วันศุกร์ที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2556

มข.เพิ่มมูลค่าสินค้าจักสาน ผุด'กระติบข้าว-ปิ่นโต-กระเป๋า-โคมไฟ'


           ชาวบ้านยางคำ ต.ยางคำ อ.หนองเรือ จ.ขอนแก่น มีอาชีพหลักคือเกษตร กรรม และหลังจากงานประจำ ก็จะทำอาชีพหัตถกรรมจักสาน โดยรวมกลุ่มกันสาน "กระติบข้าว" จัดตั้งเป็นกลุ่มที่ผลิตสินค้างานหัตถกรรมจักสานโดยใช้ชื่อ "กระติบข้าวไผ่ตะวัน" โดยมี นายกองมี หมื่นแก้วเป็นประธานกลุ่ม
          งานจักสานจากภูมิปัญญาที่ชาวบ้านยางคำสืบทอดต่อกันมาจากบรรพบุรุษ ลวดลายจักสานแบบดั้งเดิม เช่น ลายคุบ ลายสอง ลายสาม ลายดอกจิก ตลอดจนการทำลวดลายที่ละเอียด การสานที่แน่นหนา วิธีการสานที่สืบทอดกันมาแต่โบราณ ที่ผลิตเป็นกล่องข้าว และกระติบข้าว ที่สามารถเก็บอุณหภูมิของข้าวเหนียวได้ดี อันเป็นเอกลักษณ์ของกลุ่มไม้ไผ่สีสุก หรือไผ่สีทอง เป็นวัสดุที่ใช้ในการจักสาน ก็ใช้ไม้ไผ่ในหมู่บ้านที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ และได้ขยายพันธุ์อย่างต่อเนื่อง จากการปลูกเพื่อรองรับการขยายสินค้าตามความต้องการมากขึ้น
          ด้วยศักยภาพดังกล่าว กลุ่มสานกระติบข้าวบ้านยางคำจึงถูกคัดเลือกให้เป็นกลุ่มเป้าหมายของการศึกษาวิจัยในโครงการสนับสนุนนักวิจัยหน้าใหม่ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น
 (มข.) โดยมี ผศ.ดวงจันทร์ นาชัยสินธุ์ สาขาวิชาออกแบบนิเทศศิลป์ โปรแกรมบรรจุภัณฑ์และนิทรรศการ หัวหน้า ทีมวิจัย นายเจด็จ ทองเฟื่อง สายวิชาประติมากรรม และ นายทรงวุฒิ แก้ววิศิษฏ์สาขาวิชาจิตรกรรม คณะศิลปกรรมศาสตร์ ลงพื้นที่ศึกษาพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ และ
          บรรจุภัณฑ์ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม สำหรับสินค้าผลิตภัณฑ์ชุมชน จ.ขอนแก่น
          เพื่อให้ผลิตภัณฑ์หัตถกรรมจักสานที่มีรูปแบบเฉพาะตัว เน้นการใช้วัสดุไม้ไผ่สีทองที่เป็นทรัพยากรหลักของชุมชน มีกระบวนการสร้างสรรค์ของนักออกแบบร่วมกับกลุ่มชุมชนผู้ผลิตกระติบข้าวบ้านยางคำ คือกำหนดกลุ่มเป้าหมายทางการตลาดใหม่ เป็นกลุ่มผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อสูงขึ้น รับรู้ถึงคุณค่ารสนิยมของผลิตภัณฑ์ ใช้วัสดุที่มีอยู่ในท้องถิ่นเป็นหลัก ประยุกต์อย่างกลมกลืนให้เป็นเอกลักษณ์ของกลุ่ม สร้างแนวคิดของผลิตภัณฑ์ใหม่ ด้วยการสื่อความหมายจากแนวคิด "วัฒนธรรมการกิน" สร้างตราสินค้า ให้แตกต่างกันในเรื่องของรูปร่าง สีสัน และ
          สัญลักษณ์
          จากผลงานวิจัย ทำให้กระติบข้าวไผ่ตะวันของชาวบ้านยางคำมีเอกลักษณ์ รูปทรงแปลกตา ทำเป็นปิ่นโต กระเป๋า เพื่อให้เกิดประโยชน์อเนกประสงค์มากกว่ากระติบข้าวแบบเดิม การเลือกใช้สีที่ลงตัว ลวดลายที่ดูแปลก และสวยงาม สีที่ใช้ย้อมเป็นสีธรรมชาติจากเปลือกไม้ ด้วยเทคนิคการย้อมพิเศษติดทนนาน ทำให้ขยายกลุ่มลูกค้าจากชาวบ้านไปสู่นักท่องเที่ยวที่มีกำลังซื้อที่สูงขึ้น
          ทีมนักวิจัยคณะศิลปกรรมศาสตร์ มข.ยังสนใจคิดสร้างสรรค์ นำเอาวัสดุธรรมชาติที่เหลือใช้ เช่น ใช้หนามไม้ไผ่ ผลน้ำเต้า นำมาสร้างสรรค์เป็นโคมไฟ ที่แขวนชุดเสื้อผ้า โดยเจ้าของผลงานคือนายเจด็จ และนายทรงวุฒิ
          ผู้ประกอบการ หรือผู้ที่สนใจ สอบถามได้ที่ ผศ.ดวงจันทร์ นาชัยสินธุ์ โทร.08-1562-5892
ที่มา : มติชน 

1 ความคิดเห็น: