วันพุธที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

เศรษฐีลาวข้ามโขงซื้อคอนโดฯชี้ขอนแก่น-อุดร-หนองคายสุดร้อนรับเออีซี-ไฮสปีดเทรน



 คอลลิเออร์ส ชี้โครงการไฮสปีดเทรนและเออีซี ดันธุรกิจอสังหาฯต่างจังหวัดขายดี เผยตลาดขอนแก่น-อุดร-หนองคาย ยังร้อนแรงเศรษฐีลาวแห่ช็อป ดีเวลอปเปอร์รายเล็กหวังเกาะกระแสขาขึ้น ผุดโครงการคอนโดมิเนียม ดันราคาขายคอนโดฯดีดตัวกว่า 5-10% ในขณะที่ที่ดินเกาะแนวรถไฟฟ้าพุ่งกว่า 100%
          นายสุรเชษฐ กองชีพ ผู้จัดการอาวุโส ฝ่ายวิจัย คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เปิดเผยว่าตลาดที่อยู่อาศัยในจังหวัดขอนแก่นอุดรธานี-หนองคายกว่า 80% เป็นโครงการบ้านจัดสรร แต่เมื่อมีการประกาศเปิดเขตประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในปี 2558 ประกอบกับรัฐบาลมีแผนที่จะพัฒนาโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน)ส่งผลให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในส่วนคอนโดมิเนียมทั้ง 3 จังหวัดดังกล่าวในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เริ่มมีความคึกคักเป็นพิเศษ
          ทั้งนี้จากการลงพื้นที่สำรวจตลาดในเขตอำเภอเมืองของ 3 จังหวัด พบว่า มีคอนโดมิเนียมทั้งหมดที่อยู่ในตลาด 10,010 ยูนิต โดยประมาณ 5,588 ยูนิตเป็นโครงการที่เปิดขายมาตั้งแต่ปี 2550 และอีกราว 3,293 ยูนิต เปิดขายในช่วง 4 เดือนแรกของปี2556 โดยไม่มีโครงการคอนโดมิเนียมเปิดขายในพื้นที่อำเภอเมืองจังหวัดหนองคาย
          ในขณะที่ความต้องการของตลาดคอนโดมิเนียมในจังหวัดขอนแก่นและอุดรธานีนั้น อัตราการขายได้ทั้ง 2 พื้นที่มากกว่า 80% โดยเฉพาะในจังหวัดอุดรธานีที่มีสัดส่วนการขายได้สูงถึง 88% เนื่องจากคอนโดมิเนียมในจังหวัดอุดรธานียังมีจำนวนยูนิตที่อยู่ระหว่างการขายในตลาดน้อยกว่าจังหวัดขอนแก่นมาก จึงส่งผลให้โครงการที่อยู่ระหว่างการขายส่วนใหญ่สามารถปิดการขายได้มากกว่า 90% โดยประมาณ 25% ซื้อเพื่อเก็งกำไร กลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่เป็นคน ในพื้นที่และเป็นผู้ซื้อจากสปป.ลาว
          ส่วนพื้นที่อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ในช่วงระหว่างปี 2555 จนถึงต้นปี 2556 มีโครงการที่เปิดขายใหม่เป็นจำนวนมาก โดยมีคอนโดมิเนียมที่อยู่ระหว่างการขายทั้งหมดประมาณ 7,120 หน่วย และสามารถปิดการขายไปแล้วประมาณ 80% ซึ่งก็ถือว่าเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่โครงการคอนโดมิเนียมได้รับความสนใจจากกลุ่มลูกค้าเป็นอย่างมากทั้งจากลูกค้าในพื้นที่และจากสปป.ลาว โดยเฉพาะโครงการขนาดใหญ่ของผู้ประกอบการรายใหญ่ที่เข้ามาลงทุนพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียม ด้วยจำนวนรวมมากกว่า 1,600 ยูนิต ซึ่งได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก สามารถปิดการขายได้แล้วมากกว่า 90%
          "จากยอดขายดังกล่าวเป็นการสร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการในพื้นที่ นำที่ดินในครอบครองมาพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์มากขึ้น บางรายก็เป็นผู้ประกอบการหน้าใหม่ต่างสาขาธุรกิจ เช่น ผู้ประกอบการที่มีโรงงานอุตสาหกรรม บางรายก็อยู่ในสายธุรกิจก่อสร้าง โดยเหตุผลหลักในการลงทุนมาจาก 2 เหตุผลหลักคือ 1. ตามกระแสรายใหญ่ และ 2. หาช่องว่างทางการตลาดที่ไม่ชนกับผู้ประกอบการรายใหญ่ เพื่อกระจายความเสี่ยงธุรกิจ" นายสุรเชษฐ กล่าว
          สำหรับราคาขายเฉลี่ยของคอน โดมิเนียมในพื้นที่อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานีและหนองคายอยู่ในช่วงระหว่าง 4.5-5.5 หมื่นบาทต่อตร.ม. ในขณะที่อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่นเริ่มที่ประ มาณ 2.26-9.06 หมื่นบาทต่อตร.ม. โดยราคาขายเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 5.15 หมื่นบาทต่อตร.ม. ทั้งนี้คาดว่าราคาขายเฉลี่ยจะมีการปรับขึ้นอีกประมาณ 5-10% สืบเนื่องจากการมีปัจจัยเร่งอย่างโครงการไฮสปีดเทรนและเส้นทางการเชื่อมต่อกับสปป.ลาว รวมทั้งจีนที่ช่วยผลักดันให้ราคาที่ดินมีการปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว
          "จากการสำรวจราคาที่ดินในช่วง 2 ปี ที่ผ่านมาของทั้ง 3 จังหวัด พบว่าในบางพื้นที่มีการปรับตัวขึ้นถึง 100% โดยเฉพาะพื้นที่ที่เกาะตามแนวรถไฟความเร็วสูง ปัจจุบันราคาขายอยู่ที่ 18-20 ล้านบาทต่อไร่ หรือ 4-5 หมื่นบาทต่อตร.ว. เมื่อเปรียบเทียบ 2-3 ปีก่อนขายเพียง 1-3 หมื่นบาทต่อตร.ว. เท่านั้น และเมื่อโครงการมีความชัดเจนมากขึ้น คาดว่าที่ดินในทั้ง 3 จังหวัดนี้ก็จะได้รับอานิสงส์เต็มที่ทำให้ผู้ประกอบการไม่ว่าจะรายเล็กหรือรายใหญ่ต่างกว้านซื้อหาที่ดินในจังหวัดดังกล่าวก่อนราคาที่ดินจะแพงขึ้น แต่หากพิจารณาในความเป็นจริงแล้ว ต่างจังหวัดไม่เหมือนกรุงเทพฯ เนื่องจากยังมีที่ดินที่มีศักยภาพในการพัฒนาโครงการบ้านจัดสรร และราคาไม่แพงมากอยู่อีกเป็นจำนวนมาก ดังนั้นคอนโดมิเนียมจึงยังไม่ใช่ตัวเลือกแรกในการซื้อที่อยู่อาศัยของคนต่างจังหวัด" นายสุรเชษฐ กล่าวทิ้งท้าย

ที่มา : ฐานเศรษฐกิจ 


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น