วันพุธที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2555

มองอนาคต'ไก่ไทย'ในเออีซี


             ภาพรวมของประโยชน์ในการยกเลิกกำแพงภาษีและลดอุปสรรคทางการค้าสินค้าเกษตร ภายใต้การเปิดตลาดสินค้าเกษตรหลังการรวมกลุ่มเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC) มีเผยแพร่อยู่ในสื่อต่างๆมากมาย ทั้งในส่วนของการใช้ฐานการผลิตเดียวกัน การขยายการส่งออก และโอกาสทางการค้า เพราะอาเซียนเป็นตลาดใหญ่ ที่มีประชากรรวมกันถึง 601 ล้านคน ... และหากเจาะลึกเข้าไปในกลุ่มของอุตสาหกรรมสัตว์ปีก เช่น ไก่ เป็ด จะมีแนวโน้มอย่างไรบ้างเพราะเป็นที่ทราบดีว่า ประเทศไทยมีศักยภาพในการผลิตสินค้าด้านนี้มากที่สุดในอาเซียน ดังนั้น เมื่อ"สมาคมวิทยาศาสตร์สัตว์ปีกโลก สาขาประเทศไทย"ได้จัดการประชุมประจำปีว่าด้วยเรื่อง "อนาคตอุตสาหกรรมสัตว์ปีกไทย ปี2558 ใน AEC" จึงได้รับความสนใจจากผู้คนเข้าร่วมรับฟังกันอย่างคับคั่ง
          ดร.ปิติ ศรีแสงนามรองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ ศูนย์อาเซียนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในวิทยากรของงานกล่าวถึงโอกาสและปัญหาของอุตสาหกรรมสัตว์ปีกในอาเซียนโดยระบุว่า ประเทศไทยส่งออกสัตว์ปีกเป็นลำดับ 3 ของโลก ขณะที่การส่งออก เป็นการส่งไปยังสหภาพยุโรป 42% และ ส่งไปในเอเชีย 55% ... ในจำนวน 55% นี้คิดเป็นมูลค่า 232,000 ล้านบาท ซึ่งประเทศในเอเชียที่ไทยส่งสัตว์ปีกไปเป็นหลักก็คือญี่ปุ่น มีมูลค่าส่งออกถึง 2 แสนล้านบาท หมายความว่าประเทศไทยยังมีช่องว่างหรือพื้นที่สำหรับส่งออกสัตว์ในเอเชียได้อีกมากทีเดียว นี่คือหนึ่งในโอกาสของอุตสาหกรรมสัตว์ปีกของไทย
          อย่างไรก็ตาม ดร.ปิติ ได้ตั้งข้อสังเกตถึง การรวมประชากรอาเซียนที่มีมากถึง 601 ล้านคน ซึ่งมากเป็นลำดับ 9 ของโลกนั้น ไม่สามารถการันตีได้ว่าทั้งหมดเป็นตลาดที่จะรองรับการบริโภคสัตว์ปีกของไทยได้ เนื่องจากต้องคำนึงถึง"ความต้องการซื้อ" และ "กำลังซื้อ" ด้วย ยกตัวอย่างเช่นบางพื้นที่นับถือศาสนาฮินดู ซึ่งเป็นมังสวิรัติ กลุ่มนี้แม้จะมีกำลังซื้อแต่ก็ไม่มีความต้องการสินค้าไก่
          การเข้าใจผู้คนในอาเซียนให้ลึกซึ้งถึงชีวิตความเป็นอยู่และวัฒนธรรม เป็นสิ่งที่อุตสาหกรรมสัตว์ปีกของไทยไม่ควรมองข้าม อาทิ ประชากรอาเซียน 601 ล้านคนเป็นมุสลิมถึง45% คนกลุ่มนี้มีความต้องการบริโภคเนื้อไก่ และมีกำลังซื้อด้วย ดังนั้น ช่องทางการเติบโตของอุตสาหกรรมไก่หรืออุตสาหกรรมสัตว์ปีกของประเทศไทย จึงต้องพัฒนากระบวนการผลิตสินค้า HALAL ให้ได้มาตรฐานตลอดห่วงโซ่อาหาร ไม่เช่นนั้นเท่ากับคนครึ่งหนึ่งของอาเซียนจะไม่เลือกบริโภคอาหารของไทย นับเป็นการสูญเสียตลาดอย่างที่ไม่ควรจะเป็น
