วันพุธที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2556

ค้าชายแดนดาวรุ่งเส้นทางสายไหมเออีซี


           กระแสประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือเออีซี ซึ่งจะเริ่มในปี 2558 ทำให้หลายพื้นที่ในหัวเมืองภูมิภาค ที่เล็งเห็นประโยชน์จากการเปิดเออีซี ทั้งจากทำเลที่ตั้งของจังหวัดเอง หรือจากการเล็งเห็นประโยชน์จากโครงข่ายการคมนาคมเชื่อมประเทศเพื่อนบ้าน ต่างโหมโรงรับการมาถึงของเออีซีกันอย่างคึกคัก รวมถึงทัพลงทุนจากส่วนกลางที่ต่างเริ่มขยับขยายไปเปิดโครงการลงทุนในต่างจังหวัดกันมากขึ้น ทั้งภาคอสังหาริมทรัพย์ ห้างสรรพสินค้า รวมถึงโลจิสติกส์ ส่งผลให้เศรษฐกิจภูธรคึกคักสุดขีด โดยเฉพาะหัวเมืองชายแดน ที่ถูกมองว่าเป็นประตูสู่ประเทศเพื่อนบ้าน
          ค้าชายแดนอนาคตใหม่ส่งออกไทย
          การส่งออกของไทยไปยังประเทศคู่ค้าสำคัญแต่เดิมมา อ่อนแรงลงอย่างเห็นได้ชัด จากปัญหาเศรษฐกิจเรื้อรังจนฝังในที่ยังแก้ไม่ตก ไม่ว่าจะในสหรัฐอเมริกา ยุโรป หรือญี่ปุ่น แต่การส่งออกไทยไปยังเพื่อนรอบบ้าน ในรอบ 3 ไตรมาสปี 2555 โชว์ตัวเลขการขยายตัวเป็นบวกอย่างแข็งขันที่ 11% จากอัตราการส่งออกเฉลี่ยที่คาดว่าจะขยายตัวทั้งปีเพียง 3% การค้าชายแดนและค้าผ่านแดนจึงเป็นตัวช่วยพยุงการส่งออกภาพรวมไว้
          ทั้งนี้ ในทิศทางใหญ่การส่งออกไทยก็เบนเข็มจากตลาดหลักเดิม สู่ตลาดใหม่ที่กำลังขยายตัว โดยเวลานี้เราค้าขายกับเพื่อนบ้านในอาเซียนเพิ่มขึ้น โดยส่งออกไปยังสมาชิกอาเซียนด้วยกันเอง คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 21% ส่งไปจีน 12% ขณะที่ส่งออกไปตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น ลดลงมาอยู่ที่ระดับประมาณ 10% เท่านั้น และบรรดาตลาดเก่าทั้งสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และยุโรป ยังต้องใช้เวลาอีกไม่น้อยในการแก้ปัญหาภายในของตนเอง
          ขณะที่การค้าชายแดนและค้าผ่านแดนของไทยสู่เพื่อนรอบบ้าน คือ เมียนมาร์ สปป.ลาว กัมพูชา เวียดนาม หรือกลุ่ม ซีแอลเอ็มวี ที่เรียกว่าอาเซียนใหม่ รวมทั้งมาเลเซีย จีนตอนใต้ และอินเดียในอนาคตนั้น คือดาวรุ่งใหม่การส่งออก โดยมีปัจจัยเกื้อหนุนหลายประการ คือ กลุ่มอาเซียนใหม่ที่มีไทยเป็นศูนย์กลาง ได้ปลดล็อกปัญหาภายใน และกำลังเร่งการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว เป็นตลาดขนาดใหญ่ มีประชากรรวมกันมากกว่า 200 ล้าน
          คน ที่กำลังซ้อเพิ่มข้นอย่างรวดเร็วนับจากนี้
