วันจันทร์ที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

นับถอยหลัง 2 ปี สู่เส้นทางเออีซี ภาคเกษตรไทยจะอยู่กันอย่างไร


  เหลืออีก 1 ปี กับอีกกว่า 7 เดือน จะถึงวันที่ 1 มกราคม 2558 อันเป็นวันที่ 10 ประเทศสมาชิกเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ อินโดนีเซีย ไทย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ บรูไน เวียดนาม ลาว เมียนมาร์ และกัมพูชา จะกอดคอสู่เส้นถนนสายอาเซียน ภายใต้กรอบประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี ที่หลายภาคส่วนต่างกังวลว่า ภาคเกษตรกร และประชาชนระดับรากหญ้าที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ จะสามารถอยู่กับมรสุมเศรษฐกิจแบบการค้าเสรีนั้นได้อย่างไร จะปรับตัวให้อยู่รอดได้หรือไม่ หรืออาจจะล่มหายไป
          เนื่องเพราะอย่าลืมว่า 10 ประเทศอาเซียนล้วนแต่เป็นประเทศเกษตรกรรม ยกเว้นประเทศสิงคโปร์ และบรูไนดารุสซาลามเท่านั้นที่จัดอยู่ในประเทศอุตสาหกรรม ฉะนั้นการรวมตัวของอาเซียน ภาคการเกษตรจะมีการแข่งอย่างรุนแรงแน่นอน
          ทั้งหลายทั้งปวงนั้น ยังไม่มีใครที่จะสามารถให้คำตอบได้อย่างชัดเจน และที่น่าเป็นห่วงยิ่งในวันนี้ คำว่า ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี เป็นเพียงวลีหรือคำพูดประโยคหนึ่งเท่านั้นสำหรับคนที่อยู่ระดับหญ้า ภาคการเกษตร หากถึงเวลานั้น วันที่ 1 มกราคม 2558 วันแห่งการรวมตัวเป็นอาเซียนหนึ่งเดียว คำถามใครเล่าช่วยเหลือได้นอกจากตัวเองว่า พร้อมที่จะรับมือกับเหตุการณ์การค้าเสรี และการหลั่งไหลของแรงงานจากประเทศในกลุ่มสมาชิกที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้
          เสียงสะท้อนบนเวทีสัมมนาหัวข้อ "เกษตรอีสานกับการเข้าอาเซียน" ณ วิทยาลัยปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่นจ.ขอนแก่น เมื่อไม่นานนี้ ตัวแทนภาคส่วนต่างๆ ล้วนแต่สะท้อนให้เห็นถึงความไม่พร้อมของชนชั้นล่างหรือระดับหญ้า ซึ่งล้วนแสดงให้เห็นปัญหาต่างๆ ปัญหาความครอบงำธุรกิจของผู้ที่มีสายพานยาวกว่าในรูปแบบของปลาใหญ่กินปลาน้อย ปัญหาของความไม่รู้คำว่าเออีซี ที่เกิดจากรัฐเตรียมน้อย และปัญหาเรื่องของรอยช้ำของประวัติศาสตร์ ที่อาจทำให้เกิดความหวาดระแวง ล้วนแต่เป็นปัจจัยที่จะทำให้ถนนสายอาเซียนจะไม่ราบรื่นนัก
          นายอุบล อยู่หว้า ผู้ประสานงานเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสาน แสดงมุมมองว่า ความหมายของอาเซียนที่น่าจะมีความจริงที่สุด คือ การทลายกำแพงเพื่อให้ปลาตัวใหญ่กินปลาตัวเล็กในอ่างที่มีขนาดใหญ่กว่าเดิมได้อย่างไร้ขอบเขต เพราะการเปิดประชาคมอาเซียนเป็นการเอื้ออำนวยให้แก่การลงทุนของผู้ประกอบการที่มีความสามารถ อย่างไรก็ตาม อาเซียนเป็นเรื่องของการค้าการลงทุนที่จำเพาะแค่เพียงนักลงทุนหรือเรื่องเศรษฐกิจเพียงเท่านั้น ไม่ได้ครอบคลุมมายังประชาชนรากหญ้า โดยเฉพาะเกษตรกรที่นับวันรอวันที่กลายเป็นเหยื่อให้แก่ปลาตัวใหญ่ได้เข้ามาแย่งชิงพื้นที่
          แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นที่น่าห่วงกว่านักลงทุนในกลุ่มประเทศอาเซียน คือ ทุนจากประเทศจีน ที่มีทั้งกำลังคนและทุน เพื่อที่จะเชื่อมโยงตลาดและดันให้อาเซียนกลายเป็นตลาดของจีนไปโดยปริยาย เห็นได้จากเส้นทางเศรษฐกิจต่างๆ ที่สามารถเชื่อมโยงไปยังประเทศจีนมายังภูมิภาคอาเซียนเพื่อส่งขนสินค้ามาได้อย่างไม่มีอุปสรรค ตรงนี้เป็นการเสริมศักยภาพให้แก่ทุนจีนที่น่าเป็นห่วงหลังจากนี้ คือสินค้าเกษตรของไทยอาจจะถูกกลืนหายไป อย่างที่กำลังเผชิญอยู่ตอนนี้คือ ส้มเขียวหวาน ส้มบางมด ที่ถูกทดแทนด้วยส้มจีนที่มีรสชาติ และราคาที่ดีกว่าของไทย ปัญหาตรงนี้จะกลายเป็นปัญหาหลักของเกษตรกร
