วันอาทิตย์ที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2555

10 แบรนด์"เอสเอ็มอี"บูมท่องเที่ยวไทย


            สินค้าเอสเอ็มอี ถือเป็นส่วนหนึ่งสำคัญในการหนุนอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยให้ก้าวไปข้างหน้าประเทศไทยมีแบรนด์เล็กๆ ที่น่ารักแต่พร้อมก้าวเติบโตรองรับ"เออีซี" ที่กำลังจะมาถึงในอีกไม่นาน
          โครงการ"สร้างตราสินค้าใหม่ให้แก่ผลิตภัณฑ์และบริการที่ใช้แนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์เป็นตัวขับเคลื่อนหรือ A Making of Icon Brands for Thailand 2012 เป็นโครงการที่สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมได้รับมอบจากสำนักปลักกระทรวงอุตสาหกรรมซึ่งร่วมหนุนโอท็อปเอสเอ็มอี ของไทยไปควบคู่กับการท่องเที่ยว
          ธนันธน์ อภิวันทนาพร ผู้เชียวชาญพัฒนายุทธศาสตร์ สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สถาบันเอสเอ็มอี) และหัวหน้าโครงการฯกล่าวว่า ที่ผ่านมาหลังจากได้คัดสรรผู้ประกอบการที่ต้องการพัฒนาแนวคิดการสร้างแบรนด์ของตนเอง ให้มีความแหลมคมและตรงใจตลาดเป้าหมายจำนวน 10 รายจากทั่วประเทศแล้ว สถาบันได้พัฒนาแนวคิดด้านกลยุทธ์การสร้างแบรนด์และงานออกแบบสร้างสรรค์ให้ผู้ประกอบการทั้ง 10 แบรนด์
          โดยดำเนินการ ตั้งแต่ ค้นหาโจทย์ทางตลาดความเป็นไปได้ในแง่มุมต่างๆ การออกแบบผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ใหม่ หรือ กระทั่งการพัฒนาหน้าตาเว็บไซต์และการสร้างเครื่องมือการสื่อสารการตลาดบนโลกออนไลน์ เพื่อพัฒนาแบรนด์ไปสู่ "ไอคอน แบรนด์ ฟอร์ ไทยแลนด์ 2012"
          ทั้ง 10 แบรนด์นี้นอกจากจะเป็นสินค้าโอท็อปกระจายรายได้ไปทั่วไทยแล้ว ยังเชื่อมโยงกับการเป็นจุดท่องเที่ยวได้อีกด้วย
          ทั้ง 10 แบรนด์ในโครงการ ได้แก่ 1.ชิโนซ่า ภูเก็ต 2.สมานการค้า-กาแฟ โบราณ อัมพวา 3.มาคา หัตถกรรมคุ้มสุขโข ขอนแก่น4.เดอะรีเมคเกอร์ กรุงเทพฯ 5.โฟลี่ นครศรีธรรมราช 6.เฮมพ์ไทย เชียงราย 7.แชททาร่า นครศรีธรรมราช 8.บานาน่า-จิราพร พิษณุโลก 9.ปฐวี ภาคกลาง 10.จินนาลักษณ์ กระดาษสา เชียงราย
          จินนาลักษณ์ ชุ่มมงคล เจ้าของกระดาษสาจินดาลักษณ์ จังหวัดเชียงราย กล่าวว่าของที่ระลึกจากกระดาษสาได้รับความนิยมจากลูกค้าและนักท่องเที่ยวมาช้านาน กระดาษสาของจินนาลักษณ์ยังพัฒนาเป็นกระดาษสารายแรกที่สามารถทำเป็นสายลูกไม้หรือประดิษฐ์เป็นชุดแต่งงานรวมถึงของใช้อื่นๆ อีกมากมาย ด้วยเทคนิค "มหัศจรรย์กระดาษสา" และยังเป็นจุดท่องเที่ยวทองคำ แม่สายและอื่นๆ จึงเชื่อมโยงแบรนด์สินค้าร่วมกับการท่องเที่ยวไปด้วย
          ยุทธนา อโนทัยสินทวี คนหนุ่มรุ่นใหม่เจ้าของแบรนด์ เดอะรีเมคเกอร์ กล่าวว่าเดิมผลิตภัณฑ์ของเดอะรีเมคเกอร์ มุ่งทำกระเป๋าส่งขายยุโรป โดยทำจากวัสดุเหลือใช้ เช่น กระเป๋าที่ทำจากยางในมอเตอร์ไซค์ ซึ่งเป็นการช่วยรีไซเคิล และไม่ทำลายธรรมชาติ แล้วออกแบบให้เก๋ ตรงกับความต้องการของตลาด ซึ่งสถาบันเอสเอ็มอีได้ช่วยสนับสนุนการออกแบบไปสู่กระเป๋าถือสตรีในรูปแบบแฟชั่นต่างๆ และเพิ่งคว้ารางวัลพีเอ็ม อวอร์ด นับเป็นอีกสินค้าตอบโจทย์นักท่องเที่ยว
