วันจันทร์ที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ไฟเขียว 7 มาตรการช่วยเอสเอ็มอี


            นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน เห็นชอบ 7 มาตรการที่จะเสนอให้รัฐบาลช่วยเหลือธุรกิจเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน ประกอบด้วย การลดเงินสมทบประกันสังคมจากฝ่ายละ 5% เหลือ 2.5% , จัดตั้งกองทุนจ่ายชดเชยส่วนต่างของค่าจ้างที่ปรับเพิ่ม, ลดภาษีหัก ณ ที่จ่าย สำหรับการเหมาช่วงผลิต จาก 3 เหลือ 0.1%, ลดค่าน้ำประปา ไฟฟ้า 50%, ลดค่าธรรมเนียมห้องพักหรือโรงงานแก่เอสเอ็มอีลง 50%, ขยายโครงการพัฒนาผลิตภาพการผลิตทั้งเรื่องเครื่องจักร การพัฒนาบุคคล 20,000 ล้านบาท และลดภาษีมูลค่าเพิ่มเพื่อนำมาหักคืนภาษี (รีฟันด์) โดยทุกมาตรการมีอายุ 3 ปี
          ส่วนแนวทางการตั้งกองทุนชดเชยส่วนต่างค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นนั้น โดยในปี 56 นายจ้างจะจ่าย 25% รัฐบาลจ่ายสมทบ 75%, ในปี 57 นายจ้างจ่าย 50% รัฐบาลจ่ายสมทบ 50%, ในปี 58 นายจ้างจ่าย 75% และรัฐบาลจ่ายสมทบ 25% ซึ่งแนวทางจะช่วยเหลือเอสเอ็มอีที่เดือดร้อนจากการใช้แรงงานเข้มข้น และเน้นในพื้นที่ 29 จังหวัดเป็นหลัก เพราะกลุ่มนี้จะได้รับผลกระทบ 80-90% จากการปรับขึ้นค่าจ้าง
          สำหรับ 29 จังหวัดประกอบด้วย พะเยา ศรีสะเกษ น่าน ตาก สุรินทร์ พิจิตร พิษณุโลก แพร่ มหาสารคาม แม่ฮ่องสอน อำนาจเจริญ อุตรดิตถ์ นครพนม ชัยภูมิ มุกดาหาร ลำปาง สุโขทัย หนองบัวลำภู เชียงราย นครสวรรค์ บุรีรัมย์ เพชรบูรณ์ ยโสธร ร้อยเอ็ด สกลนคร กาฬสินธุ์ 
ขอนแก่น ชัยนาท และสุพรรณบุรี
          "แนวทางการช่วยเหลือ กกร. ต้องการให้รัฐช่วยทุกมาตรการเป็นเวลา 3 ปี เพื่อให้เอสเอ็มอีสามารถมีเวลาในการปรับตัวเพื่อรองรับการแข่งขันหลังจากที่มีการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในปี 58 เพราะหากไม่มีมาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอีจำนวนมากคงไม่มีศักยภาพในการแข่งขันแน่นอน
          นายวัลลภ วิตนากร รองประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า ในวันที่ 4 ธ.ค. กกร.จะไปหารือร่วมกับกระทรวงแรงงาน เกี่ยวกับต่ออายุมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) และผ่อนปรนเงื่อนไขให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เนื่องจากเดิมใช้เงื่อนไขเดียวกับธนาคารพาณิชย์ ทำให้ต้องดูผลประกอบการ หลักทรัพย์และการค้ำประกันสินเชื่อของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีก่อน จึงทำให้ที่ผ่านมามีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าไปใช้สิทธิเพียงแค่ 740 ล้านบาท จากวงเงินทั้งหมด 20,000 ล้านบาท
          นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง กล่าวว่า ภายในสัปดาห์นี้กระทรวงการคลังจะหารือกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และส.อ.ท. ถึง 6 มาตรการเพิ่มเติม เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายปรับขึ้นค่าแรง 300 บาท ที่จะเริ่มพร้อมกันทั่วประเทศ ในวันที่ 1 ม.ค.56 ให้ชัดเจนอีกครั้ง.
ที่มา : เดลินิวส์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น