วันอาทิตย์ที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2555

อีสานบนไตรมาส 3 ชะลอตัว-พลังงานลงทุนสูงสุด


บีโอไอ ขอนแก่น เผยไตรมาส 3 ภาวการณ์การลงทุนชะลอตัว มีโครงการที่ได้รับอนุมัติให้การส่งเสริม 15 โครงการ มูลค่าร่วม 3,102.70 ล้านบาท กิจการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนสูงสุด 8 โครงการ ขณะที่ไตรมาส 4 เชื่อยังคงทรงตัว เหตุสถานการณ์เศรษฐกิจโลกชะลอตัวและเกิดวิกฤติการเงินในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป
          ขอนแก่น/ น.ส.รัตนวิมล นารี ศุกรีเขตร ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจการลงทุนภาคที่ 3 จังหวัดขอนแก่น หรือบีโอไอ ขอนแก่นสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน เปิดเผยถึงการส่งเสริมการลงทุนไตรมาส 3 ของปี 2555 ว่า สถานการณ์การลงทุนชะลอตัวลงจากไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ มีโครงการที่ได้รับอนุมัติให้การส่งเสริมทั้งสิ้น 15 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 3,102.70 ล้านบาท
          โดยกิจการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนได้รับการอนุมัติสูงสุด 8 โครงการ เงินลงทุน 1,869.30 ล้านบาท ก่อให้เกิดการจ้างงาน 116 คน จัดเป็นโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ 5 โครงการ เงินลงทุน 514.50 ล้านบาท ก่อให้เกิดการจ้างงาน 38 คน และโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานชีวมวล 3 โครงการ เงินลงทุน 1,354.80 ล้านบาท ก่อให้เกิดการจ้างงาน 78 คน
          โครงการผลิตไฟฟ้าส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในจังหวัดอุดรธานี 3 โครงการ เงินลงทุน 1,373.00 ล้านบาท, จังหวัดขอนแก่น 2 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 302.00 ล้านบาท, จังหวัดสกลนคร 2 โครงการ เงินลงทุน 177.80 ล้านบาท, จังหวัดร้อยเอ็ด 1 โครงการ เงินลงทุน 16.50 ล้านบาท จะเห็นได้ว่าการลงทุนในกิจการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นโครงการขนาดใหญ่ก็สามารถยื่นขอรับการส่งเสริมได้
          ดังเช่นบริษัท วายมายนิ่ง จำกัด ได้รับอนุมัติให้การส่งเสริมลงทุนในกิจการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ กำลังการผลิต 50 กิโลวัตต์ ตั้งโครงการในจังหวัดร้อยเอ็ด มูลค่าการลงทุน 16.50 ล้านบาท ได้รับสิทธิและประโยชน์สูงสุดเพราะเป็นกิจการที่รัฐให้ความสำคัญเป็นพิเศษ ได้รับยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร และได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี โดยไม่กำหนดสัดส่วนภาษีเงินได้นิติบุคคล และส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (Adder) ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เท่ากับการลงทุนขนาดใหญ่
          นอกจากนี้ ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจการลงทุนภาคที่ 3 ได้กล่าวถึงแนวโน้มการลงทุนสำหรับไตรมาสที่ 4 นี้ คาดว่าจะทรงตัวอยู่ที่ระดับใกล้เคียงไตรมาสที่ 3 ด้วยสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว วิกฤติการเงินในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป และการใช้มาตรการ QE3 ซึ่งเป็นมาตรการผ่อนคลายเศรษฐกิจเชิงปริมาณรอบที่ 3 ของสหรัฐอเมริกา เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างงานให้คนอเมริกัน
          แต่ผลที่ได้รับกลับดูเหมือนว่าภาคการเงิน การธนาคาร ตลาดหุ้นน่าจะได้รับผลประโยชน์จากมาตรการนี้มากกว่า ซึ่งขณะนี้ส่งผลให้มีเงินตราต่างประเทศไหลเข้ามาในประเทศไทยจำนวนมาก ทำให้ค่าเงินบาทแข็งตัว คาดว่าน่าจะส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออก อย่างไรก็ตาม โอกาสของนักลงทุนที่ต้องการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรจึงเป็นไปได้สูง ผนวกกับขณะนี้เป็นฤดูน้ำหลากในประเทศไทยนักลงทุนต่างเฝ้าระวังการเกิดอุทกภัยในพื้นที่ตั้งโรงงาน
          จึงคาดว่าการลงทุนจะชะลอตัวออกไปจนกว่าจะผ่านพ้นฤดูกาลดังกล่าว สำหรับอุตสาหกรรมในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน คาดว่าจะขยายตัวอย่างต่อเนื่องในกิจการผลิตพลังงานทดแทน และอุตสาหกรรมเกษตร
ที่มา : บ้านเมือง 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น