วันพฤหัสบดีที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2556

วิกฤติมะละกอไทย



            เมื่อเร็วๆ นี้ ทางยุโรปตรวจพบมะละกอที่นำเข้า จากประเทศไทยปนเปื้อนมะละกอจีเอ็มโอ ซึ่งเรียกได้ว่ามากเป็นประวัติการณ์ และนั่นทำให้ไทย อาจต้องสูญเสียตลาดทั้งหมดในยุโรปและญี่ปุ่น หลังจากที่กระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการของญี่ปุ่นได้สั่งให้ตรวจเข้มผลิตภัณฑ์มะละกอจากประเทศไทยมากขึ้น โดยสุ่มตรวจเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 30 ของการนำเข้าทั้งหมด พร้อมทั้งขอให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ของไทยตรวจหาสาเหตุของการปนเปื้อนผลิตภัณฑ์มะละกอของไทย 
          โดยตรวจแล้วพบว่าผลิตภัณฑ์มะละกออบแห้ง เป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้จากมะละกอจีเอ็มโอต้านโรค ใบด่างจุดวงแหวน (Papaya Ring Spot Virus)ซึ่งไม่ได้ผ่านการตรวจสอบความปลอดภัย และขัดต่อ กฎหมายสุขอนามัยอาหาร (Food Sanitation Act) ของญี่ปุ่นตั้งแต่วันที่ 9 กรกฎาคม 2556 
          วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI) กล่าวว่า จากการติดตามระบบเฝ้าระวัง ความปลอดภัยทางอาหารและอาหารสัตว์ (Rapid Alert System for Food and Feed) ของสหภาพยุโรปพบว่า เมื่อสิ้นเดือนกันยายน 2556 ที่ผ่านมา ยุโรปตรวจพบมะละกอผลดิบและผลิตภัณฑ์มะละกออบแห้งที่นำเข้าจากประเทศไทยปนเปื้อนจีเอ็มโอ สูงถึง 24 ตัวอย่าง ทั้งๆที่เป็นการสุ่มตรวจเพียงแค่ 9 เดือนแรกของปี 2556 เท่านั้น โดยจากสถิติที่ผ่านมา อียูเพิ่งพบการปนเปื้อนของมะละกอจีเอ็มโอครั้งแรกจากประเทศไทยเมื่อปี 2549 จำนวน 1 ตัวอย่าง ปี 2552 จำนวน 3 ตัวอย่าง ปี 2555 จำนวน 11 ตัวอย่าง
          "การตรวจพบมะละกอจีเอ็มโอจากผลิตภัณฑ์มะละกอจากประเทศไทยในระดับสูงขนาดนี้ จะทำให้อียูยกระดับการตรวจเข้มมะละกอจากประเทศไทยเช่นเดียวกับญี่ปุ่น โดยอาจสุ่มตรวจในระดับมากถึง 50 เปอร์เซ็นต์ ของจำนวนตัวอย่างที่นำเข้า และหากประเทศไทยยังไม่สามารถจัดการปัญหานี้ได้ อียูอาจสั่งห้ามการนำเข้ามะละกอจากประเทศไทยในที่สุด 
          ปัญหานี้จะส่งผลกระทบทั้งต่อเกษตรกรที่ปลูก ผู้ประกอบการและผู้ส่งออกมะละกอและผลิตภัณฑ์มะละกอจากประเทศไทยที่จะต้องมีภาระเสียค่าใช้จ่ายสำหรับห้องปฏิบัติการเพื่อตรวจสอบว่าผลิตภัณฑ์ของตนมีการปนเปื้อนจีเอ็มโอก่อนการส่งออกหรือไม่ และเชื่อว่าอียูจะขยายการตรวจสอบไปยังผลิตภัณฑ์อื่นที่ใช้มะละกอเป็นส่วนผสม เช่นซอส และฟรุตสลัดที่มีมะละกอเป็นองค์ประกอบด้วย"
          อย่างไรก็ตาม ปัญหานี้เป็นปัญหาที่ทุกฝ่ายต้องร่วมกันแก้ไข ทั้งเกษตรกรผู้ปลูก ซึ่งจะต้องตรวจสอบเมล็ดพันธุ์มะละกอของตนว่า มาจากแหล่งที่ปลอดการปนเปื้อนทางพันธุกรรม ผู้ประกอบการที่รวบรวมผลผลิต แปรรูปและส่งออก และโดยเฉพาะอย่างยิ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะต้องจัดการปัญหาการปนเปื้อนทางพันธุกรรมอย่างจริงจังมากกว่านี้ ปัญหาการตีกลับและการตรวจสอบเข้มมะละกอ อาจทำให้ประเทศสูญเสียตลาดการส่งออกมะละกอไปยังยุโรป อียู และอีกหลายประเทศให้กับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ จากสถิติเมื่อปี 2554 ของ FAO ประเทศที่ส่งออกมะละกอมากที่สุดคือเม็กซิโก ส่งออก 104,797 ตัน รองลงมาคือบราซิล 28,823 ตัน ส่วนประเทศในอาเซียนที่ส่งออกมากได้แก่มาเลเซีย 22,207 ตัน และฟิลิปปินส์ 2,945 ตัน ส่วนไทยส่งออก 995 ตัน
          ปัญหาการปนเปื้อนทางพันธุกรรมของมะละกอจีเอ็มโอในประเทศเกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศไทยเมื่อปี 2547 โดยเกิดจากการหลุดลอดของมะละกอจีเอ็มโอซึ่งอยู่ระหว่างการปลูกทดสอบที่สถานีวิจัยพืชสวน ของกรมวิชาการเกษตร จ.ขอนแก่น
 
          รายงานจากการเฝ้าระวังของมูลนิธิชีววิถียังรายงานด้วยว่านอกจากมะละกอแล้ว ปัญหา การปนเปื้อนจีเอ็มโอในข้าวโพดซึ่งยังไม่มีการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง รวมทั้งความพยายามของบางฝ่าย ที่จะนำข้าวโพดดัดแปลงพันธุกรรม NK603 ของ บริษัทมอนซานโต้มาปลูกทดสอบในแปลงเปิด จะกลายเป็นปัญหาใหญ่ในอนาคตอันใกล้

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น