วันพุธที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2556

'เกียรตินาคิน' ฟันธง 13 หัวเมืองต่างจังหวัด...อสังหาฯดาวเด่น


           KK-ธนาคารเกียรตินาคินจัดสัมมนา ใหญ่ปีละครั้ง ปีนี้เปิดเวทีชวนคุยหัวข้อ "กรุงเทพฯ คือปัจจุบัน...ภูมิภาค คืออนาคต" ท่ามกลางข้อห่วงใยแนวโน้มปัญหาฟองสบู่ ภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยฟันธงว่ามีถึง 13 หัวเมืองต่างจังหวัดน่าลงทุนพัฒนาโครงการ
          อสังหาฯยังโตได้อีก
          "ทิศทางอสังหาริมทรัพย์ในปี 2556 มองว่ายังอยู่ในช่วงฟื้นตัวของที่อยู่อาศัยในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล หลังเกิดปัญหาอุทกภัยปี 2554 อย่างไรก็ตาม คาดการณ์ว่าอุปสงค์และอุปทานจะขยายตัวอยู่ที่5.2% และ 16.5% ตามลำดับ..." คำกล่าว เปิดประเด็นของ "ศราวุธ จารุจินดา"ประธานสายสินเชื่อธุรกิจ ของ KK
          ตามต่อด้วยมือวิจัยข้อมูล "ดร.ปิยศักดิ์ มานะสันต์" ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม ระบุว่า แนวโน้มตลาด อสังหาริมฯในพื้นที่ต่างจังหวัดมีโอกาสเติบโตอย่างมาก สะท้อนจากอัตราขยายตัวของยอดสินเชื่อคงค้างของภูมิภาคต่าง ๆ อยู่ในระดับสูงกว่าเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล
          เปิดโพย 13 จังหวัดโตแน่
          ทั้งนี้ หัวเมืองที่คาดว่าจะมีศักยภาพเติบโตมี 13 จังหวัด แบ่งเป็น 2 เวอร์ชั่น คือเวอร์ชั่นตลาดอสังหาฯ ที่เติบโตสอดคล้อง กับพื้นฐานทางเศรษฐกิจมี 6 จังหวัด คือชลบุรี ภูเก็ต ขอนแก่น ระยอง อุบลราชธานี และลำปาง กับเวอร์ชั่นอสังหาฯ ที่มีโอกาสเติบโตในอนาคตอันใกล้ 7 จังหวัด ได้แก่ มหาสารคาม หนองคาย บุรีรัมย์ นครราชสีมา สระแก้ว กาญจนบุรี และพิษณุโลก
          แนวโน้มดังกล่าว เป็นส่วนผสมมาจากปัจจัยหนุนหลายด้านรวมกัน เริ่มจากนโยบายกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาคของรัฐบาล ทำให้เศรษฐกิจในภูมิภาคเติบโตขึ้น (Urbanization) โดยเฉพาะจังหวัดหัวเมืองที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ อาทิ เมืองท่องเที่ยว ทั้งภูเก็ต หัวหิน พัทยา กับเมืองธุรกิจและอุตสาหกรรม ซึ่งมีโฟกัสอยู่ที่ระยอง ชลบุรี ขอนแก่น นครราชสีมา
          นอกจากนี้ กระแสการรวมกลุ่มเปิดการค้าเสรี โดยเฉพาะการนับถอยหลังเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ที่นำไปสู่การลงทุนพัฒนาเส้นทางคมนาคมระหว่างภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) เป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจจังหวัดชายแดน และจังหวัดตามเส้นทาง GMS อาทิ หนองคาย สระแก้ว และพิษณุโลก เป็นต้น
