วันศุกร์ที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

แนะเพิ่มพื้นที่ชลประทานภาคอีสาน แก้ปัญหาภัยแล้งซ้ำซาก


               ปัญหาภัยแล้งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นซ้ำซากเป็นประจำทุกปี โดยเฉพาะในแถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรืออีสานดังนั้นเพื่อเป็นการแก้ปัญหาดังกล่าวให้คลี่คลาย สภาเกษตรกรทั้ง 20 จังหวัดภาคอีสาน ร่วมกับกรมทรัพยากรน้ำ กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำบาดาลตลอดจนกรมพัฒนาที่ดิน ได้มีการจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เพื่อระดมสมองในการแก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง
          นายสมศักดิ์ คุณเงิน ประธานสภาเกษตรกร
จังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า เรื่องการแก้ปัญหาภัยแล้งถือเป็นวาระของอีสานที่จะต้องทำการแก้ไข และต้องยกระดับไปสู่วาระแห่งชาติ เนื่องจากเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นซ้ำซาก เกษตรกรขาดแคลนน้ำทำการเกษตร ประชาชนทั่วไปขาดแคลนน้ำในการอุปโภคบริโภค จนกระทั่งกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกระทรวงมหาดไทย ต้องมีการประกาศเขตภัยพิบัติแล้งครอบคลุมทั่วทั้งภาคอีสาน
          นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่า พื้นที่ปลูกข้าวครึ่งหนึ่งของประเทศไทยอยู่ที่ภาคอีสาน โดยมีพื้นที่ประมาณ135 ล้านไร่ แต่พื้นที่ปลูกข้าวที่เป็นเขตชลประทานมีเพียง 7% เท่านั้น จึงต้องอาศัยน้ำฝนตามฤดูกาลเป็นหลัก ไม่สามารถทำนาปรังได้ ทำให้ได้ผลผลิตค่อนข้างต่ำ เพราะขาดน้ำ ดังนั้น หากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไปเมื่อเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี ในอีก 2 ปีข้างหน้า ประเทศไทยคงต้องเสียแชมป์การส่งออกข้าวอย่างถาวรให้กับประเทศเวียดนาม เนื่องจากประเทศเวียดนามมีพื้นที่ปลูกข้าวที่เป็นเขตชลประทานถึง85%และสามารถปลูกข้าวได้ 7 รอบภายใน 2 ปี
          ทั้งนี้จากการศึกษาข้อมูลของกรมชลประทาน พบว่า ภาคอีสานสามารถที่จะเพิ่มพื้นที่เขตชลประทานได้ถึง 31% โดยการผันน้ำโขง ลงแม่น้ำชี และแม่น้ำมูล เพื่อนำน้ำส่วนนี้มาเสริมในระบบ รวมถึงสามารถพัฒนาและดึงลุ่มน้ำต่างๆในพื้นที่ จำนวน 19 แห่งมาใช้ได้ นอกจากนี้ ยังสามารถนำน้ำบาดาลมาใช้ประโยชน์ทางการเกษตรได้อีกประมาณ 10 ล้านไร่อีกด้วย
          "จะเห็นได้ว่าภาคอีสานยังคงมีศักยภาพเพียงพอที่จะแก้ไขปัญหาและสามารถพัฒนาต่อไปได้อีก หากเรามองให้ลึกถึงแก่นแท้ของปัญหา และแก้ไขให้ตรงจุดดังนั้น บทสรุปของการแก้ไขปัญหาภัยแล้งซ้ำซากครั้งนี้คือ เราต้องการให้รัฐบาลเพิ่มพื้นที่เขตชลประทานในภาคอีสานให้ได้มากกว่า 25% จัดตั้งองค์กรบริหารจัดการเป็นทบวงทรัพยากรน้ำภาคอีสานจนกว่าภารกิจนี้จะแล้วเสร็จ โดยมีกรอบระยะเวลาให้เสร็จสิ้นภายใน 5 ปี อีกทั้งต้องการให้รัฐบาลตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์น้ำแยกออกมาต่างหาก โดยเปิดกว้างให้ภาคราชการ ภาคการเมือง ผู้ว่าราชการจังหวัดทางภาค
อีสาน ประธานสภาเกษตรกรภาคอีสาน เข้ามามีส่วนร่วมด้วยในฐานะที่อยู่ในพื้นที่" ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดขอนแก่น กล่าว
          ปัญหาดังกล่าว หากแก้ไขได้สำเร็จ ผลผลิตข้าวหอมมะลิในภาคอีสานจะเพิ่มขึ้นจากที่มีอยู่เดิมอย่างน้อย 25% ซึ่งหากมีการเพิ่มน้ำเข้าไปในพื้นที่ ความอุดมสมบูรณ์ก็จะกลับมา ยางพารา อ้อย มันสำปะหลัง หรือแม้แต่ปาล์มน้ำมันก็จะปลูกได้ ปัญหาความยากจนของเกษตรกรก็จะหมดไป

ที่มา : ไทยโพสต์ 

'โลตัส'ทุ่ม 1.8 หมื่นล.ผุดสาขาใหม่ มั่นใจเศรษฐกิจไทยเติบโตดี หนุนส่งออกผัก-ผลไม้ไปจีน


          โลตัสมั่นใจเศรษฐกิจไทยโตดี ประกาศแผนลงทุนปีนี้อีก 1.8 หมื่นล้าน เพื่อขยายสาขาใหม่ เน้นขนาดเล็ก และปรับปรุงสาขาเดิม ตั้งศูนย์กระจายสินค้า พร้อมหนุนผักผลไม้ไทยส่งออกไปขายในจีน-อินเดีย
          นายจอห์น คริสตี้ ประธานกรรมการบริหาร เทสโก้ โลตัส เปิดเผยว่า ยังคงแผนขยายการลงทุนในไทยต่อเนื่องอีก 18,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นงบลงทุนที่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า สำหรับใช้ในการขยายสาขาประมาณ 300 แห่ง โดยในปีนี้จะเน้นขยายสาขาขนาดเล็กหรือเอ็กซ์ เพรสเป็นหลักเช่นเดียวกับปีที่ผ่านมา เพราะเป็นรูปแบบที่มีอัตราการเติบโตดี รวมทั้งปรับปรุง
สาขาเดิมราว 1,000 แห่ง ให้มีความทันสมัย สร้างศูนย์กระจายสินค้า ลงทุนสร้างศูนย์วิจัยสินค้าแห่งแรกในประเทศไทยที่จังหวัดขอนแก่น เนื่องจากยังมั่นใจเศรษฐกิจไทยยังคงเติบโตได้ดี ผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ แม้ช่วงไตรมาสแรกเศรษฐกิจจจะชะลอตัวลง แต่ยังคงมีอัตราการเติบโตที่ดีเมื่อเทียบกับหลายประเทศที่เทสโก้ โลตัสเข้าไปลงทุน อีกทั้งในอนาคตอันใกล้ภูมิภาคนี้จะมีการเปิดเสรีทางการค้าหลายๆ ด้าน ซึ่งจะส่งผลดีกับภาวะเศรษฐกิจไทย
          นายคริสตี้กล่าวว่า นอกจากนี้ เทสโก้ โลตัสยังมีนโยบายสนับสนุนภาคส่งออก โดยจะนำสินค้าเกษตรประเภทผักและผลไม้ ส่งออกผ่านสาขาของเทสโก้ โลตัสไปในประเทศจีน อินเดีย พร้อมกับเดินหน้าส่งออกสินค้าไทยไปขายยังเครือข่ายร้านค้าเทสโก้ โลตัส 6,500 แห่งใน 12 ประเทศ ควบคู่ไปกับการเพิ่มเป้าหมายการรับซื้อผักและผลไม้จากเกษตรกรไทยเพิ่มจากปีก่อนหน้าถึง 45% หรือคิดเป็นประมาณ 12,000 ตัน
          นายคริสตี้กล่าวว่า ภาพรวมของค้าปลีกในไทย ยังมีโอกาสเติบโตตามเศรษฐกิจ มีผู้ประกอบการรายใหม่เข้ามาในตลาด ในกลุ่มร้านสะดวกซื้อ ซึ่งจะช่วยหนุนให้ตลาดโต รวมทั้งการควบรวมกิจการของกลุ่มซีพีและแม็คโคร ซึ่งในส่วนนี้จะกระทบกับเทสโก้ โลตัสหรือไม่ขณะนี้ยังไม่เห็นภาพที่ชัดเจน ซึ่งต้องติดตามกันต่อไป แต่อย่างไรก็ตาม นโยบายของเทสโก้ โลตัสจะให้ความสำคัญกับเรื่องการสนองตอบความต้องการของผู้บริโภคเป็นหลัก เพื่อให้ธุรกิจเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง
          นายคริสตี้กล่าวว่า ปัจจุบันมีสาขาในไทย กว่า 1,400 แห่ง มีรูปแบบร้านค้า 5 ประเภทหลักคือ เอ็กซ์ตร้า ไฮเปอร์มาร์เก็ต ดีพาร์ตเมนต์สโตร์ ตลาดโลตัส,  และเอ็กซ์เพรส โดยปีที่ผ่านมามีผลประกอบการเติบโตในระดับ 16% ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจเป็นผลมาจากแคมเปญราคา การให้ความสำคัญกับเรื่องเทคโนโลยี บริการ การเปิดบริการใหม่ เช่น ช็อปออนไลน์ การเปิดบริการช่องชำระเงินแบบเซลฟ์ เซอร์วิสแห่งแรกในประเทศไทย และปีนี้เชื่อว่าโลตัสจะยังคงเติบโตได้อย่างต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา

ที่มา : มติชน 

วันพุธที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ททท.ชู 2 แพ็กเกจ'ขับรถเที่ยว' แวะเติมสุขพัก20 โรงแรมสุดคุ้ม



