วันอาทิตย์ที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2555

วิจัย"ไหมอีรี่"สร้างมูลค่าเพิ่ม ทนร้อนทนโรค-ส่งเสริมเลี้ยงทั่วไทย

           มข.เผยผลวิจัยไหมอีรี่เสริมคุณสมบัติทนร้อนเหมาะเลี้ยงในภาคอีสาน พร้อมส่งเสริมสู่ระดับชุมชนสร้งผลิตภัณฑ์ผ้าไหมคุณภาพสูงที่โดดเด่นพัฒนาสู่อุตสาหกรรมอาหาร เครื่องสำอางและปุ๋ย
          รศ.ดร.ศิวิลั สิริมังครารัตน์ อาจารย์ภาควิชาพืชศาสตร์และทรัพยากรการเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัขอนแก่น นักวิจัยหลักในกลุ่มวิจัยการเพาะเลี้ยงและพัฒนาผลิตภัณฑ์ไหมป่าและแมลงสำคัญทางเศรษฐกิจเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม มหาวิทยาลัยขอนแก่นกล่าวในงาน"นักวิจัยพบสื่อมวลชน" เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2555 ที่อาคารสิริคุณากร สำนักงานอธิการบดี โดยมี ผศ.ดร.อภิศักดิ์ ธีระวิสิษฐ์ ผู้ช่วยอธิบดีการบดีฝ่ายการถ่ายทอดเทคโนโลยี เป็นประธานเปิดงาน ว่าคำว่าไหมทนร้อน ถือเป็นมิติใหม่ของการศึกษาในประเทศและทั้งในระดับโลก เพราะยังไม่มีรายงานในเรื่องนี้ และจากการที่ต่างประเทศเพาะเลี้ยงไม่ประสบความสำเร็จ มีการขอให้ทีมวิจัยช่วยเหลือที่สำคัญอีกประการหนึ่งในช่วงฤดูร้อน ถ้าไม่ใส่ใจเท่าที่ควรไหมจะตาย แต่ทีมวิจัยสามารถพัฒนาจนเพาะเลี้ยงได้ โดยคิดค้นเทคนิคในการเลี้ยง แล้วนำไปส่งเสริมชาวบ้าน เป็นการต่อยอดและศึกษาพัฒนาไปสู่ชุมชนอย่างถาวรและยั่งยืน สู่ชุมชนของโลก
          นอกจากนี้ ในด้านของการแปรรูป ที่ถือว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่โดดเด่น ก็คือดักแด้ไหมอีรี่ทอดกรอบกระเทียมพริกไทย การนำฝักไหนมาทำเครื่องสำอาง การทำปุ๋ย โดยเฉพาะเสื้อผ้าไหมอีรี่ที่มีความพิเศษแตกต่างจากผ้าไหมทั่วไป กล่าวคือผ้าไหมอีรี่มีลักษณะเนื้อผ้าคล้ายผ้าฝ้ายแต่มีความแวววาวคล้ายไหมบ้าน แต่เมื่อนำไปสวมใส่ในหน้าร้อนจะระบายอากาศได้ดี ขณะที่ในหน้าหนาวก็จะให้ความอบอุ่นได้อย่างดี
          มหาวิทยาลัขอนแก่นได้ทำการวิจัยไหมอีรี่มาตั้งแต่ปี 2534 ทั้งในด้านการเพาะเลี้ยง การศึกษาพืชอาหาร การคิดค้นเครื่องผลิตเส้นไหมแบบสาว การแปรรูปเป็นอาหาร ผลิตภัณฑ์สิ่งทอเครื่องสำอาง หรือแม้กระทั่งปุ๋ย นับได้ว่าไหมอี่รี่นี้ เป็นแมลงอเนกประสงค์อย่างครบวงจร
          รศ.ดร.ศิวิลัย กล่าวต่อว่า ไหมอีรี่มีต้นกำเนิดมาจากประเทศอินเดีย นำเข้ามาในประเทศไทยก่อนปี พ.ศ.2523 เป็นที่นิยมเลี้ยงในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพราะไหมอีรี่กินใบละหุ่งและใบมันสำปะหลังเป็นอาหารหลัก ด้วยคุณสมบัตินี้ นักวิจัยจึงเห็นว่าไหมอีรี่สามารถเลี้ยงได้ในพื้นที่ภาคอีสานเพาะเลี้ยงได้ดีคล้ายกับการเพาะเลี้ยงไหมบ้านแต่ง่ายและประหยัดแรงงานกว่ามาก เพาะเลี้ยงได้ตลอดปี ทนโรคทนแมลงศัตรู ในกระบวนการเพาะเลี้ยงไม่มีการใช้สารเคมีใดๆ จึงเป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งมีโปรตีนสูงมาก
          รศ.ดร.ศิวิลัย กล่าวต่อไปอีกว่า สำหรับการส่งเสริมไปสู่เกษตรกรได้มีการจัดตั้งหมู่บ้านต้นแบบในการเพาะเลี้ยงไหมอีรี่ มีการขยายการเลี้ยงไปทั่วประเทศ มีการส่งเสริมการขาย ทั้งในระดับอุตสาหกรรมโรงงานทำเป็นผลิตภัณฑ์ส่งออกปัจจุบันตลาดมีความต้องการรังไหม และเส้นไหมอีรี่อย่างมาก สำหรับเกษตรกรที่สนใจก็สามารถติดต่อได้ที่ โทร.043-362-108, 08-8549-0302  
ที่มา : คม ชัด ลึก 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น