วันอังคารที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ถมลงทุน 2 ล้านล้าน 'คมนาคม' ฝุ่นตลบบิ๊กเพื่อไทยเปิดศึกชิงเค้กโปรเจ็กต์ถนน


         ยังไม่จบ สำหรับบัญชีโครงการของ "กระทรวงคมนาคม" ตามแผนลงทุน 2 ล้านล้านบาท ที่ "รัฐบาลเพื่อไทย" กำลังเร่งผลักดันให้ผ่านการพิจารณาของรัฐสภาแบบผ่านฉลุยในเดือนมีนาคม-เมษายนนี้   เพราะติดเม็ดเงินลงทุนโครงการถนนที่ยังไม่สะเด็ดน้ำ ล่าสุดเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2556 ที่ผ่านมา เจ้ากระทรวง "ชัชชาติ สิทธิพันธุ์" จัดคิวประชุมด่วนช่วงบ่าย แก่ ๆ หวังให้สรุปจบโดยเร็ววัน
          แต่สุดท้ายก็ไม่ได้นั่งเป็นประธาน เมื่อ "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" นายกรัฐมนตรี เรียกไปพบที่ทำเนียบด่วน พร้อม 2 รัฐมนตรีช่วยฯ "พล.อ.พฤณท์ สุวรรณทัต" และ"ประเสริฐ จันทรรวงทอง"
          ว่ากันว่า...ที่ 3 บิ๊กหูกวางถูก "นายกฯหญิง" เรียกตัวด่วนแบบไม่ได้ตั้งตัว นอกจากกรณีเกิดเหตุประท้วงหยุดทำโอทีของสหภาพ "กทท.-การท่าเรือแห่งประเทศไทย" และต้องการเร่งงานที่ยังล่าช้าให้เร็วขึ้น
          อีกเป้าหมายเพื่อติดตามบัญชีรายชื่อโครงการลงทุน 2 ล้านล้านบาทของ "คมนาคม" ที่ยังไม่ลงล็อก โดยเฉพาะแผนโครงการถนนของ 2 หน่วยอย่าง "กรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบท" ที่มีเทศกาล "ชักเข้า-ชักออก" อยู่ตลอดเวลา ด้วยผู้คุมหน่วยก็ไม่อยากตัดโครงการของตัวเองออก
          เพราะต่างก็รู้กันดีว่า "งบฯถนน" เป็นสิ่งที่ "ส.ส." อยากดึงไปลงพื้นที่ตัวเองให้มากที่สุด เนื่องจากจับต้องง่ายและเกิดได้เร็ว จึงไม่แปลกที่แผนลงทุนถนนจึงยังไม่นิ่ง เพราะยังมีคลื่นใต้น้ำตีกระเพื่อม "จัดสรรเงิน-จัดสรรพื้นที่" ลงทุน
          แต่ที่ยิ่งแปลกไปกว่านั้น เมื่อ "วราเทพ รัตนากร" รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เด็กในคาถา "เจ๊ ด." แห่งวัง บัวบาน จู่ ๆ ก็มาปรากฏตัวที่ "คมนาคม" และทำหน้าที่ประธานที่ประชุมแทน "ชัชชาติ" ทันทีที่มีภารกิจด่วนอยู่ที่ทำเนียบ
          แม้การประชุมใช้เวลาไม่นาน ประมาณ 1 ชั่วโมง และยุติลงแบบไร้ข้อสรุป เมื่อเจ้ากระทรวงไม่อยู่ โปรเจ็กต์ต่าง ๆ ที่ "กรมทางหลวง" และ "กรมทางหลวงชนบท" เสนอเพิ่ม จึงยังไม่สามารถบรรจุในสารบบบัญชีได้
          ถึงการประชุมจบไปแล้ว แต่ยังมีเสียงวิพากษ์ถึงการมาของ "วราเทพ" มีนัยสำคัญซ่อนเร้น จะมาช่วยสแกนจุดอ่อนจุดแข็งของโครงการให้จบโดยเร็ว หรือมีจุดเป้าหมายอื่น
          หลังก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวออกมาเป็นระยะว่า งานถนนที่ยังไม่ตกผลึก เพราะยังมีคลื่นแทรกของคนกันเอง
          ขณะที่บรรยากาศในที่ประชุม ยังมีโครงการถนนที่ 2 อธิบดีจาก "กรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบท" พยายามเสนอขอใช้เงินลงทุนจาก 2 ล้านล้านบาท
          "มีโครงการถนนทั้งทางหลวงและทางหลวงชนบทเสนอกลับเข้าสู่ที่ประชุมอีก หลังรอบที่แล้วถูกตัดเงินลงทุนไป แต่ยังไม่ได้อนุมัติและวงเงินก็ยังไม่สรุป รอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมาพิจารณาก่อน" แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมกล่าวและว่า
          สำหรับแผนงานที่ "กรมทางหลวง" เสนอเพิ่มมี  2 รายการ มูลค่าลงทุนกว่า 15,000 ล้านบาท หลังถูกตัดโครงการไปเหลือ 180,230 ล้านบาท (ณ วันที่ 4 ก.พ.)
