วันอาทิตย์ที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2556

ชี้ไทยขาดแคลน'นักบิน'หลายหมื่นมฟล.ขยาย'ธุรกิจการบิน'รับเออีซี


        นายวันชัย ศิริชนะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันธุรกิจสายการบินมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง จากตัวเลขภาคการท่องเที่ยว และการขนส่งผ่านสายการบินต่างๆ เพิ่มสูงขึ้น การเปิดสายการบินเพิ่มมากขึ้น ตัวเลขการสั่งซื้อเครื่องบินโดยสารของแต่ละสายการบินเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเมื่อเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) จะเชื่อมต่อเส้นทางเศรษฐกิจเข้าด้วยกัน ยิ่งทำให้อุตสาหกรรมการบินมีความสำคัญมากขึ้น มฟล.เห็นถึงความต้องการกำลังคนในด้านนี้ จึงเปิดสอนหลักสูตรการจัดการธุรกิจการบิน สาขางานบริการการบินในปี 2551 รับนักศึกษารุ่นแรก 150 คน และในปี 2555 ได้ขยายหลักสูตรเพิ่มอีก 2 สาขาคือ สาขาการปฏิบัติการทางการบิน 50 คน และสาขาธุรกิจโลจิสติกส์ทางการบิน 150 คน มีผู้สนใจเข้าเรียนจำนวนมาก เฉลี่ยอัตราการแข่งขัน 7 ต่อ 1 จุดเด่นของหลักสูตรคือสอนเป็นภาษาอังกฤษ รวมทั้งให้นักศึกษาได้เรียนรู้ภาษาที่สามด้วย คือจีน พม่า บาร์ฮาซา เป็นต้น โดยหลักสูตรนี้ได้รับความสนใจจากนักศึกษาต่างชาติ ทั้งภูฏาน จีน พม่า
          กัปตัน ร.อ.สอาด ศบศาสตราศร ประธานที่ปรึกษาบริษัท บางกอกเอวิเอชั่นเซ็นเตอร์ จำกัด กล่าวว่า ทั่วโลกยังขาดแคลนนักบินนับแสนคน และประมาณการว่าในอีก 6 ปีข้างหน้า ทั่วโลกจะขาดแคลนนักบิน 3-5 แสนคน สำหรับไทยยังขาดแคลนนักบินหลายหมื่นคน แม้จะขยายการเกษียณอายุนักบินจาก 60 ปี เป็น 65 ปี ขณะที่สถาบันการศึกษาไทยที่เปิดสอนด้านนี้ ผลิตนักบินได้เฉลี่ยไม่เกิน 200 คนต่อปี ที่น่ากังวลคือไทยได้รับมอบหมายจากกลุ่มประเทศอาเซียนห้เป็นศูนย์กลางทางการบิน รวมทั้งให้เป็นหลักในการดูแลรับผิดชอบด้านอุตสาหกรรมการบิน การท่องเที่ยว รวมถึงการขนส่งทางอากาศ จึงจำเป็นต้องผลิต และเตรียมกำลังคนรองรับให้เพียงพอ
          นายสุภาพ ปูรานิธี ประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท บางกอกเอวิเอชั่นเซ็นเตอร์ จำกัด กล่าวว่า คุณสมบัติของผู้ที่จะเป็นนักบิน รวมถึงทำงานด้านอุตสาหกรรมการบิน จะต้องมีความชอบในงานที่ทำ มั่นใจ และมีความรับผิดชอบต่อตนเอง และผู้อื่นสูง รวมทั้งต้องมีไหวพริบในการแก้ปัญหาในสถานการณ์ต่างๆ ที่ดี มีทักษะการสื่อสาร และการใช้ภาษาอังกฤษที่ดี
ที่มา : มติชน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น