วันพุธที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

เอสเอ็มอีญี่ปุ่นบุกไทยยึดทำเลทองขอนแก่น


               "ขอนแก่นเองมีพื้นที่หรือภูมิศาสตร์ที่เหมาะสมมีความเสี่ยงภัยน้อยซึ่งสถานการณ์ในญี่ปุ่นน่าจะส่งผลดีกับเราในแง่ด้านการลงทุน"
          "เมืองหมอแคน"เนื้อหอม นักลงทุนแห่เข้าสำรวจพื้นที่เตรียมย้ายฐานผลิตพร้อมลงทุนรองรับเปิดเสรีอาเซียนในอีก 2 ปีข้างหน้าระบุที่ตั้งได้เปรียบอยู่ในจุดศูนย์กลางภูมิภาค แถมปลอดภัยจากเหตุแผ่นดินไหว ประธานอุตฯ ขอนแก่นระบุเอสเอ็มอีญี่ปุ่นจ่อย้ายฐานมาไทย
          ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า คือ ปี 2558 ประเทศที่เป็นสมาชิกอาเซียนเปิดเสรีการค้าอาเซียนการย้ายแรงงาน ทุน หรือด้านอื่นๆ จะดำเนินไปโดยเสรี โดยเฉพาะภาคอีสาน ตั้งอยู่จุดศูนย์กลางของภูมิภาคพอดีไม่ว่าจะไปทางด้านจีนก็ไม่ไกลมาก ไปด้านอินเดียระยะทางก็ไม่ต่างจากจีนมากนัก ขณะที่ทั้งจีนและอินเดียมีประชากรเมื่อรวมกันแล้วประมาณ 2,000 กว่าล้านคน เมื่อรวมกับชาติอาเซียน เกือบประมาณ3,000 ล้านคน หรือประมาณ1/3ของโลกซึ่งถือว่าเป็นตลาดที่ใหญ่เป็นที่หมายปองของนักลงทุนนักธุรกิจนอกเหนือไปจากนั้นเมื่อสำรวจย้อนหลังไป 100 ปี อีสานยังไม่พบแผ่นดินไหว ไม่มีภัยธรรมชาติที่น่ากลัวจากปัจจัยเหล่านี้จึงเป็นที่สนใจของนักลงทุนและนักธุรกิจทั้งหลาย
          เมื่ออีสานเป็นจุดศูนย์กลาง การย้ายฐานการผลิตมายังอีสานมากขึ้นเพื่อความสะดวกในการขนถ่ายสินค้าไปทั้งด้านตะวันออกและตะวันตก ดังนั้น ไม่เฉพาะคนในแถบเอเชียเท่านั้นที่สนใจจะมาลงทุนภาคอีสานทั้งอเมริกายุโรปต่างทยอยเข้ามาสำรวจพื้นที่ในภาคอีสานแทบทุกตารางนิ้วส่งผลให้นายหน้าค้าที่ดินเริ่มกว้านซื้อที่ดินกักตุนไว้เก็งกำไรให้กับนักลงทุนที่จะเข้ามาในอนาคตอันใกล้นี้
          นายวิฑูรย์ กมลนฤเมธ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดขอนแก่น กล่าวถึงแนวโน้มการลงทุนในจังหวัดขอนแก่นว่า ขณะนี้มีนักลงทุนจำนวนมากสนใจจังหวัดขอนแก่นและเริ่มเข้ามาลงทุนมากขึ้นเนื่องจากจังหวัดขอนแก่นเป็นศูนย์กลางด้านการค้าการลงทุนที่ในอนาคตจะสามารถเชื่อมต่อภูมิภาคต่างๆ ได้มากขึ้น พร้อมทั้งระยะทางไม่ไกลซึ่งนักลงทุนที่เข้ามามีทั้งคนไทยและชาวต่างประเทศ จนทำให้คนเริ่มซื้อที่ดินไว้เพื่อเก็งกำไร
          "แนวโน้มที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในญี่ปุ่นจะย้ายฐานเข้ามาเมืองไทยมีค่อนข้างมากเพราะรัฐบาลญี่ปุ่นเปิดโอกาสให้ย้ายฐานการผลิตออกนอกประเทศเพื่อลดความเสี่ยงนอกเหนือจากบริษัทขนาดใหญ่ และขอนแก่นเองมีพื้นที่หรือภูมิศาสตร์ที่เหมาะสมมีความเสี่ยงภัยน้อย ซึ่งสถานการณ์ในญี่ปุ่นน่าจะส่งผลดีกับเราในแง่ด้านการลงทุน แต่จะกระทบการส่งออกบ้างประมาณ 10% ของ GDP