         ททท.ผนึกสมาคมรถเช่าไทย จัดโครงการ "ขับรถเที่ยวให้สนุก แวะเติมความสุขให้ทั่วไทย" รับลูกพฤติกรรมคนไทยนิยมขับรถเที่ยวเอง โดยเสนอ 2 แพ็กเกจคูปองเช่ารถรวมที่พักสุดคุ้ม 1 คืนราคา 2.6 พันบาทต่อ 2 คน และ 2 คืน ราคา 4.2 พันบาทต่อ 2 คน หวังกระตุ้นท่องเที่ยวโลว์ซีซัน
          นางสุจิตรา จงชาณสิทโธ ผู้อำนวยการภูมิภาคภาคเหนือ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ททท.ได้ร่วมมือกับสมาคมรถเช่าไทย จัดโครงการ "ขับรถเที่ยวให้สนุก แวะเติมความสุขให้ทั่วไทย" (Drive & Stay 2013) เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในช่วงนอกฤดูกาลท่องเที่ยว ซึ่งเป็นโครงการต่อเนื่องจากโครงการ "บินไปบินกลับ ขับรถเที่ยว" (Fly & Drive) ของ ททท. ที่ได้จัดทำขึ้นมาเมื่อปี 2550-2554 และโครงการนี้ก็เป็นอีกหนึ่งโครงการที่ได้รับความร่วมมือจากสมาคมรถเช่าไทย เพื่อตอบรับกับพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวชาวไทยที่นิยมใช้รถส่วนตัวหรือรถเช่าในการเดินทางท่องเที่ยวมากขึ้น
          โดยจุดเด่นของโครงการในปีนี้ คือ การรวมแพ็กเกจรถเช่าและโรงแรมในราคาพิเศษสุด ซึ่งจะมีราคาถูกกว่าการจองรถเช่าและโรงแรมแยกกัน จะทำให้นักท่องเที่ยวรู้สึกถึงความประหยัดและคุ้มค่ามากยิ่งขึ้น โดยโรงแรมที่เข้าร่วมโครงการ มีจำนวนกว่า 20 แห่งจาก 4 เมืองท่องเที่ยวหลัก ได้แก่ กรุง เทพฯ  อาทิ โรงแรมอิมม์ ฟิวชั่น สุขุมวิท เชียงใหม่ อาทิ ฟูราม่า เชียงใหม่ ภูเก็ต อาทิ ป่าตอง เพิร์ล รีซอร์เทล และกระบี่ อาทิ กระบี่ เมอริไทม์  และทางสมาคมรถเช่า ได้คัดสรรผู้ให้บริการรถเช่าชั้นนำมาร่วมโครงการนี้
          ทั้งนี้โครงการนี้จะมี 2 แพ็กเกจให้นักท่องเที่ยวเลือก คือ คูปอง 2 วัน 1 คืน สำหรับนักท่องเที่ยว 2 คน สามารถเช่ารถได้ 2 วัน พักโรงแรม 1 คืน รวมอาหารเช้า ราคา 2,600 บาท  และคูปอง 3 วัน 2 คืน สามารถเช่ารถได้ 3 วัน พักโรงแรม 2 คืน รวมอาหารเช้า ราคา 4,200 บาท ส่วนผู้ที่ต้องการเดินทางเป็นหมู่คณะ สามารถซื้อแพ็กเกจเป็นชุด ชุดละ 10 ใบ รับส่วนลดเพิ่มอีก 2 พันบาท
          ด้าน ดร.นที วรรธนะโกวินท์ นายกสมาคมรถเช่าไทย กล่าวว่า สำหรับรถเช่าที่ร่วมโครงการนี้ จะเป็นรถที่มีขนาดเครื่องยนต์ 1200 CC เกียร์ออโตเมติก อายุการใช้งานไม่เกิน 3 ปี เลขไมล์ ไม่เกิน 1 แสนกิโลเมตร รวมประกันชั้น1 ซึ่งล้วนเป็นรถยนต์ประเภทอีโคคาร์ มีความประหยัดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตอบรับแนวคิดเที่ยวหัวใจใหม่ เมืองไทยยั่งยืน ของ ททท. ซึ่งรณรงค์เพื่อสร้างจิตสำนึกให้กับนักท่องเที่ยว โดยนักท่องเที่ยวสามารถซื้อแพ็กเกจคูปองเช่ารถรวมที่พักสุดคุ้มในราคาพิเศษ ได้ที่ บริษัท Budget Car and Truck Rental บริษัท Biz Car Rental บริษัท National Car Rental บริษัท Sixt Rent A Car  และสมาคมรถเช่าไทย ตั้งแต่วันนี้จนถึงสิ้นเดือนกันยายนนี้ แต่สามารถใช้คูปองได้ถึงวันที่ 31 ตุลาคมนี้
          นอกจากนี้ สมาคมยังได้จัดทำคู่มือแนะนำเส้นทางขับรถท่องเที่ยว ชื่อ "4 เมืองน่าเที่ยว" และเชิญชวนคนไทยร่วมสัมผัสความสวยงาม ความหลากหลายของแหล่งท่องเที่ยวในเมืองไทย เพื่อส่งเสริมการขับรถยนต์เที่ยวเองโดยวางจำหน่ายในร้านเซเว่นอีเลฟเว่น ทุกสาขาทั่วไทย ในราคา 79 บาทด้วย

ที่มา : ฐานเศรษฐกิจ  


12 แฟรนไชส์สัญชาติมะกันจ้องบุกตลาดไทย

    ชี้เทรนด์ธุรกิจแฟรนไชส์ไทยโตต่อเนื่อง จับตากลุ่มทุนเมืองลุงแซมนำทัพ 12 แฟรนไชส์บุกไทย พร้อมเผยโฉมในงานยูเอสเอ แฟร์ หวังหาพันธมิตรขยายแผนลงทุนฝั่งเอเชีย ผู้ช่วยทูตพาณิชย์สหรัฐฯ ชี้เป็นอีกหนึ่งธุรกิจน่าลงทุน จากอานิสงส์ค่าเงินบาทแข็งส่งผลให้สามารถซื้อแฟรนไชส์ได้ราคาถูก
          นายดีน แมทเล็ค ผู้ช่วยทูตพาณิชย์ สำนักงานที่ปรึกษาฝ่ายการพา ณิชย์ สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา เปิดเผยว่า แนวโน้มธุรกิจแฟรนไชส์ในเมืองไทยมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากในปีที่ผ่านมาที่พบว่าธุรกิจแฟรนไชส์ในไทยมีการเติบโตกว่า 20% โดยเฉพาะกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม ทั้งนี้การเติบโตดังกล่าว ยังส่งผลให้ผู้ประกอบการในต่างประเทศสนใจขยายการลงทุนเข้ามาในประเทศไทย โดยล่าสุดมีผู้ประกอบการในธุรกิจแฟรนไชส์รวม 12 แบรนด์จากสหรัฐอเมริกา ประกอบไปด้วยกลุ่มธุรกิจอาหาร-เครื่องดื่ม ได้แก่ เดนนีส์ (Denny's) ร้านกาแฟครบวงจรและร้านอาหารสำหรับครอบครัว, ริต้าส์ อิตาเลี่ยน ไอซ์ (Rita's Italian Ice) บริการไอศกรีมอิตาเลียน, ฟรัดดรักเกอร์ส(Fruddruckers) ร้านแฮมเบอร์เกอร์, เดอะ เมลติ้ง พ็อต(Melting Pot) ร้านอาหารฟองดู, ราวด์ เทเบิ้ล พิซซ่า(Round Table Pizza) ร้านพิซซ่าอันดับ 1 ของแคลิฟอร์เนีย, โมส์ เซ้าท์เวสท์ กริล(MOE's Ga) ร้านอาหารปรุงสด, ร็อคกี้ เมาท์เท่น ช็อคโกแลต แฟ็คโตรี่ ผู้ผลิตของหวาน ลูกอมและดูแลการจัดการร้านขายปลีก, ชัคกี้ ชีส (Chuck E.Cheese's, TX) เป็นร้านอาหารสำหรับครอบครัว, สโลกาย'ส (Schlotzky's TX) ธุรกิจแซนด์ วิชแบบปิ้งย่าง และสเต็ก แอนด์ เชค (Steak'n Shake, Texas) ร้านอาหารสไตล์อเมริกัน คลาสสิก
          กลุ่มอุตสาหกรรมรถยนต์ ได้แก่ กรีส มังกี้ (Grease Monkey) 1 ในแฟรนไชส์ที่ใหญ่สุดของศูนย์บริการดูแลบำรุงรักษารถยนต์แบบครบวงจร, พรีซิชั่น ทูน ออโตแคร์ (Precision Tune Auto Care) ธุรกิจดูแลรถยนต์และดูแลผู้ขับขี่ ซึ่งทั้ง 12 แบรนด์แฟรนไชส์ดังกล่าว ถือว่ามีชื่อเสียงโด่งดังในแต่ละรัฐที่เป็นแหล่งกำเนิดของธุรกิจ
          "แต่ละแบรนด์ล้วนเป็นแบรนด์ที่มีชื่อเสียง และมีความพร้อมในการขยายการลงทุนมายังเอเชีย โดยประเทศเหล่านี้ศึกษาตลาดและเลือกที่จะลงทุนในไทยเป็นอันดับต้นๆ เพราะเชื่อมั่นในศักยภาพ ความพร้อมของประเทศไทย"
          นอกจากนี้จากปัจจัยอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินบาทไทยและดอลลาร์สหรัฐฯ ถือว่าเป็นโอกาสที่ดีสำหรับนักธุรกิจรายย่อยไทย ที่สนใจจะลงทุนธุรกิจแฟรนไชส์จากสหรัฐฯ จากค่าเงินบาทไทยที่แข็งค่าขึ้น ทำให้สามารถซื้อไลเซนส์แฟรนไชส์สหรัฐฯ ได้ถูกลงกว่าเมื่อก่อนมาก
          การขยายตลาดแฟรนไชส์จากสหรัฐฯในปีนี้ ยังถือเป็นครั้งใหญ่ในรอบหลายปีที่ผ่านมา จากปัจจุบันมีธุรกิจแฟรนไชส์สหรัฐฯในไทยราว 18-20 แบรนด์ หรือคิดเป็นสัดส่วน 5% ของจำนวนธุรกิจแฟรนไชส์ต่างชาติในไทยที่มีอยู่ราว 15% และที่เหลือ 85% เป็นธุรกิจแฟรนไชส์ท้องถิ่นในไทย ที่ปัจจุบันตลาดรวมแฟรนไชส์ในไทยมีราว 370 แบรนด์ในธุรกิจทุกประเภท
          สำหรับธุรกิจแฟรนไชส์จากสหรัฐฯ ทั้ง 12 แบรนด์ จะเปิดตัวพร้อมแนะนำให้กับผู้สนใจในงาน ยูเอสเอแฟร์ ที่จะจัดขึ้นที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ระหว่างวันที่ 30 พฤษภาคม-2 มิถุนายนนี้ เพื่อเปิดโอกาสและจับคู่ทางธุรกิจให้กับพันธมิตรที่สนใจ ขยายการทำตลาดร่วมกัน ซึ่งงานดังกล่าวจัดขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 5
          อย่างไรก็ตาม นอกจากการขยายธุรกิจแฟรนไชส์กลุ่มอาหารเครื่องดื่ม และยานยนต์แล้ว ในอนาคตสหรัฐฯยังมีแผนขยายการลงทุนธุรกิจประเภทอื่นๆ เข้ามาในไทยมากขึ้น จากโอกาสในตลาดเอเชียและอาเซียนที่กำลังเติบโตทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะไทยที่จะเป็นฮับทางเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้ เมื่อเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในปี 2558
ที่มา : ฐานเศรษฐกิจ

