วันพฤหัสบดีที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

นักศึกษาลาวกับโอกาสทางการศึกษาในไทย


    สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว มีระบบการศึกษาตั้งแต่ระดับ อนุบาล ประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้น มัธยมศึกษาตอนปลาย และอุดมศึกษาซึ่งถือเป็นการศึกษาขั้นสูงสุด โดยมีสถาบันการศึกษาชั้นสูงและมหาวิทยาลัยภายใน สปป.ลาว เปิดสอนใน 2 หลักสูตร คือ หลักสูตรประกาศนีย บัตรวิชาชีพชั้นสูง และหลักสูตรระดับปริญญาตรี ถึงแม้จะเริ่มมีการเปิดสอนในหลักสูตรระดับปริญญาโทบ้างในบางมหาวิทยาลัยแล้วแต่ก็มีเป็นบางคณะเท่านั้น จึงทำให้นักศึกษาลาวที่ต้องการศึกษาต่อในระดับสูงขึ้นไป ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะเลือกประเทศไทยเป็นประเทศเป้าหมาย เนื่องจากเป็นเพื่อนบ้านที่มีความสัมพันธ์อันดีระหว่างกัน ด้านวัฒนธรรมและภาษาก็ใกล้เคียงกัน
          
มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นมหาวิทยาลัยที่มีความพร้อม และศักยภาพทางการศึกษาสูง มีสิ่งอำนวยความสะดวกและสาธารณูปโภคพื้นฐานครบครัน ทั้งมีการจัดสรรงบประมาณ และมีความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ เพื่อให้การสนับสนุนทุนการศึกษาแก่นักศึกษาจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างเพียงพอ ทำให้ภาระค่าใช้จ่ายลดลง และที่สำคัญการเดินทางระหว่าง สปป.ลาว กับ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ค่อนข้างสะดวก มีระยะทางไม่ไกลกันมากนัก ดังนั้น มหาวิทยาลัยขอนแก่น จึงได้รับความนิยมมากเป็นอันดับต้นๆ จากนักศึกษาลาวที่ต้องการเข้ามาศึกษาต่อระดับปริญญาโทและเอก
          อ.บุญทวี สอสัมพันธ์ นักศึกษาลาวระดับปริญญาเอก สาขาวิชาพัฒนศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยว่า ตนทำงานเป็นอาจารย์อยู่ที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว ณ กรุงเวียงจันทน์ และได้มีโอกาสร่วมทำงานวิจัยกับอาจารย์จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น ในโครงการความร่วมมือระหว่าง 2 มหาวิทยาลัย จากนั้นได้เดินทางมาทำเวิร์คช็อป ในมหาวิทยาลัยขอนแก่นบ่อยครั้ง เมื่อบวกกับความต้องการพัฒนาตนเองอยู่แล้ว จึงตัดสินใจจะศึกษาต่อในระดับปริญญาเอกให้ได้ โดยต้องการพัฒนาความรู้ของตนเอง เพื่อที่จะนำความรู้ดังกล่าวกลับไปใช้ในการสอนนักศึกษาระดับปริญญาตรีและโทที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว หวังให้คนรุ่นใหม่ของ สปป.ลาว เติบโตขึ้นเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพและเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศต่อไป
          น.ส.จันทร์ถนอม สุขเสริม นักศึกษาลาวระดับปริญญาโท สาขาวิชาพัฒนศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยว่า ตนทำงานที่หน่วยงานวางแผนนโยบายพัฒนาอุตสาหกรรมและหัตถกรรม กระทรวงอุตสาหกรรมการค้า สปป.ลาว ด้วยความตั้งใจอยากจะศึกษาต่อในประเทศไทย แต่ไม่ทราบข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับหลักสูตรและทุนการศึกษามากนัก จึงได้สอบถามจากรุ่นพี่ใน
          ที่ทำงาน ประจวบกับที่ทำงานได้รับหนังสือเรื่องทุนการศึกษาต่อโดยเฉพาะ เมื่อผ่านการคัดเลือกและได้รับทุนการศึกษา จึงได้เข้ามาศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดี ทั้งจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น บัณฑิตวิทยาลัย สมาคมนักศึกษาลาว ศูนย์ข้อมูลลาว จากอาจารย์และเพื่อนนักศึกษาที่เรียนด้วยกัน ทำให้รู้สึกประทับใจและอบอุ่นใจเหมือนอยู่ที่บ้าน ส่วนข่าวสารจาก สปป.ลาว ว่ามีเหตุการณ์อะไรใหม่ๆ ขึ้นบ้าง ก็อาศัยติดตามได้อย่างง่ายดายจากสื่ออินเตอร์เน็ต สื่อสังคมออนไลน์ รวมทั้งจากศูนย์ข้อมูลลาว มหาวิทยาลัยขอนแก่น