          ประกอบกับมีการลงทุนในเส้นทางคมนาคมขนส่ง ภายใต้กรอบความร่วมมือต่าง ๆ โยงเป็น "โครงข่ายใยแมงมุมแห่งเอเชียอาคเนย์"  ที่นับวันจะเชื่อมต่อแต่ละประเทศกลุ่มอาเซียนบนภาคพื้นคาบสมุทร และเชื่อมโยงกับสองประเทศยักษ์ใหญ่ของโลก คือ จีน และอินเดีย ให้ผนึกเข้าใกล้กัน รวมทั้งการก้าวสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือเออีซี ที่จะเริ่มในปี 2558 จะยิ่งทำให้การค้าการขนส่งระหว่างกันสะดวกยิ่งขึ้น อันอาจนับได้ว่า นี่คือพลังแห่งเส้นทางสายใหม่แห่งยุคเออีซีที่กำลังทวีพลังร้อนแรงขึ้นทุกขณะ
          ประเทศไทยซึ่งมีที่ตั้งอยู่ท่ามกลางเพื่อนบ้านอาเซียนใหม่ มีโครงข่ายเส้นทางคมนาคมขนส่งภายในที่มีประสิทธิภาพดีที่สุด เชื่อมโยงกับทุกทิศทาง มีโครงสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่พร้อม มีบริการระบบการเงินการธนาคารที่เข้มแข็ง จะเป็นชุมทางการเคลื่อนย้ายผู้คน สินค้า การลงทุน และบริการต่างๆ ของชุมชนอาเซียนใหม่ที่คึกคักยิ่ง
          จากศักยภาพดังกล่าว ตามแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 11 ตั้งเป้าให้การค้าชายแดนไทยขยายตัวเฉลี่ยปีละ 15% จากระดับ8 แสนล้านบาท ในปี 2554 เป็น 1.8 แสนล้านบาทในปี 2559 ซึ่งเป้าของทางการดังกล่าวนี้ นิยม ไวยรัชพานิช รองประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และประธานคณะกรรมการความร่วมมือเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน ย้ำในการสัมมนาฐานเศรษฐกิจ เมื่อ 12 ธันวาคม 2555 ว่า การค้าชายแดนไทยสามารถขยายตัวได้มหาศาลอีก 8-10 เท่าตัว
          โดยเสนอกลยุทธ์ "เปิดประตูทุกด่านอำนวยความสะดวกการค้าทุกช่องทาง ทำให้ตลาดเพื่อนบ้านเป็นเหมือนตลาดภายในของเราเอง" เมื่อการค้าขายผ่านแดนสะดวก สะพานข้ามน้ำโขงที่เชียงของ จังหวัดเชียงราย กำลังเสร็จ จะเชื่อมเส้นทางอาร์ 3เอ ผ่านสปป.ลาว ต่อไปถึงจีนตอนใต้ มีตลาดขนาด 100  ล้านคน เส้นทางระเบียงเศรษฐกิจแนวตะวันออก-ตะวันตก (East-West Ecomomics Corridor-EWEC ) เชื่อมฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกที่ตอนกลางเวียดนาม ตัดผ่านสปป.ลาวตอนใต้ เข้าไทยที่มุกดาหาร ผ่านภาคอีสานเข้าพิษณุโลก ไปออกชายแดนที่แม่สอด จังหวัดตาก เข้าเมียนมาร์ ถึงมหาสมุทรอินเดีย และต่อเส้นทางภายในขึ้นไปถึงย่างกุ้ง มุ่งไปตะวันตกไปถึงอินเดีย-บังกลาเทศ ที่มีตลาดขนาด 100 ล้านคน การค้าชายแดนและค้าผ่านแดนคืออนาคตส่งออกไทย