เศรษฐีลาวข้ามโขงซื้อคอนโดฯชี้ขอนแก่น-อุดร-หนองคายสุดร้อนรับเออีซี-ไฮสปีดเทรน



 คอลลิเออร์ส ชี้โครงการไฮสปีดเทรนและเออีซี ดันธุรกิจอสังหาฯต่างจังหวัดขายดี เผยตลาดขอนแก่น-อุดร-หนองคาย ยังร้อนแรงเศรษฐีลาวแห่ช็อป ดีเวลอปเปอร์รายเล็กหวังเกาะกระแสขาขึ้น ผุดโครงการคอนโดมิเนียม ดันราคาขายคอนโดฯดีดตัวกว่า 5-10% ในขณะที่ที่ดินเกาะแนวรถไฟฟ้าพุ่งกว่า 100%
          นายสุรเชษฐ กองชีพ ผู้จัดการอาวุโส ฝ่ายวิจัย คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เปิดเผยว่าตลาดที่อยู่อาศัยในจังหวัดขอนแก่นอุดรธานี-หนองคายกว่า 80% เป็นโครงการบ้านจัดสรร แต่เมื่อมีการประกาศเปิดเขตประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในปี 2558 ประกอบกับรัฐบาลมีแผนที่จะพัฒนาโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน)ส่งผลให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในส่วนคอนโดมิเนียมทั้ง 3 จังหวัดดังกล่าวในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เริ่มมีความคึกคักเป็นพิเศษ
          ทั้งนี้จากการลงพื้นที่สำรวจตลาดในเขตอำเภอเมืองของ 3 จังหวัด พบว่า มีคอนโดมิเนียมทั้งหมดที่อยู่ในตลาด 10,010 ยูนิต โดยประมาณ 5,588 ยูนิตเป็นโครงการที่เปิดขายมาตั้งแต่ปี 2550 และอีกราว 3,293 ยูนิต เปิดขายในช่วง 4 เดือนแรกของปี2556 โดยไม่มีโครงการคอนโดมิเนียมเปิดขายในพื้นที่อำเภอเมืองจังหวัดหนองคาย
          ในขณะที่ความต้องการของตลาดคอนโดมิเนียมในจังหวัดขอนแก่นและอุดรธานีนั้น อัตราการขายได้ทั้ง 2 พื้นที่มากกว่า 80% โดยเฉพาะในจังหวัดอุดรธานีที่มีสัดส่วนการขายได้สูงถึง 88% เนื่องจากคอนโดมิเนียมในจังหวัดอุดรธานียังมีจำนวนยูนิตที่อยู่ระหว่างการขายในตลาดน้อยกว่าจังหวัดขอนแก่นมาก จึงส่งผลให้โครงการที่อยู่ระหว่างการขายส่วนใหญ่สามารถปิดการขายได้มากกว่า 90% โดยประมาณ 25% ซื้อเพื่อเก็งกำไร กลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่เป็นคน ในพื้นที่และเป็นผู้ซื้อจากสปป.ลาว
          ส่วนพื้นที่อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ในช่วงระหว่างปี 2555 จนถึงต้นปี 2556 มีโครงการที่เปิดขายใหม่เป็นจำนวนมาก โดยมีคอนโดมิเนียมที่อยู่ระหว่างการขายทั้งหมดประมาณ 7,120 หน่วย และสามารถปิดการขายไปแล้วประมาณ 80% ซึ่งก็ถือว่าเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่โครงการคอนโดมิเนียมได้รับความสนใจจากกลุ่มลูกค้าเป็นอย่างมากทั้งจากลูกค้าในพื้นที่และจากสปป.ลาว โดยเฉพาะโครงการขนาดใหญ่ของผู้ประกอบการรายใหญ่ที่เข้ามาลงทุนพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียม ด้วยจำนวนรวมมากกว่า 1,600 ยูนิต ซึ่งได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก สามารถปิดการขายได้แล้วมากกว่า 90%
          "จากยอดขายดังกล่าวเป็นการสร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการในพื้นที่ นำที่ดินในครอบครองมาพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์มากขึ้น บางรายก็เป็นผู้ประกอบการหน้าใหม่ต่างสาขาธุรกิจ เช่น ผู้ประกอบการที่มีโรงงานอุตสาหกรรม บางรายก็อยู่ในสายธุรกิจก่อสร้าง โดยเหตุผลหลักในการลงทุนมาจาก 2 เหตุผลหลักคือ 1. ตามกระแสรายใหญ่ และ 2. หาช่องว่างทางการตลาดที่ไม่ชนกับผู้ประกอบการรายใหญ่ เพื่อกระจายความเสี่ยงธุรกิจ" นายสุรเชษฐ กล่าว
          สำหรับราคาขายเฉลี่ยของคอน โดมิเนียมในพื้นที่อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานีและหนองคายอยู่ในช่วงระหว่าง 4.5-5.5 หมื่นบาทต่อตร.ม. ในขณะที่อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่นเริ่มที่ประ มาณ 2.26-9.06 หมื่นบาทต่อตร.ม. โดยราคาขายเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 5.15 หมื่นบาทต่อตร.ม. ทั้งนี้คาดว่าราคาขายเฉลี่ยจะมีการปรับขึ้นอีกประมาณ 5-10% สืบเนื่องจากการมีปัจจัยเร่งอย่างโครงการไฮสปีดเทรนและเส้นทางการเชื่อมต่อกับสปป.ลาว รวมทั้งจีนที่ช่วยผลักดันให้ราคาที่ดินมีการปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว
          "จากการสำรวจราคาที่ดินในช่วง 2 ปี ที่ผ่านมาของทั้ง 3 จังหวัด พบว่าในบางพื้นที่มีการปรับตัวขึ้นถึง 100% โดยเฉพาะพื้นที่ที่เกาะตามแนวรถไฟความเร็วสูง ปัจจุบันราคาขายอยู่ที่ 18-20 ล้านบาทต่อไร่ หรือ 4-5 หมื่นบาทต่อตร.ว. เมื่อเปรียบเทียบ 2-3 ปีก่อนขายเพียง 1-3 หมื่นบาทต่อตร.ว. เท่านั้น และเมื่อโครงการมีความชัดเจนมากขึ้น คาดว่าที่ดินในทั้ง 3 จังหวัดนี้ก็จะได้รับอานิสงส์เต็มที่ทำให้ผู้ประกอบการไม่ว่าจะรายเล็กหรือรายใหญ่ต่างกว้านซื้อหาที่ดินในจังหวัดดังกล่าวก่อนราคาที่ดินจะแพงขึ้น แต่หากพิจารณาในความเป็นจริงแล้ว ต่างจังหวัดไม่เหมือนกรุงเทพฯ เนื่องจากยังมีที่ดินที่มีศักยภาพในการพัฒนาโครงการบ้านจัดสรร และราคาไม่แพงมากอยู่อีกเป็นจำนวนมาก ดังนั้นคอนโดมิเนียมจึงยังไม่ใช่ตัวเลือกแรกในการซื้อที่อยู่อาศัยของคนต่างจังหวัด" นายสุรเชษฐ กล่าวทิ้งท้าย

ที่มา : ฐานเศรษฐกิจ 


วันอังคารที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ขอเชิญประกวดคลิปสั้น เงินรางวัลสูงถึง 30,000 บาท !!! ไม่จำกัดเพศ อายุ เดี่ยวหรือทีมก็ได้ ในหัวข้อ "วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรมกับการพัฒนาจังหวัดขอนแก่น "


   รางวัลชนะเลิศ  30,000 บาท พร้อมเกียรติบัตร (1 รางวัล)
   รองชนะเลิศ      15,000 บาท พร้อมเกียรติบัตร (1 รางวัล)
   รางวัลชมเชย      5,000 บาท พร้อมเกียรติบัตร (3 รางวัล)
                                                  โดยความยาวของคลิปไม่เกิน 3 นาที
                              Download ใบสมัครได้ที่ www.ecberkku.com หรือ www.facebook.com/ecberkku  
                                      หรือ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 043-202566 คุณเฉลิมชัย/คุณสิรินทรา

                                        ส่งใบสมัครและผลงาน ได้ตั้งแต่วันนี้ - 31 กรกฎาคม 2556 นะคะ !!!

                                      
                                     

วันจันทร์ที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

เจาะเทคนิคลงทุน "อพาร์ตเมนต์" มหา'ลัย-ในเมือง ทำเลแบบนี้...ใช่เลย


          ในบรรดาอสังหาริมทรัพย์หลากหลายประเภท "อพาร์ตเมนต์" เป็นหนึ่งในตัวเลือกของการลงทุนที่น่าสนใจ สำหรับคนที่มีที่ดินและเงินทุน เพราะให้ผลตอบแทนค่อนข้างสม่ำเสมอเฉลี่ยปีละ 8-9% ของเงินทุน หากเลือกทำเลที่ใช่ กลุ่มเป้าหมายถูกต้อง มีโอกาสเก็บกินยาว
          ซัพพลาย 14 จังหวัด 4.6 แสนห้อง
          จากข้อมูล "KK-ธนาคารเกียรตินาคิน" โดยฝ่ายสินเชื่อธุรกิจอพาร์ตเมนต์พบว่า ปี'55 ตลาดอพาร์ตเมนต์ใน 14 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ และปริมณฑล ชลบุรีพัทยา เชียงใหม่ 
ขอนแก่น มหาสารคาม อุบลราชธานี นครราชสีมา ประจวบคีรีขันธ์หัวหิน ภูเก็ต และสงขลา มีอพาร์ตเมนต์รวมกันประมาณ 459,800 ห้อง ในจำนวนนี้สัดส่วน 75% อยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล อีก 25% อยู่ในต่างจังหวัด
          อพาร์ตเมนต์ที่จับกลุ่มลูกค้า "คนทำงาน" มีอัตราเข้าพักเฉลี่ย 92% ส่วนลูกค้า "นักศึกษา" มีอัตราเข้าพักเฉลี่ย 94% ตลาดที่จับกลุ่ม "แรงงาน" อัตราเข้าพักค่อนข้างอ่อนไหวจากปัจจัยต่าง ๆ เช่น น้ำท่วม การลดต้นทุนของผู้ประกอบการโรงงาน
          ย่านแคมปัส-กลางเมืองน่าลงทุน
          ล่าสุด KK จัดสัมมนา "การเริ่มต้นธุรกิจอพาร์ตเมนต์ให้ซักเซส ไม่ยากอย่างที่คิด" นำเสนอข้อมูลโฟกัสพื้นที่ "กรุงเทพฯ-ปริมณฑล" เป็นหลัก มีการชี้เป้า "ทำเลเด่น" เน้นเจาะกลุ่มผู้เช่า "คนทำงาน-นักศึกษา" แบ่งทำเลตามการแข่งขันเป็น 3 ระดับ ดังนี้
          1.ทำเลที่การแข่งขันยังต่ำ ได้แก่ ม.กรุงเทพ ม.พระจอมเกล้าพระนครเหนือ ม.พระจอมเกล้าธนบุรี (บางมด) และ ม.รังสิต 2.ทำเลที่มีการแข่งขันปานกลาง ได้แก่ โซนรัชดาภิเษก สุขุมวิทตอนปลาย (อ่อนนุชบางนา) อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ลาดกระบัง ลาดพร้าว รามคำแหง แจ้งวัฒนะ วงเวียนใหญ่ และเกษตร-งามวงศ์วาน 3.ทำเลที่มีการแข่งขันสูง ได้แก่ ม.ราชมงคล คลอง 6 และ ม.ธรรมศาสตร์ รังสิต
          เปิดทำเลนักศึกษาเช่า 100%
          เจาะรายละเอียดทำเลที่การแข่งขันต่ำ ผลสำรวจพบว่า บริเวณ "ม.กรุงเทพ" มี 35 โครงการ จำนวน 5,112 ห้อง กระจายอยู่ในบริเวณซอยรังสิตภิรมย์ และฝั่งตรงข้ามมหาวิทยาลัย ค่าเช่าเฉลี่ยเดือนละ 3,000-6,000 บาท อัตราเข้าพักเฉลี่ย 98% และเป็นนักศึกษา 100%
          "ม.รังสิต" มี 58 โครงการ 5,758 ห้อง กระจายอยู่ในบริเวณแนว ถ.เอกประจิม ถ.เอกทักษิณ ถ.เอกเจริญ  ซอยวัดนาวงศ์ และถนนหลังมหาวิทยาลัย ค่าเช่าเฉลี่ย 4,000-8,000 บาท อัตราเข้าพักเฉลี่ย 93% เป็นนักศึกษา 100%
          "ม.พระจอมเกล้าพระนครเหนือ" มี 70 โครงการ 4,525 ห้อง กระจายตัวอยู่บริเวณด้านหลังมหาวิทยาลัย ซอยวงศ์สว่าง 11 ฝั่งตรงข้ามมหาวิทยาลัย ถ.พิบูลสงคราม และซอยพิบูลสงคราม 6 ค่าเช่าเฉลี่ย 2,500-4,500 บาท อัตราเข้าพักเฉลี่ย 97% และเป็นนักศึกษา 100%
          "ม.พระจอมเกล้าธนบุรี" มี 27 โครงการ 2,283 ห้อง ค่าเช่าเฉลี่ย 2,000-3,500 บาท กระจายตัวตามแนว ถ.พุทธบูชา ถ.ประชาอุทิศ และ ถ.ประชาอุทิศต่อเนื่องสุขสวัสดิ์ อัตราเข้าพักเฉลี่ย 97% เป็นคนทำงาน 80% นักศึกษา 20%
          ส่วนทำเลที่มีการแข่งขันปานกลาง ยกตัวอย่างคือ "อนุสาวรีย์ชัยฯ" มีถึง 111 โครงการ 11,461 ห้อง กระจายอยู่ในซอยรางน้ำ ซอยราชวิถี ซอยย่อยศรีอยุธยา ซอยหมอเหล็ง ค่าเช่าเฉลี่ย 4,000-8,000 บาท อัตราเข้าพัก 95% แบ่งเป็นคนทำงาน 70% นักเรียน-นักศึกษา 95%
          2 ปี ค่าเช่าขยับ 10-14%
          ธ.เกียรตินาคินชี้ว่า กลุ่มลูกค้าอพาร์ตเมนต์ที่น่าสนใจคือ "นักศึกษา- คนทำงาน" เพราะนับจากปี 2553-2555 ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล กลุ่มนักศึกษา, ค่าเช่าเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 14% จากเดือนละ 3,500 บาท เป็น 4,000 บาท กลุ่มคนทำงาน, ค่าเช่าเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 10% จากเดือนละ 5,000 บาท เป็น 5,500 บาท
          ในด้านค่าเช่าแบ่งได้ 3 ระดับ คือ 3,000-4,000 บาท/เดือน, 4,000-6,000 บาท/เดือน และ 6,000-8,000 บาท/เดือน พบประเด็นที่สนใจ 3 ข้อ คือ 1.ระดับราคาที่ตลาดตอบรับดีทั้ง 2 กลุ่ม คือช่วง 3,000-4,000 บาท/เดือน มีขนาด
          ห้อง 22-23 ตารางเมตร 2.ห้องเช่าราคาเดือนละ 6,000-8,000 บาท หากเป็นนักศึกษาจะต้องการห้องประมาณ 40 ตารางเมตร และต้องการฟิตเนส-สระว่ายน้ำ
          ส่วนกลุ่มคนทำงานจะต้องการห้องขนาดประมาณ 30 ตารางเมตร โดยไม่ได้คาดหวังมีฟิตเนส- สระว่ายน้ำ และ 3.กลุ่มที่เช่าระดับราคา 4,000-6,000 บาท หากเป็นคนทำงานจะต้องการลิฟต์และเครื่องทำน้ำอุ่น แต่นักศึกษาจะไม่ได้คาดหวัง
          ประเด็นที่น่าสนใจคือคำถามที่ว่า... หากจะลงทุนทำอพาร์ตเมนต์ ขนาด "หน้ากว้าง" ของห้องแค่ไหนจึงเหมาะสม ? ผลวิจัยพบว่า ห้องหน้ากว้าง "5.10 เมตร" คือจุดกึ่งกลางที่เหมาะสม เพราะไม่แคบจนเกินไป ขณะเดียวกัน เป็นขนาด สแปนเสาห้อง (ระยะห่างระหว่างเสา) ที่สามารถทำที่จอดรถได้ 2 คันพอดี จึงไม่เหลือพื้นที่ส่วนเกินสำหรับที่จอดรถมากนัก
          ทั้งหมดนี้เป็นเทคนิคการลงทุนอพาร์ตเมนต์ให้ได้กำไรใน พ.ศ.นี้
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ

ไฮสปีดเทรนไทย-ลาวม่วนชื่นเล็งตั้งคณะทำงาน 3 ประเทศ"แสนสิริ"ลุยตลาดอีสานรองรับ


        "ชัชชาติ" แจงไฮสปีดไทย-ลาวเชื่อมจีน  เตรียมตั้งคณะทำงานร่วม  3  ประเทศ  ขณะที่  "แสนสิริ"สนับสนุนเต็มที่  เพื่อกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาคและลดความแออัดในกรุงเทพฯ  รุกขยายโครงการในต่างหวัด  ล่าสุดสร้างยอดขายในหลายจังหวัดรวมมูลค่า  10,000  ล้านบาท  จ่อเปิด  2  โครงการในจังหวัดอุดรธานีและระยอง  เผยอุดรธานีมีศักยภาพสูงในการตอบโจทย์การเปิด  AEC  และพัฒนารถไฟฟ้าความเร็วสูง
          นายชัชชาติ  สิทธิพันธุ์  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม  เปิดเผยว่า  จากการหารือในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีร่วมอย่างไม่เป็นทางการไทย-ลาว  ถึงความร่วมมือพัฒนาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อจากประเทศจีน  สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว  (สปป.ลาว)  มายังประเทศไทยนั้น  ในเร็วๆ  นี้  ทางกระทรวงคมนาคมจะไปหารือกับ  นายทองลุน  สีสุลิด  รองนายกรัฐมนตรี  และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของ  สปป.ลาว  เพื่อสรุปรูปแบบการพัฒนาร่วมกัน  จากนั้น  จะตั้งคณะทำงานร่วม  3  ประเทศ  ทั้งจีน  สปป.ลาว  และไทย  ก่อนจัดประชุมเพื่อเร่งผลักดันโครงการดังกล่าวให้เสร็จ  ซึ่งที่ผ่านมายอมรับว่า  แต่ละประเทศได้หารือไปหลายครั้งแล้ว  แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปที่แน่ชัด  เพราะได้แยกการหารือออกเป็นฝ่าย  เช่น  ฝ่ายไทยหารือกับจีน  หรือจีนไปหารือกับ  สปป.ลาว  โดยไม่เคยหารือร่วมกันครบทั้ง  3  ประเทศ  จึงเห็นว่าจากนี้ไปต้องเร่งจัดประชุมร่วม  3  ประเทศ  เพื่อให้แต่ละประเทศได้ข้อสรุปในทิศทางเดียวกัน
          ด้าน  นายเศรษฐา  ทวีสิน  กรรมการผู้จัดการใหญ่  บริษัท  แสนสิริ  เปิดเผยว่า  การลงทุนรถไฟฟ้า  และรถไฟความเร็วสูง  เป็นเรื่องจำเป็น  เนื่องจากจะช่วยกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาค  และลดความแออัดในกรุงเทพฯ  โดยไม่อยากให้กังวลปัญหาคอรัปชัน  จนไม่สามารถเดินหน้าโครงการได้  จะทำให้ไทยเหมือนถูกแช่แข็ง  ขณะนี้สิ่งที่นักลงทุนต้องการเห็นมากที่สุด  คือ  การตอกเสาเข็ม  เพื่อทำให้เอกชนเกิดความมั่นใจในการวางแผนการลงทุนในอนาคตมากขึ้น  นอกจากนี้การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน  2  ล้านล้านบาทของรัฐบาลไปสู่จังหวัดต่างๆ  จะช่วยให้เกิดการลงทุน  พัฒนาเมืองใหญ่ๆ  ให้เติบโต  ช่วยให้เกิดการสร้างงานในพื้นที่  ทำให้รัฐจะได้เก็บภาษีเพิ่มขึ้น  ถือว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า  รวมทั้งมองว่าการสร้างรถไฟความเร็วสูงจะช่วยให้นักท่องเที่ยวพักอาศัยในเมืองไทยมากขึ้น  จากเดิมอยู่เพียงแค่  1-5  วัน  และจะช่วยให้ลดปัญหาความสังคม  เนื่องจากต่อไปครอบครัวจะอยู่กันพร้อมหน้าพร้อมตา  ไม่ต้องทิ้งลูกให้ปู่ย่าตายายเลี้ยง  แล้วตนเองต้องเดินทางมาทำงานในกรุงเทพฯ 
          ผลสำเร็จตามแผนการดำเนินธุรกิจในด้านรุกขยายการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์เพื่อตอบรับกลุ่มลูกค้าของแสนสิริที่มีอยู่ทั่วประเทศอย่างเต็มรูปแบบในปี  2556  ล่าสุดบริษัทสามารถสร้างยอดขายหรือพรีเซลจากการเปิดตัวโครงการที่อยู่อาศัยต่างๆ  ในตลาดต่างจังหวัดได้แล้วถึง  10,000  ล้านบาท  จากความสำเร็จในการทยอยปิดการขายโครงการใหม่ๆ  ในทุกจังหวัดได้อย่างต่อเนื่องและรวดเร็วในช่วงที่ผ่านมา  ทั้งในหัวหิน-ภูเก็ต-ระยอง-พัทยา  และขอนแก่น  จำนวนทั้งสิ้น  8  โครงการ  ใน  5  จังหวัดหลักทั่วประเทศ  ขณะนี้บริษัทได้เตรียมเปิดการขายอีก  2  โครงการคอนโดมิเนียมใหม่  ได้แก่  “เดอะ  เบส  ไฮท์-อุดรธานี”  มูลค่าโครงการรวม  1,000  ล้านบาท  ซึ่งนับเป็นการรุกพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยเพื่อตอบรับกลุ่มลูกค้าในจังหวัดอุดรธานีเป็นครั้งแรก  และ  “ดีคอนโด  นครระยอง”  มูลค่าโครงการรวม  1,000  ล้านบาท  ซึ่งเป็นการพัฒนาโครงการเพื่อตอบรับกลุ่มลูกค้าในจังหวัดระยองต่อเนื่องเป็นโครงการที่  2  ต่อจากโครงการแรกที่ได้รับการตอบรับที่ดีจนสามารถปิดการขายลงอย่างรวดเร็วในวันแรกของการเปิดพรีเซล  คาดว่าทั้ง  2  โครงการจะได้รับการตอบรับที่ดีจากกลุ่มลูกค้าในตลาดต่างจังหวัดเช่นเดียวกับโครงการอื่นๆ  ที่ผ่านมา 
          “การพัฒนาโครงการ  “เดอะ  เบส  ไฮท์-อุดรธานี”  จำนวนทั้งสิ้น  408  ยูนิต  มูลค่าโครงการประมาณ  1,000  ล้านบาท  นับเป็นการพัฒนาที่อยู่อาศัยเพื่อตอบรับความต้องการของกลุ่มลูกค้าในจังหวัดอุดรฯ  ตามแผนการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ในตลาดต่างจังหวัดอย่างต่อเนื่อง  ทั้งนี้  อุดรธานีเป็นจังหวัดที่มีศักยภาพสูงทั้งในด้านการเป็นศูนย์กลางการค้าและบริการของภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน  เป็นศูนย์กลางการขนส่ง  นอกจากนี้ยังมีความโดดเด่นในด้านความเป็นเมืองท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์  ประกอบกับในอนาคต  อุดรธานี  ยังเป็นจังหวัดที่จะมีศักยภาพที่สูงมากในการตอบโจทย์การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน  หรือ  AEC  รวมทั้งการพัฒนาระบบรถไฟฟ้าความเร็วสูง,  การพัฒนารางรถไฟระบบรางคู่  และโครงการทางหลวงอาเซียน  (ASEAN  Highway)  ซึ่งจะเชื่อมโยงพื้นที่ศักยภาพของ  10  ประเทศอาเซียน  ซึ่งบริษัทมีความมั่นใจในศักยภาพของจังหวัดอุดรธานี  รวมทั้งยังมีแผนการพัฒนาโครงการเพื่อรองรับความต้องการที่อยู่อาศัยในจังหวัดอุดรธานีอย่างต่อเนื่อง  ส่วนโดมิเนียมโครงการที่  2  ในจังหวัดระยอง  ภายใต้แบรนด์  “ดีคอนโด  นครระยอง”  จำนวนทั้งสิ้น  575  ยูนิต  มูลค่าโครงการกว่า  1,000  ล้านบาทนั้น  เป็นการตอกย้ำความสำเร็จจากการเปิดตัวโครงการแรก"  นายเศรษฐา  กล่าว
ที่มา : ดอกเบี้ยธุรกิจ