          "ลูกจีน" คือข้อสังเกตอีกข้อ เพราะผู้บริหารในบริษัทต่างๆของอาเซียน ส่วนใหญ่เป็นคนจีน หรือมีเชื้อสายจีน เช่น ในประเทศ สปป.ลาว มีคนเชื้อสายจีนบริหารธุรกิจอยู่ 99%ในสิงคโปร์มีมากกว่า 70% ซึ่งปกติคนจีนจะเจรจาการค้าในรูปแบบเฉพาะ และไม่ลงรายละเอียดมากนักในการพูดคุยธุรกิจระดับผู้นำ หากใครยกทีมเจรจาโดยนำทั้งฝ่ายกฎหมายฝ่ายบัญชี ไปนั่งเจรจาด้วย ก็คงไม่มีการสานต่อธุรกิจเกิดขึ้นตามมา เป็นต้น
          จะเห็นว่า การตั้งข้อสังเกตของ ดร.ปิติ ที่ให้ภาคธุรกิจคำนึงถึงสังคมและวัฒนธรรมของอาเซียนด้วยนั้น เป็นเพราะการรวมตัวกันเป็นหนึ่งเดียวของอาเซียนในอีก 3 ปีข้างหน้า ไม่ได้มีเพียงมิติเศรษฐกิจให้พิจารณา โดยนอกจากประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(ASEAN Economic Community : AEC) ยังมีอีก 2 มิติที่ต้องให้ความสำคัญ คือ ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน (ASEAN Political-Security Community : APSC) และประชาคมวัฒนธรรมและสังคมอาเซียน (ASEAN Socio-Cultural Community : ASCC) ทั้ง3 มิติ ล้วนเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกัน
          ไก่ย่างห้าดาว เป็นตัวอย่างของภาคธุรกิจที่ประสบความสำเร็จในประเทศพม่า สามารถเข้าถึงสังคมของคนพม่า จากรายได้ประชากรที่ไม่สูงนัก ทำให้ไก่ย่างห้าดาว กลายเป็นอาหารหรูของคนพม่า พอๆกับที่คนไทยเลือกกินสุกี้เอ็มเค ในวาระสำคัญ ขณะที่ ศรีวิโรจน์ฟาร์ม ใน จ.ขอนแก่น
 เข้าไปลงทุนทำธุรกิจฟาร์มเลี้ยงไก่ในประเทศ สปป.ลาว และเปลี่ยนโลโก้เป็น SV Farm เพื่อเข้าถึงจิตใจชาวลาว และก่อให้เกิดความรู้สึกว่า นี่คือ ฟาร์มสะหวันเขต ของพวกเขา ขณะเดียวกันก็ข้ามไปเป็นเจ้าภาพงานบุญให้ชาวลาวเป็นประจำแทบทุกสัปดาห์ ทำให้ "ได้ใจ" และในที่สุดก็ได้รับการอนุมัติจากทางการให้เช่าที่ดินผืนใหญ่ในราคาไม่แพงและเป็นระยะเวลายาวนาน เหล่านี้คือตัวอย่างของธุรกิจไทยที่ประสบความสำเร็จในเวที AEC ที่ต้องเข้าใจทั้ง เศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรมให้ครบถ้วน
          "อุตสาหกรรมสัตว์ปีกไทยเก่งกว่าใครในอาเซียน" คือจุดแข็งสำคัญของประเทศไทย ที่เหลือก็เพียงต้องพิจารณาการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมให้ก้าวหน้า โดยมองให้ครอบคลุมทั้ง 3 มิติดังกล่าว เท่านี้ สัตว์ปีกไทยก็ก้าวไกลในอาเซียนได้ไม่ยาก
ที่มา : สยามรัฐ 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น