          อสังหาฯเคลื่อนพลรุกตลาดภูธร
          ขณะที่ พจณี อรรถโรจน์ภิญโญ ผู้อำนวยการสำนักยุทธศาสตร์และการวางแผนพัฒนาพื้นที่ (สพท.) สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ก็ชี้ว่า นอกจากโอกาสการค้าชายแดนแล้ว เส้นทางโครงข่ายคมนาคมเหล่านี้ จะเหนี่ยวนำเปิดพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ และการค้าการลงทุนภายในประเทศไทยตลอดแนวโครงข่ายเหล่านี้อีกด้วย หากโครงการทวายและการเปิดเส้นทางเชื่อมทวายแหลมฉบัง เกิดขึ้น การค้าการลงทุนจะไหลสู่ภาคตะวันตกมหาศาล ไล่ตั้งแต่นครปฐม ราชบุรี กาญจนบุรี  ไปถึงชายแดนไทย-เมียนมาร์ และบางส่วนมองเลยไปถึงการลงทุนในเพื่อนบ้านด้วย
          แท้ที่จริงแล้ว หน่ออ่อนของการลงทุนใหม่ตามยุทธ ศาสตร์เกาะติดโครงข่ายเริ่มปรากฏแล้ว ในเวทีสัมมนา "สแกนธุรกิจอสังหาฯ 56" เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2555 ของฐานเศรษฐกิจ บทสรุปสำคัญของเวทีดังกล่าวคือ พื้นที่ลงทุนใหม่ของนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ไทย คือ หัวเมืองเศรษฐกิจใหม่ ที่จะเติบโตจาก 3 ปัจจัยหนุน คือ อยู่บนแนวเส้นทางเชื่อมโยงเพื่อนบ้าน มีกิจกรรมค้าชายแดน และเป็นเมืองที่กำลังซื้อกำลังเร่งตัว ซึ่งยักษ์ธุรกิจอสังหาฯ ส่วนกลาง กำลังชิงปักธงแผนลงทุนของตัวเองกระจายไปจดขอบแดนไทยไว้รองรับแล้ว
          บมจ.แสนสิริประสบความสำเร็จจากการรุกขยายการพัฒนาโครงการในตลาดต่างจังหวัดปี 2555 สร้างยอดขายรวม โดยเฉพาะในตลาดต่างจังหวัดในปีที่ผ่านมาได้แล้วเกินกว่า 42,000 ล้านบาท  จาก 24 โครงการใน 6 จังหวัดหัวเมืองหลักทั่วประเทศ ทั้งหัวหิน-ภูเก็ต-เขาใหญ่-เชียงใหม่-พัทยา และขอนแก่น
 มูลค่าโครงการรวม 21,312 ล้านบาท
          ด้านบมจ.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ มีโครงการที่เปิดขายในต่างจังหวัดปี 2555 จำนวน 4 โครงการ มูลค่าโครงการรวม 4,490 ล้านบาท ด้านบมจ.พฤกษา เรียลเอสเตท มีแผนจะลงทุนในตลาดต่างจังหวัดเพิ่มอีก 5-10 โครงการ และจะเปิดตัวคอนโดมิเนียมในตลาดต่างจังหวัดเป็นครั้งแรก โดยขณะนี้มีโครงการในต่างจังหวัดแล้ว 5 โครงการใน 4 จังหวัด คือ พระ นครศรีอยุธยา ชลบุรี 
ขอนแก่น และภูเก็ต รวมมูลค่าโครงการ 3,410 ล้านบาท
          บมจ.ซี.พี.แลนด์ มีโครงการในต่างจังหวัดแล้ว 6 โครง การ อยู่ในจังหวัดขอนแก่น
 3 โครงการ และอีกหนึ่งอาคารสำนักงานให้เช่า รวมมูลค่าโครงการในจังหวัดขอนแก่น 680 ล้านบาท จังหวัดมหาสารคาม 1 โครงการ มูลค่า 170 ล้านบาท และจังหวัดอุดรธานี 2 โครงการ รวมมูลค่า 800 ล้านบาท