วันพฤหัสบดีที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

คอนโดฯแคมปัสฮอตแรงชี้กลุ่มนักศึกษาตลาดใหม่/ค่ายใหญ่แห่ผุด


      บิ๊กอสังหาฯปรับกลยุทธ์หันลุยนิชมาร์เก็ต เล็งคอนโดฯแคมปัส "พฤกษา" แย้มแผนครึ่งปีหลังเตรียมเปิดโครงการนำร่องที่มหาวิทยาลัยเกษตรฯ เป็นคอนโดฯโลว์ไรส์ราคาเริ่มต้นประ มาณ 2 ล้านบาท ด้าน "พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์ เฟค" ลุยลงทุนหอพักและคอนโดฯให้เช่าแบรนด์ "ยูนิลอฟท์" เล็งเปิดเพิ่มอีก 3 ทำเลที่ขอนแก่น-สงขลา และบางนา หลังชิมลาง 2 ทำเลที่เชียง ใหม่และศาลายา ผลตอบรับแต่ละโครงการกว่า 50% เตรียมผลักดันจัดตั้งกองทุนอสังหาริม ทรัพย์มูลค่ารวม 1,070 ล้านบาทในปลายไตรมาส 2 นี้
          จากกรณีที่ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำ หันมาลงทุนในโครงการคอนโดมิเนียมที่จับลูกค้าเฉพาะกลุ่มกันโดยเฉพาะตลาดนักศึกษาหรือคอนโดฯแคมปัส เป็นที่สนใจอย่างมาก เนื่องจากประชากรกลุ่มนี้ถือเป็นลูกค้ากลุ่มใหญ่ ซึ่งนอก จากนักศึกษาแล้วยังมีบุคลากรของมหา วิทยาลัยที่ต้องการซื้อเพื่ออยู่อาศัย    นายยิ่งพงศ์ เกษมสิน ผู้อำนวยการโครง การยูนิลอฟท์ บริษัท พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค จำกัด(มหาชน) เปิดเผยว่าหลังเปิดตัวโครงการหอพักรูปแบบ Campus Living แบรนด์ ยูนิลอฟท์ให้เช่า 2 ทำเลที่เชียง ใหม่และศาลายา ปรากฏว่ายอดจองแต่ละโครง การสูงกว่า 50% ดังนั้นในขณะนี้ทางเพอร์ เฟคเตรียมขยายโครง การเพิ่มอีก 3 ทำเลที่ขอนแก่นสงขลา และย่านบางนาเพื่อรองรับนักศึกษาและบุคลากรของมหาวิทยาลัยของรัฐและเอกชน
          โดยที่บางนามีที่ดินใกล้มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (เอแบค) จะปรับรูปแบบโครงการเป็นยูนิลอฟท์คอนโด มูลค่าโครงการ 1,200 ล้านบาท คาดเปิดตัวประมาณไตรมาส 3 ของปีนี้ จากนั้นประมาณไตรมาส 4 ที่ศาลายาจะเปิดโครงการยูนิลอฟท์คอนโด บนพื้นที่ 5 ไร่ มูลค่าโครงการ 900 ล้านบาท  นายยิ่งพงศ์ กล่าวย้ำว่าพร้อมกันนี้บริษัทมีแนวคิดจะจัดตั้งกองทุนอสังหาริมทรัพย์ขึ้นคาดว่าจะสามารถจัดตั้งได้ในปลาย ไตรมาส 2 นี้ มีมูลค่ากองทุนรวม 1,070 ล้านบาท ผลตอบแทนเป็น Guarantee Yield อยู่ที่ 6.5% ต่อปี โดยเป็นกองทุนแบบ Freehold ซึ่งผู้ลงทุนถือครองเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์สินทรัพย์ที่มีคุณภาพมีการก่อสร้างตกแต่งอย่างดีประการสำคัญยังมีความมั่น คงของดีมานด์ที่เข้ามาเรื่อยๆจากตลาดการศึกษาที่เปิดกว้างมากขึ้น "จัดเป็นสินค้าในเซ็กเมนต์ใหม่ที่จับกลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยเพิ่มขึ้น ซึ่งหากดูข้อมูลตัวเลขประชากรอาเซียนในช่วงอายุ 0-29 ปี คืออยู่ในวัยศึกษาถึงระดับปริญญาโท พบว่ากลุ่มนี้มีอัตราส่วนสูงถึง 53.4% หรือเกินกว่าครึ่งของจำนวนประชากรทั้งหมด ซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่ ตลาดการศึกษาจึงเป็นตลาดใหญ่ นอกจากนี้การเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน คาดว่าจะทำให้มีนักศึกษาต่างชาติเข้ามาเรียนในเมืองไทยเพิ่ม
          ขึ้น ยูนิลอฟท์จึงเป็นสินค้าที่จะมารองรับนักศึกษากลุ่มนี้ รวมทั้งยกระดับมาตรฐานของหอพักสำหรับนักศึกษาไทย ให้มีคุณภาพแตกต่างจากหอพักที่เราคุ้นเคยอีกด้วย" ด้านนายศรัณยู โง้วศิริมณี ผู้จัดการอาวุโส สายงานพัฒนาธุรกิจของพร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค ผู้รับผิดชอบงานวางแผนโครงการยูนิลอฟท์  กล่าวว่า โครงการยูนิลอฟท์ 2 โครงการแรกที่ใกล้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และใกล้มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา จ.นครปฐม มีจุดเด่นที่แตกต่างจากหอพักทั่วไปคือ อาคารสูงประมาณ 8 ชั้น ขนาดพื้นที่ 30 ตร.ม. และแยกอย่างชัดเจนระหว่างหอชายและหอหญิง โดยมีพื้นที่ส่วนกลางและสิ่งอำนวยความสะดวก ได้แก่ พื้นที่อ่านหนังสือ พร้อมคอม พิวเตอร์ iMac ให้ใช้ค้นหาข้อมูล สระว่ายน้ำ ฟิตเนส และบริการ Wi-fi ในพื้นที่ส่วนกลาง และอินเตอร์เน็ตในห้องพัก ร้านสะดวกซื้อ ร้านอาหาร เป็นต้น บริษัทคาดการณ์จะมีรายได้จากตลาดหอพักให้เช่านี้ประมาณ 750-800 ล้านบาทต่อปี โดยขณะนี้มียอดจองแล้ว 50% อัตราค่าเช่าประมาณ 7,000 บาทต่อเดือน เช่นเดียวกับนายประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต กรรมการและรองกรรมการผู้จัดการ บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) ที่ระบุว่า พฤกษาได้เตรียมเปิดตัวโครงการแคมปัส ซีรีย์ ในช่วงครึ่งปีหลัง 2556 ประเดิมโครงการแรกย่านมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในรูปแบบคอนโดมิเนียมโลว์ไรส์ ขนาดห้องเริ่มต้นที่ 30 ตร.ม. ราคาเริ่มต้น 2 ล้านบาท  "ในปีนี้เราจะโฟกัสในกลุ่มนิชมาร์เก็ตเพิ่มขึ้น เนื่องจากตลาดในกลุ่มนี้ยังคงมีความต้องการอยู่อีกเป็นจำนวนมาก โดยโครงการที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ถือเป็นโครงการแรกที่เราจะเริ่มดำเนินการ แต่ในขณะนี้อยู่ระหว่างการสรุปชื่อโครง การ และรายละเอียดต่างๆ"  อนึ่ง ก่อนหน้านี้บริษัท แสนสิริฯ เปิดแคมปัสคอนโดฯใกล้มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ บางนา ภายใต้ชื่อดีคอนโด และยังมีบริษัท แคปปิตอล จี ดีเวลลอปเมนท์ฯ ลงทุนโครงการดิ อะเวนิว คอนโดเพื่อให้นักศึกษาเช่าในทำเลใกล้มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ บาง นา และอีกโครงการใกล้มหาวิทยาลัยรังสิต
ที่มา : ฐานเศรษฐกิจ 

โรงเรียนนานาชาติคึกคักรับเออีซีหน้าใหม่แห่ชิงเค้กตลาดโต16%สะพัด1.9หมื่นล้าน


ตลาด ร.ร.นานาชาติร้อนแรง ผู้เล่น รายใหม่แห่ยื่นอนุมัติใช้หลักสูตร เตรียมเปิดเพิ่มปีละ 3-5 แห่ง ผู้ประกอบการรายเก่ารุกขยายสาขาไปจังหวัดหัวเมือง-ต่างประเทศ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยชี้ปีนี้ นร.เพิ่ม 10% คาดค่าเทอมสูงกว่าปีที่แล้ว 5% ส่งผลมูลค่าตลาดพุ่ง 16% เงินสะพัด 1.9 หมื่นล้านบาท
          ดร.บัณฑิตย์ ศรีพุทธางกูร เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) กล่าวว่า ปีการศึกษา 2556 จะมีโรงเรียนนานาชาติที่เปิดใหม่ 2 โรงเรียน อยู่ในเขตมีนบุรี กรุงเทพมหานคร และจังหวัดเชียงใหม่อย่างละ 1 โรงเรียน ซึ่งเจ้าของโรงเรียนทั้งสองแห่งเป็นผู้ประกอบการหน้าใหม่ของตลาด
          "โดยเฉลี่ยจะมีโรงเรียนนานาชาติเปิดใหม่ปีละ 3-5 แห่ง และมีแนวโน้มเปิดใหม่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งขณะนี้มีโรงเรียนอีก 5-6 แห่งอยู่ระหว่างการขอยื่นอนุมัติการใช้หลักสูตร โดยคาดการณ์ว่าปีนี้จะมีนักเรียนเรียนเพิ่มขึ้น 10% จากปีที่แล้วที่มียอดผู้เรียนประมาณ 3 หมื่นคน ปัจจัยการเติบโตของตลาดโรงเรียนนานาชาติน่าจะมาจากการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และการก้าวสู่ความเป็นสากลที่ภาษามีความจำเป็นและเป็นเรื่องสำคัญ จึงทำให้ผู้ปกครองและนักเรียนสนใจด้านนานาชาติมากขึ้น"
          ขณะเดียวกันโรงเรียนนานาชาติจะเริ่มขยายไปชานเมืองและปริมณฑล ตลอดจนจังหวัดที่เป็นหัวเมืองใหญ่ โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนืออย่าง จ.อุดรธานี เพราะการคมนาคมและโครงการต่าง ๆ ลงไปที่ภาคนี้เยอะ เนื่องจากมีการเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้านทั้งลาวและกัมพูชา ถือว่าต่างจากเดิมที่ผู้ประกอบการนิยมไปเปิดโรงเรียนแถวสุขุมวิท ซึ่งขณะนี้พื้นที่ในกรุงเทพมหานครอิ่มตัวแล้ว
          อย่างไรก็ดีถึงแม้ค่าเล่าเรียนของโรงเรียนนานาชาติจะปรับตัวเพิ่มขึ้นทุกปี แต่คิดว่าผู้ปกครองยอมจ่าย เพราะคำนึงถึงเรื่องคุณภาพ และอยากให้ลูกอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี
          นางสาวสุดา มาโรลี่ Deputy Head of School โรงเรียนนานาชาติร่วมฤดีวิเทศศึกษา เปิดเผยว่า โรงเรียนมีแผนขยายไปเปิดโรงเรียนที่ต่างประเทศ อาจเริ่มจากประเทศเพื่อนบ้านก่อน เพื่อตอบรับการรวมตัวของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่กำลังจะมาถึงในอีกสองปีข้างหน้า
          นอกจากนี้ กระทรวงศึกษาธิการมีเจตนารมณ์ให้ประเทศไทยเป็นศูนย์รวมของการศึกษาระดับอาเซียน ดังนั้นโรงเรียนนานาชาติต่าง ๆ จึงมีนโยบายเพิ่มการรับนักเรียนที่มาจากต่างประเทศมากขึ้น จึงทำให้การแข่งขันระหว่างโรงเรียนมีสูงขึ้นตามไปด้วย
          "ตลาดการศึกษานานาชาติของไทยมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างแน่นอน เนื่องจาก ผู้ปกครองของนักเรียนเห็นความสำคัญของภาษาอังกฤษมากขึ้น แม้แต่โรงเรียนไทยก็พัฒนาให้มีหลักสูตรภาคภาษาอังกฤษเพิ่มเข้ามาในโรงเรียนใหญ่ ๆ เกือบทุกโรงเรียน และยังมีโรงเรียนสองภาษาที่ ลงทะเบียนในระบบอีกเป็นร้อย อีกทั้งยังให้นักเรียนเรียนเสริมภาษาตั้งแต่ยังไม่เข้าชั้นประถมศึกษาด้วยซ้ำ ในมุมมองของผู้อยู่ในโรงเรียนนานาชาติ คิดว่าต้องเน้นเพิ่มเติมให้นักเรียนเรียนรู้ภาษาที่สาม เพื่อจะแข่งขันในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนได้ต่อไป"
          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ไม่เพียงแต่ภาคเอกชนที่เปิดโรงเรียนนานาชาติเพิ่มขึ้น แต่ในส่วนของภาครัฐก็ได้ขยับมาทำด้านนี้ด้วย ซึ่งปีการศึกษา 2556 มหาวิทยาลัยมหิดลได้เปิดโรงเรียนสาธิตนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล ทำการเรียนการสอนนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4-6 โดยตั้งเป้าจะรับนักเรียนชั้นละ 300 คน มี ค่าเล่าเรียน 1.5 แสนบาทต่อภาคการศึกษา ทั้งนี้ในการศึกษา 2556 จะเปิดรับนักเรียนเฉพาะนักเรียนชั้น ม.4 ก่อน
          อนึ่งจากข้อมูลของศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า สิ้นปี 2555 มีจำนวนนักเรียนในโรงเรียนนานาชาติรวม 39,212 คน แบ่งเป็นนักเรียนไทยและต่างชาติอย่างละ 50% โดยนักเรียนต่างชาติที่เข้ามาศึกษาส่วนใหญ่เป็นชาวญี่ปุ่น, อังกฤษ, สหรัฐอเมริกา, อินเดีย และเกาหลีใต้ โดยมีโรงเรียนนานาชาติทั้งหมด 138 แห่ง อยู่ในพื้นที่ กรุงเทพมหานคร 91 โรงเรียน และ ต่างจังหวัด 47 โรงเรียน
          นอกจากนี้ยังพบว่าผู้ประกอบการโรงเรียนนานาชาติมุ่งขยายธุรกิจไปในแถบชานเมือง รวมถึงปริมณฑลและต่างจังหวัดที่เป็นเมืองหลัก และมีแนวโน้มขยายไปจังหวัดที่มีชาวต่างชาติเข้ามาทำงานหรือประกอบธุรกิจอยู่เป็นจำนวนมาก ทั้ง ในรูปแบบการเปิดโรงเรียน โดย ผู้ประกอบการโรงเรียนนานาชาติรายใหม่ และการขยายสาขาของโรงเรียนนานาชาติที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน
          โดยพบว่าภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น จ.อุดรธานี จ.อุบลราชธานี เป็นทำเลที่มีศักยภาพที่ผู้ประกอบการโรงเรียนนานาชาติจะสามารถขยายฐานลูกค้าไปสู่ชาวลาวและกัมพูชาที่เข้ามาทำงาน หรือประกอบธุรกิจในจังหวัดดังกล่าว นอกจากนี้บางจังหวัดที่มีโรงเรียนนานาชาติอยู่แล้ว มีแนวโน้มที่จะมีโรงเรียนนานาชาติเพิ่มขึ้น เช่น จ.สุราษฎร์ธานี จ.ขอนแก่น
 เพราะเป็นจังหวัดที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจ และมีชาวต่างชาติเข้ามาทำงานหรือประกอบธุรกิจอยู่เป็นจำนวนมาก
          ทั้งนี้คาดการณ์ว่า จำนวนนักเรียนในโรงเรียนนานาชาติในประเทศไทยจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยจะมีจำนวนนักเรียนเพิ่มจาก 39,212 คน ในปี 2555 เป็น 43,133 คน ในปี 2556 หรือเติบโต 10% ขณะที่ ค่าเทอมโดยเฉลี่ยจะเพิ่มจาก 441,000 บาท/คน/ปี ในปี 2555 เป็น 463,050 บาท/คน/ปี หรือสูงขึ้น 5% ทั้งยังได้ประมาณการว่า มูลค่าตลาดโรงเรียนนานาชาติจะสูงขึ้นจาก 17,292 ล้านบาท ในปี 2555 เป็น 19,973 ล้านบาท ในปี 2556 หรือเติบโต 16%
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ

