"ทีดีอาร์ไอ"
ชี้การรวมตัวของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนห่างไกลความจริง แค่ "มายาคติ"
โอกาสน้อยเปิดเสรีสำเร็จก่อนปี'58 แนวโน้มลงทุนสู่อาเซียนด้านบริการพุ่งสูง
แต่ไทยกลับพลาดเป้าเปิดเสรีการค้าบริการ ขณะที่ "สิงคโปร์"
พร้อมสุดอ้าแขนรับทรัพย์ FDI เต็มประตู
ผู้สื่อข่าวประชาชาติธุรกิจ รายงานจากงานสัมมนาวิชาการประจำปี 2555 ของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เรื่อง "ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน : มายาคติ ความเป็นจริง โอกาสและความท้าทาย" เผยงานวิจัยของทีดีอาร์ไอหลายชิ้นต่างเห็นร่วมกันว่า เออีซีห่างไกลจากความเป็น "ประชาคมเศรษฐกิจที่แท้จริง" "เดือนเด่น นิคมบริรักษ์" ผู้อำนวยการวิจัย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย กล่าวว่า การเผยแพร่ข่าวของสื่อถึงการเปิดเสรีด้านการลงทุนหลังเออีซีปี 2558 นั้นเป็น "มายาคติ" ที่สร้างขึ้น เนื่องจากเออีซีเป็นเพียงแค่โรดแมป หรือแผนการดำเนินงาน เพื่อกำหนดทิศทางการดำเนินงานเท่านั้น ไม่มีข้อผูกพันเหมือนข้อตกลง อย่างการเจรจาการค้าเสรี หรือเอฟทีเอ นอกจากนี้บลูพรินต์ของเออีซี ยังไม่ระบุถึงวิธีการระงับข้อพิพาท และบทลงโทษ เป็นเพียงการสมัครใจในการปฏิบัติตามแผนงานเท่านั้น เดือนเด่นกล่าวว่า เออีซีได้กำหนดกรอบเป้าหมายในการเปิดเสรีด้านการค้าบริการ โดยมีสาขาที่เร่งรัดคือ e-ASEAN ได้แก่ การบริการโทรคมนาคม สุขภาพ การท่องเที่ยวและการขนส่งทางอากาศ ซึ่งระบุว่าจะต้องเปิดให้นักลงทุนอาเซียนถือหุ้นได้ 70% ภายในปี 2553 นอกจากนี้ ยังกำหนดว่าการเปิดเสรีด้านการค้าบริการโลจิสติกส์ ต้องอยู่ที่ 51% และบริการด้านอื่น ๆ ที่อยู่นอกเหนือจากนี้ ต้องเปิดเสรีให้ได้ถึง 51% ภายในปี 2553 แต่จากการปฏิบัติงานของกลุ่มประเทศสมาชิกพบว่า ไทยไม่ประสบความสำเร็จต่อการปฏิบัติงานตามกรอบสาขาเร่งรัด ตลอดจนทุกสาขาบริการ ซึ่งปัจจุบันอนุญาต ให้ชาวต่างชาติถือหุ้นแค่ 49% เท่านั้น ต่างจากสิงคโปร์ที่เปิดเสรีเต็มที่แล้ว งานวิจัยยังระบุว่า แนวโน้มลงทุนสู่อาเซียนพุ่งไปยังด้านบริการสูงขึ้น โดยมีอัตราเติบโตอย่างก้าวกระโดดจาก 51.06% เป็น 65.7% ในปี 2552-2553 แต่การดำเนินงานของชาติอาเซียนและไทยเป็นไปในทิศทางตรงกันข้าม โดยมีเพียงสิงคโปร์ที่จะได้รับอานิสงส์จากการเปิดเสรีการค้าบริการ เดือนเด่นชี้ว่า การกำหนดนโยบายจากภาครัฐของไทยนั้นไม่สอดคล้องกับ วิสัยทัศน์การเปิดเสรีต่อกัน ฉะนั้น อาเซียนจะเปิดเสรีต่อกันในปี 2558 นั้นมีโอกาสเป็นไปได้ "น้อยมาก" "สิงคโปร์เปิดภาคบริการ ซึ่งเป็นที่ต้องการของนักลงทุนชาวต่างชาติ แต่โครงสร้างธุรกิจของไทยนั้นกลับอ้าแขนต้อนรับภาคอุตสาหกรรมมากกว่าภาคบริการ หรือกระทั่งภาคการเกษตรที่ไทยปิดกั้นอย่างแน่นหนา และไม่ได้รับเม็ดเงินการลงทุนจากชาวต่างชาติเลย ซึ่งไทยจะไม่สามารถแข่งขันกับชาติอื่นได้ เนื่องจากภาคบริการมีการพัฒนาไม่ถึงครึ่งของอุตสาหกรรม สะท้อนให้เห็นว่าการลงทุนในด้านบริการมีน้อยมาก อีกทั้งยังส่งผลให้ประสิทธิภาพของการบริการของไทยนั้นด้อยคุณภาพ" เดือนเด่นกล่าว ทั้งนี้ ไทยต้องเดินหน้าตามข้อผูกพันการเปิดตลาดการค้าบริการชุดที่ 8 ที่จะอนุญาตให้ต่างชาติเข้ามาถือหุ้นได้ 70% ภายในปี 2558 ประกอบไปด้วยการเปิดบริการด้านสุขภาพ การท่องเที่ยว แต่ไม่รวมบริการจองที่พักและตั๋วโดยสาร, ด้านบริการขนส่งสินค้า และด้านโทรคมนาคม