วันจันทร์ที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2556

มข.จัดสัมมนายกระดับครูสังคมเสริมความรู้สู่ประชาคมอาเซียน


รศ.ดร.กิตติชัย ไตรรัตนศิริชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) ประธานในพิธีเปิดโครงการ สัมมนาเชิงปฏิบัติการ "ยกระดับครูสังคมศึกษา สู่ประชาคมอาเซียน ด้วยกระบวนการจัดการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21" ว่า การเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 เป็นสิ่งสำคัญในการส่งเสริมการเรียนรู้ของนักเรียน โดยครูยุคใหม่ต้องปรับปรุงแนวทางการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับบริบทดังกล่าว ซึ่งการสัมมนาเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ครู ผู้สอนเกิดความรู้ความเข้าใจและเห็นความสำคัญในบทบาทของครู ตามกระบวนการเรียนรู้ใหม่ในศตวรรษที่ 21 นำไปสู่การสร้างเครือข่ายแลกเปลี่ยนความรู้ ความเข้าใจ ปรับเปลี่ยนทัศคติ และแนวทางการสอนของครูผู้สอนวิชาสังคมศึกษา
          รศ.ลัดดา ศิลาน้อย อาจารย์ประจำสาขาวิชาสังคมศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มข.ในฐานะที่ปรึกษา และวิทยากรโครงการ เผยว่า กลุ่มประเทศสมาชิกของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 10 ประเทศ พร้อมใจกัน รวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community-AEC) การพัฒนาด้านการศึกษาถือได้ว่ามีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นพื้นฐานของการพัฒนาในทุกๆ ด้าน ทุกประเทศได้ให้ความสำคัญในการปรับปรุงการศึกษาภายในประเทศของตนเอง เพื่อให้พร้อมรับกระแสการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษใหม่ บนแนวคิดสำคัญของการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ให้สอดคล้องกับการพัฒนาการเรียนรู้ในกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม อันประกอบด้วย ความรู้เกี่ยวกับโลก ความรู้ด้านการเงิน เศรษฐศาสตร์ ธุรกิจและการเป็น ผู้ประกอบการ ความรู้ด้านการเป็นพลเมืองที่ดี ความรู้ด้านสุขภาพ และความรู้ด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อให้กระบวนการเรียนรู้ต่างๆ ประสพผลสำเร็จ จำเป็นจะต้องมีโครงสร้างพื้นฐาน 4 ด้าน ได้แก่ มาตรฐานและการเรียนรู้ หลักสูตรและการเรียนการสอน การพัฒนาครูและสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21
          สาขาวิชาสังคมศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในฐานะของสถาบันการเรียนรู้เกี่ยวกับศาสตร์การสอนวิชาสังคมศึกษา จึงจัดกิจกรรมสำหรับครูสังคมศึกษา เพื่อให้สอดคล้องกับการพัฒนาการศึกษาของสังคมโลก อันจะเกิดผลดีต่อครูผู้สอนวิชาสังคมศึกษา ในการจัดการการเรียนรู้ให้แก่ผู้เรียนเพื่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ด้วยตนเอง ฝึกกระบวนคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์เชิงวิพากษ์ เพื่อให้ผู้เรียนเกิดทักษะการแก้ปัญหา ซึ่งจะส่งผลต่อการศึกษาเรียนรู้ตลอดชีวิตของผู้เรียน และเป็นการปรับเปลี่ยนทัศคติแนวทางการสอนของครูผู้สอนวิชาสังคมศึกษา ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้เรียนเกิดกระบวนการเรียนรู้ใหม่ในศตวรรษที่ 21 อันจะเป็นการเตรียมความพร้อมด้านการศึกษาของสังคมไทย สู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ทั้งนี้ มีครูจากทั่วทั้งภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และผู้สนใจจากหลากหลายวิชาชีพเข้าร่วมโครงการ ณ คณะศึกษาศาสตร์ เป็นจำนวนมาก
          นางนงลักษณ์ วงษ์ศรีแก้ว ครูชำนาญการพิเศษ โรงเรียนสตรีราชินูทิศ จังหวัดอุดรธานี ตัวแทนผู้เข้าร่วมโครงการฯ ได้กล่าวว่าโครงการฯนี้เป็นโครงการที่ดีและมีประโยชน์ สามารถนำไปปรับใช้กับการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนในชั้นเรียน ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่ครูทุกคนต้องพัฒนาศักยภาพของตนเองให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 โดยจะเริ่มนำไปปรับใช้ในการเรียนในรายวิชาสังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรมที่โรงเรียนของตนเอง
ที่มา : บ้านเมือง 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น