วันอาทิตย์ที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ลุยแคมปัสคอนโด เจาะน.ศ.รับเออีซี


  นายศรัณยู โง้วมณีศิริ ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายวางแผนโครงการ สายงานพัฒนาธุรกิจ บริษัท พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า มีแผนที่จะขยายโครงการยูนิลอฟท์ ในรูปแบบแคมปัส คอนโด เพื่อขายเพิ่มเติมอีก จากก่อนหน้านี้ได้เปิดโครงการยูนิลอฟท์ รูปแบบ แคมปัส ลีฟวิ่ง ที่เชียงใหม่และศาลายา สำหรับเป็นหอพักให้เช่า เนื่องจากตลาดการศึกษาเป็นตลาดที่ใหญ่และในอนาคตการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี จะทำให้มีนักศึกษาต่างชาติเดินทางเข้ามามากขึ้น ซึ่งแบรนด์ยูนิลอฟท์ จะเน้นจับกลุ่มตลาดการศึกษาเป็นการเฉพาะ
          "ตลาดวัยที่อยู่ระหว่างการศึกษาถึงระดับปริญญาโทในอาเซียนมีอัตราส่วนมากถึง 53.4% นอกจากนี้ยังมีนักลงทุนที่สนใจซื้อจึงมีการพัฒนาส่วนของ ยูนิลอฟท์ คอนโด เพิ่มเติม ซึ่งจะมีความยืดหยุ่นในการอยู่อาศัยมากกว่ายูนิลอฟท์ แคมปัส ที่เป็นหอพักเช่าแยกชาย-หญิง" นายศรัณยูกล่าว
          นายศรัณยูกล่าวว่า มีแผนเปิดโครง การแคมปัส คอนโด 2 โครงการ ช่วงไตรมาสที่ 4/2556 คือ ยูนิลอฟท์ เอแบค บางนา จำนวน 1,000 ยูนิต มูลค่าโครงการ 1,200 ล้านบาท และยูนิลอฟท์ ศาลายา เฟส 2 จำนวน 500 ยูนิต มูลค่า 900
          ล้านบาท ราคาขายต่อยูนิต 1.6 ล้านบาท หรือ 55,000 ต่อตารางเมตร (ตร.ม.) และในช่วงไตรมาส 2/2557 จะเปิดแคมปัส คอนโด ที่ศาลายา เฟส 3 จำนวน 1,000 ยูนิต มูลค่า 1,200 ล้านบาท ในอนาคตมีแผนที่จะเปิดโครงการย่านมหาวิทยาลัยหอการค้า รวมทั้งมีแผนที่จะเปิดโครงการยูนิลอฟท์ย่านมหาวิทยาลัยหัวเมืองเพิ่มเติม เช่น ขอนแก่น สงขลา เป็นต้น
          นายศรัณยูกล่าวว่า สำหรับความคืบหน้าการนำโครงการยูนิลอฟท์ เชียงใหม่และศาลายา ซึ่งจะจัดตั้งเป็นกองทุนอสังหาริมทรัพย์ คาดว่าจะสามารถก่อตั้งได้ภายในไตรมาส 2/2556 มูลค่ากองทุนรวม 1,070 ล้านบาท เป็นกองทุนแบบฟรีโฮลด์ โดยบริษัทจะถือหุ้นสัดส่วน 40% และเสนอขายอีก 60% โดยการันตีผลตอบแทน 6.5%
ที่มา : มติชน 

ม.ขอนแก่นตั้งเป้าผลิต"ครูมืออาชีพ"


  ผศ.ดร.ไมตรี อินทร์ประสิทธิ์ คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษาได้ดำเนินโครงการ "ครูมืออาชีพ" มีเป้าหมายเพื่อการผลิตครูที่มีความรู้ทางวิชาการ เชี่ยวชาญทางวิชาชีพและมีอุดมการณ์ โดยการดึงดูดคนดี คนเก่ง เข้ามาศึกษาวิชาชีพครูด้วยหลักสูตรและกระบวนการที่เน้นการฝึกปฏิบัติและการฝึกอบรมที่เข้มข้น ซึ่งโครงการนี้มีการคัดเลือกสถาบันอุดมศึกษาทั่วภูมิภาคที่มีความเชี่ยวชาญและมีศักยภาพเป็นสถาบันฝ่ายผลิตครูในโครงการ ซึ่งคณะศึกษาศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นหนึ่งในสถาบันของโครงการและเป็นแกนหลักของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทั้งนี้นักศึกษาที่สมัครทุนของโครงการจะต้องมีคุณสมบัติและผ่านเกณฑ์ที่กำหนดนักศึกาาของโครงการเมื่อจบการศึกษาจะได้รับการบรรจุเข้ารับราชการครู
          สำหรับการปัจฉิมนิเทศนิสิตนักศึกษาโครงการครูมืออาชีพ รุ่นปีการศึกษา 2554 ปลายเดือนมีนาคม 2556 ที่ผ่านมา มีจุดมุ่งหมายเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเข้าสู่วิชาชีพครูเป็นการสร้างเจตคติที่ดีต่อวิชาชีพ และเพื่อสร้างเครือข่ายครูอันนำไปสู่การพัฒนาศึกษาของชาติ โดยมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมเป็นนิสต นักศึกษาที่ได้รับทุนโครงการ 617 คน ซึ่งเป็นรุ่น พ.ศ.2554 ที่สำเร็จการศึกษาในเดือนมีนาคม 2556 พร้อมที่จะบรรจุเข้ารับราชการครูในสังกัดสำนักงานคณะกรรมากรการศึกษาขั้นพื้นฐานในเดือน พฤษภาคม 2556 นี้เอง
          สำหรับโครงการครูมืออาชีพ เดิมชื่อว่า โครงการผลิตครูพันธุ์ใหม่ โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติเปลี่ยนชื่อเมื่อเดือนพฤษภาคม 2555 โดยในรุ่นปีการศึกษา 2554 มีผู้ร่วมโครงการ 1,438 คน ซึ่งนักศึกษาคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้รับทุนครั้งนี้ถึง 150 คน ทั้งนี้ได้มีการปัจฉิมนิเทศไปยังภาคต่างๆ ซึ่งภาคตะวันออกเฉียงเหนือจัดที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยมีอาจารย์ผู้ดูแลจากสถาบันต่างๆ คณาจารย์ผู้บริหาร นักวิชาการมาร่วมงาน พร้อมด้วย น.ส.วัฒนาพรี สุขพรต ผู้อำนวยการกลุ่มวางแผนและพัฒนากำลังคน สำนักนโยบายและแผนการอุดมศึกษา มาเป็นผู้แทนของสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา การจัดกิจกรรมครั้งนี้ได้มีการบรรยายในหลายหัวข้อ อาทิ การพัฒนาวิชาชีพครู ด้วยการสอนเพื่อพัฒนานักเรียนให้มีสมรรถนะตามความต้องการของศตวรรษที่ 21 โดย ผศ.ดร.ไมตรี อินทร์ประสิทธิ์ เส้นทางสู่ครูมืออาชีพ และการเสวนากลุ่มย่อย เส้นทางของวิชาชีพครูในระบบโรงเรียน
ที่มา : คม ชัด ลึก

