วันอังคารที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

เปิดงานวิจัยลอจิสติกส์-โซ่อุปทาน สนข.ชี้ไทยต้องแต่งสวยรับเออีซี


         โครงการวิจัยด้านลอจิสติกส์ ร่วมระหว่างวช.และสกว.ร่วมประชุมเผยแพร่ผลงานวิจัยด้านลอจิสติกส์และโซ่อุปทานภายใต้บริบทประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หวังดันงานวิจัยด้านลอจิสติกส์และขยายผลวิจัยสู่ผู้ที่เกี่ยวข้องสามารถนำผลงานวิจัยสู่การนำไปปฏิบัติได้จริง อีกทั้งเสริมสร้างความร่วมมือในการพัฒนาเครือข่ายด้านลอจิสติกส์อย่างยั่งยืน
          ศ.นพ.สุทธิพันธ์จิตพิมลมาศผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) กล่าวว่า ปัจจุบันต้นทุนลอจิสติกส์ของประเทศไทยอยู่ในเกณฑ์ที่สูงประมาณร้อยละ14.5ต่อจีดีพีถ้าสามารถวิจัยและพัฒนาเพิ่มประสิทธิภาพของลอจิสติกส์เพื่อลดต้นทุนและพัฒนาระบบต่างๆจะเป็นการเพิ่มการแข่งขันของประเทศสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในการลดต้นทุนพลังงานด้วย การก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนทำให้จากนี้ไปประเทศไทยจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปและจะมีการเชื่อมโยงกับประเทศต่างๆโดยเฉพาะ5ประเทศทางเหนือของภูมิภาค ภาคอุตสาหกรรมสินค้าและบริการจะมีผลกระทบอย่างกว้างขวาง แต่ไม่เกินความสามารถของนักวิจัยในการศึกษาและสังเคราะห์ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อประเทศไทย
          ขณะที่ ดร.จุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจรกระทรวงคมนาคม ได้ปาฐกถาพิเศษเรื่อง"โครงสร้างพื้นฐานด้านโลจิสติกส์และอนาคตประเทศไทย"เพื่อสร้างความเข้าใจเรื่องเงินกู้ 2 ล้านล้านบาท ซึ่งมีความสำคัญต่อโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งของประเทศตามแนวคิดสมัยใหม่ในการพัฒนาที่ทำขึ้นเพื่อประโยชน์สาธารณะจึงจำเป็นต้องมีการลงทุนสร้างไว้เพื่อใช้เป็นฐานในการสร้างคุณค่าสำหรับประชาชนรุ่นหลังที่ผ่านมาไทยลงทุนเรื่องการขนส่งทางถนนค่อนข้างมากถึง5.3แสนล้านบาทปัจจุบันมีรถจดทะเบียน15ล้านคัน ทำให้เกิดปัญหาการจราจรจึงต้องปรับเพิ่มการลงทุนทางน้ำและทางอากาศมากขึ้นในอนาคตระบบรางรถไฟจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของการเดินทางและคาดว่าจะมีผู้ใช้บริการมากขึ้นเมื่อพิจารณาแผนยุทธศาสตร์ของประเทศ พบว่า มีโจทย์การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 3 โจทย์ คือ ลอจิสติกส์เออีซีและการแก้ปัญหาจราจรแต่ข้อจำกัดด้านการลงทุนของไทยภาครัฐจะต้องมีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพื่อนำไปสู่การก่อสร้างของภาคเอกชนเกิดการจ้างงานสร้างรายได้ตามมาแต่แม้ว่างบประมาณแผ่นดินจะเพิ่มขึ้นเป็น 2.4 ล้านล้านบาทในปี พ.ศ.2555 แต่งบลงทุนกลับเพิ่มขึ้นเพียง1แสนล้านล้านบาทเท่านั้น
          แต่โจทย์ที่ยากกว่าและใช้งบประมาณมากกว่าคือโจทย์ของอาเซียนเมื่อเป็นตลาดเดียวกันและฐานการผลิตสามารถเคลื่อนย้ายได้โดยเสรีจึงต้องศึกษาว่าการขนส่งดีพอหรือไม่ จะเคลื่อนย้ายไปในทิศทางใด พื้นที่ใดมีความน่าสนใจเรื่องเร่งด่วน คือเปิดเสรีการให้บริการสาขาลอจิสติกส์โดยเฉพาะการขนส่งสินค้าทางรถไฟระหว่างประเทศและทางถนนระหว่างประเทศจึงต้องพัฒนาเชื่อมโยงการเดินทางและขนส่งกับประเทศเพื่อนบ้านและเชื่อมโยงประตูสู่ประเทศเพื่อนบ้านกับศูนย์กลางของภูมิภาคทั่วประเทศโดยเชื่อมต่อบริเวณประตูการค้าชายแดนที่มีศักยภาพเชื่อมโยงพื้นที่ภายในภูมิภาคของประเทศโดยสนับสนุนฐานการผลิตหลักและภาคบริการ พัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกและองค์ประกอบต่อเนื่องเพื่อเชื่อมโยงระบบขนส่งระหว่างประเทศเข้ากับขนส่งภายในประเทศ ซึ่งต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก
          ด้าน รศ.ดร.รุธิร์ พนมยงค์ นักวิจัยจากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์บรรยายเรื่องผลกระทบต่อประเทศไทยจากการจัดการโครงสร้างพื้นฐานด้านลอจิสติกส์และการปรับรูปแบบโซ่อุปทานภายใต้บริบทประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนโดยมุ่งหวังพิจารณาผลกระทบทางเศรษฐกิจของประเทศไทยจากการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนรวมถึงผลกระทบที่เกี่ยวข้องจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานภายใต้ พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท ที่น่าจะเป็นตัวเร่งให้เกิดการขยายตัวของเศรษฐกิจได้รวดเร็วเพิ่มขึ้นจากกรอบประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนเพียงอย่างเดียวทั้งนี้ คาดว่าในปี2563ไทยจะมีอัตราการเจริญเติบโตของจีดีพีเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ0.05 ต่อปี หรือประมาณ 977 พันล้านเหรียญสหรัฐโดยผลกระทบส่วนใหญ่จะอยู่ในพื้นที่ที่มีอุตสาหกรรมตั้งอยู่แล้วส่วนจังหวัดอื่นๆจะมีความเจริญขยายตัวเข้าไปถึงมากขึ้นจากการอำนวยความสะดวกทางการค้าและโครงสร้างพื้นฐานที่พัฒนาขึ้นตามกรอบเออีซีซึ่งจังหวัดที่ได้รับผลทางบวกมากที่สุดคือสมุทรปราการและระยองร้อยละ21.5 และ16.7 ตามลำดับขณะที่ลำพูนและขอนแก่นมีการขยายตัวของจีดีพีมากที่สุด ส่วนกรุงเทพฯได้รับผลกระทบประมาณร้อยละ 15
          "ประเทศไทยคาดว่าจะหลุดจากประเทศรายได้ปานกลางในปีค.ศ.2030 การเข้าสู่เออีซีไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงใหญ่หลวง เพราะเราได้มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เข้าร่วมเขตการค้าเสรีอาเซียนในปี 1992 แล้ว ส่วนโจทย์ที่มองต่อไปในอนาคตคือประเทศอื่นในภูมิภาคจะมีการพัฒนาโครงการต่างๆอย่างไรและประเทศใดจะมีศักยภาพในการแย่งชิงผลประโยชน์ทางการค้ามากกว่ากัน" รศ.ดร. รุธิร์ กล่าวทิ้งท้าย
ที่มา : สยามธุรกิจ 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น