วันอังคารที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ดัน'ก่อสร้าง'บุก CLMV'พม่า-กัมพูชา'เป้าใหญ่'วินเซอร์'รุกหัวเมืองรับโอกาส


          อุตสาหกรรมก่อสร้างและวัสดุก่อสร้างไทย กำหนดวิสัยทัศน์ไทยเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีการผลิตวัสดุก่อสร้างทันสมัยอาเซียน กุมส่วนแบ่งตลาด 50% แนะไทยปูพื้นฐานอาเซียนเน้นเพิ่มR&D ภายใต้แผนกลยุทธ์เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมในอนาคต
          นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ  เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมก่อสร้างและวัสดุก่อสร้าง เป็นคลัสเตอร์ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงอยู่ที่ระดับ 2 ล้านล้านบาทต่อปีคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 20% ของผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) ของไทย มีทั้งผู้ประกอบการรายใหญ่ที่เป็นบริษัทระดับโลกสามารถพัฒนาศักยภาพ จนขยายธุรกิจสู่ตลาดสากล รัฐจึงกำหนดวิสัยทัศน์ให้ประเทศไทยเป็นผู้นำในด้านเทคโนโลยีการผลิตวัสดุก่อสร้างที่ทันสมัยที่สุดในอาเซียน โดยมีส่วนแบ่งตลาดในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ไม่ต่ำกว่า 50%ภายในปี 2560 พร้อมกับการเป็นศูนย์กลางของการวิจัยและพัฒนา (R&D) ทางด้านอุตสาหกรรมก่อสร้าง
          นางนันทวัลย์ กล่าวต่อว่า ไทยจำเป็นต้องส่งเสริมศักยภาพผู้ประกอบการให้มีความเข้มแข็ง เพิ่มการวิจัยและพัฒนาด้านแรงงาน ด้านรูปแบบผลิตภัณฑ์ และนวัตกรรมใหม่ ในขณะเดียวกันต้องหาแนวร่วมกับหน่วยงานอื่น เพื่อนำเสนอผลิต-ภัณฑ์หลากหลาย ภายใต้แผนกลยุทธ์พัฒนาเพื่อเป็นฐานสำหรับอุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้างในอนาคต
          ทั้งนี้ การเชื่อมโยงตลาดเออีซีนับเป็นการปูรากฐานและเครือข่ายเพื่อสร้างความแข็งแกร่งก่อนก้าวอย่างมั่นคงในภูมิภาคอื่น โดยเน้นขยายตลาดธุรกิจก่อสร้างไปยังประเทศเพื่อนบ้าน การสร้างมูลค่าเพิ่มในผลิตภัณฑ์ การใช้ประโยชน์จากแหล่งวัตถุดิบในประเทศสมาชิกอาเซียน การเคลื่อนย้ายแรงงานได้อย่างเสรี และการปรับตัวต่อการแข่งขันในตลาดที่รุนแรงขึ้น อันเนื่องมาจากสินค้านำเข้ามีราคาที่ถูก
          "เมื่อประเทศไทยเข้าสู่เออีซี แน่นอนว่าโอกาสทางธุรกิจขนาดมหาศาลก็รออยู่ด้วย แผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศนับเป็นการลงทุนขนาดใหญ่ครั้งสำคัญ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในอนาคต และสนับสนุนการเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมกับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาค เพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยเฉพาะชายแดนที่ติดกับกลุ่ม CLMV (กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม) ที่กำลังพัฒนาเมือง และโครงสร้างพื้นฐานภายในประเทศอย่างแข็งขัน ต่างต้องการสินค้าและวัสดุก่อสร้างของไทยเพราะเป็นที่ยอมรับเรื่องคุณภาพและมาตรฐาน" นางนันทวัลย์ กล่าว>> พม่าตลาดใหม่ยิ่งนานยิ่งโต
          นายบูรณ์ อินธิรัตน์ ผอ.สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงย่างกุ้ง เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมภาคบริการมีศักยภาพมากในพม่า อาทิ ก่อสร้าง และการท่องเที่ยว ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างเครือ-ข่ายการค้าการลงทุนในธุรกิจต่อเนื่องได้แก่ วัสดุก่อสร้าง การตกแต่งภายในโรงแรม ภัตตาคาร สปา สถาบันการศึกษาโรงพยาบาล คลินิกความงาม เป็นต้น โดยสินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ ปูนซีเมนต์ เหล็กเหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เป็นต้น
          พม่าเป็นตลาดใหม่ที่นับวันจะเติบโตขึ้นเรื่อยๆ การค้าระหว่างไทยกับพม่าในช่วง 9 เดือนแรก (ม.ค.-ก.ย.) ของปีนี้ การส่งออกขยายตัวดีกว่า 22% คิดเป็นมูลค่ากว่า 2,777 ล้านเหรียญสหรัฐ (86,087 ล้านบาท) ขณะที่การนำเข้าขยายตัว 12%มีมูลค่า 2,912  ล้านเหรียญสหรัฐ (90,272 ล้านบาท)และทั้งปีคาดว่าจะขยายตัวได้ตามเป้าหมาย 25% ซึ่งในปี 57 ทูตพาณิชย์ได้ประเมินในเบื้องต้นไว้ว่าจะขยายตัวราว30% ทั้งนี้ในพม่าจะมีสถานการณ์สำคัญหลายอย่าง เช่น ในเดือนธันวาคมปีนี้จะเป็นเจ้าภาพซีเกมส์  ในปี 2558 จะมีการเลือกตั้งใหญ่ ซึ่งในปัจจุบันมีความพยายามเปิดประเทศมากขึ้น และในปี 2557 จะเป็นประธานอาเซียน รวมทั้งเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจบิมสเทค (BIMSTEC)และการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (ACMECS)>> "WINDSOR" เจาะหัวเมืองรับโอกาส
          นายธีรัตถ์ อุทยานัง กรรมการผู้จัดการ บริษัท นวพลาสติกอุตสาหกรรมจำกัด เปิดเผยว่า WINDSOR ได้สร้างปรากฏการณ์ใหม่ในกลุ่มสินค้าประเภทประตูหน้าต่างไวนิล ด้วยการรุกเข้าสู่ตลาดรีเทล จากเดิมที่เน้นขายให้กับโครงการอสังหาริมทรัพย์เป็นหลัก ด้วยการเปิดโชว์รูม WINDSOR 25 แห่งทั่วประเทศโดยจะเริ่มต้นเปิดตัวก่อน 4 แห่งในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ประกอบด้วยสนามบินน้ำ รัตนาธิเบศร์ ลาดพร้าว และฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต เพื่อสร้าง experience ให้กับลูกค้า และเป็นการพัฒนาช่องทางการจัดจำหน่ายเข้าสู่ผู้บริโภคโดยตรงขณะที่ในต่างจังหวัดอยู่ในหัวเมืองหลัก เช่น เชียงใหม่ เชียงราย 
ขอนแก่นอุดรธานีภูเก็ตหาดใหญ่เป็นต้นเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าในภูมิภาค ขณะเดียวกันก็เป็นการรองรับลูกค้าจากประเทศเพื่อนบ้านที่จะเดินทางเข้ามามากขึ้นเมื่อเป็นเออีซีด้วย
ที่มา : สยามธุรกิจ 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น