ชี้คอนโดขอนแก่น'ไม่ล้น'ส่งสัญญาณเก็งกำไรบางทำเล


          ศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน (ECBER) คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เผยผลสำรวจ "รายงานอสังหาริมทรัพย์ขอนแก่น ไตรมาส 1 ปี 2556" สำหรับตลาดคอนโดมิเนียม โดยผลการสำรวจพบว่า จำนวนโครงการเปิดใหม่เริ่มน้อยลง ส่วนสินค้าเหลือขายมีเหลืออยู่ไม่มาก และต้องเฝ้าติดตามการเก็งกำไรในบางทำเล
          นายศุภกร ศิริสุนทร หัวหน้าโครงการสำรวจตลาดอสังหาริมทรัพย์ภาคอีสาน กล่าวว่า ภาคอสังหาริมทรัพย์เป็นดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจที่สำคัญ จำเป็นต้องเฝ้าระวังความเสี่ยงที่อาจเกิดจากภาวะสินค้า "ล้นตลาด" หรือ ฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ โดยครั้งนี้เป็นการสำรวจในไตรมาส 1 ปี 2556 ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 1-11 เม.ย. ที่ผ่านมา จากโครงการประเภทคอนโดในจังหวัดขอนแก่น จำนวน 29 โครงการ รวม  47 อาคาร   สำรวจเฉพาะในพื้นที่อำเภอเมืองขอนแก่น ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการเติบโตของอสังหาริมทรัพย์ประเภทคอนโดสูงมากในรอบ 2 ปีที่ผ่านมาผลสำรวจพบว่า มีโครงการคอนโดที่เปิดให้จองซื้อในเขต อ.เมือง จ.ขอนแก่น ตั้งแต่ปี 2555 จนถึงสิ้นไตรมาส 1 ปี 2556 รวม 39 อาคาร จาก 29 โครงการ โดยยังเปิดขายอยู่ 26 อาคาร ปิดการขายแล้ว 13 อาคาร  มีจำนวนห้องชุดเปิดขายรวม 5,684 ยูนิต  หากนับรวมกับโครงการที่เปิดขายในช่วงเดือน เม.ย.- พ.ค. ที่ผ่านมา 230 ยูนิต  คาดจะเปิดขายในอนาคตรวมเป็น 2,214 ยูนิต ทำให้มีจำนวนรวมถึง 7,976 ยูนิต
          ห้องชุดที่เปิดขายตั้งแต่ปี 2555 จนถึงสิ้นไตรมาส 1 ปี 2556 ขายได้แล้ว 3,820 ยูนิต คงเหลือสินค้าเป็นอุปทานในตลาด 1,712 ยูนิต หากรวมกับสินค้าที่เหลือขายจากโครงการที่เปิดก่อนปี 2555 อีก 158 ยูนิต จะมีสินค้าเหลือขายในตลาด 1,870 ยูนิต หรือมีสินค้าเหลือขายคิดเป็น  31% :ทุนใหม่ลุยขยายโครงการ
          โครงการคอนโดใน จ.ขอนแก่น กว่า 47% หรือจำนวน15 โครงการ  พัฒนาโดย "ผู้ประกอบการหน้าใหม่"  อีก 37% หรือ 12 โครงการ  พัฒนาโดยบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ประเภทที่อยู่อาศัยท้องถิ่น และ16% หรือ 5 โครงการ  พัฒนาโดยบริษัทมหาชนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ส่วนราคาขายต่ำสุด อยู่ที่ 7.9 แสนบาทต่อห้อง หรือ เฉลี่ย  2.5 หมื่นบาทต่อตร.ม. ราคาขายแพงที่สุด 9.65 ล้านบาทต่อห้อง  หรือเฉลี่ย  9 หมื่นบาทต่อ ตร.ม. โดยราคาขายเฉลี่ยรวมทุกทำเลอยู่ที่ตร.ม.ละ 5.07 หมื่นบาทต่อตร.ม. แต่หากแยกเป็นรายทำเล ราคาต่ำสุดอยู่ที่ย่านศูนย์ราชการขอนแก่น ราคาเฉลี่ย 4.1 หมื่นบาทต่อตร.ม.  ตามด้วยทำเลบ้านศรีฐาน-บึงหนองโคตร ราคาเฉลี่ย 4.13 หมื่นบาทต่อตร.ม. ทำเลโดยรอบมหาวิทยาลัยขอนแก่น ราคาเฉลี่ย 4.6 หมื่นบาทต่อตร.ม.  ส่วนทำเลใจกลางเมือง-ถนนศรีจันทร์ ราคาสูงสุดเฉลี่ย 5.85 หมื่นบาทต่อตร.ม.
          ในส่วนของอัตราการขาย และสินค้าเหลือขายในตลาด พบว่าโครงการขายไปได้แล้วประมาณ 69% มีสินค้าเหลือขายในตลาด สิ้นไตรมาสแรกที่ผ่านมา 1,870 ยูนิต หรือ 31%  โดยทำเลขายดีที่สุด คือ ย่านศูนย์ราชการขอนแก่น ขายได้แล้ว 93% เป็นเพราะมีโครงการเปิดขายเพียง 2 โครงการรวม 95 ยูนิต รองลงมาคือทำเลบ้านศรีฐาน-บึงหนองโคตร ขายได้แล้ว 86% จากจำนวนรวม 620 ยูนิต เนื่องจากเป็นทำเลใกล้เมือง และราคาขายค่อนข้างต่ำ  ทำเลรอบมหาวิทยาลัยขอนแก่นพบว่ามีโครงการเปิดขายเป็นจำนวนมากและขายได้แล้ว 70% จากจำนวนรวม 2,047 ยูนิต  เป็นเพราะมีตลาดเช่าจากนักศึกษาและบุคลากรมหาวิทยาลัยขอนแก่น  ส่วนทำเลใจกลางเมืองถนนศรีจันทร์ ขายไปแล้ว 65% จากจำนวนรวม 3,374 ยูนิต:'ดาวน์ต่ำ-ขายสิทธิ์จอง'ส่อเก็งกำไร สำหรับยอดขายดังกล่าวเป็นยอดที่เกิดจากการจองซื้อโครงการเท่านั้น ต้องติดตาม "ยอดโอน"หลังก่อสร้างแล้วเสร็จ โดยสิ้นไตรมาสแรก ปี 2556 มีโครงการที่คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จพร้อมโอนกรรมสิทธิ์ 642 ยูนิต (ไม่นับโครงการเก่าที่เปิดโครงการก่อน ปี 2553 และปิดการขายแล้ว) และอีก 1,206 ยูนิต จะแล้วเสร็จพร้อมโอนกรรมสิทธิ์ในสิ้นปีนี้
          ในปี 2557 มีโครงการที่คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จพร้อมโอนกรรมสิทธิ์ 1,388 ยูนิตในครึ่งปีแรก อีก 1,079 ยูนิต ในครึ่งปีหลัง ส่วนในปี 2558 ครึ่งปีแรกคาดว่าจะมีโครงการที่พร้อมโอนกรรมสิทธิ์ 644 ยูนิต และ 983 ยูนิตในครึ่งปีหลัง ยังมีอีก 414 ยูนิตที่คาดว่าจะแล้วเสร็จพร้อมโอนกรรมสิทธิ์ในปี 2559  "หลายฝ่ายกังวลต่อภาวะฟองสบู่ อสังหาฯ ในขอนแก่นเพราะมีคอนโดเกิดขึ้นเป็นจำนวนมากในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา แต่จากผลสำรวจสะท้อนว่าสถานการณ์ปัจจุบันยังไม่น่าวิตกมากนัก เพราะไม่มีทำเลใดที่มีสินค้าเหลือขายเกิน 50% ส่วนสินค้าเหลือขาย  1,870 ยูนิต น่าจะขายหมดในเวลาอันสั้น แต่มีบางทำเล เช่น ย่านใจกลางเมืองขอนแก่น-ถนนศรีจันทร์ ที่ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด เพราะเป็นทำเลที่มีการเปิดขายโครงการมากที่สุด มีราคาขายต่อตร.ม.สูงเกือบ 2 เท่าเมื่อเทียบกับทำเลอื่นๆ และใกล้เคียงกับบางโครงการในเขตกรุงเทพฯ" นายศุภกรกล่าว
          อย่างไรก็ตาม เริ่มพบว่ามีสัญญาณของการ "เก็งกำไร" เช่น การกำหนดเงินดาวน์ต่ำ การประกาศขายสิทธิ์การจองซื้อ มีผู้ซื้อครั้งละหลายยูนิต เป็นต้น ผลสำรวจยังพบด้วยว่า  ผู้ประกอบการจำนวนมากล้วนเป็น  "หน้าใหม่" ที่ไม่มีประสบการณ์ในการพัฒนาอสังหาฯ ประเภทที่อยู่อาศัยเพื่อขายทั้งยังนิยมพัฒนาโครงการที่มีขนาดเล็กเพื่อหลีกเลี่ยงการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) มีการนำอพาร์ทเม้นท์เก่ามาดัดแปลงเป็นคอนโด
          ดังนั้น ผู้เกี่ยวข้องควรจับตามองถึง ความเสี่ยงที่อาจเกิดจากการ "ทิ้งโครงการ" ของผู้ประกอบการ หรือการส่งมอบห้องที่ไม่เป็นไปตามเอกสารการขาย ขณะที่ "ผู้ซื้อ" ควรศึกษาข้อมูลและพิจารณาอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจซื้อเช่นกัน
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ

วันจันทร์ที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

เอกชนเมินตั้ง12นิคมใหม่ 'เหมราช'ลุยพัฒนาที่ตัวเอง


   กนอ.เผยเชิญชวนให้ยื่นแบบคำขอเสนอพื้นที่มากว่า 1 เดือนแล้ว มีเพียง 2 ราย ที่สนใจจะลงทุนที่อุดรธานีและเชียงราย "วีรพงศ์" ยืนยันถึง 31 พ.ค.นี้ ปิดรับวันสุดท้าย คาดอาจมีเอกชนสนใจยื่นมาอีกหลายราย ด้าน "เหมราช" เมิน เล็งลุยพัฒนาพื้นที่ของตัวเองก่อน
          นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ กนอ. เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ถึงความคืบหน้าการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมแห่งใหม่ 12 นิคมอุตสาหกรรม ว่า จากที่กนอ.ได้เชิญชวนภาคเอกชนเสนอพื้นที่จัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมภาคตะวันออกเฉียงเหนือจำนวน 8 แห่ง การจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมเชียงของ จังหวัดเชียงราย 1 แห่ง  และการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมหรือเอสเอ็มอีอีก 3 แห่ง ซึ่งได้เปิดยื่นแบบคำขอเสนอพื้นที่ เพื่อจัดตั้งนิคมตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2556 ที่ผ่านมา และจะสิ้นสุดการรับข้อเสนอในวันที่ 31 พฤษภาคมนี้นั้น ปรากฏว่าขณะนี้มีเพียง 2 บริษัท เท่านั้น ที่ยื่นความจำนงเข้าร่วมลงทุนในการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในจังหวัดอุดรธานี ได้แก่ บริษัท เมืองอุตสาหกรรมอุดรธานี จำกัด และบริษัท เมืองเงิน เดเวอร์ลอปเม้นต์ จำกัด เสนอตั้งนิคมอุตสาหกรรมที่ อ.เชียงของ จ.เชียงราย ขณะที่อีก 2 บริษัทมีความสนใจที่จะเข้าร่วมจัดตั้งนิคมในจังหวัดขอนแก่น และนครราชสีมา ขณะนี้อยู่ในระหว่างการเจรจารายละเอียด
          ทั้งนี้ เบื้องต้นการจัดตั้งนิคมหากยังไม่มีการตอบรับจากภาคเอกชนเท่าที่ควร แม้ว่าที่ผ่านมาเอกชนหลายรายแสดงความสนใจจะเข้าร่วมลงทุน แต่อาจจะยังอยู่ในขั้นการจัดทำรายละเอียดของโครงการอยู่ และคงรอเวลาที่เหมาะสม หรือใกล้วันปิดรับการยื่นข้อเสนอ ถึงจะมายื่นแบบ ซึ่งยังมีเวลาพอในอีก 2 สัปดาห์ เชื่อว่าน่าจะมีเอกชนเสนอคำขอการจัดตั้งเพิ่มขึ้นอีก
          "กนอ.จะสรุปรายชื่อเอกชนที่ยื่นแบบคำขอเสนอพื้นที่จัดตั้งนิคม ให้กับคณะกรรมการบริหารกนอ.หลังจากปิดรับการยื่นแบบแล้ว เพื่อจะไปกำหนดระเบียบและสิทธิประโยชน์ที่เอกชนจะได้รับในเขตการลงทุนต่างๆ
          อย่างไรก็ตาม หากเอกชนยื่นแบบคำขอเสนอพื้นที่จัดตั้งนิคมไม่ครบตามจำนวนที่กนอ.วางไว้ คงขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของบอร์ดกนอ.ว่าจะพิจารณาขยายระยะเวลาการเชิญชวนเอกชนเข้ามาจัดตั้งนิคมออกไปหรือไม่ ซึ่งหากจัดตั้งนิคมทั้ง 12 แห่งได้ จะเป็นการเพิ่มพื้นที่ในการรองรับนักลงทุนที่จะเข้ามา โดยเฉพาะนักลงทุนญี่ปุ่นและจีน ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน และอิเล็กทรอนิกส์ ที่ปัจจุบันมีการลงทุนสูง โดยพื้นที่อุตสาหกรรมทั้ง 12 แห่ง มีเนื้อที่ 1.8 หมื่นไร่ คาดว่าจะใช้เม็ดเงินลงทุนรวม 2.7 หมื่นล้านบาท โดยเงินลงทุนส่วนใหญ่จะมาจากเอกชนทั้งหมด
          ด้านนายวิวัฒน์ จิรัฐติกาลสกุล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เหมราชพัฒนาที่ดิน จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า นิคมอุตสาหกรรมแห่งใหม่ที่ กนอ.และภาครัฐพยายามผลักดันนั้น เหมราชคงไม่ร่วมลงทุนตอนนี้ แต่จะดูความเป็นไปได้ของโอกาสมากกว่าว่า มีมากน้อยแค่ไหน เพราะเหมราชเองก็มีแผนพัฒนาพื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ทั้งเข้าไปซื้อพื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรมของบริษัทคู่แข่ง และพัฒนาพื้นที่ที่บริษัทมีอยู่
          สำหรับปีนี้ เหมราช ตั้งงบลงทุนไว้ที่ 8 พันล้านบาท แบ่งเป็น การพัฒนานิคมอุตสาหกรรม 2 พันล้านบาท ซื้อที่ดิน 2 พันล้านบาท  สร้างโรงงานสำเร็จรูปและคลังสินค้า 2.8 พันล้านบาท พัฒนาระบบไฟฟ้าและสาธารณูปโภค 700 ล้านบาท ส่วนงบประมาณที่เหลือเป็นการพัฒนาในด้านอื่นๆ นอกจากนี้บริษัทยังปรับลดรายได้ที่มาจากการขายที่ดินจากเดิมปีที่แล้วอยู่ที่ 60% ในปีนี้ตั้งเป้าลดการขายเหลือ 50%
ที่มา : ฐานเศรษฐกิจ 

