วันจันทร์ที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2556

รฟท.เปิดประมูลก.ย.นี้ทางคู่ 6 เส้นทาง 8 หมื่นล.


                ร.ฟ.ท.เปิดประมูลอีออคชั่นโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่เดือนก.ย.นี้ 6 เส้นทาง มูลค่า  8.6 หมื่นล้านบาท กำหนดใช้รางขนาด 1 เมตรเชื่อมต่อการเดินทางกับประเทศเพื่อนบ้าน คาดใช้เวลา 3 ปี ความเร็วเพิ่มเป็น 100 กม./ชม.
          นายประภัสร์ จงสงวน ผู้ว่าการ การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า รฟท.อยู่ระหว่างรวบรวมรายละเอียดการดำเนินโครงการรถไฟทางคู่ทุกเส้นทางตามแผนงานที่กำหนดไว้ เพื่อเตรียมประกวดราคาด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ 6 เส้นทางภายในเดือนก.ย.นี้ โดยจะเปิดประกวดราคาพร้อมกันทุกเส้นทาง คาดว่าจะใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 2-3 ปี
          ทั้งนี้ การก่อสร้างรถไฟทางคู่ทุกเส้นทางจะใช้รางขนาด 1 เมตร หรือเท่ากับขนาดรางรถไฟที่ให้บริการอยู่ในปัจจุบัน เพราะสามารถเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านได้ เมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จจะส่งผลให้ความเร็วของรถไฟเพิ่มเป็น 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จากปัจจุบันที่ใช้ความเร็วได้ไม่มากนัก เพราะต้องรอสับหลีก อีกทั้งสภาพรางรถไฟไม่สมบูรณ์จากการใช้งานมาเป็นเวลานาน
          แหล่งข่าวจากร.ฟ.ท. กล่าวว่า โครงการรถไฟทางคู่ระยะแรก 6 เส้นทาง มีระยะทาง 873 กิโลเมตร วงเงินรวม 86,517 ล้านบาท ประกอบด้วย 1.ฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย ระยะทาง 106 กิโลเมตร วงเงิน 11,348 ล้านบาท 2.มาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ ระยะทาง 132 กิโลเมตร วงเงิน 19,017 ล้านบาท 3.นครปฐม-หนองปลาดุกหัวหิน ระยะทาง 165 กิโลเมตร วงเงิน 17,856 ล้านบาท 4.ลพบุรี-ปากน้ำโพ ระยะทาง 118 กิโลเมตร วงเงิน 10,938 ล้านบาท 5.นครราชสีมา-ขอนแก่น ระยะทาง 185 กิโลเมตร วงเงิน 17,046 ล้านบาท และ6.ประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร ระยะทาง 167 กิโลเมตร วงเงิน 10,312 ล้านบาท
          ส่วนโครงการระยะที่ 2 ซึ่งจะดำเนินการในปี 2558-2563 มี 6 เส้นทาง ระยะทาง 1,025 กิโลเมตร วงเงินรวม 78,128 ล้านบาท ได้แก่ 1.แก่งคอย-บัวใหญ่ ระยะทาง 220 กิโลเมตร วงเงิน 18,075 ล้านบาท 2.นครสวรรค์-ตะพานหิน ระยะทาง 69 กิโลเมตร วงเงิน 6,259 ล้านบาท 3.หัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ ระยะทาง 89 กิโลเมตร วงเงิน 5,499 ล้านบาท 4.ชุมพร-สุราษฎร์ธานี ระยะทาง 166 กิโลเมตร วงเงิน 17,000 ล้านบาท 5.ชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี ระยะทาง 309 กิโลเมตร วงเงิน 23,174 ล้านบาท และ6.ขอนแก่น-หนองคาย ระยะทาง 172 กิโลเมตร วงเงิน 14,877 ล้านบาท
          นายประภัสร์ ยังกล่าวว่า ตั้งแต่มารับตำแหน่งได้ผลักดันโครงการต่างๆที่คั่งค้างอยู่ให้เป็นไปตามแผนงานที่กำหนดอย่างต่อเนื่อง โดยหลายโครงการคืบหน้าไปมาก ล่าสุดที่ประชุมคณะกรรมการรฟท.ได้อนุมัติให้จัดซื้ออะไหล่รถจักร และอนุมัติก่อสร้างสะพานข้ามทางรถไฟ เพื่อให้บริการรถไฟมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
          อย่างไรก็ตาม รฟท.จะหารือกับประเทศลาว ถึงโครงการก่อสร้างทางรถไฟจากท่านาแล้ง-เวียงจันทน์ ระยะทาง 8 กิโลเมตรให้กับลาว เพื่อส่งเสริมให้เกิดการเดินทางโดยรถไฟมากยิ่งขึ้น เพราะปัจจุบันผู้โดยสารต้องเดินทางโดยรถจากท่านาแล้งเพื่อต่อไปยังเวียงจันทน์ เส้นทางนี้จึงไม่ได้รับความนิยมมากนัก หากสามารถเชื่อมโยงทางรถไฟไปถึงเวียงจันทน์ได้ จะช่วยให้ผู้โดยสารเดินทางจากหนองคายไปยังเวียงจันทน์ได้สะดวกมากยิ่งขึ้น
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น