          ประชากรเขตเมือง ตจว.โตจี๊ด
          "ดร.ปิยศักดิ์" แจกแจงว่า เหตุที่กล้าฟันธงมี 13 จังหวัดแนวโน้มอนาคตธุรกิจอสังหาฯ มาจาก 4 ปัจจัยหลักด้วยกัน คือภูมิภาคนิยม กระแสสังคมเมือง นโยบายเศรษฐกิจมหภาคของรัฐบาล และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ
          เริ่มจากปัจจัย "กระแสสังคมเมือง- Urbanization" ภาพที่เริ่มเป็นรูปธรรมชัดเจนเป็นลำดับ นับตั้งแต่นโยบายค่าแรง 300 บาท ได้เห็นภาพแรงงานคืนถิ่น ได้เห็นภาพคนชนบทเข้ามาพักอาศัย และทำงานในเขตเมือง เป็นการเปลี่ยนผ่านจากสังคมเกษตรกรรมสู่สังคมอุตสาหกรรมมากขึ้น
          ตัวชี้วัดที่ชัดเจนคือ "รายได้ประชากร" ประเมินจากปี 2503 มีประชากร 5 ล้านคน อาศัยในเขตเมืองโดยประมาณ ปัจจุบัน ปี 2556 พบว่าเพิ่มจำนวนเป็น 23 ล้านคน ประเมินว่าภายในปี 2563 ประชากรในเขตเมืองจะทวีจำนวนเป็น 29 ล้านคน นั่นหมายถึงมากกว่า 50% ของทั่วประเทศ ทำให้ความต้องการที่อยู่อาศัยมากทวีคูณ
          ในเวลาเดียวกัน ประเด็นรายได้ต่อครัวเรือนในเขตภูมิภาคช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ก็เติบโตเร็วกว่าเขตกรุงเทพฯ-ปริมณฑล คือมีอัตราเติบโต 120-140% ขณะที่ เขตกรุงเทพฯโตราว ๆ 60% มีผลบวก ทางตรง เพราะรายได้มากขึ้น ความต้องการ ปัจจัย 4 ย่อมมากขึ้นตามไปด้วย
          GMS ปลุกจังหวัดหน้าด่านโต
          ปัจจัย "นโยบายเศรษฐกิจมหภาค" พบว่าช่วงเปลี่ยนผ่าน 2-3 ปี จนถึง 15 ปีหน้า จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจมหภาคของประเทศไทยครั้งใหญ่ เป็นผลลัพธ์จากนโยบายค่าแรง 300 บาท นโยบายจำนำข้าว ที่สนับสนุนรายได้เกษตรกร เท่ากับเพิ่มกำลังซื้อให้กับกลุ่มรากหญ้า ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ
          ปัจจัย "การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน" โครงการแห่งความหวังในต่างจังหวัด หนีไม่พ้นรถไฟความเร็วสูง หรือไฮสปีดเทรน ในอนาคตเมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จ จะทำให้เชื่อมโยงการเดินทางจากที่หนึ่งสู่ที่หนึ่งได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น ผลพลอยได้อัตโนมัติ คือทำให้มีดีมานด์ที่อยู่อาศัยแนวรถไฟความเร็วสูง เพราะเคลื่อนที่เข้ากรุงเทพฯได้ง่ายและเร็วขึ้นนั่นเอง