นับถอยหลัง 2 ปี สู่เส้นทางเออีซี ภาคเกษตรไทยจะอยู่กันอย่างไร


  เหลืออีก 1 ปี กับอีกกว่า 7 เดือน จะถึงวันที่ 1 มกราคม 2558 อันเป็นวันที่ 10 ประเทศสมาชิกเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ อินโดนีเซีย ไทย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ บรูไน เวียดนาม ลาว เมียนมาร์ และกัมพูชา จะกอดคอสู่เส้นถนนสายอาเซียน ภายใต้กรอบประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี ที่หลายภาคส่วนต่างกังวลว่า ภาคเกษตรกร และประชาชนระดับรากหญ้าที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ จะสามารถอยู่กับมรสุมเศรษฐกิจแบบการค้าเสรีนั้นได้อย่างไร จะปรับตัวให้อยู่รอดได้หรือไม่ หรืออาจจะล่มหายไป
          เนื่องเพราะอย่าลืมว่า 10 ประเทศอาเซียนล้วนแต่เป็นประเทศเกษตรกรรม ยกเว้นประเทศสิงคโปร์ และบรูไนดารุสซาลามเท่านั้นที่จัดอยู่ในประเทศอุตสาหกรรม ฉะนั้นการรวมตัวของอาเซียน ภาคการเกษตรจะมีการแข่งอย่างรุนแรงแน่นอน
          ทั้งหลายทั้งปวงนั้น ยังไม่มีใครที่จะสามารถให้คำตอบได้อย่างชัดเจน และที่น่าเป็นห่วงยิ่งในวันนี้ คำว่า ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี เป็นเพียงวลีหรือคำพูดประโยคหนึ่งเท่านั้นสำหรับคนที่อยู่ระดับหญ้า ภาคการเกษตร หากถึงเวลานั้น วันที่ 1 มกราคม 2558 วันแห่งการรวมตัวเป็นอาเซียนหนึ่งเดียว คำถามใครเล่าช่วยเหลือได้นอกจากตัวเองว่า พร้อมที่จะรับมือกับเหตุการณ์การค้าเสรี และการหลั่งไหลของแรงงานจากประเทศในกลุ่มสมาชิกที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้
          เสียงสะท้อนบนเวทีสัมมนาหัวข้อ "เกษตรอีสานกับการเข้าอาเซียน" ณ วิทยาลัยปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่นจ.ขอนแก่น เมื่อไม่นานนี้ ตัวแทนภาคส่วนต่างๆ ล้วนแต่สะท้อนให้เห็นถึงความไม่พร้อมของชนชั้นล่างหรือระดับหญ้า ซึ่งล้วนแสดงให้เห็นปัญหาต่างๆ ปัญหาความครอบงำธุรกิจของผู้ที่มีสายพานยาวกว่าในรูปแบบของปลาใหญ่กินปลาน้อย ปัญหาของความไม่รู้คำว่าเออีซี ที่เกิดจากรัฐเตรียมน้อย และปัญหาเรื่องของรอยช้ำของประวัติศาสตร์ ที่อาจทำให้เกิดความหวาดระแวง ล้วนแต่เป็นปัจจัยที่จะทำให้ถนนสายอาเซียนจะไม่ราบรื่นนัก
          นายอุบล อยู่หว้า ผู้ประสานงานเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสาน แสดงมุมมองว่า ความหมายของอาเซียนที่น่าจะมีความจริงที่สุด คือ การทลายกำแพงเพื่อให้ปลาตัวใหญ่กินปลาตัวเล็กในอ่างที่มีขนาดใหญ่กว่าเดิมได้อย่างไร้ขอบเขต เพราะการเปิดประชาคมอาเซียนเป็นการเอื้ออำนวยให้แก่การลงทุนของผู้ประกอบการที่มีความสามารถ อย่างไรก็ตาม อาเซียนเป็นเรื่องของการค้าการลงทุนที่จำเพาะแค่เพียงนักลงทุนหรือเรื่องเศรษฐกิจเพียงเท่านั้น ไม่ได้ครอบคลุมมายังประชาชนรากหญ้า โดยเฉพาะเกษตรกรที่นับวันรอวันที่กลายเป็นเหยื่อให้แก่ปลาตัวใหญ่ได้เข้ามาแย่งชิงพื้นที่
          แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นที่น่าห่วงกว่านักลงทุนในกลุ่มประเทศอาเซียน คือ ทุนจากประเทศจีน ที่มีทั้งกำลังคนและทุน เพื่อที่จะเชื่อมโยงตลาดและดันให้อาเซียนกลายเป็นตลาดของจีนไปโดยปริยาย เห็นได้จากเส้นทางเศรษฐกิจต่างๆ ที่สามารถเชื่อมโยงไปยังประเทศจีนมายังภูมิภาคอาเซียนเพื่อส่งขนสินค้ามาได้อย่างไม่มีอุปสรรค ตรงนี้เป็นการเสริมศักยภาพให้แก่ทุนจีนที่น่าเป็นห่วงหลังจากนี้ คือสินค้าเกษตรของไทยอาจจะถูกกลืนหายไป อย่างที่กำลังเผชิญอยู่ตอนนี้คือ ส้มเขียวหวาน ส้มบางมด ที่ถูกทดแทนด้วยส้มจีนที่มีรสชาติ และราคาที่ดีกว่าของไทย ปัญหาตรงนี้จะกลายเป็นปัญหาหลักของเกษตรกร
          ด้าน นายบำรุง คะโยธา นายกองค์การบริหารส่วนตำบลสายนาวัง อ.นาคู จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า เรื่องของอาเซียนนับได้ว่าเป็นเรื่องที่คนในท้องถิ่นของประชาชนโดยทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นชาวไร่ ชาวนา เกษตรกรต่างๆ ยังไม่ได้รับข้อมูลและบางรายอาจจะยังไม่รู้ด้วยว่าอาเซียนแท้จริงแล้วคืออะไร สรุปแล้วประเทศไทยไม่ได้เตรียมการที่จะรองรับเรื่องนี้อย่างจริงจัง ถึงแม้จะมีการจัดประชุมสัมมนา แต่ก็ไม่ได้เข้าถึงกลุ่มคนส่วนใหญ่อย่างแท้จริง ขณะที่เพื่อนบ้านมีการเตรียมการรองรับเรื่องนี้มานานแล้ว
          จากประสบการณ์ที่ผ่านมา การเปิดการค้าเสรี ไม่เคยจะประสบความสำเร็จเลยสักครั้ง เป็นการเร่งส่งให้ชาวนาชาวไร่หายไปเร็วขึ้น เพราะไม่สามารถสู้กับประเทศอื่นๆ ได้ เนื่องจากสินค้าใกล้เคียงกันแต่ตลาดเป็นตลาดแบบเดียวกัน อย่างเรื่องข้าว ราคาข้าวของประเทศเวียดนามต่ำที่สุด แต่มีผลผลิตมากที่สุดด้วยเช่นกัน ขณะที่ประเทศไทยผลิตข้าวได้ 380 กิโลกรัมต่อไร่ แต่เวียดนามผลิตได้ 1,200 กิโลกรัม เห็นได้ว่าผลผลิตออกมาต่างกันมาก 
          ดังนั้นชาวไร่ชาวนาต้องเตรียมความพร้อมและหาวิธีที่จะดึงจุดเด่นของสินค้าให้ออกมาเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค อย่างไรก็ตามในภาคเกษตรกรรมที่ยังไม่มีใครรู้แน่ชัดว่า การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนขึ้นมาจะส่งผลให้เกษตรกรเป็นอย่างไรแน่ แต่ทั้งนี้ในภาคของประชาชนเอง การเตรียมความพร้อมทางด้านแนวคิด ก็เป็นอีกหนึ่งวีธีหนึ่งที่จะทำให้การอยู่ในสังคมอาเซียนอย่างสงบสุขมีปัญหาความขัดแย้งมารบกวนจิตใจ
          ขณะที่ นายสุจิตต์ วงษ์เทศ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ ได้สะท้อนให้เห็นถึงคุณภาพชีวิตใหม่ของคนไทยในยุคอาเซียนว่า คุณภาพชีวิตของคนไทยในยุคประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนนั้น คงไม่มั่นคงเหมือนดังกับไม่เคยมั่นคงมาแต่ไหนแต่ไร เนื่องจากต้องคอยกังวลถึงความขัดแย้งที่ฝังรากลึกในจิตใจของแต่ละประเทศ อันเนื่องต้นเหตุมาจากประวัติศาสตร์ที่เป็นแบบอาณานิคม ที่มีพลังในการครอบงำคนในทุกระดับของทุกประเทศ 
          ถ้าการเปิดประชาคมอาเซียนปรารถนาความมั่นคงอย่างมีสันติภาพถาวร ทุกประเทศต้องทำความเข้าใจประวัติศาสตร์ของตนเองให้หลุดพ้นจากกรอบประวัติศาสตร์แบบอาณานิคม คืนสู่ประวัติศาสตร์แบบอุษาคเนย์ โดยเลือกแต่สิ่งที่ดีเอามาปรับใช้ใหม่กับประชาคมอาเซียน ไม่แข่งขันเอาชนะเหมือนทุกวันนี้ เนื่องจากประวัติศาสตร์แบบอาณานิคมสอนให้คนส่วนใหญ่มองประเทศของตนเองเป็นประเทศที่ยิ่งใหญ่กว่าประเทศอื่นๆ รอบข้าง
          สิ่งเหล่านี้จะส่งผลให้ความคิด การกระทำที่แสดงออกมาในเชิงดูถูกประเทศใกล้เคียงกัน และยกตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญ ถ้าหากประเทศในกลุ่มประชาคมอาเซียนยังไม่มีการชำระประวัติศาสตร์ให้มีความถูกต้อง หรือทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ก่อนที่จะเข้าไปรวมเป็นหนึ่งในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน รวมไปถึงเปลี่ยนวิธีคิด เพื่อที่จะให้อาเซียนสามารถอยู่อย่างสงบสุข และร่วมพัฒนาประเทศไปพร้อมๆ กันตามเจตนาของอาเซียนอย่างแท้จริง
          นี่เป็นเสียงสะท้อนและมุมมองของแต่ละภาคส่วนบนเวทีแห่งนี้ พอสรุปได้ว่า การเข้าสู่เส้นทางถนนอาเซียนภายใต้กรอบเออีซีนั้น แม้เราจะทุบกำแพงกัน แต่นั่นใช่ว่าถนนสายอาเซียนจะโรยด้วยกลีบกุหลาบ หากแต่เต็มไปเสี้ยนหนามที่เกิดจากความไม่รู้ของคนระดับหญ้า รอยร้าวจากประวัติศาสตร์ สุดท้ายผู้ที่ได้ประโยชน์มีเพียงกลุ่มนายทุนที่มีความพร้อมและสายพานยาวเท่านั้น
ที่มา : คม ชัด ลึก