วันพุธที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2556

'ถั่วเหลือง' พืชเศรษฐกิจอนาคตไกลผลิตได้แค่ 10% ไม่มีปัญหาล้นตลาด


ปัจจุบันประเทศไทยมีความต้องการใช้ถั่วเหลืองสูงถึง 2.2 ล้านตัน แต่มีพื้นที่ปลูกถั่วเหลือง ลดน้อยลงอย่างต่อเนื่องทุกปี มีพื้นที่ปลูกถั่วเหลืองประมาณ 580,000 ไร่ สามารถผลิตถั่วเหลืองได้เองเพียง 2 แสนตัน คิดเป็น 10 เปอร์เซ็นต์ของความต้องการใช้ จึงต้องนำเข้าจากต่างประเทศถึงปีละ 2 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 67,000 ล้านบาท/ปี
          สาเหตุที่เกษตรกรปลูกถั่วเหลือง น้อยลง เพราะมีพืชทางเลือกอื่น ๆ มากขึ้น ถึงแม้จะมีตลาดรองรับผลผลิต 100% อีกทั้งมีการประกันราคา แต่ถั่วเหลือง เป็นพืชที่ใช้แรงงานในการผลิตมาก ผลผลิตและค่าตอบแทนต่อไร่ยังต่ำเมื่อเทียบกับพืชเศรษฐกิจอื่น ถั่วเหลืองจึงกลายเป็นพืชสำรองหลังฤดูกาลเก็บเกี่ยว พืชหลักเท่านั้น
          จึงมีการร่วมมือกันระหว่าง 3 องค์กรเอกชน ประกอบด้วย บริษัท สยามคูโบต้า คอร์ปอเรชั่น จำกัด บริษัท กรีนสปอต จำกัด และสมาคมผู้ผลิตน้ำมันถั่วเหลืองและรำข้าว เข้าไปส่งเสริมการปลูก ถั่วเหลืองหลังการเก็บเกี่ยวข้าว
          สยามคูโบต้าเข้าไปส่งเสริมการ เพาะปลูกให้แก่เกษตรกร ส่วนบริษัทกรีนสปอต และสมาคมผู้ผลิตน้ำมัน ถั่วเหลืองและรำข้าว เป็นผู้รับซื้อผลผลิต อีกทั้งยังมีความร่วมมือกับ 4 หน่วยงานภาครัฐคือ กรมวิชาการเกษตร ช่วยผลิต พัฒนาเมล็ดพันธุ์ กรมวิชาการเกษตร และกรมส่งเสริมสหกรณ์ เป็นผู้กำหนดนโยบายส่งเสริมและคัดเลือกพื้นที่ ส่งเสริม ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เป็น ผู้สนับสนุนเงินทุนแก่เกษตรกร
          นายประจวบ ตยาคีพิสุทธิ์ ผู้อำนวยการสายงานรัฐกิจและองค์กรสัมพันธ์ บริษัท กรีนสปอต จำกัด กล่าวว่า ถั่วเหลือง เป็นพืชที่ตลาดยังรองรับได้อีกมาก จะไม่มีปัญหาว่าเกษตรกรผลิตแล้วไม่มีผู้รับซื้อหรือผลผลิตล้นตลาด เนื่องจากผลผลิตในประเทศเป็นเพียง 10% ของความต้องการใช้
          สำหรับการรับซื้อถั่วเหลืองจากเกษตรกรอิงตามราคาตลาดโลก ซึ่งสูงกว่าราคารับประกันในประเทศไทย โดยเกรด 2 และเกรด 1 ซึ่งเป็นเกรดที่ใช้ในกลุ่มอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร ราคารับซื้อที่ไร่นาอยู่ที่ 22-22.50 บาท และ 23-23.50 บาท/กก. ตามลำดับ
          ถั่วเหลืองที่ผลิตเองในประเทศประมาณ 2 แสนตันนั้น มีการเก็บไว้ในครัวเรือน และซื้อ-ขายรายย่อยเพื่อใช้ในการทำน้ำเต้าหู้ เข้าสู่การซื้อ-ขายอย่างเป็นระบบประมาณ 1 แสนตัน ในแต่ละปีกลุ่มสกัดน้ำมันและกลุ่มผลิตอาหารสัตว์ต้องการใช้มากที่สุดถึง 1.5-1.7 ล้านตัน ส่วนกลุ่มผลิตแปรรูปอาหารต้องการใช้ประมาณ 6-7 หมื่นตัน แต่ยังหาซื้อในประเทศได้ไม่มาก ปีที่ผ่านมา ต้องนำเข้าถึง 87%
