วันอังคารที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2555

'KSL' โชว์แผนลงทุนรับเออีซี โรงงานน้ำตาลที่พม่า ลุยปีหน้าหลังกฎระเบียบชัดเจน


           "น้ำตาลขอนแก่น" กำเงินกว่า 3 พันล้านบาท ลุยลงทุนตั้งโรงงานน้ำตาลในเมียนมาร์ พร้อมขยายพื้นที่ปลูกอ้อยกว่าแสนไร่รองรับมั่นใจปีหน้าได้ข้อสรุป หลังกฎระเบียบเปิดรับ ชี้เป็นโอกาสขยายการลงทุนรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหลังเข้าไปบุกลงทุนในสปป.ลาวและกัมพูชา คาดปีหน้าดันกำลังการผลิตน้ำตาลทรายดิบขึ้นเป็น 8 แสนตันต่อวัน
          นายจำรูญ ชินธรรมมิตร์ ประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด(มหาชน) (บมจ.) หรือKSL เปิดเผยกับ"ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ขณะนี้บริษัทได้มีแผนที่จะเข้าไปลงทุนก่อสร้างโรงงานน้ำตาลและขยายพื้นที่ปลูกอ้อยที่ระดับกว่า1 แสนไร่ รวมทั้งโรงไฟฟ้าชีวมวล ขนาด 10 เมกะวัตต์ ควบคู่ไปด้วย ในสหภาพเมียนมาร์ โดยในเบื้องต้นต้องการลงทุนโรงงานน้ำตาลขนาดเล็ก5 พันตันอ้อยต่อวันหรือประมาณ2-3 แสนตันอ้อยต่อปีผลิตน้ำตาลทรายดิบได้500 ตันต่อวันใช้เงินลงทุนประมาณ 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯหรือราว3.1 พันล้านบาท ซึ่งแผนลงทุนดังกล่าวคาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในปี2556หลังจากที่รัฐบาลเมียนมาร์มีความชัดเจนในการให้นักลงทุนต่างชาติเข้าไปลงทุนได้แล้ว
          ทั้งนี้ การลงทุนตั้งโรงงานน้ำตาลขนาดเล็กก่อนเพื่อลดความเสี่ยงหากลงทุนโรงงานขนาด 2-3 ล้านตันอ้อยต่อปีเมื่อเกิดความเสียหายก็จะสูญเสียมากขณะเดียวกันจะต้องดูว่าประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(เออีซี) ที่จะเริ่มมีผลในปี2558จะสามารถให้สิทธิการลงทุนกับบริษัทอย่างไรบ้างอย่างไรก็ตามหากพบว่าการลงทุนประสบความสำเร็จด้วยดีก็สามารถขยายกำลังการผลิตเพิ่มได้อีก
          สำหรับการตัดสินใจลงทุนครั้งนี้เป็นการขยายโอกาสการลงทุนในต่างประเทศของบริษัทจากปัจจุบันบริษัทมีการลงทุนโรงงานน้ำตาล และโรงไฟฟ้าในสปป.ลาวและกัมพูชาอยู่แล้ว โดยปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกแล้ว50%ของพื้นที่ทั้งหมดที่1.8 แสนไร่ ซึ่งบริษัทต้องการเพิ่มสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศมากขึ้นจากปัจจุบันไม่ถึง2-3% ของรายได้ทั้งหมด ส่วนจะเพิ่มเป็นเท่าไรนั้น ต้องดูแผนลงทุนในอนาคตด้วยว่าจะประสบความสำเร็จมากน้อยเพียงใด