          วชิราพรรณ นวลศรี แห่งฉัตรทองไหมไทย จาก นครราชสีมา กล่าวว่าได้ดัดแปลงจากผ้าไหมที่โดยทั่วไปผู้สวมใส่จะแลดูเป็นผู้ใหญ่ภูมิฐานให้มาสู่วิถีและชีวิตของสาวยุคใหม่ที่มีความมั่นใจ ผ่านผ้าไหมบ่งบอกถึงรสนิยมหรู แต่ชัดเจนในความมั่นใจด้วยดีไซน์ที่เรียบ เก๋ แต่แฝงด้วยรายละเอียดที่แตกต่างด้วยความนุ่มนวลของผ้าที่ใช้เทคนิคการย้อมแบบพิเศษ นอกจากนั้นจุดเด่นที่การดีไซน์ฟังก์ชันการสวมใส่ได้หลายรูปแบบสามารถใช้ได้ตั้งแต่ งานประชุมเช้าไปกระทั่งถึงดินเนอร์หรูบนตึกระฟ้า ซึ่งจะกลายเป็นอีกจุดขายของนครราชสีมา
          ศุภโชค สุจำนอง จาก ไพรม์เฮิร์บ โปรดักซ์ กล่าวว่าได้ออกแบบเป็นครั้งแรกของวงการผลิตภัณฑ์สปาไทย ไขรหัสดอกไม้ในเขตเมืองร้อน 5 ชนิด คือ ดอกบัว หอมหมื่นลี้ ดาหลา กุหลาบพันปีและดอกเข็ม มาเป็น "ฟลอร่า ซีเคร็ท" เพื่อความสด แปลกใหม่และประสิทธิผลจากการใช้งานวิจัยทางวิทยาศาสตร์รับรอง ซึ่งกลิ่นดอกไม้ต่างๆ เป็นสุคนธบำบัดที่ใช้เสลาค้นหาสูตรอย่างรอบคอบ
          โอเล่ ทายาทแห่งสมานการค้า กาแฟโบราณ 80 ปี ณ เมืองอัมพวา ที่นำรูปลักษณ์กาแฟใหม่ เช่น ออกแบบกระป๋องในแบบเรโทรนำเสนอช่วงแห่งความสุข "Happy Old Day" ผ่านแนวคิดเชื่อมกิจกรรมยุควันวานเช่น เพลงภาพยนตร์ การแต่งกาย ไปพร้อมกับรสชาติกาแฟแสนอร่อย ดึงนักท่องเที่ยวให้เข้าไปอัมพวากับสินค้าที่นำมารีแบรนด์ใหม่
          นอกจากนี้ยังมีแบรนด์อื่นๆ เช่น จิราพรกล้วยตากแสงอาทิตย์ (พิษณุโลก) นำเสนอคอนเซปต์ใหม่ "สแน็ค ทู โก" แบรนด์เฮมพ์ไทยเชียงราย ผลิตภัณฑ์จากใยกัญชง นำเสนอคอลเลคชั่นเสื้อผ้า และเป้สไตล์สปอร์ค และ แคชวล
          แบรนด์มาคา จาขอนแก่น ถอดรหัสไหมมัดหมี่ที่คุ้นเคยกับลายเรขาคณิตไปสู่ลวดลายอิสระบนผืนผ้าไหมที่มีบุคลิกภาพใหม่และสามารถประยุกต์ใช้ได้ 7 แบบ ตัวอย่างไอคอนอีกตัวของภาคใต้ คือ ย่านลิเภาโฟลี่ นครศรีธรรมราช นำคุณค่าย่านลิเภามาสู่ผลิตภัณฑ์ร่วมสมัย เช่น แว่นตา รองเท้า แบรนด์ชิโนซ่า ภูเก็ต ขนมกรุบกรอบ โดยการสร้างตัวตนของแบรนด์จากวัฒนธรรมร่วมของชาวจีนโปรตุกีส หรือเพอรานากอน ตอบโจทย์ตลาดร่วมอาเซียนด้วยการสร้างการ์ตูนคาแรคเตอร์หนุ่มสาวชาวบ้าบ๋า-ยาย๋า ให้มีชีวิตโลดแล่นอย่างร่าเริง
          ธนันธน์ กล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้ 10 แบรนด์ดังเอสเอ็มอีของไทยจะพร้อมแสดงพลังในงาน "สยาม โชว์ พราวด์ แบรนด์ไทย ดี ดัง โดน" เป็นการประชัน 10 ไอคอน แบรนด์ ระหว่างวันที่ 13-16 กันยายน พ.ศ.2555 ณ บริเวณชั้น 1 สยามดิสคัฟเวอรี่ ซึ่งเป็นการร่วมมือระหว่างสถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลาง และขนาดย่อม (สถาบันเอสเอ็มอี) กับ สยามดิสคัฟเวอรี่ แสดงพลังของแบรนด์ไทยที่แตกต่าง นำเสนอผลิตภัณฑ์ต้นแบบที่ยังไม่เคยแสดง ณ ที่ใดมาก่อนเพื่อแสดงให้เห็นถึงแบรนด์ไทยในมิติใหม่ซึ่งปรับตัวแล้ว พร้อมรุกสู่เวทีการค้าเสรีของประชาคมอาเซียนหรือเออีซีได้อย่างมั่นใจ
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น