          โดยโครงการใหม่ที่เสนอ ประกอบด้วย โครงการขยายถนน 4 ช่องจราจร จำนวน 15 สายทาง วงเงิน 13,200 ล้านบาท ในพื้นที่ศูนย์กลางเศรษฐกิจ 11 สายทาง มีจังหวัดพังงา สุราษฎร์ธานี สงขลา ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา นครปฐม และเมืองระดับรอง 4 สายทาง ในพื้นที่จังหวัดพิจิตร ลำพูน ลพบุรี และนครศรีธรรมราช และโครงการก่อสร้างสะพานกลับรถบนถนนสายหลัก จำนวน 9 แห่ง ประมาณ 2,000 ล้านบาท
          "หลังโครงการใหญ่อย่างมอเตอร์เวย์ 2 สาย ทั้งสายบางปะอิน-โคราช และสายบางใหญ่-กาญจนบุรี ที่กรมทางหลวงพยายามจะขอค่าก่อสร้างด้วย แต่ได้เฉพาะค่าเวนคืนที่ดิน จึงหาโครงการอื่นมาแทน แต่ยังไม่สรุป" แหล่งข่าวกล่าว
          สำหรับในส่วนของ "กรมทางหลวงชนบท" ขอเพิ่มอีก 8,000 ล้านบาท จากเดิมที่ถูกตัดเหลือ 48,731 ล้านบาท สำหรับค่าเวนคืนที่ดินก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาเชื่อม "อ.พระสมุทรเจดีย์ กับ อ.มหาชัย" ในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการและสมุทรสาคร จากเดิมถูกตัดออกไปแล้ว เนื่องจากใช้เงินก่อสร้างค่อนข้างสูงถึง 49,000 ล้านบาท
          ขณะที่บทบาทของ "รองนายกฯ วราเทพ" ในที่ประชุมวันนั้น กำชับให้แต่ละหน่วยพิจารณาโครงการเป็นภาพรวมตามยุทธศาสตร์ เชื่อมโยงเมืองเศรษฐกิจหลักในภูมิภาค และใช้เงินลงทุนในงบประมาณปกติไม่ได้
          แต่ไม่ลืมโฟกัสไปที่ "โครงการถนน" ซึ่งระบุว่าต้องเป็นเส้นทางโครงการใหญ่ที่พร้อมดำเนินการ ช่วยเสริมศักยภาพของการเป็น "ฮับ" หรือศูนย์กลางทั้ง "เมืองหลัก-เมืองรอง" ครอบคลุมทุก ภูมิภาค
          และรองรับประตูการค้าชายแดนทั้ง 9 แห่ง ประกอบด้วย ด่านเชียงของ แม่สาย แม่สอด หนองคาย มุกดาหาร นครพนม อรัญประเทศ สะเดา และปาดังเบซาร์ เช่น ขยายถนนสายหลักเป็น 4 ช่องจราจร เชื่อมระหว่างเส้นทางเศรษฐกิจการค้า
          ซึ่ง "ภาคเหนือ" เมืองศูนย์กลางอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ พิษณุโลก นครสวรรค์ ส่วนเมืองระดับรองอยู่ที่จังหวัด "ลำปาง แม่ฮ่องสอน ลำพูน กำแพงเพชร สุโขทัย พิจิตร และเพชรบูรณ์" มีประตูการค้าอยู่ที่ "เชียงราย-ตาก"
          "ภาคอีสาน" เมืองศูนย์กลางอยู่ที่จังหวัด
ขอนแก่น อุดรธานี หนองคาย นครราชสีมา อุบลราชธานี ซึ่งเมืองระดับรองอยู่ที่จังหวัด "เลย-กาฬสินธุ์-ชัยภูมิ-ร้อยเอ็ด-บุรีรัมย์ และสุรินทร์" ส่วนประตูการค้าอยู่ที่ "มุกดาหารและนครพนม"
          ขณะที่ "ภาคกลาง" มีกรุงเทพฯและเมืองปริมณฑลเป็นเมืองศูนย์กลาง และมีจังหวัด "สระบุรีและลพบุรี" เป็นเมืองระดับรอง
          "ภาคตะวันตก" เมืองศูนย์กลางอยู่ที่ "ประจวบคีรีขันธ์และเพชรบุรี" มี "ราชบุรีและสมุทรสงคราม" เป็นเมืองระดับรอง มีจังหวัดกาญจนบุรีเป็นประตูการค้า
          "ภาคตะวันออก" มีจังหวัด "ชลบุรีและระยอง" เป็นเมืองศูนย์กลาง ส่วนเมืองระดับรองอยู่ที่จังหวัด "ฉะเชิงเทรา จันทบุรี"
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น