          สำหรับการส่งออกในภาคอุตสาหกรรมยานยนต์นายวิฑูรย์กล่าวว่า สำหรับอีกบริษัทหนึ่งที่มีทุนมากพอๆ กับเทมาเส็กที่จะเข้ามาได้แก่ บริษัท One North Capital ซึ่งเป็นบริษัทของเอกชนชาวสิงคโปร์ บริษัทดังกล่าวสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในขอนแก่น ทั้งในด้านพรอพเพอร์ตี้ หุ้น และอื่นๆ ซึ่งบริษัทนี้มีเงินทุนมากกว่าแลนด์แอนด์เฮ้าส์มากกว่าศิวาลัยดังนั้น จึงเป็นสิ่งที่น่ากลัวสำหรับผู้ประกอบการในขอนแก่น หากต้องรับมือกับบริษัทขนาดใหญ่เช่นนี้
          ขณะที่ก่อนหน้านี้กระทรวงอุตสาหกรรมโดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมจับมือจังหวัดยามานาชิ ประเทศญี่ปุ่น เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมระหว่าง2 ประเทศ และภายหลังที่รัฐบาลญี่ปุ่นได้มีนโยบายในการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ออกไปลงทุนยังต่างประเทศมากขึ้นโดยกรอบของความร่วมมือประกอบด้วย 3 เรื่อง ได้แก่ ส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการ SMEs จากจังหวัดยามานาชิ และประเทศไทย สนับสนุนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในจังหวัดยามานาชิ และประเทศไทย เพื่อขยายธุรกิจในระดับสากลรวมถึงการแลกเปลี่ยนข้อมูลและดำเนินกิจกรรมที่สร้างความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจของทั้ง 2 ประเทศ
          โดยคาดว่าจากความร่วมมือดังกล่าวผู้ประกอบการประเทศญี่ปุ่นจะขยายฐานการผลิตในประเทศไทยและเกิดการจ้างงานในประเทศไทยมากขึ้น รวมถึงประเทศไทยจะได้รับประโยชน์จากองค์ความรู้ในการบริหารธุรกิจและเทคโนโลยีอุตสาหกรรมจากญี่ปุ่นซึ่งเป็นประเทศชั้นนำด้านอุตสาหกรรมของโลก
          โดยกลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่คาดว่าจะได้ประโยชน์ได้แก่อุตสาหกรรมชิ้นส่วนเครื่องจักรกล และชิ้นส่วนเครื่องจักร ฯลฯ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมหลักของจังหวัดยามานาชิทั้งนี้ที่ผ่านมากรมส่งเสริมอุตสาหกรรม(กสอ.)มีโต๊ะญี่ปุ่นเป็นศูนย์กลางของการดำเนินงานด้านการลงทุนในการส่งเสริมและพัฒนาระหว่างไทยและญี่ปุ่นในหลายจังหวัดอาทิจังหวัดฟูกุโอกะ,โอซาก้า,ยามานาชิ,โทโทริ,ฮิโรชิม่าและจังหวัดชิมาเน่ ตลอดจนความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนญี่ปุ่น อีกจำนวนมาก โดยรัฐบาลได้ตั้งเป้าหมายเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างไทย-ญี่ปุ่น เป็น 100,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปี 2557
ที่มา : สยามธุรกิจ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น