วันอังคารที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ปลุก SMEs อีสาน 3 หมื่นราย'ไม้-กระจกรถ' บุกลงทุน สปป.ลาว


ภารกิจของ "กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม" ช่วงปี 2555 เป็นต้นไป กำลังเร่งขับเคลื่อนแผนพัฒนาผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) แถบจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อุดรธานี หนองคาย ในกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพภาคการผลิต สามารถขยายตลาดและการลงทุนเปิดสาขาใหม่เข้าไปยังเพื่อนบ้านอย่าง สปป.ลาวได้
          นางศมน ชคัตธาดากุล กรรมการ ผู้จัดการ บริษัท อุดร กระจกยนต์ จำกัด เปิดเผยว่า บริษัท อุดรกระจกรถยนต์ เป็นตัวแทนจำหน่ายกระจกรถยนต์และฟิล์มกรองแสงรายใหญ่สุดในภาคอีสาน ปีที่ผ่านมารายได้ 154 ล้านบาท เติบโต 25% จากกระจกรถยนต์ 60% และอื่นๆ 40% มา ได้แก่ ฟิล์มกรองแสง ประดับยนต์ จีพีเอส ปี 2555 ยอดขายกระจกรถยนต์จะเติบโต 2 เท่า จาก 20 เป็น 40% เพราะอุตสาหกรรมรถยนต์หลังน้ำท่วม จึงเตรียมขยายในอุดรธานีและอุบลราชธานี กำลังเปิดเพิ่มอีก 1 สาขา ที่ขอนแก่น ตั้งเป้าไว้ว่าภายใน 10 ปี จะมี 10 สาขา รวมทั้ง เป็นที่ 1 ในทุกสินค้าของภาคอีสาน
          ตั้งเป้าขึ้นอันดับ 1 ตลาดกระจกติดรถยนต์ใน สปป.ลาว ครองส่วนแบ่งตลาดอยู่ 70% ทำรายได้ 10% ของยอดขาย วางแผนจะไปลงทุนเปิดสาขาด้วย ผลจากการเติบโตด้านโลจิสติกส์ในลาวเชื่อมโยงกับจีน และเวียดนามผ่านเวียงจันทน์ ในอนาคตลาวจะเติบโตแบบก้าวกระโดด ผู้ประกอบการต้องใช้โอกาสจากการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ขยายธุรกิจรับตลาดที่กว้างขึ้น และตั้งรับคู่แข่งจากต่างประเทศด้วย
          บริษัทอุดรกระจกยนต์เป็นผู้นำตลาดที่แข็งแกร่งในภาคอีสานและลาว ถ้าเปิดเออีซีจะส่งผลให้เติบโตเพิ่มขึ้นอีกปีละ 5-10% ตอนนี้จึงเข้าร่วมกับโครงการส่งเสริมผู้ประกอบการเอสเอ็มอีกับกรม มาตลอดตั้งแต่ปี 2549 สามารถปรับปรุงการทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น มีผลให้รายได้ขยับจากปี 2549 ปัจจุบันทำได้กว่า 30 ล้านบาท
          นายกฤษฎา บุตรเจริญ กรรมการ ผู้จัดการ บริษัท กฤษฎา อุตสาหกรรมค้าไม้ จำกัด และประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดหนองคาย เปิดเผยว่า ในฐานะผู้รับผลิตและจำหน่ายสินค้าไม้พื้นแปรรูปและเฟอร์นิเจอร์ เมื่อปี 2554 มีรายได้ 60 ล้านบาท มากที่สุดจากสินค้าประตู หน้าต่าง และไม้พื้น ส่วนมูลค่ารวมของอุตสาหกรรมไม้ทั้งหมด ราวปีละ 4,000 ล้านบาท ขณะนี้ตลาดในประเทศเติบโตดีมาก ปรับจาก 80 เป็น 90% ส่วนการส่งออกในอดีต ตลาดญี่ปุ่นกับสหภาพยุโรป รวมกว่า 20% แต่การแปรรูปผลิตภัณฑ์ไม้ ต้องนำเข้าวัตถุดิบจาก สปป.ลาว ไม้ประดู่ มะค่า ไม้แดง แต่มีอุปสรรค โลจิสติกส์ล่าช้า บวกกับสัมปทานที่ไทยได้กำลังจะลดลง เพราะรัฐบาล สปป.ลาว ต้องการเพิ่มพื้นที่ป่ามากขึ้นเป็น 45% ต่อไปจะใช้วัตถุดิบจากไม้ยางพาราที่ปลูกในหนองคายและบึงกาฬเพิ่มขึ้น สำหรับต้นทุนการทำเฟอร์นิเจอร์ มาจากวัตถุดิบ 50% ค่าแรง 30% ค่าไฟฟ้า 10% กำไรสุทธิ (Margin) อยู่ที่ 5-10%
          นอกจากนี้ บริษัทยังเติบโตตามตลาดผลิตบรรจุภัณฑ์เชิงพาณิชย์เพื่อการ ส่งออก (พาเลต) โดยใช้ไม้ยางพารา ส่วนอีก 10-15 ปี เมื่อลาวเติบโต ผู้ประกอบการในหนองคายจะมีโอกาสมาก โดยเฉพาะธุรกิจขนสินค้าและตัวแทนจำหน่าย เพราะอยู่ตรงข้ามกับเวียงจันทน์ การค้าขายตามแนวชายแดนปี 2556 จะทำได้ถึง 50,000 ล้านบาท เพราะลาวมีกำลังซื้อสูงขึ้นมาก แต่ธุรกิจเอสเอ็มอีในหนองคายยังไม่เติบโตเท่าที่ควร
          นายกฤษฎากล่าวว่า การเข้าร่วมโครงการกับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม จะทำให้ผู้ประกอบการมีความรู้ทางธุรกิจ และสามารถสร้างเครือข่ายใหม่ได้เป็นอย่างดี  นายวีรนันท์ นีลดานุงวงศ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า การเปิด เออีซี ทำให้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมเป็นห่วงผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในภาคการผลิตที่มีกว่า 300,000 ราย โดยเฉพาะกลุ่มที่ไม่ได้ผลิตป้อนอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ จึงได้พยายามพัฒนาผู้ประกอบการ แต่แนวโน้มไม่สามารถสร้างได้ทันทั้งหมด และยอมรับโครงการที่ทำอยู่ปัจจุบัน ยังไม่ทั่วถึงความต้องการทั้งหมด ตามแผนปีงบประมาณ 2556 ได้ของบประมาณเพิ่มอีกหลายร้อยล้านบาท มุ่งเน้นพัฒนาเป็นอุตสาหกรรมรายสาขา ลำดับแรกต้องเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพ
          นายวุฒิชัย ตางาม ผู้อำนวยศูนย์การส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 4 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 4 มีหน้าที่ดูแลผู้ประกอบการใน 4 จังหวัด คือเลย หนองคาย หนองบัวลำภู บึงกาฬ และเลย อนาคตจะเพิ่มนครพนมอีกแห่ง แต่ได้รับงบฯเพียง 14 ล้านบาท ยังไม่เพียงพอกับจำนวนผู้ประกอบการที่ต้องการความช่วยเหลือดูแล
ทีมา : ประชาชาติธุรกิจ 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น