วันศุกร์ที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

แนะเพิ่มพื้นที่ชลประทานภาคอีสาน แก้ปัญหาภัยแล้งซ้ำซาก


               ปัญหาภัยแล้งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นซ้ำซากเป็นประจำทุกปี โดยเฉพาะในแถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรืออีสานดังนั้นเพื่อเป็นการแก้ปัญหาดังกล่าวให้คลี่คลาย สภาเกษตรกรทั้ง 20 จังหวัดภาคอีสาน ร่วมกับกรมทรัพยากรน้ำ กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำบาดาลตลอดจนกรมพัฒนาที่ดิน ได้มีการจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เพื่อระดมสมองในการแก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง
          นายสมศักดิ์ คุณเงิน ประธานสภาเกษตรกร
จังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า เรื่องการแก้ปัญหาภัยแล้งถือเป็นวาระของอีสานที่จะต้องทำการแก้ไข และต้องยกระดับไปสู่วาระแห่งชาติ เนื่องจากเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นซ้ำซาก เกษตรกรขาดแคลนน้ำทำการเกษตร ประชาชนทั่วไปขาดแคลนน้ำในการอุปโภคบริโภค จนกระทั่งกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกระทรวงมหาดไทย ต้องมีการประกาศเขตภัยพิบัติแล้งครอบคลุมทั่วทั้งภาคอีสาน
          นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่า พื้นที่ปลูกข้าวครึ่งหนึ่งของประเทศไทยอยู่ที่ภาคอีสาน โดยมีพื้นที่ประมาณ135 ล้านไร่ แต่พื้นที่ปลูกข้าวที่เป็นเขตชลประทานมีเพียง 7% เท่านั้น จึงต้องอาศัยน้ำฝนตามฤดูกาลเป็นหลัก ไม่สามารถทำนาปรังได้ ทำให้ได้ผลผลิตค่อนข้างต่ำ เพราะขาดน้ำ ดังนั้น หากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไปเมื่อเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี ในอีก 2 ปีข้างหน้า ประเทศไทยคงต้องเสียแชมป์การส่งออกข้าวอย่างถาวรให้กับประเทศเวียดนาม เนื่องจากประเทศเวียดนามมีพื้นที่ปลูกข้าวที่เป็นเขตชลประทานถึง85%และสามารถปลูกข้าวได้ 7 รอบภายใน 2 ปี
          ทั้งนี้จากการศึกษาข้อมูลของกรมชลประทาน พบว่า ภาคอีสานสามารถที่จะเพิ่มพื้นที่เขตชลประทานได้ถึง 31% โดยการผันน้ำโขง ลงแม่น้ำชี และแม่น้ำมูล เพื่อนำน้ำส่วนนี้มาเสริมในระบบ รวมถึงสามารถพัฒนาและดึงลุ่มน้ำต่างๆในพื้นที่ จำนวน 19 แห่งมาใช้ได้ นอกจากนี้ ยังสามารถนำน้ำบาดาลมาใช้ประโยชน์ทางการเกษตรได้อีกประมาณ 10 ล้านไร่อีกด้วย
          "จะเห็นได้ว่าภาคอีสานยังคงมีศักยภาพเพียงพอที่จะแก้ไขปัญหาและสามารถพัฒนาต่อไปได้อีก หากเรามองให้ลึกถึงแก่นแท้ของปัญหา และแก้ไขให้ตรงจุดดังนั้น บทสรุปของการแก้ไขปัญหาภัยแล้งซ้ำซากครั้งนี้คือ เราต้องการให้รัฐบาลเพิ่มพื้นที่เขตชลประทานในภาคอีสานให้ได้มากกว่า 25% จัดตั้งองค์กรบริหารจัดการเป็นทบวงทรัพยากรน้ำภาคอีสานจนกว่าภารกิจนี้จะแล้วเสร็จ โดยมีกรอบระยะเวลาให้เสร็จสิ้นภายใน 5 ปี อีกทั้งต้องการให้รัฐบาลตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์น้ำแยกออกมาต่างหาก โดยเปิดกว้างให้ภาคราชการ ภาคการเมือง ผู้ว่าราชการจังหวัดทางภาค
อีสาน ประธานสภาเกษตรกรภาคอีสาน เข้ามามีส่วนร่วมด้วยในฐานะที่อยู่ในพื้นที่" ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดขอนแก่น กล่าว
          ปัญหาดังกล่าว หากแก้ไขได้สำเร็จ ผลผลิตข้าวหอมมะลิในภาคอีสานจะเพิ่มขึ้นจากที่มีอยู่เดิมอย่างน้อย 25% ซึ่งหากมีการเพิ่มน้ำเข้าไปในพื้นที่ ความอุดมสมบูรณ์ก็จะกลับมา ยางพารา อ้อย มันสำปะหลัง หรือแม้แต่ปาล์มน้ำมันก็จะปลูกได้ ปัญหาความยากจนของเกษตรกรก็จะหมดไป

ที่มา : ไทยโพสต์ 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น