วันอังคารที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

เผยเศรษฐกิจอีสานไตรมาส 3 ชะลอตัว-จ้างงานสะดุด


          ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จัดแถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ไตรมาสที่ 3 ปี 2555 โดยมี ดร.พิชิต ภัทรวิมลพร ผู้อำนวยการอาวุโส ธปท.สภอ.แถลงข่าวเศรษฐกิจ ครั้งที่ 3/2555 ณ ห้องประชุม 301 ธปท.สภอ. อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น
          ดร.พิชิต ภัทรวิมลพร ผู้อำนวยการอาวุโส ธปท.สภอ. เปิดเผยว่า เศรษฐกิจภาคอีสานไตรมาสที่ 3 ปี 2555 ขยายตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ชะลอตัวลงจากไตรมาสก่อน แม้จะขยายตัวสูงในช่วง 2 เดือนแรกของไตรมาส แต่เริ่มแผ่วลงในเดือนกันยายน โดยรายได้ภาคเกษตรทรงตัว การจ้างงานชะลอลง และอำนาจการซื้อได้แรงสนับสนุนจากสินเชื่อภาคการเงิน ทั้งสินเชื่อเช่าซื้อ สินเชื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อเพื่อการอุปโภค-บริโภค ทำให้การอุปโภค-บริโภคโดยรวมยังคงขยายตัวได้ในระดับหนึ่ง สำหรับการก่อสร้างยังขยายตัวแม้จะชะลอลงบ้างจากช่วงก่อนหน้า ยกเว้นจังหวัดนครราชสีมา ส่วนการลงทุนได้รับอานิสงส์จากการยกระดับคุณภาพสินค้าเกษตร เช่น กิจการผลิตแป้งมันสำปะหลัง และกิจการผลิตไม้อัดแข็งจากไม้ยูคา ลิปตัส รวมถึงการย้ายฐานการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าจากประเทศจีน
          สำหรับการค้ากับประเทศเพื่อนบ้าน ทั้ง สปป.ลาว และกัมพูชา ชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลก แต่ยังขยายตัวในอัตราสูง เนื่องจากได้รับผลประโยชน์จากความได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ ทำให้มีต้นทุนต่ำ รวมถึงการขยายตัวของการลงทุนและภาคอุตสาหกรรม/บริการใหม่ๆ (Modern Sector) การขยายตัวของเศรษฐกิจทำให้รายได้เพิ่มขึ้นค่อนข้างสูง ประกอบกับประเทศเพื่อนบ้านมีความนิยมใช้สินค้าไทยค่อนข้างมาก
          ดร.พิชิต กล่าวว่าแนวโน้มเศรษฐกิจอีสานไตรมาสที่ 4 ปี 2555 คาดว่า จะชะลอตัวตามเศรษฐกิจของประเทศและเศรษฐกิจโลก โดยราคาสินค้าเกษตรจะยังทรงตัว แม้ว่าโครงการรับจำนำข้าวของภาครัฐจะคืบหน้าบ้าง แต่ผลจากภัยแล้งและเศรษฐกิจโลกที่ยังชะลอตัวทำให้รายได้เกษตรจะยังทรงตัว รวมทั้งการจ้างงานจะยังคงชะลอตัวตามเศรษฐกิจโดยรวมที่ชะลอตัว เพราะปัญหาการขาดแคลนแรงงานมีฝืมือ รวมทั้งการปรับเปลี่ยนมาใช้เครื่องจักร/เทคโนโลยีทดแทนแรงงานที่ดำเนินไปก่อนหน้าแล้ว ส่งผลให้อำนาจซื้อของประชาชนโดยรวมชะลอลงตามเศรษฐกิจโลก และต้นทุนที่สูงขึ้น ขณะที่การค้ากับ สปป.ลาว และกัมพูชาชะลอตัวลง สำหรับแนวทางการพัฒนาต่อไปจะเห็นการลงทุนในลักษณะร่วมทุนของธุรกิจขนาดใหญ่มากขึ้น เช่น การร่วมทุนของนักธุรกิจในท้องถิ่นกับนักลงทุนจากส่วนกลางหรือต่างประเทศ และการร่วมทุนของนักธุรกิจในระดับท้องถิ่นด้วยกัน
ที่มา : บ้านเมือง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น