รศ.ดร.กิตติชัย ไตรรัตนศิริชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวในพิธีลงนามความ ร่วมมือในการสนับสนุนโครงการวิจัยเรื่อง "กระบวนการผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพสำหรับ ยานยนต์" ว่า มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ตั้งเป้า ที่จะเป็นมหาวิทยาลัยแห่งการวิจัย และได้เป็น 1 ใน 9 ของมหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ ที่ได้ งบประมาณวิจัยจากส่วนกลางมาสนับสนุน ดังนั้น มหาวิทยาลัยขอนแก่น จึงได้พยายามส่งเสริม และผลักดันให้ก้าวสู่การเป็น Research Based University และผลักดันให้บุคลากรทุกฝ่ายได้ทำงาน วิจัยและมีผลงานวิจัยเผยแพร่ออกไปมากมาย ทั้งระดับชาติและนานาชาติ จนปัจจุบัน มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้ติด 1 ใน 4 ของ มหาวิทยาลัยไทยในประเทศ ที่มีผลงานตีพิมพ์ ในระดับนานาชาติในรอบปีที่ผ่านมา และหนึ่งใน นโยบายของมหาวิทยาลัยขอนแก่นที่สำคัญ ก็คือ การส่งเสริมงานวิจัยของบุคคลากรในมหาวิทยาลัย ขอนแก่น ที่เป็นความร่วมมือทำงานวิจัยร่วมกัน ในการต่อยอดจากห้องปฏิบัติการ ขยายผลงาน วิจัยสู่การใช้ประโยชน์ กระทั่งออกไปสู่ภาคเอกชน หรือภาคอุตสาหกรรม ซึ่งงานวิจัยบางเรื่องสามารถตอบโจทย์และช่วยแก้ปัญหาในระดับ ภาคเอกชนหรือระดับอุตสาหกรรมได้เป็น อย่างดี ไม่ว่างานวิจัยด้านเกษตร อาหาร สิ่งแวดล้อม สุขภาพ รวมทั้งด้านพลังงาน
อธิการบดี มข.กล่าวอีกว่า กว่า 2 ปี ที่ รศ.ดร.เฉลิม เรืองวิริยะชัย อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ ได้พัฒนางานวิจัย เรื่องการผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพสำหรับยานยนต์ จากห้องปฏิบัติการ จนสามารถต่อยอด งานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์ได้จริง ซึ่งหากได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยเพิ่มเติม จะสามารถพัฒนาพลังงานทดแทนด้านน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพสำหรับประเทศไทยต่อไปได้ หวังเป็นอย่างยิ่งว่ามหาวิทยาลัยขอนแก่น และบริษัท อุบลราชธานี ปาล์ม ออยล์ จำกัด จะเป็นเครือข่ายสนับสนุนการดำเนินการ เพื่อเผยแพร่พันธกิจ ตลอดจน ผลงานอันเกิดจากการศึกษา วิจัย และการสร้างองค์ความรู้ร่วมกัน รวมทั้งการให้ความร่วมมือในการพัฒนาบุคลากรของบริษัท อุบลราชธานี ปาล์ม ออยล์ จำกัด และบุคลากรของอุตสาหกรรม ที่เกี่ยวข้องดังกล่าว โดยความเห็นชอบร่วมกัน
นายวิเศษ ชำนาญวงษ์ กรรมการ ผู้จัดการ บริษัทอุบลราชธานี ปาล์ม ออยล์ จำกัด กล่าวว่า โครงการวิจัยที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นร่วมดำเนินการกับบริษัท อุบลราชธานี ปาล์ม ออยล์ จำกัด โดยทั้งสองฝ่ายเห็นควรดำเนินการร่วมกันส่งเสริม สนับสนุน และอำนวยความสะดวกในการฝึกอบรมและจัดหาข้อมูลเพื่อ ทำกรณีศึกษาพิเศษ และสนับสนุนการศึกษาดูงานสำหรับบุคลากรและนักศึกษาที่สนใจงาน ด้านอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มและผลิตภัณฑ์น้ำมันปาล์ม
