วันพุธที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

นักวิชาการแนะธุรกิจภาคอีสาน หันใช้ไอทีแทนแรงงานรับ' เออีซี


นักวิชาการแนะผู้ประกอบการ ภาคอีสาน เน้นใช้เทคโนโลยีแทนแรงงาน สู้ประเทศเพื่อนบ้านรับเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน  ชี้ "ขอนแก่น" เตรียมพร้อมวางยุทธศาสตร์การเป็นฮับในทุกด้าน
          นายสุทิน เวียนวิวัฒน์ หัวหน้าโครงการอีสานโพล ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจภาคอีสาน คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยว่า ปัจจุบันประเทศไทยกำลังจะก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ทำให้หลายฝ่ายเกิดความกังวลว่า เมื่อเปิดเออีวีแล้วจะกลายเป็นอุปสรรค  หรือเป็นโอกาสต่อคนไทยหรือกลุ่ม ผู้ประกอบการ
          "มองว่าน่าจะมีทั้งโอกาสและอุปสรรคที่อาจเกิดขึ้น  ซึ่งจังหวัดในภาคอีสานจะได้รับประโยชน์มากกว่าอุปสรรค" เนื่องจากภาคอีสานมียุทธศาสตร์ที่สามารถเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านได้เกือบทุกประเทศ  โดยเฉพาะจังหวัดขอนแก่น มียุทธศาสตร์เป็นศูนย์กลางของภาคอีสาน และอาจพัฒนากลายเป็นศูนย์กลางของอาเซียนต่อไป เนื่องจากเส้นทาง "อีสต์-เวสต์คอริดอร์" ที่เริ่มต้นตั้งแต่ท่าเรือทวายของพม่าไปสิ้นสุดที่ท่าเรือน้ำลึก ดานัง ประเทศเวียดนาม
          ทั้งนี้ จังหวัดขอนแก่นเองได้เตรียมความพร้อมในการเข้าสู่เออีซี โดยวางตำแหน่งของจังหวัดเป็นศูนย์รวมกระจายสินค้าหรือเป็นศูนย์รวมของ โลจิสติกส์ ใช้โอกาสของเส้นทางนี้ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด ขอนแก่นนอกจากจะมีจุดแข็งด้านภูมิศาสตร์ของจังหวัดแล้ว ยังมีความโดดเด่นในเรื่องของการเป็นศูนย์กลางการประชุมและการท่องเที่ยว โดยเฉพาะการท่องเที่ยวก่อนยุคประวัติศาสตร์ คือ ยุคไดโนเสาร์ ศูนย์กลางทางการแพทย์และสาธารณสุข ศูนย์กลางการศึกษานานาชาติ เพื่อรองรับเออีซี และจากความโดดเด่นทางด้านอ้อย มันสำปะหลัง ทำให้กลายเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมพืช อาหาร และพลังงาน ตามไปด้วย
          โอกาสเหล่านี้ จะเป็นตัวเร่งการพัฒนาให้จังหวัดในแถบภาคอีสานเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นโครงการการเปิดศูนย์การค้าปลีกวัสดุก่อสร้าง ทั่วภาคอีสานทั้งหมดในปี 2554 รวม 27 สาขา เงินลงทุนรวมประมาณ 12,580 ล้านบาท โดยจังหวัดที่มีการลงทุนมากที่สุดคือ นครราชสีมา 1,900 ล้านบาท ขอนแก่น 1,850 ล้านบาท สกลนคร 1,650 ล้านบาท ร้อยเอ็ด 1,590 ล้านบาท อุบลราชธานี 1,400 ล้านบาท
