วันอังคารที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2555

KSLเบนเข็มซื้อธุรกิจอาหารอาเซียนบริษัทไทยโก่งราคาขายแพงไปรับเออีซีภาษีน้ำตาลเหลือศูนย์


"น้ำตาลขอนแก่น"ปรับแผนซื้อกิจการอาหาร-เครื่องดื่มอาเซียนหลังผู้ประกอบการไทยตั้งราคาสูงลิ่ว พร้อมปูทางรับเออีซีภาษีน้ำตาลเหลือศูนย์  นายจำรูญ ชินธรรมมิตร์ประธานกรรมการบริหาร บริษัทน้ำตาลขอนแก่น (KSL) เปิดเผยว่าบริษัทได้แต่งตั้งที่ปรึกษาทางการเงิน เพื่อให้ช่วยหาโอกาสในการเข้าซื้อธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มในภูมิภาคอาเซียน รองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC)ในอีก 2 ปีข้างหน้า
          บริษัทมองว่า การมีธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มน่าจะช่วยต่อยอดธุรกิจน้ำตาลของบริษัทได้มาก รวมทั้งสามารถเจาะตลาดอาเซียนซึ่งมีจำนวนประชากรสูงเกือบ 600 ล้านคนได้  นอกจากนี้ ภายหลังการเปิดAEC จะไม่มีการจัดเก็บภาษีนำเข้าและส่งออกน้ำตาล ทำให้บริษัทสามารถส่งออกน้ำตาลไปใช้ในธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มได้อย่างเสรีซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งธุรกิจน้ำตาลและอาหาร
          "เราตั้งงบลงทุนสำหรับซื้อกิจการอาหารและเครื่องดื่มไว้ที่2,000-3,000 ล้านบาท โดยก่อนหน้านี้เคยเจรจาขอซื้อจากผู้ประกอบการในไทย 2-3 ราย แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะเจ้าของไม่ยอมขาย หรือหากขายก็มีราคาแพงมาก เราจึงหันไปมองโอกาสในอาเซียนแทน เพราะน่าจะมีข้อจำกัดน้อยกว่า และสอดรับกับการเปิด AEC ในอีก 2 ปีข้างหน้าด้วย"นายจำรูญ กล่าว
          สำหรับนโยบายในการเข้าซื้อกิจการ คือ บริษัทต้องเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่และมีอำนาจในการควบคุมกิจการ หรือหากสามารถซื้อหุ้นได้ทั้ง 100% ก็น่าจะมีความคล่องตัวและเป็นประโยชน์ที่สุด โดยบริษัทจะเน้นในธุรกิจที่มีเครื่องหมายการค้าแข็งแกร่งเข้าถึงผู้บริโภคในอาเซียนได้ง่าย เพราะไม่จำเป็นต้องลงทุนด้านการตลาด การผลิตและพัฒนาเครื่องหมายการค้าใหม่ทั้งหมด
          ด้านนายชลัช ชินธรรมมิตร์กรรมการ บริษัท น้ำตาลขอนแก่นกล่าวว่า ยอดขายน้ำตาลของบริษัทในช่วงไตรมาส 3 ระหว่างเดือน พ.ค.-ก.ค. 2555 น่าจะใกล้เคียงกับไตรมาส 2 ที่ผ่านมา เนื่องจากราคาขายน้ำตาลทรายใกล้เคียงกัน เพราะเป็นราคาขายล่วงหน้า แต่สำหรับปริมาณการขายอาจมากกว่าไตรมาส 2 เล็กน้อย ทำให้ยอดขายรวมของผลประกอบการปี 2554-2555 น่าจะเติบโตประมาณ 10-15% จากงวดเดียวกันปีก่อน
          การลงทุนก่อสร้างโรงงานน้ำตาล ที่ จ.เลย ด้วยเงินลงทุนประมาณ 4,000 ล้านบาท คาดว่าจะเริ่มเดินเครื่องจักรได้ปลายปีนี้ซึ่งจะส่งผลให้บริษัทสามารถหีบอ้อยได้เพิ่มปีละ 1 ล้านตัน ส่งผลให้ความสามารถในการหีบอ้อยรวมในปี2555-2556 จะเพิ่มขึ้นอยู่ที่ประมาณ 8 ล้านตันกว่า จากปัจจุบันอยู่ที่ 7.3 ล้านตัน
          โรงงานน้ำตาลในพม่าและลาวซึ่งบริษัทเข้าไปลงทุนเมื่อ5-6 ปีก่อนขณะนี้มีกำลังผลิตอยู่ที่ 30% และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 35-40% ในอีก 2 ปีข้างหน้า ซึ่งเป็นระดับที่ทำให้บริษัทเริ่มมีกำไรหลังจากที่ต้องแบกรับผลขาดทุนพอสมควรในช่วงแรก
          ดังนั้น ในช่วงนี้นักวิเคราะห์หลายรายได้แนะนำให้ "ซื้อ" หุ้นKSL เช่น บล.เอเซีย พลัส คาดกำไรสุทธิไตรมาส 3 เท่ากับ 802 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20% จากไตรมาส 2 จะสร้างสถิตสูงสุด ผลพวงจากช่วงฤดูกาลส่งออกน้ำตาล โดยให้ราคาเป้าหมาย 14.60 บาท จากราคาปัจจุบันอยู่ที่ 12.60 บาท
ที่มา : โพสต์ทูเดย์



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น