รศ.ดร.เฉลิม เรืองวิริยะชัย อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มข. กล่าวถึง กระบวนการผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพสำหรับยานยนต์ ว่า ด้วยความตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน โดยเฉพาะมลพิษทางอากาศ ที่เกิดจากการใช้น้ำมัน เชื้อเพลิงจากฟอสซิล จากเครื่องยนต์ประเภทต่างๆ เช่น เรือยนต์ รถยนต์ ตลอดจนเครื่องบินไอพ่น โดยเฉพาะปัจจุบัน เครื่องบินไอพ่นยังคงใช้น้ำมันที่ผลิตจากฟอสซิล ที่ปล่อยแก๊สพิษ คาร์บอนไดออกไซด์ ออกมาจำนวนมาก ที่ทำให้ เกิดภาวะโลกร้อน และมีแก๊สซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ที่ก่อให้เกิดฝนกรดได้ หากมีการลดการใช้น้ำมันจากฟอสซิลลง และเพิ่มการใช้น้ำมันไบโอเจต ที่ผลิตจากพืชหรือสัตว์แล้ว จะสามารถลดมลพิษ ทางอากาศให้สิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในระดับหนึ่งได้ น้อยลงได้ ผลงานวิจัยชิ้นนี้ช่วยลดปัญหาลงได้ โดยการผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพจากน้ำมันพืช ด้วยกระบวนการไฮโดรแคร็กกิ้งในถังปฏิกรณ์ ชีวภาพต้นแบบ ของภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ ภายใต้อุณหภูมิและความดันสูง โดยสามารถเปลี่ยนโครงสร้างของน้ำมันปาล์มโอเลอิน ให้กลายไปเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพได้หลายประเภท ที่มีการใช้ตัวเร่งปฏิกิริยาจำเพาะร่วมด้วย งานวิจัยนี้สามารถสังเคราะห์ตัวเร่งปฏิกิริยาจำเพาะจากซีโอไลต์ แล้วบรรจุโลหะที่มีความจำเพาะเข้าไป ทำให้เกิดเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพได้ จะมากหรือน้อยนั้น ขึ้นกับปัจจัยหลายอย่างที่ศึกษา ซึ่งงานวิจัยนี้ประสบความสำเร็จที่สามารถผลิตน้ำมันดิบชีวภาพได้ภายใน 2 ชั่วโมง จากการศึกษาวิจัยในห้องปฏิบัติการไม่น้อยกว่า 2 ปี ก่อนนำไปกลั่นเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพประเภทต่างๆ ออกมา
"นอกจากนั้น ยังพัฒนามาเปลี่ยนจากน้ำมันปาล์มโอเลอิน ที่มีราคาสูง ไปเป็นน้ำมัน Crude Palm oil (CPO) ซึ่งมีราคาไม่กี่บาทต่อลิตร ที่สามารถผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพตามต้องการได้เช่นกัน โดยที่ไม่มีผลกระทบต่อ ระบบการผลิตด้วยเครื่องปฏิกรณ์ชีวภาพแต่อย่างใด และขณะนี้เรากำลังพัฒนางานวิจัยขั้นต่อไป จากตัว เร่งปฏิกิริยาที่เป็นซีโอไลต์ โดยเดิมทีสั่งซื้อจากต่างประเทศ มีราคาสูง มาใช้เป็นซีโอไลต์จากดินขาวที่เป็นวัตถุดิบในเมืองไทยเอง ก้อยิ่งจะทำให้ค่าใช้จ่ายในการผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพ มีต้นทุนที่ต่ำลง เหมาะต่อการนำไปพัฒนางานวิจัยจากห้องปฏิบัติการ ต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ ต่อไปได้ แต่อย่างไรก็ตาม ผมหวังไว้ว่า การลงนาม ในข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้ ทางบริษัท อุบลราชธานี ปาล์ม ออยล์ จำกัด จะเห็นความสำคัญในการให้ทุนส่งเสริมและสนับสนุนในการพัฒนางานวิจัย และต่อยอด จนสามารถนำไปสู่เชิงพาณิชย์ได้ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม เช่น โรงงานอุตสาหกรรมน้ำมันเชื้อเพลิง หรือเกษตรกรที่ปลูกปาล์มน้ำมันในการส่งเสริมการปลูกให้มากขึ้นในภาคอีสานของเรา และงานวิจัยนี้ยังสามารถตอบโจทย์ด้านยุทธศาสตร์ทางพลังงานของประเทศไทยได้ในระดับหนึ่ง" รศ.ดร.เฉลิม เรืองวิริยะชัย กล่าวในที่สุด
ที่มา : แนวหน้า
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น