          ในส่วนของบริษัทกรีนสปอต ซึ่งต้องซื้อถั่วเหลืองเกรดคุณภาพมาผลิตนม ถั่วเหลืองในแต่ละปีหาซื้อถั่วเหลืองในประเทศได้ไม่คงที่ ในปี 2554 ซื้อในประเทศ 40% นำเข้า 60% แต่ปี 2555 หาซื้อในประเทศได้เพียง 20% และนำเข้า 80%
          นายประจวบกล่าวอีกว่า ราคาถั่วเหลืองที่นำเข้าใกล้เคียงกับราคาในประเทศ ถ้าเทียบเฉพาะราคาเมล็ดถั่วเหลืองแล้ว ถั่วเหลือง ต่างประเทศราคาต่ำกว่าไทยมาก เพราะผลผลิตต่อไร่สูงกว่า แต่เมื่อบวกกับค่าขนส่งซึ่งถือเป็น 25-30% ของต้นทุนแล้วทำให้ราคาสูงกว่าถั่วเหลืองในประเทศเล็กน้อย การผลิตถั่วเหลืองในประเทศไทยต้นทุนสูงเนื่องจากยังมีการใช้แรงงานในการผลิตมาก โดยต้นทุนในปี 2555 จากการประเมินของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) อยู่ที่ 13.21 บาท/กก. คิดเป็นต้นทุนค่าแรงถึง 60% ของต้นทุนทั้งหมด ถ้ามีการนำเครื่องจักรเข้ามาใช้แทนแรงงานคน จะทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง
          ในส่วนโครงการส่งเสริมการปลูกถั่วเหลืองหลังการเก็บเกี่ยวข้าวนาปี นายโอภาส ธันวารชร กรรมการรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัท สยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่าโครงการนี้เริ่มตั้งแต่ ปี 2553 ในพื้นที่ 6 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ อุดรธานีขอนแก่น
 อุบลราชธานี ศรีสะเกษ สุรินทร์ และบุรีรัมย์ มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 13 กลุ่ม รวมพื้นที่ปลูกประมาณ 12,000 ไร่ ส่วนในฤดูกาล 2556/57 คาดว่าจะขยายเพิ่มอีก 4 จังหวัด ได้แก่ ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ ชัยภูมิ หนองบัวลำภู และจะดำเนินโครงการจนถึงปี 2558/59 โดยตั้งเป้าหมายการส่งเสริมเกษตรกรเพิ่มเป็น 30 กลุ่ม
          พื้นที่ที่มีศักยภาพเหมาะที่จะ ส่งเสริมการปลูกถั่วเหลือง ต้องมีแหล่งน้ำเพียงพอ โครงการจะส่งเสริมในรูปกลุ่มเกษตรกร โดยจะเลือกสหกรณ์การเกษตร หรือกลุ่มสหกรณ์ที่มี ความเข้มแข็งด้านการรวมกลุ่ม หรือมีแกนนำกลุ่มในการทำงานที่ชัดเจน เพื่อบริหารจัดการกลุ่มอย่างเป็นระบบ และแต่ละกลุ่มควรมีพื้นที่รวมกัน ไม่น้อยกว่า 500 ไร่ เพื่อความคุ้มค่าของการใช้เครื่องจักรกลการเกษตร
          นายใจเพชร ฤทธิบุญ เกษตรกรชาวอำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี ที่เข้าร่วมโครงการ กล่าวว่า ได้ใช้ที่นา 25 ไร่เป็นพื้นที่ปลูกถั่วเหลืองหลังการเก็บเกี่ยวข้าวนาปี ทำให้มีรายได้ขึ้นมารวมประมาณ 70,000 บาท หรือประมาณ 2,800 บาท/ไร่ หักต้นทุนไร่ละ 2,000 บาท แม้จะเป็นรายได้ที่ไม่มากนัก แต่ก็เป็นรายได้ที่เพิ่มขึ้นมาจากเดิมที่ไม่มี รายได้ในช่วงหลังเกี่ยวข้าว และผลพลอยได้ที่ได้จากการปลูกถั่วเหลืองคือเป็นการเพิ่มสารอาหารบำรุงดิน หลังจากการปลูกถั่วเหลืองแล้วทำให้ผลผลิตข้าวนาปีสูงขึ้นจากเดิมที่เคยได้ ผลผลิตไร่ละ 400 กก. เพิ่มเป็น ไร่ละ 500 กก.
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น