          และสุดท้ายปัจจัย "ภูมิภาคนิยม" เป็นที่ชัดเจนแล้วว่าไทยร่วมกับเพื่อนบ้าน 10 ประเทศเริ่มนับถอยหลังเข้าสู่การเปิดเสรีเป็นเออีซีตลาดเดียว โดยเฉพาะ ความร่วมมืออนุภาคลุ่มน้ำโขง GMS มี 3 เส้นทางหลัก ๆ ที่เรียกว่า "ระเบียงเศรษฐกิจ" คือ 1.แนวเหนือ-ใต้ เชื่อมคุนหมิง ดานัง ท่าขี้เหล็ก แม่สาย กรุงเทพฯ 2.แนวตะวันออก-ตะวันตก เชื่อมเมืองท่าดานัง ผ่านสะหวันนะเขต เข้าไทยที่ จ.มุกดาหาร กาฬสินธุ์ ขอนแก่น เพชรบูรณ์ พิษณุโลก ลากยาวผ่านอ่าวรายาวดี เมียนมาร์ 3.แนวใต้ เชื่อมเมืองโฮจิมินห์ ผ่าน กรุงเทพฯ ทะลุไปถึงเมืองทวาย ซึ่งเป็น แนวเส้นทางที่รัฐบาลเมียนมาร์ออก แรงผลักดันอย่างมาก เพราะทวายจะได้กลายเป็นแลนด์มาร์กในการขนส่ง สินค้าจากเวียดนามเข้าสู่โซนมหาสมุทรอินเดีย
          ประเทศไทยในฐานะอยู่จุดศูนย์กลาง GMS จังหวัดหน้าด่านหรือจังหวัดศูนย์กลาง ไม่ว่าจะเป็นเชียงราย (ด่านชายแดนเชียงแสน เชียงของ) พิษณุโลก มุกดาหาร หาดใหญ่ กาญจนบุรี ตาก ได้รับอานิสงส์ทั้งหมด
          ตัวชี้วัด คือจังหวัดชายแดนมีตัวเลขการเติบโตการค้าแทบทุกด่าน โดยเฉพาะ ภาคอีสาน ไม่ว่าจะเป็นหนองคาย มุกดาหาร ปี 2555 โตถึง 20-30% ทั้งในแง่มูลค่าการค้าชายแดน และการขยายตัวของเศรษฐกิจในพื้นที่
          KK จะโตไปกับรายกลาง-รายเล็ก
          ศราวุธ จารุจินดา" ประธานสายสินเชื่อธุรกิจของ "KK-ธนาคารเกียรตินาคิน" ให้สัมภาษณ์เปิดแผนสินเชื่อธุรกิจ KK BIZ หรือสินเชื่อธุรกิจอสังหาฯ ว่า ปีนี้ขอโตจากปีที่แล้ว 34% เดิมทำยอดได้ 25,000 ล้านบาท ปีนี้เพิ่มเป็น 30,000 ล้านบาท
          เป็นที่รับรู้ในวงการว่า สินเชื่อ KK เติบโตมาจากฐานผู้ประกอบการ รายกลาง-รายเล็ก "ศราวุธ" ไขเคล็ดลับว่า มี 2 หลักการที่ผลักดันสู่ความสำเร็จ
          1.ความเชี่ยวชาญของธนาคาร ปลูกฝังความรู้จริงให้พนักงาน ทีมงานจึงพรั่งพร้อมไปด้วยวิศวกร สถาปนิก ฝ่ายการตลาด
          "วิศวกรของเราต้องบอกได้ว่าเวลาใช้เทคนิคการก่อสร้างอย่างนี้มีความเหมาะสมอย่างไร ถ้าจะเปลี่ยนไปใช้ พรีแคสต์หรือระบบสำเร็จรูปต้อง ทำอย่างไร ส่วนสถาปนิกต้องบอกได้ว่า แบบบ้านของลูกค้ามีจุดบกพร่องอย่างไร ถูกต้องตามกฎหมายเพียงไร..."
          2.ความใส่ใจของพนักงานและไว้ใจได้ นั่นคือพนักงานต้องใส่ใจและไว้ใจได้ การใส่ใจเพื่อให้รู้ว่าลูกค้าต้องการอะไร นำไปวิเคราะห์ด้วยความโปร่งใส เพื่อตอบสนองความต้องการลูกค้าได้ตรงจุด
          สำหรับทิศทางการให้สินเชื่อโครงการของ KK ยังคงมุ่งหน้าสนับสนุนต่อไป หากแต่พื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลเริ่มหนาแน่นขึ้น ดังนั้น พื้นที่เป้าหมายจึงมองการขยายฐานลูกค้าสินเชื่อโครงการไปยังภูมิภาคหัวเมืองต่างจังหวัดมากขึ้น
          ทั้งหมดนี้ตอบสนองหลักการสำคัญขององค์กรคือ "...เรามองไม่ใช่แค่เป็นลูกค้า แต่เป็นพันธมิตร"
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น