          นายจำรูญ กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตามการลงทุนผลิตน้ำตาลทรายดิบในต่างประเทศมีต้นทุนสูงกว่าการผลิตในประเทศไทยประมาณ20-30%โดยต้นทุนที่สูงขึ้นมาจากการลงทุนด้านสาธารณูปโภค ทั้งสายส่งไฟฟ้า และถนน ซึ่งบริษัทจะต้องลงทุนทำเองแต่ในประเทศไทยภาครัฐได้ลงทุนด้านสายส่งไฟฟ้าและถนนรองรับอยู่แล้วดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องลงทุนในส่วนนี้เพิ่ม
          "เรามีความเชี่ยวชาญด้านโรงงานผลิตน้ำตาลอยู่แล้วการที่จะขยายไปยังประเทศอื่นคงไม่ใช่เรื่องยากแต่ต้องดูแนวทางการลงทุนในเมียนมาร์ให้ชัดเจนก่อนโดยปัจจุบันเมียนมาร์มีโรงงานน้ำตาลอยู่แล้วแต่ขนาดเล็กหีบอ้อยไม่พอทั้งนี้เชื่อว่าหากเออีซีมีผลในอีก3ปีข้างหน้า เมียนมาร์น่าจะเปิดประเทศมากขึ้น เพราะหากกฎหมายไม่เอื้ออำนวยคนก็จะหันไปลงทุนประเทศอื่นแทนอย่างไรก็ตามเรายังไม่มีการขยับสัดส่วนรายได้จากการดำเนินธุรกิจในต่างประเทศเพิ่มขึ้นในปีนี้ขณะที่โรงงานน้ำตาลในกัมพูชาและลาวเชื่อว่าในปีนี้จะมีผลขาดทุนลดลงจากปีก่อน"
          สำหรับแนวโน้มการดำเนินงานปี 2556 คาดว่าจะเติบโต ตั้งเป้าผลิต 8 ล้านตันอ้อยหรือผลิตน้ำตาลทรายดิบได้8 แสนตันต่อปี จากปีนี้ผลิตอยู่ที่ 7 ล้านตันอ้อย หรือผลิตน้ำตาลทรายดิบ7 แสนตันต่อปีส่วนหนึ่งมาจากกำลังการผลิตโรงงานหีบอ้อยที่จ.เลยที่คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จภายในปีหน้าส่งผลให้บริษัทมีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นประกอบกับบริษัทจะมีรายได้จากธุรกิจเอทานอลและไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างมากซึ่งในปีนี้รายได้ดังกล่าวคิดสัดส่วนเป็น30%ของกำไรทั้งหมดเนื่องจากราคาขายและกำลังการผลิตเพิ่มขึ้น
          ทั้งนี้บริษัทจะเพิ่มสัดส่วนรายได้จากธุรกิจเอทานอลและไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอีกในช่วง 5 ปีข้างหน้า (ปี 2556-2560)แต่จะไม่เกิน50% ของกำไรทั้งหมด เนื่องจากบริษัทยังต้องการรักษาสัดส่วนรายได้จากธุรกิจน้ำตาลไว้ ส่วนปี 2556 บริษัทตั้งเป้าเงินลงทุนไว้ที่ 4 พันล้านบาทแบ่งเป็นการลงทุนขยายโรงงานน้ำตาลและโรงงานผลิตเอทานอลจากปัจจุบันมีกำลังผลิต 3.5 แสนลิตรต่อวัน และโรงไฟฟ้าชีวมวลมีกำลังผลิต 90 เมกะวัตต์
          ส่วนแนวโน้มราคาน้ำตาลทรายดิบในปีหน้าคาดว่าจะเฉลี่ยอยู่ที่20 เซ็นต์ต่อปอนด์ จากปีก่อนอยู่ที่ 25 เซ็นต์ต่อปอนด์ อย่างไรก็ตามบริษัทได้ทำสัญญาขายล่วงหน้าปี 2556 ไปแล้ว 30%และจะต้องทยอยทำสัญญาเพิ่มขึ้นอีกโดยปกติการทำสัญญาขายล่วงหน้าจะอยู่ที่ประมาณ80%ของยอดขายทั้งหมด
ที่มา : ฐานเศรษฐกิจ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น