          ด้าน นายธัญญา ภักดี ผู้อำนวยการกองสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยขอนแก่น เผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ คณะผู้บริหารฝ่ายชุมชนสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร พร้อมด้วยบุคลากร กองสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยขอนแก่น เดินทางจากไปยังแขวงหลวงพระบาง สปป.ลาว เพื่อสร้างความร่วมมือกับ มหาวิทยาลัยสุภานุวงศ์ สถานีโทรภาพแห่งชาติลาว แขวงหลวงพระบาง ที่ออกอากาศทางช่อง 6 และสถานีวิทยุกระจายเสียง สปป.ลาว 98.00 Mhz หลวงพระบาง ซึ่งได้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และการเจรจาข้อตกลงความร่วมมือกันด้านต่างๆ อาทิ การพัฒนาบุคลากร การแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร
          ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีความพร้อมเพียงพอใน
          ด้านการติดต่อสื่อสาร ทั้งด้านบุคลากรและเครื่องมือการสื่อสารมวลชน เช่น สถานีวิทยุ FM 103 MHz และ KKU Channel หากมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารระหว่างมหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยสุภานุวงศ์ สถานีโทรภาพแห่งชาติลาว และสถานีวิทยุกระจายเสียง สปป.ลาว จะเป็นการเพิ่มช่องทางการสื่อสารระหว่างเครือข่ายให้มากยิ่งขึ้น ซึ่งสามารถกำหนดเนื้อหาสาระให้ตรงตามความต้องการของกลุ่มเป้าหมายโดยเฉพาะ เช่น นักศึกษาใน สปป.ลาว จะได้รับการประชาสัมพันธ์หลักสูตร ทุนการศึกษา รวมไปถึงการใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัยขอนแก่น จากสื่อโทรภาพและสื่อวิทยุกระจายเสียง ภายใน สปป.ลาว และขณะเดียวนักศึกษาลาวในมหาวิทยาลัยขอนแก่นก็จะได้รับข่าวสารจาก สปป.ลาว ผ่านสื่อของมหาวิทยาลัยขอนแก่นได้เช่นกัน
          "จากเป้าหมายของมหาวิทยาลัยขอนแก่น คือการอยู่อันดับ 1 ใน 3 ของประเทศ 1 ใน 80 ของเอเชีย และ 1 ใน 400 ของโลก เพราะฉะนั้นการสื่อสารของมหาวิทยาลัยขอนแก่นจะต้องมีความเป็นสากลมากขึ้น โดยอาศัยเครือข่ายความร่วมมือด้านต่างๆ ระหว่างประเทศ โดยเริ่มจากประเทศเพื่อนบ้านก่อน ดังนั้นนโยบายด้านการสื่อสารเชิงรุกจะต้องเข้าถึงพื้นที่เป้าหมายเพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดี ด้วยการเรียนรู้วัฒนธรรม ภาษา และวิถีชีวิตของประเทศเพื่อนบ้านทุกแห่ง ในขณะเดียวกัน องค์กรจะต้องพร้อมสำหรับการสื่อสารระดับสากลโดยสามารถใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสารเป็นหลักด้วย" นายธัญญา กล่าว
          นอกจากความร่วมมือกับสถาบันอุดมศึกษาและองค์กรต่างๆ ใน สปป.ลาว แล้ว มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในฐานะสถาบันอุดมศึกษาหลักของภาคตะวันออกเฉียงเหนือในประเทศไทย ยังมีความร่วมมือกับสถาบันอุดมศึกษาและองค์กรต่างๆ อีกหลายแห่งในประเทศสมาชิกอาเซียนที่อยู่ตอนบน คือ เวียดนาม กัมพูชา และเมียนมาร์ ทั้งหมดล้วนเป็นประเทศที่กำลังพัฒนา เมื่อพิจารณาในบทบาทของสถาบันอุดมศึกษาจะมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการสนับสนุนการขับเคลื่อน "ประชาคมอาเซียน" ให้ก้าวไปสู่ความสำเร็จ และเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการก้าวเข้าสู่ "ประชาคมอาเซียน" มหาวิทยาลัยขอนแก่น จะต้องร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านในด้านต่างๆ และจะต้องเตรียมความพร้อมของตัวเอง นักศึกษา บุคลากร และประชาชนในพื้นที่ ในหลายมิติ ทั้งด้านภาษา วิชาการ งานวิจัย ที่จะช่วยให้มหาวิทยาลัยและประชาชนมีศักยภาพและอยู่ใน "ประชาคมอาเซียน" ได้อย่างมีความสุข
ที่มา : บ้านเมือง 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น