เห็นได้ว่าประเทศสมาชิกอาเซียนมิได้ดำเนินแผนตามกรอบการปฏิบัติงานที่ตกลงกันไว้เลย ยกเว้นสิงคโปร์เพียงประเทศเดียว "การลงทุนจากต่างประเทศ หรือ เอฟดีไอที่เข้ายังอาเซียน ภูมิภาคที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 6 ของโลก มีจำนวนพุ่งสูงขึ้น แต่เป็นที่น่าตกใจว่าการกระจายตัวของเอฟดีไอนั้นกระจุกตัวอยู่ที่สิงคโปร์ โดยรับไปถึง 42.80% หรือตีเป็นตัวเลขได้ถึง 17,000 ล้านดอลลาร์ ในขณะที่สิงคโปร์มีอัตราจีดีพีอยู่ที่ 9.08% แต่ประเทศไทย ซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นที่ 2 ของอาเซียน กลับไม่มีส่วนแบ่งจากจำนวนเอฟดีไอ มากไปกว่านั้นบรรดาบริษัทข้ามชาติในไทย ยังใช้สิงคโปร์เป็น "ทางผ่านในการลงทุน" ซึ่งหากมีการเปิดเสรีกันอย่างจริงจังในปี 2558 จะทำให้ทุนจากต่างชาติจะยิ่งกระจุกตัวมากขึ้นที่สิงคโปร์" เดือนเด่นกล่าว ในด้านการบริการโทรคมนาคม ซึ่งเป็น 1 ในสาขาที่เร่งรัด e-ASEAN พบว่า ไทยมีค่าบริการโทรศัพท์สูงเป็นอันดับ 4 เมื่อเทียบกับชาติสมาชิกอาเซียนอื่น ชี้ให้เห็นว่า ไทยมีต้นทุนในภาคบริการสูง และจะเป็นการเพิ่มภาระให้กับภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจอื่น ๆ ที่มาลงทุนในไทย เดือนเด่นเสนอแนะว่า ไทยควรเปิดเสรีภาคบริการที่สนับสนุนภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรม อย่างเช่น โทรคมนาคม พลังงาน การเงิน และการขนส่ง ตลอดจนบริการที่มีลักษณะผูกขาด เช่น ไฟฟ้า พลังงาน และโทรคมนาคม โดยกฎหมายในไทยไม่มีการปรับปรุง ด้านข้อห้ามการ กระทำที่มีลักษณะเป็นการครอบงำกิจการโดยคนต่างด้าวยังคงคลุมเครือ และยังเป็นอำนาจของ กสทช.ในการวินิจฉัย สืบเนื่องให้ชาวต่างชาติกลัวที่จะเข้ามาลงทุนในกิจการโทรคมนาคมของไทย อย่างไรก็ตาม งานวิจัยเผยถึงข้อเสนอแนะในการเปิดเสรีภาคบริการว่า ไทยควรมีแผนงานของตน แทนที่จะทำตามข้อกำหนดจากต่างประเทศ เช่น AEC หรือ TPP นอกจากนี้ ยังจำเป็นต้องแก้ไข พ.ร.บ.ประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว เพื่อไม่ปิดกั้นในการเปิดเสรีภาคบริการ และคุ้มครองสาขาบริการบนพื้นฐานของผลประโยชน์ของเศรษฐกิจส่วนรวม มิใช่ของผู้ประกอบการธุรกิจนั้น ๆ พร้อมกันนั้น ก็ควรเร่งปรับปรุงกฎระเบียบภายในที่ไม่จูงใจการลงทุนจากต่างประเทศ และทบทวนนโยบายการลงทุนที่เน้นเพียงธุรกิจอุตสาหกรรม โดยเห็นได้จากการที่สำนักงานส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ ที่ปัจจุบันสังกัดอยู่ภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรม
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ
|
|
KKCC Gold ศูนย์ขุมทองเพื่อการลงทุน หอการค้าจังหวัดขอนแก่น : ข้อมูล เศรษฐกิจการค้า การลงทุน ของจังหวัดขอนแก่น จากแหล่งต่างๆทั้งที่เป็นทางการ และที่เป็น แนวโน้ม ความเคลื่อนไหว ข้อคิดเห็น นำเสนอให้กับสมาชิก/สาธารณะ การวิเคราะห์โอกาสและผลกระทบ โดยนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญในธุรกิจนั้น อันนำไปสู่ การสังเคราะห์ และร่วมมือกันมากยิ่งขึ้นในการพัฒนาเศรษฐกิจส่วนต่างๆในจังหวัด เพื่อสร้างโอกาสธุรกิจ และสัญญาณให้ปรับตัว รองรับการเปลี่ยนแปลง ใช้ตัดสินใจสร้างผลกำไรได้ ดังชื่อว่า “ศูนย์ขุมทอง เพื่อการลงทุน”
วันอาทิตย์ที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2555
TDRI ชี้ลงไทยเข้าเออีซีปี '58 แค่ฝัน สิงคโปร์พร้อมสุดเตรียมโกยเอฟดีไอเข้าประเทศ
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น