          รวมถึงโครงการคอนโดมิเนียม เมื่อปี 2555 จังหวัดขอนแก่นมีนักลงทุนทั้งในจังหวัดและนอกจังหวัดเข้ามาลงทุนในพื้นที่ทั้งหมด 21 โครงการ  และมีการวางแผนก่อสร้างคอนโดมิเนียมกว่า 51 อาคาร คิดเป็นยูนิตกว่า 7 พันยูนิต ซึ่งมากที่สุดในภาคอีสานขณะนี้  จนทำให้หลายฝ่ายกังวลว่า ภาคอีสานโดยเฉพาะขอนแก่นมีการเติบโตค่อนข้างรวดเร็ว อาจส่งผลต่อสภาพเศรษฐกิจจนเกิดภาวะฟองสบู่เหมือนปี2540
          นายสุทิน กล่าวต่อว่า โดยส่วนตัวมองในส่วนของคอนโดมิเนียม ยังมีความต้องการที่แท้จริงอยู่ พร้อมทั้งมีส่วนผสมของความต้องการเทียมที่เกิดจากการเก็งกำไร แต่ยังถือว่าไม่มาก  ดังนั้นภาวะฟองสบู่ที่จะเกิดขึ้นเหมือนในปี 2540 อาจเกิดขึ้นยาก หรืออาจเกิดขึ้นเป็นเพียงฟองสบู่เล็กๆ ไม่อยู่ในระดับที่น่ากังวล
          ในเรื่องคอนโดมิเนียมที่ขอนแก่น มองว่าเป็นเทรนด์การอยู่อาศัยแบบใหม่ที่มีความต้องการใช้พื้นที่อาคารในแนวตั้งมากกว่า ส่วนหนึ่งมาจากการที่ราคาที่ดินในขอนแก่นได้ปรับตัวสูงขึ้นค่อนข้างมาก อย่างรอบๆ บริเวณมหาวิทยาลัยขอนแก่น ราคาต่อไร่ ประมาณ 40 ล้าน ส่วนใจกลางเมืองนั้นแพงขึ้นอีกเท่าตัว อยู่ที่ไร่ละ 80 ล้านบาท ดังนั้นการนำที่ดิน ที่มีราคาที่ค่อนข้างแพงมาใช้ประโยชน์ในลักษณะแนวราบก็จะไม่คุ้มกับการลงทุน จึงไม่เห็นโครงการบ้านเดี่ยวในบริเวณที่ที่ดินมีมูลค่าแพง
          "ตอนนี้ทุกจังหวัดกำลังอยู่ในช่วงปรับตัวในการตั้งรับกับการเข้ามาของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยนำเรื่องนี้เข้าไปอยู่ในยุทธศาสตร์ของแต่ละจังหวัด  แต่ละจังหวัดจึงเริ่มมีโครงการต่างๆ ที่เกี่ยวกับอาเซียน เพื่อมารองรับ แต่สิ่งที่น่ากังวลหลังจากนี้ คือ ผู้ประกอบการเองที่ไม่มีการปรับตัวไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของภาษา การศึกษาข้อมูลของอาเซียน การเตรียมความพร้อม ผู้ประกอบการจึงควรมีการปรับตัวตั้งแต่เนิ่นๆ หากเปิดอาเซียนจะมีคู่แข่งเพิ่มขึ้นจากต่างประเทศ แม้ผู้ประกอบการจะมีลูกค้าเพิ่มขึ้น แต่ก็มีคู่แข่งเพิ่มขึ้นด้วย"
          อย่างไรก็ตาม เขากล่าวว่า ธุรกิจที่จะสามารถจะอยู่รอดได้และสามารถแข่งขันได้น่าจะเป็นธุรกิจที่ต้องใช้เทคโนโลยีที่สูงกว่าเพื่อนบ้าน ดังนั้นจึงต้องมีการพัฒนาตรงนี้ แต่ถ้าธุรกิจไหนที่เน้นการใช้แรงงานเป็นหลักอาจสู้ไม่ได้ เพราะว่าค่าแรงประเทศเพื่อนบ้านนั้นต่ำกว่า จึงต้องเน้นไปหาธุรกิจที่มันใช้เป็นลักษณะความคิดสร้างสรรค์หรือว่าเป็นเทคโนโลยีขั้นสูงเพิ่มขึ้น
          "ขอนแก่นมี ยุทธศาสตร์เป็นศูนย์กลางของ ภาคอีสาน และ อาจพัฒนาเป็นศูนย์กลางอาเซียน"
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น