วันอาทิตย์ที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ศก.อีสานมิ.ย.กระเตื้องบริโภคพุ่ง 3%


          ดัชนีราคาพืชสำคัญหดตัว 3.7% โดยราคายาง-ข้าว หดตัวลงวิกฤติศก.ยุโรป
          
ขอนแก่น -  ธปท.ชี้ เศรษฐกิจอีสานช่วงเดือนมิ.ย.กระเตื้อง การบริโภคภาคเอกชนเพิ่มขึ้น 3% เหตุรายได้ภาคเกษตรยังดีอยู่ ขณะที่การลงทุนพุ่ง 6.4% หลังยอดจดทะเบียนธุรกิจใหม่ขึ้นถึง 60.2%
          นายพิชิต ภัทรวิมลพร ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานภาคอีสาน เปิดเผยถึงภาวะเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือเดือนมิ.ย. ว่า ขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อน โดยการบริโภคภาคเอกชนยังขยายตัวจากรายได้ภาคเกษตรที่ค่อนข้างดี รวมทั้งการใช้จ่ายภาครัฐแม้จะชะลอลงแต่ยังอยู่ในเกณฑ์ดี สอดคล้องกับภาคการค้าที่ขยายตัวโดยเฉพาะค้าปลีกและการค้ารถยนต์ ส่วนการลงทุนเอกชนขยายตัว เพราะความเชื่อมั่นนักลงทุนมองทิศทางเศรษฐกิจโดยรวมว่ายังเติบโต  ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 1.82% ใกล้เคียงเดือนก่อน และอัตราว่างงานอยู่ระดับต่ำ เนื่องจากการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวเพิ่มจากปีก่อน 3.0% ส่วนหนึ่งมาจากรายได้ภาคเกษตรอยู่ในเกณฑ์ดี ทำให้มีการซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้น เห็นได้จากภาษีมูลค่าเพิ่มที่เพิ่มขึ้น  รวมทั้งยอดจดทะเบียนรถยนต์ โดยเฉพาะรถยนต์นั่งส่วนบุคคลและรถบรรทุก
          นายพิชิต อธิบายว่า ดัชนีการลงทุนภาคเอกชน เพิ่มขึ้น 6.4% สะท้อนจากยอดจดทะเบียนธุรกิจใหม่เพิ่มขึ้น 60.2% โดยโครงการที่ได้รับส่งเสริมลงทุนอยู่ในเกณฑ์ดีส่วนใหญ่เป็นการลงทุนจากกิจการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และลม  โดยธุรกิจภาคบริการเป็นสำคัญ ด้านการใช้จ่ายของภาครัฐ เพิ่มขึ้น 2.9% ชะลอลงจากเดือนก่อน ส่วนงบลงทุนลดลง 4.0% เนื่องจากมีการเร่งเบิกจ่ายเมื่อเดือนก่อนหน้าแล้ว ภาคเกษตรหดตัว 2.0% แต่ปรับตัวดีขึ้น จากเดือนก่อน โดยดัชนีผลผลิตพืชสำคัญเพิ่มขึ้น 1.7% ตามผลผลิตยางพารา
          สำหรับดัชนีราคาพืชสำคัญหดตัว 3.7% โดยราคายางพาราหดตัวตามการส่งออกตลาดยุโรปที่ลดลงจากปัญหาเศรษฐกิจ เช่นเดียวกับราคาข้าวลดลง ตามการชะลอการรับซื้อข้าวเปลือกของผู้ส่งออก และความต้องการต่างประเทศลดลง เพื่อรอดูสถานการณ์แผนระบายข้าวในสต็อกของรัฐบาล ส่วนราคามันสำปะหลังลดลง เพราะลานมันชะลอซื้อ เนื่องจากจีน ผู้นำเข้าหลักสั่งซื้อเป็นช่วงสั้นๆ เพื่อรอดูทิศทางราคา ขณะที่ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมหดตัว 3.0% ตามการผลิตในอุตสาหกรรมเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ที่หดตัว
          นายพิชิต กล่าวอีกว่า การผลิตอุตสาหกรรมน้ำตาลทรายขาวและอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์กลุ่ม Hard Disk Drive (HDD) ยังขยายตัวตามความต้องการต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น สำหรับดัชนีการค้าเพิ่มขึ้น 20.9% เนื่องจากการเร่งตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์กลับสู่ภาวะปกติ และโครงการรถยนต์คันแรกของรัฐบาล
          ขณะที่เงินฝากธนาคารพาณิชย์ ณ สิ้นเดือนพ.ค. มีเงินคงค้าง 532.7 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.6% สินเชื่อคงค้าง 570.9 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 19.9% ส่วนใหญ่เพิ่มขึ้นในสินเชื่อเพื่อเช่าซื้อรถยนต์และสินเชื่อที่อยู่อาศัย สำหรับอัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากอยู่ที่ 107.2% สำหรับ เงินฝากสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ณ สิ้นเดือนพ.ค. คงค้าง 302.0 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.8% ตามการจูงใจในเรื่องดอกเบี้ยที่สูงขึ้น  สินเชื่อคงค้าง 773.2 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 18.9% โดยเฉพาะสินเชื่อเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนตามนโยบายรัฐบาล อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 1.82%
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น