วันอังคารที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2555

'แทปไลน์'ผุดระบบท่อน้ำมันหมื่นล. จ่อลงทุนโปรเจ็กต์สายอีสาน'สระบุรี-ขอนแก่น'


         "แทปไลน์" สานแผนลงทุนสร้างท่อน้ำมันภูมิภาค 1 หมื่นล้านบาท ปูพรมเส้นแรกสายอีสาน "สระบุรี-ขอนแก่น" ส่วนสายเหนือ "สระบุรี-พิษณุโลก" เข้าคิวรอ ซีอีโอกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลายเครือ ปตท.ยันนโยบายลดนำเข้าน้ำมันหนุนผลิตในประเทศขายในประเทศ รัฐต้องสร้างแรงจูงใจบริษัทน้ำมัน โดยด่วน
          นายณัฐชาติ จารุจินดา ประธาน เจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ความคืบหน้าของแผนลงทุนท่อส่งน้ำมันไปยังภูมิภาค 2 พื้นที่ คือภาคเหนือ เส้นสระบุรี-พิษณุโลก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เส้นสระบุรีขอนแก่น แนวโน้มตอนนี้จะมอบให้บริษัท ท่อส่งปิโตรเลียมไทย จำกัด (แทปไลน์) เป็นผู้ลงทุนโครงการนี้ทั้งหมด ระหว่างนี้อยู่ในขั้นตอนเตรียมหารือร่วมกับผู้ถือหุ้นก่อน อาจจะใช้เวลาสักระยะหนึ่ง โดยจะเร่งให้ได้ข้อสรุปภายในสิ้นปี 2555
          ขณะนี้ประเมินการใช้เงินลงทุนก่อสร้างท่อส่งน้ำมันเส้นสระบุรี-ขอนแก่นไว้ที่ 7,000-10,000 ล้านบาท ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงที่จะลงทุนท่อส่งน้ำมันภาคตะวันออกเฉียงเหนือก่อนภาคเหนือ คือเส้นสระบุรี-พิษณุโลก เนื่องจากมีความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ โดยมีปริมาณการขนส่งน้ำมันมากกว่า
          "หากดำเนินการสร้างท่อน้ำมันดังกล่าวแล้วเสร็จ ต้นทุนการขนส่งน้ำมันจะต่ำลงมาก เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ จากปัจจุบันต้องโลจิสติกส์ด้วยวิธีการใช้รถบรรทุกขนส่งน้ำมันซึ่งมีต้นทุนสูงกว่า ขณะเดียวกันการขนส่งทางท่อก็มีความปลอดภัยมากกว่าด้วย"
          นายณัฐชาติกล่าวเพิ่มเติมว่า ส่วนกรณีที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) มีมติอนุมัติให้ ปตท.ขยายคลังรองรับก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) จากเดิม 5 ล้านตัน เป็น 10 ล้านตัน เพื่อรองรับการขยายตัวในอนาคตเพื่อนำเข้าก๊าซแอลเอ็นจี เนื่องจากปริมาณก๊าซในอ่าวไทยลดลง ขณะนี้ ปตท.ได้เริ่มทำสัญญาระยะยาวตามนโยบายของ กพช. ด้วยการทำข้อตกลงนำเข้าแอลเอ็นจีจากบริษัท Qatar Liqueed Gas Company Limited ประเทศกาตาร์ จำนวน 2 ล้านตันต่อปี ตั้งเป้าจะเริ่มนำเข้าได้ตั้งแต่ ปี 2558 เป็นต้นไป สัญญา 20 ปี
          รวมทั้งแนวโน้มการทำสัญญาระยะยาว เพิ่มจากปัจจุบันที่ต้องนำเข้าจากตลาดจร (สปอต) ทำให้รู้จักผู้ค้าหลายราย เช่น แอฟริกา ญี่ปุ่น เกาหลี เป็นต้น และมีฐานผลิตรองรับ ส่วนแผนบริหารจัดการปริมาณก๊าซธรรมชาติเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการใช้และการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ไทยก็จำเป็นต้องทำควบคู่กันไประหว่างเพิ่มสัญญาระยะยาวคือซื้อจากตลาดจรด้วย
          นายณัฐชาติกล่าวว่า กรณีที่ภาครัฐมีแนวคิดให้โรงกลั่นน้ำมันนำน้ำมันดิบที่ขุดได้ในประเทศมาใช้ภายในประเทศแทนการส่งออกนั้น ปัจจุบันบริษัท เชฟรอน (ประเทศไทย) จำกัด ได้ขุดเจาะน้ำมัน 2 แหล่ง คือในจังหวัดปัตตานีและสงขลา ส่วนใหญ่เป็นการส่งออกไปขายต่างประเทศเพราะได้ราคาที่สูง ส่วน ปตท.มีโรงกลั่นประสิทธิภาพสูง สามารถรับน้ำมันดิบจากต่างประเทศมากลั่นได้ในราคาต้นทุนต่ำกว่า ซึ่งกำลังการผลิตจาก 2 แหล่ง รวมอยู่ที่วันละ 40,000 บาร์เรล ขณะที่ความต้องการใช้ของประเทศอยู่ที่วันละ 8 แสนบาร์เรล นโยบายดังกล่าวจึงเป็นแนวทางนำไปสู่การปฏิบัติที่ดี เพียงแต่ภาครัฐควรสร้างแรงจูงใจให้ผู้ผลิตนำน้ำมันดิบมาจำหน่ายในประเทศควบคู่กันไปด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น