วันพฤหัสบดีที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2555

มข.ชี้จีนรุกหนักลงทุนสาขาพลังงานในพม่า


มข.เผยผลวิจัยเศรษฐกิจประเทศเพื่อนบ้านพบพม่ากำลังเป็นศูนย์กลางที่ต่างชาติพาเหรดกันเข้าไปลงทุนมากที่สุด เพื่อใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ ระบุจีนกำลังรุกหนักในอุตสาหกรรมทางด้านพลังงาน เพื่อนำกลับไปหล่อเลี้ยงตัวเอง
          น.ส.ณาตยา สีหานาม ผู้จัดการศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน (ECBER) คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยขอนแก่นเปิดเผยว่า ทีมนักวิจัยด้านเศรษฐกิจของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ทำการวิจัยเรื่องเศรษฐกิจของประเทศเพื่อนบ้านในด้านการค้าและการลงทุน พบว่าขณะนี้ประเทศที่เป็นที่ต้องการของนักลงทุนต่อการเข้าไปลงทุนมากที่สุดคือประเทศพม่า เนื่องจากปัจจัยด้านทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งประเทศพม่านั้นอุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ แร่ โลหะ และอัญมณี รวมถึงทรัพยากรป่าไม้ เป็นต้น
          นอกจากปัจจัยดังกล่าวซึ่งดึงดูดนักลงทุนทั้งชาวไทยและต่างชาติให้เข้าไปลงทุนแล้วยังมีปัจจัยเสริมคือ ด้านต้นทุนค่าจ้างแรงงานของพม่าที่อยู่ในระดับต่ำที่สุดในภูมิภาคอาเซียนรวมทั้งรัฐบาลพม่าเองยังพยายามผลักดันให้ประเทสเปิดเสรีด้านการลงทุนเพิ่มมากขึ้นกิจการที่รัฐบาลพม่าให้การส่งเสริมและสนับสนุนให้นักลงทุนต่างชาติเข้าไปลงทุน ได้แก่ การค้าผลผลิตทางการเกษตร การผลิตวัสดุ อุปกรณ์และเครื่องมือการเกษตร การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การผลิตกระแสไฟฟ้าพลังน้ำ ธุรกิจน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ เป็นต้น
          ทั้งนี้ จากข้อมูลของกระทรวงวางแผนและพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติของพม่า ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2552 ระบุว่า ชาติที่เข้าไปลงทุนในพม่ามากที่สุด คือ ไทย ถัดมาคือ สหราชอาณาจักร สิงคโปร์ จีน และมาเลเซีย ตามลำดับ ส่วนธุรกิจที่ดึงดูดนักลงทุนต่างชาติให้เข้าไปลงทุนมากที่สุด ได้แก่ ธุรกิจพลังงาน น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ อย่างไรก็ตามในปี 2555 นี้ พบว่าประเทศจีน ได้เข้าไปเป็นนักลงทุนอันดับ 1 ของพม่า และเมื่อเทียบมูลค่าการลงทุนในพม่ารวมระยะเวลา 5 ปี (ระหว่างปี 2008-2012) พบว่าต่างชาติที่ลงทุนสูงที่สุดคือจีน รองลงมา คือ ฮ่องกง และไทย
          สำหรับจีนเป็นประเทศที่มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูงและมีจำนวนประชากรมากที่สุดในโลก การขยายการลงทุนไปยังต่างประเทศ จึงเน้นลงทุนเพื่อผลิตและส่งผลผลิตเข้าสู่ประเทศของตนเป็นหลัก อย่างไรก็ตามจากการลงทุนในด้านพลังงานโดยต่างชาติ จะทำให้พม่าได้รับผลกระทบอย่างเลี่ยงไม่ได้ ในแง่ของการที่ทรัพยากรจะถูกตักตวงไปใช้ประโยชน์ จนหมดไปในระยะเวลาอันรวดเร็ว
ที่มา : คม ชัด ลึก 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น