วันอาทิตย์ที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2555

รายงาน: 'คมนาคม' เกลี่ยใหม่เม็ดเงิน 1.9 ล้านล้านเมกะโปรเจ็กต์ 'ถนน-ทางด่วน-รถไฟสู่ภาคใต้'


             กำลังเป็นที่จับตาสำหรับแผนการลงทุนครั้งใหญ่ของกระทรวงคมนาคม ที่ใช้เม็ดเงินลงทุนมหาศาลกว่า 1.9 ล้านล้านบาท สำหรับแผนการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบคมนาคมขนส่ง ทั้ง บก-น้ำ-อากาศ 8 ปีหน้า ตั้งแต่ปี 2556-2563 เป้าหมายใช้เป็นทิศทางเตรียมความพร้อมในการวางรากฐานสร้างอนาคตของประเทศ
          สถานะปัจจุบันบิ๊กคมนาคม "จารุพงศ์ เรืองสุวรรณ" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม อยู่ระหว่างเดินสายจัดประชาพิจารณ์นักธุรกิจท้องถิ่นแต่ละภาค รับฟังข้อคิดเห็นต่อแผนการลงทุนครั้งนี้ใน 8 จังหวัด ไล่จาก "อุบลราชธานี-เชียงใหม่ภูเก็ต-นครศรีธรรมราช-ชลบุรี-นครราชสีมาพิษณุโลก-
ขอนแก่น" ตามเงื่อนเวลาจะได้ข้อสรุปในสิ้นเดือนตุลาคมนี้ ทั้งรายชื่อโครงการและเงินลงทุนโครงการที่ปรับใหม่
          ล่าสุด ภาพรวมของแผนงานมีปรับเพิ่มรายโครงการจาก 55 โครงการ เงินลงทุนกว่า 1.99 ล้านล้านบาท เป็น 72 โครงการ เงินลงทุนกว่า 1.9 ล้านล้านบาท
          "ราง" ซิวแชมป์กว่า 1.1 ล้านล้าน
          แยกเป็นด้านขนส่งทางถนน จำนวน 31 โครงการ วงเงินรวม 648,995 ล้านบาท หรือ 33.91% ด้านขนส่งทางราง 33 โครงการ วงเงินรวม 1,164,477 ล้านบาท หรือ 6.84% ด้านขนส่งทางน้ำ 5 โครงการ วงเงินรวม 63,606 ล้านบาท และด้านขนส่งทางอากาศ 3 โครงการ วงเงินรวม 36,927 ล้านบาท
          แผนแม่บทปรับใหม่หน่วยงานที่ใช้เงินลงทุนสูงสุดคือ "ร.ฟ.ท.-การรถไฟแห่งประเทศไทย" วงเงิน 903,706 ล้านบาท ตามมาด้วย "ทล.-กรมทางหลวง" วงเงิน 417,076 ล้านบาท "รฟม.-การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย" วงเงิน 260,771 ล้านบาท "ทช.-กรมทางหลวงชนบท" วงเงิน 139,868 ล้านบาท"กทพ.-การทางพิเศษแห่งประเทศไทย" วงเงิน 64,577 ล้านบาท "กทท.-การท่าเรือแห่งประเทศไทย" วงเงิน 34,958 ล้านบาท "ทอท.-บมจ.ท่าอากาศยานไทย" วงเงิน 32,872 ล้านบาท "จท.-กรมเจ้าท่า" วงเงิน 28,648 ล้านบาท "ขสมก.-องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ" วงเงิน 14,125 ล้านบาท "ขบ.-กรมการขนส่งทางบก" วงเงิน 13,347 ล้านบาท และ "บวท.-บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด" วงเงิน 4,055 ล้านบาทแต่เมื่อเจาะลึกเป็นรายภาค เบื้องต้นพบว่า "ภาคกลาง" ซึ่งมีพื้นที่รวมถึง "กรุงเทพมหานคร" ด้วย ใช้เม็ดเงินลงทุนสูงสุดกว่า 40% ของวงเงิน 1.9 ล้านล้านบาท
          ตัดทิ้ง "ถนนไร้ฝุ่น-4 เลน"
          "สร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์" รองปลัดกระทรวงคมนาคมด้านอำนวยการ กล่าวว่า แผนแม่บทมีการปรับโครงการใหม่ โดยตัดโครงการที่ใช้งบประมาณและเป็นแค่ไอเดียออก เนื่องจากแผนลงทุนครั้งนี้เป็นการใช้เงินกู้ตามนโยบายของรัฐบาล เช่น ถนนไร้ฝุ่น บริหารจัดการด้วยการใช้งบประมาณปกติแทน หรือขยายถนน 4 ช่องจราจร กรณีโครงการใดที่ไม่ใช่เส้นทางเสริมระบบ โลจิสติกส์จะคัดออก และนำเส้นทางส่งเสริมโครงข่ายการท่องเที่ยวเข้ามาแทน