          ด้าน นายบำรุง คะโยธา นายกองค์การบริหารส่วนตำบลสายนาวัง อ.นาคู จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า เรื่องของอาเซียนนับได้ว่าเป็นเรื่องที่คนในท้องถิ่นของประชาชนโดยทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นชาวไร่ ชาวนา เกษตรกรต่างๆ ยังไม่ได้รับข้อมูลและบางรายอาจจะยังไม่รู้ด้วยว่าอาเซียนแท้จริงแล้วคืออะไร สรุปแล้วประเทศไทยไม่ได้เตรียมการที่จะรองรับเรื่องนี้อย่างจริงจัง ถึงแม้จะมีการจัดประชุมสัมมนา แต่ก็ไม่ได้เข้าถึงกลุ่มคนส่วนใหญ่อย่างแท้จริง ขณะที่เพื่อนบ้านมีการเตรียมการรองรับเรื่องนี้มานานแล้ว
          จากประสบการณ์ที่ผ่านมา การเปิดการค้าเสรี ไม่เคยจะประสบความสำเร็จเลยสักครั้ง เป็นการเร่งส่งให้ชาวนาชาวไร่หายไปเร็วขึ้น เพราะไม่สามารถสู้กับประเทศอื่นๆ ได้ เนื่องจากสินค้าใกล้เคียงกันแต่ตลาดเป็นตลาดแบบเดียวกัน อย่างเรื่องข้าว ราคาข้าวของประเทศเวียดนามต่ำที่สุด แต่มีผลผลิตมากที่สุดด้วยเช่นกัน ขณะที่ประเทศไทยผลิตข้าวได้ 380 กิโลกรัมต่อไร่ แต่เวียดนามผลิตได้ 1,200 กิโลกรัม เห็นได้ว่าผลผลิตออกมาต่างกันมาก 
          ดังนั้นชาวไร่ชาวนาต้องเตรียมความพร้อมและหาวิธีที่จะดึงจุดเด่นของสินค้าให้ออกมาเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค อย่างไรก็ตามในภาคเกษตรกรรมที่ยังไม่มีใครรู้แน่ชัดว่า การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนขึ้นมาจะส่งผลให้เกษตรกรเป็นอย่างไรแน่ แต่ทั้งนี้ในภาคของประชาชนเอง การเตรียมความพร้อมทางด้านแนวคิด ก็เป็นอีกหนึ่งวีธีหนึ่งที่จะทำให้การอยู่ในสังคมอาเซียนอย่างสงบสุขมีปัญหาความขัดแย้งมารบกวนจิตใจ
          ขณะที่ นายสุจิตต์ วงษ์เทศ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ ได้สะท้อนให้เห็นถึงคุณภาพชีวิตใหม่ของคนไทยในยุคอาเซียนว่า คุณภาพชีวิตของคนไทยในยุคประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนนั้น คงไม่มั่นคงเหมือนดังกับไม่เคยมั่นคงมาแต่ไหนแต่ไร เนื่องจากต้องคอยกังวลถึงความขัดแย้งที่ฝังรากลึกในจิตใจของแต่ละประเทศ อันเนื่องต้นเหตุมาจากประวัติศาสตร์ที่เป็นแบบอาณานิคม ที่มีพลังในการครอบงำคนในทุกระดับของทุกประเทศ 
          ถ้าการเปิดประชาคมอาเซียนปรารถนาความมั่นคงอย่างมีสันติภาพถาวร ทุกประเทศต้องทำความเข้าใจประวัติศาสตร์ของตนเองให้หลุดพ้นจากกรอบประวัติศาสตร์แบบอาณานิคม คืนสู่ประวัติศาสตร์แบบอุษาคเนย์ โดยเลือกแต่สิ่งที่ดีเอามาปรับใช้ใหม่กับประชาคมอาเซียน ไม่แข่งขันเอาชนะเหมือนทุกวันนี้ เนื่องจากประวัติศาสตร์แบบอาณานิคมสอนให้คนส่วนใหญ่มองประเทศของตนเองเป็นประเทศที่ยิ่งใหญ่กว่าประเทศอื่นๆ รอบข้าง
          สิ่งเหล่านี้จะส่งผลให้ความคิด การกระทำที่แสดงออกมาในเชิงดูถูกประเทศใกล้เคียงกัน และยกตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญ ถ้าหากประเทศในกลุ่มประชาคมอาเซียนยังไม่มีการชำระประวัติศาสตร์ให้มีความถูกต้อง หรือทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ก่อนที่จะเข้าไปรวมเป็นหนึ่งในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน รวมไปถึงเปลี่ยนวิธีคิด เพื่อที่จะให้อาเซียนสามารถอยู่อย่างสงบสุข และร่วมพัฒนาประเทศไปพร้อมๆ กันตามเจตนาของอาเซียนอย่างแท้จริง
          นี่เป็นเสียงสะท้อนและมุมมองของแต่ละภาคส่วนบนเวทีแห่งนี้ พอสรุปได้ว่า การเข้าสู่เส้นทางถนนอาเซียนภายใต้กรอบเออีซีนั้น แม้เราจะทุบกำแพงกัน แต่นั่นใช่ว่าถนนสายอาเซียนจะโรยด้วยกลีบกุหลาบ หากแต่เต็มไปเสี้ยนหนามที่เกิดจากความไม่รู้ของคนระดับหญ้า รอยร้าวจากประวัติศาสตร์ สุดท้ายผู้ที่ได้ประโยชน์มีเพียงกลุ่มนายทุนที่มีความพร้อมและสายพานยาวเท่านั้น
ที่มา : คม ชัด ลึก 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น