วันพุธที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

สธ.ดันเมกะโปรเจ็กต์แสนล.พัฒนาโรงพยาบาลทั่วปท.


          สธ.ดันเมกะโปรเจ็กต์ 1 แสนล้านบาท พัฒนาระบบสาธารณสุข ทั่ว ปท.ด้วย 12 เขตบริการสุขภาพ ดึงมหาวิทยาลัยร่วมจัดตั้ง 'ศูนย์การแพทย์เฉพาะทาง' คาดเริ่มแผนปี 2558
          เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เรียกประชุมผู้แทนจากสภาวิชาชีพพยาบาล เภสัชกรรม ทันตแพทย์ และสถาบันการศึกษา ประกอบด้วย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยมหิดล หารือนโยบายยกระดับขีดความสามารถของ สธ.ด้วย 12 เขตบริการสุขภาพ
          นพ.ประดิษฐกล่าวว่า ขณะนี้รัฐบาลมีนโยบายพัฒนาสาธารณสุขทั้งประเทศ โดยจัดทำเป็นแผนเมกะโปรเจ็กต์ คาดว่าจะใช้งบประมาณ 1-2 แสนล้านบาท ในระยะ 10 ปี โดยเริ่มในปี 2558 แบ่งการดำเนินงานเป็น 12 เขตบริการสุขภาพ มีผู้ตรวจราชการ สธ.กำกับดูแลในแต่ละเขต เบื้องต้นมอบหมายให้สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) จัดทำมาตรฐานเขตบริการสุขภาพ โดยทุกเขตต้องมีศูนย์รักษาโรคหัวใจ ศูนย์อุบัติเหตุ ศูนย์มะเร็ง ฯลฯ
          "มาตรฐานดังกล่าวจะต้องมีการพัฒนาบุคลากรให้พร้อมปฏิบัติงานและเพียงพอ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ต้องมีแพทย์ประจำทุกแห่ง ซึ่งการผลิตแพทย์จะใช้เวลา 6 ปี ตั้งเป้า 3 ปีแรก ผลิตแพทย์ให้ได้ 1 คนต่อประชากร 7,000 คน จากนั้น 3 ปีหลัง อาจเป็น 1 คนต่อประชากร 6,000 คน เป็นต้น ขณะนี้ได้มอบให้ปลัด สธ.จัดทำแผนเพื่อแบ่งบทบาทหน้าที่ของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น จ.เชียงใหม่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) มีศูนย์โรคหัวใจ รัฐบาลจะสนับสนุนงบประมาณให้ ส่วนโรงพยาบาลในสังกัด สธ.ให้ดูแลรักษาด้านอื่นๆ ซึ่งทั้งหมดจะทำให้การทำงานด้านสาธารณสุขเป็นองค์รวม" นพ.ประดิษฐกล่าว
          ด้าน นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัด สธ. กล่าวว่า สธ.แบ่งโรงพยาบาล 3 ระดับ คือ ระดับตติยภูมิ หรือโรงพยาบาลระดับใหญ่ มีโรงพยาบาลศูนย์ (รพศ.) โรงพยาบาลทั่วไป (รพท.) 116 แห่ง ระดับทุติยภูมิ เป็นโรงพยาบาลชุมชน 774 แห่ง และระดับปฐมภูมิ เป็นโรงพยาบาลระดับเล็ก เช่น รพ.สต. ศูนย์สุขภาพชุมชนเมือง (ศสม.) และสถานบริการสาธารณสุขชุมชน (สสช.) 10,174 แห่ง โดยโรงพยาบาลทุกระดับจะต้องลดอัตราป่วย อัตราตาย ค่าใช้จ่าย พัฒนามาตรฐานการบริการ และให้ประชาชนเข้าถึงการบริการที่สำคัญ และต้องทำงานร่วมกับเครือข่ายต่างๆ ในพื้นที่ โดยเฉพาะโรงพยาบาลที่เป็นโรงเรียนแพทย์ สังกัดมหาวิทยาลัยต่างๆ เบื้องต้นได้มอบหมายให้ผู้ตรวจราชการ สธ.แต่ละเขต หารือกับผู้บริหารโรงพยาบาลสังกัดมหาวิทยาลัยในสัปดาห์หน้า เพื่อจัดทำแผนงานให้แล้วเสร็จในเดือนพฤศจิกายนนี้
          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับแผนการลงทุนที่ สธ.จัดทำเพื่อเสนอรัฐบาลในการทำเมกะโปรเจ็กต์พัฒนาระบบบริการสุขภาพระดับประเทศ จะมีการลงทุนพื้นฐานในสถานบริการ 3.3 หมื่นล้านบาท ลงทุนในแผนบริการสุขภาพ 2.1 หมื่นล้านบาท และลงทุนในเมดิคัลฮับอีก 4.6 หมื่นล้านบาท รวมงบประมาณลงทุน 1 แสนล้านบาท
ที่มา : มติชน 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น