          "เราเน้นประเภทโครงการที่เป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศในระยะยาว ด้านโครงสร้างพื้นฐานและบริการระบบขนส่งที่ไม่ใช่ภารกิจประจำ และดูความพร้อมที่ได้รับการอนุมัติแล้วด้วย ทั้งศึกษาและออกแบบรายละเอียดและใช้เวลาดำเนินการอยู่ในช่วงเวลาที่กำหนดในปี 2563 แต่แผนก็ยังไม่นิ่ง รอฟังเสียงจากท้องถิ่นว่าจะมีโครงการใหม่เพิ่มอีกหรือไม่"
          ผุดทางด่วนเชื่อมหัวเมืองใหญ่
          "รองฯสร้อยทิพย์" กล่าวอีกว่า ตัวอย่างเช่น ภาคใต้ได้เพิ่มโครงการก่อสร้างทางด่วนใหม่ เชื่อมกะทู้-ป่าตองเข้าไปด้วย เนื่องจากท้องถิ่นต้องการโครงข่ายทางด่วนเพิ่มเพื่อแก้ปัญหาการจราจร ซึ่งอยู่ในแผนของการทางพิเศษฯอยู่แล้ว ใช้เม็ดเงินลงทุนประมาณ 6,082 ล้านบาท เวลาสร้าง 4 ปี เริ่มปี 2558-2561
          ขณะที่พื้นที่อื่น ๆ หน่วยงานที่รับผิดชอบได้เพิ่มโครงการใหม่เข้ามา เช่น กรมทางหลวง เพิ่มโครงการต่อขยายโทลล์เวย์จากรังสิต-บางปะอิน วงเงิน 20,000 ล้านบาท ใช้เวลาสร้าง 3 ปี (2557-2559) โครงการต่อขยายทางคู่ขนานลอยฟ้าถนนบรมราชชนนี ช่วงพุทธมณฑลสาย 2-เพชรเกษม วงเงิน 12,500 ล้านบาท ก่อสร้าง 3 ปี (2557-2559)
          กรมทางหลวงชนบท เสนอโครงการใหม่ เช่น สร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา เชื่อมพระสมุทรเจดีย์-ถนนเชื่อมต่อสะพานข้ามแม่น้ำท่าจีนที่ท่าฉลอม วงเงิน 30,967 ล้านบาท ใช้เวลาดำเนินการ 5 ปี (2559-2563) ถนนต่อเชื่อมสนามบินสุวรรณภูมิ ใช้เวลา 3 ปี (2557-2559) วงเงิน 33,606 ล้านบาท โครงการแก้ไขปัญหาจราจรในพื้นที่ปริมณฑลและหัวเมืองใหญ่ วงเงิน 14,427 ล้านบาท
          ฟี้นรถไฟ "สุราษฎร์ฯ-ภูเก็ต"การทางพิเศษฯเสนอทางด่วนสายใหม่เพิ่ม นอกเหนือจากทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ (N1-N2-N3) วงเงิน 55,488 ล้านบาท มีสายศรีรัช-ดาวคะนอง วงเงิน 13,460 ล้านบาท ก่อสร้าง 5 ปี (2557-2561) และสายดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกด้านตะวันตก วงเงิน 14,286 ล้านบาท ใช้เวลา 5 ปี (2557-2561)
          เช่นเดียวกับ "รถไฟสายใหม่" จาก "สุราษฎร์ธานี-พังงา-ภูเก็ต" ที่การรถไฟฯฟื้นขึ้นมาบรรจุเข้าไปในบัญชีล่าสุด ใช้เวลาดำเนินการ 2 ปี (2556-2557) เพื่อเป็นเส้นทางสำหรับรองรับบูมการท่องเที่ยวภาคใต้
          แต่ทั้งหมดยังเป็นแค่ตุ๊กตาที่ยังมีโอกาสถูกปรับเพิ่ม-ปรับลดได้อีก อยู่ที่เสียงสะท้อนจากท้องถิ่นว่าจะดังมากแค่ไหน รวมถึงแหล่งเม็ดเงินลงทุนที่กระทรวงการคลังจะจัดสรรมาให้ด้วยเช่นกัน
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ 


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น