วันอังคารที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ยูเอซีลงทุนพม่าป้อนน้ำนิคมฯ จับมือไฮโดรเท็คใช้800ล้าน/เล็งตั้งโรงงานไบโอดีเซล


ยูเอซีจับมือไฮโดรเท็ค ลุยลงทุนรับเออีซี เตรียมลงนามเป็นผู้บริหารน้ำป้อนในนิคมอุตสาหกรรมที่พม่าภายในสิ้นปีนี้ เงินลงทุนกว่า 800 ล้านบาท พร้อมดึงพันธมิตร Yuzana ที่ปลูกปาล์มบนเกาะสอง ศึกษาความเป็นไปได้ทำโรงงานไบโอดีเซลและก๊าซชีวภาพผลิตไฟฟ้า เดินหน้าปูพรมลงทุนโครงการก๊าซซีบีจีในไทย 16 แห่ง กว่า 1.6 พันล้านบาท ทั้งภาคเหนือและอีสาน
          นายกิตติ ชีวะเกตุ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท ยูนิเวอร์แซล แอดซอร์บเบ้นท์ แอนด์ เคมิคัลส์ จำกัด(มหาชน) หรือยูเอซี ผู้นำเข้าสินค้าประเภทสารเคมี และวัสดุอุปกรณ์ที่มาใช้ในด้านพลังงาน ปิโตรเคมี การขุดเจาะสำรวจปิโตรเลียม เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า จากกรณีที่จะเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือเออีซี ในปี 2558 นั้นขณะนี้ทางบริษัทได้เตรียมที่จะรุกสู่เออีซีมากขึ้น โดยได้เป็นตัวแทนในการนำเข้าสินค้าเคมีภัณฑ์ไปจำหน่ายในประเทศเมียนมาร์แล้ว
          ขณะเดียวกัน ยังได้จับมือกับบริษัท ไฮโดรเท็ค จำกัด (มหาชน) ในสัดส่วนถือหุ้นฝ่ายละ 50% เพื่อเข้าไปลงทุนในด้านระบบน้ำให้กับนิคมอุตสาห กรรม ในเมืองย่างกุ้งของเมียนมาร์ ไม่ว่าจะเป็นระบบบำบัดน้ำเสีย และผลิตน้ำป้อนให้กับภาคอุตสาหกรรม ใช้เงินลงทุนราว 800 ล้านบาท คาดว่าจะสรุปลงนามสัญญาในการเข้าไปลงทุนได้ช่วงปลายปีนี้
          "ขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือกับบริษัท Yuzana ซึ่งเป็นพันธมิตรร่วมทุนของเมียนมาร์ ที่มีพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันกว่า 2.5 แสนไร่ บริเวณเกาะสอง โดยกำลังพิจารณาว่าจะดำเนินการธุรกิจใดได้บ้างที่เกี่ยวเนื่องกับพลังงานทดแทน ที่จะสามารถต่อยอดจากโรงสกัดน้ำมันปาล์มที่มีอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นโรงงานผลิตไบโอดีเซลหรือบี 100 หรือการนำน้ำเสียจากโรงสกัดมาทำเป็นก๊าซชีวภาพ เพื่อนำไปผลิตไฟฟ้าจำหน่าย รวมถึงการทำเป็นก๊าซซีบีจีใช้ในรถยนต์ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการดังกล่าวอยู่"
          โดยเฉพาะการตั้งโรงงานผลิตไบโอดีเซล ขนาด 2-3 แสนลิตรต่อวัน ใช้เงินลงทุนราว 700-800 ล้านบาท  จะต้องทำ การศึกษาข้อกฎหมายของทั้ง 2 ประเทศก่อนว่า สามารถดำเนินการได้หรือไม่  และมีคุณสมบัติในการกำหนดสเปกบี 100 เป็นอย่างไร รวมถึงสามารถส่งกลับมาจำหน่ายที่ไทยได้หรือไม่ด้วย ขณะที่การนำน้ำเสียมาผลิตเป็นก๊าซชีวภาพและนำไปผลิตเป็นไฟฟ้า ก็สามารถทำได้ถึง 2 เมกะวัตต์ ใช้เงินลงทุนราว 100 ล้านบาท ซึ่งผลการศึกษาทั้งหมดน่าจะสรุปได้ภายในปีนี้ และนำไปสู่การตัดสินใจลงทุนในปีหน้า
          นายกิตติ กล่าวอีกว่า ส่วนการขยายการลงทุนในประเทศไทยนั้น ขณะนี้ได้เซ็นสัญญาซื้อก๊าซเหลือทิ้งจากการขุดเจาะน้ำมันของ บริษัท สยามโมเอโกะ จำกัด ซึ่งรับสัมปทานปิโตรเลียมในแหล่งบูรพา อำเภอกงไกรลาศ จังหวัดสุโขทัย เป็นที่เรียบร้อยแล้วในปริมาณ 1.5 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และอยู่ระหว่างการตั้งโรงแยกก๊าซ ใช้เงินลงทุนประมาณ 600 ล้านบาท คาดว่าจะแล้วเสร็จช่วงไตรมาสแรกปีหน้า เพื่อมาแยกเป็นก๊าซหุงต้มหรือแอลพีจีได้ 20 ตันต่อวัน เอ็นจีวี 30 ตันต่อวัน และคอนเดนเสต 5 ตันต่อวัน ส่งขายให้กับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และโรงกลั่นน้ำมัน เป็นต้น
          นอกจากนี้ บริษัทอยู่ระหว่างการยื่นของบสนับสนุนจากกองทุนเพื่อการส่งเสริมอนุรักษ์พลังงาน ผ่านสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ในวงเงินประมาณ 160 ล้านบาทหรือไม่เกิน 10% ของมูลค่าโครงการ เพื่อมาใช้เป็นเงินลงทุนสนับสนุนในโครงการผลิตก๊าซชีวภาพอัดหรือซีบีจี จำนวน 16 โครงการ ที่ใช้เงินลงทุนโครงการละ 100 ล้านบาท ในพื้นที่ภาคเหนือในเขตจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน และลำปาง จำนวน 10 แห่ง และในจังหวัขอนแก่น
 จำนวน 6 แห่ง ซึ่งเงินสนับสนุนดังกล่าวคาดว่าน่าจะได้รับอนุมัติเห็นชอบในเดือนตุลาคมนี้ และหลังจากนั้นจะเริ่มทยอยก่อสร้างโรงงานให้แล้วเสร็จทั้งหมดในระยะเวลา 2 ปี โดยโครงการทั้งหมดจะใช้เงินลงทุนราว 1,600 ล้านบาท
          สำหรับการลงทุนในโครงการผลิตก๊าซซีบีจีนั้น ถือเป็นความสำเร็จจากโครงการที่บริษัทได้ลงทุนนำร่องที่อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นการนำน้ำเสียจากมูลสุกรมาหมักรวมกับหญ้าเลี้ยงช้าง สามารถผลิตซีบีจีส่งจำหน่ายให้กับปตท.ได้วันละประมาณ 6-7 ตันหรือประมาณ 2,000 ตันต่อปี โดยได้เริ่มทดสอบเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ตั้งแต่เดือนกันยายน 2555 เป็นต้นมา
ที่มา : ฐานเศรษฐกิจ 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น