทย โดยเฉพาะในเรื่องภาษาอังกฤษและทักษะด้านไอที รวมทั้งคุณลักษณะต่างๆ ที่ภาคธุรกิจต้องการ เช่น มีระเบียบวินัย มีมนุษยสัมพันธ์ การทำงานเป็นทีม และความทุ่มเทให้กับงาน หากแรงงานไทย มีความพร้อมและสามารถปรับตัวตามเงื่อนไขข้อตกลงต่างๆได้ ย่อมเพิ่มโอกาสและจุดแข็งให้แก่แรงงานไทย" ดร. วัชรัศมิ์ กล่าว
          แม้ว่าการจัดทำข้อตกลงยอมรับร่วม (MRA) จะช่วยผลักดันแรงงานไทยสู่ตลาดแรงงานอาเซียน และเปิดโอกาสให้แรงงานไทยระดับบน แข่งขันได้ในอาเซียน เพื่อนำรายได้เข้าประเทศได้นั้น สิ่งสำคัญที่สุด คือการเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ ไม่วาจะเป็น ความพร้อม ในการเคลื่อนย้ายแรงงานวิชาชีพ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อตลาดแรงงาน ของสมาชิกอาเซียน บางประเทศได้ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการขาดแคลนแรงงานวิชาชีพในสาขาที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ หรือปัญหาการเข้ามาแย่งงานแรงงานภายในประเทศของแรงงานต่างชาติ รวมไปถึงเรื่องของความมีสมรรถนะความสามารถในการปรับตัว ความยืดหยุ่นในการทำงาน เรียนรู้อย่างต่อเนื่องและพัฒนาอย่างสม่ำเสมอ จึงจะจัดว่าเป็นผู้ที่มีความพร้อมต่อ การเปลี่ยนแปลง ที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต
          ดังนั้นสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD) จึงได้ร่วมกับศูนย์อาเซียนศึกษาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดงานสัมมนาเรื่อง"7+1 วิชาชีพก้าวไกลนำพาไทยสู่ AEC " ขึ้น เพื่อเผยแพร่ข้อมูล ความรู้เกี่ยวกับข้อตกลงยอมรับร่วม (MRA) ใน 7 วิชาชีพหลัก และกรอบข้อตกลงยอมรับร่วม (MRA) ในสาขาการบริการการท่องเที่ยว รวมถึงโอกาสและอุปสรรค ตลอดจนแนวทางการปรับตัวของผู้ที่เกี่ยวข้อง พร้อมแนะแนวทาง ข้อดี ข้อเสีย และการเตรียมความพร้อมรับการเปิดเสรีแรงงานวิชาชีพในกลุ่มประเทศอาเซียน
ที่มา : พิมพ์ไทย

วันศุกร์ที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

หอการค้าไทยชงรัฐทำยุทธศาสตร์ธุรกิจบริการ 4 สาขารับ AEC


           “หอการค้าไทย” เปิดยุทธศาสตร์เสริมแกร่งธุรกิจบริการ 4 สาขารับ AEC เตรียมสรุปเป็นสมุดปกขาวเสนอ กรอ.ภายใน 2 เดือน หวังกระตุ้นรัฐและเอกชนพัฒนาธุรกิจไทยร่วมกัน 

นายพงษ์ศักดิ์ อัสสกุล ประธานกรรมการหอการค้าประเทศไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้หอการค้าไทยอยู่ระหว่างการนำผลจากการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เพื่อระดมสมองภาคเอกชนจัดทำยุทธศาสตร์แนวทางพัฒนาธุรกิจบริการของไทย 4 สาขา ได้แก่ ธุรกิจลอจิสติกส์ ธุรกิจก่อสร้าง ธุรกิจท่องเที่ยว และธุรกิจเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เมื่อเดือน ส.ค. 2555 มาสรุปและจัดทำเป็นสมุดปกขาวเสนอต่อรัฐบาลผ่านการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กรอ.) ในอีก 2 เดือนข้างหน้า เพื่อให้รัฐบาลกำหนดยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนธุรกิจบริการให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ก่อนที่ไทยจะเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 2558 

นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า ขณะนี้มีธุรกิจบริการหลายรายการเริ่มทยอยเปิดเสรีให้ชาติสมาชิกอาเซียนเข้ามาลงทุนในสัดส่วนการถือหุ้นที่มากกว่าได้แล้ว เช่น ธุรกิจลอจิสติกส์ที่กำหนดให้ต่างชาติลงทุนได้ 70% หากไทยไม่พัฒนาเพื่อรับมือกับการไหลเข้ามาของทุนต่างชาติ ก็จะทำให้ภาคบริการของไทยจากนี้จะไม่สามารถแข่งขันได้ และไทยจะมีฐานะเป็นเพียงแหล่งลงทุนที่ได้ประโยชน์จากการจ้างงานเท่านั้น ไม่มีโอกาสได้ประโยชน์ในฐานะผู้ลงทุน หรือเจ้าของกิจการ ที่จะมีส่วนในผลประโยชน์มหาศาลจากธุรกิจบริการในกรอบของอาเซียน 

ที่มา ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2556