          ห้างดังปักธงรับกำลังซ้อตลาดเออีซ
          เช่นกัน กลุ่มห้างและค้าปลีก ก็เขม้นมองกำลังซื้อใหม่ที่กำลังก่อตัวขึ้นนี้ไม่วางตา ยักษ์ค้าปลีกหลายเจ้าลงทุนเปิดห้างดักกำลังซื้อสำคัญ ทั้งจากคนพื้นที่และรวมกำลังซื้อจากกลุ่มที่กำลังมีเม็ดเงินในกระเป๋าเพิ่มขึ้นจากเพื่อนบ้าน ที่กำลังจ่อข้ามแดนเข้ามาจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้นด้วย กลุ่มเซ็นทรัลประกาศตัวอย่างชัดเจนในการลงทุนพัฒนาพื้นที่ค้าปลีกเพื่อรองรับกำลังซื้อของผู้บริโภคที่จะเข้ามาหลังเปิดเออีซี โดยเบื้องต้นจะเน้นการเข้าไปลงทุนในพื้นที่ริมตะเข็บชายแดน ไม่ว่าจะเป็นอุดรธานี เชียงราย เชียงใหม่ ซึ่งลงทุนพัฒนาและเปิดให้บริการไปแล้ว และล่าสุดเปิดให้บริการที่ลำปาง เมื่อปลายเดือนพฤศจิกา ยนที่ผ่านมา ส่วนในปีหน้าเซ็นทรัลยังมีแผนพัฒนาศูนย์การค้าที่จังหวัดอุบลราชธานี โดยจะเปิดให้บริการในเดือนเมษายน 2556 หาดใหญ่และเชียงใหม่ในปลายปี 2556 ด้วย
          ส่วนห้างโรบินสัน มีแผนการลงทุนในปี 2556-2557 จะเปิดในต่างจังหวัด 7 แห่ง แบ่งเป็นปี 2556 ที่กาญจนบุรี สกลนคร สุรินทร์ สระบุรี  และปี 2557 ที่ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา และร้อยเอ็ด ขณะที่เทสโก้ โลตัส เป็นอีกกลุ่มค้าปลีกที่เร่งขยายสาขาให้ครอบคลุมทุกจังหวัด และทุกอำเภอ ด้วยการส่งร้านรูปแบบต่างๆ ทั้งเทสโก้ โลตัส ไฮเปอร์มาร์เก็ต, เอ็กซ์เพรส, เอ็กซ์ตร้า, ตลาดโลตัส และร้านคุ้มค่า โดยล่าสุดเทสโก้ โลตัส ได้เปิดให้บริการที่ อ.วารินชำราบ  จ. อุบลราชธานี ในรูปแบบไฮเปอร์มาร์เก็ต และตลาดโลตัสอีก 6 แห่งในพัทลุง นครสวรรค์  ฉะเชิงเทรา ประจวบคีรีขันธ์  และ 2 แห่งในศรีสะเกษ
          ส่วน ในปี 2556 เทสโก้ โลตัส เตรียมใช้เงินลงทุน 7 พันล้านบาทในการขยายสาขาเพิ่มขึ้น โดยจะเน้นหนักที่ตลาดโลตัส และเทสโก้ โลตัส เอ็กซ์เพรส ในพื้นที่ต่างจังหวัดเป็นหลัก
          การค้ากับเพื่อนรอบบ้าน ไม่เพียงเป็นความหวังใหม่ส่งออกไทย แต่ยังมีแรงส่งให้ธุรกิจหลากหลาย ทั้งที่เกี่ยวข้องโดย ตรงหรือโดยอ้อม ต้องปรับตัวรับกระแสลมแห่งการเปลี่ยนแปลงนี้กันถ้วนหน้า ซึ่งนำมาสู่การพลิกโฉมเศรษฐกิจธุรกิจ ตลอดจนการค้าการลงทุนไทย จากมหานครกรุงเทพฯ ไปสู่เมืองใน สุดขอบชายแดนไทย ในวันที่เรากำลังก้าวสู่การเป็น "พลเมือง อาเซียน"
ที่มา : ฐานเศรษฐกิจ 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น