วันพุธที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2555

นิคมฯ สีเขียวขอนแก่นดึงเอกชนบริหาร


            สอท.ขอนแก่นรับตั้งนิคมสีเขียวที่ จ.ขอนแก่นสะดุด จากข้อจำกัดการใช้พื้นที่  ทั้งยังกลายเป็น ชนวนให้คนในพื้นที่ทะเลาะกัน  เผยทางรอด ต้องดึงภาคเอกชนดำเนินการแทน และภาครัฐ สนับสนุน  นายวิทูรย์ กมลนฤเมธ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดขอนแก่น  เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะทำงานเพื่อศึกษาข้อกฎหมายและความเป็นไปได้ต่อการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมสีเขียวในจังหวัดขอนแก่น โดยมีพื้นที่เป้าหมายคือ  ต.หนองแซง อ.บ้านแฮด จ.ขอนแก่น นั้นพบว่ายังเป็นพื้นที่ที่มีข้อ ขัดแย้งและกฎหมายไม่เอื้อเนื่องจากเป็นพื้นที่สาธารณประโยชน์และเป็นที่ดินของสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม
          "นับตั้งแต่ตั้งคณะทำงานฯ และคณะรัฐมนตรีเห็นด้วยในหลักการมีการเสนอที่ดินเพื่อจัดทำนิคมอุตสาหกรรมสีเขียวหลายแห่ง แต่ส่วนใหญ่ไม่เหมาะสมเนื่องจากมีขนาดพื้นที่น้อยเกินไปและบางแห่งเป็นพื้นที่น้ำท่วม แต่ที่ ต.หนองแซง อ.บ้านแฮด จากการลงพ้นที่ระยะแรก พบว่าเป็นพื้นที่ที่เหมาะสมมีขนาด 2,019 ไร่ เป็นที่สาธารณประโยชน์ 550 ไร่และที่สปก. 1,000 ไร่ โดยมีชาวบ้านลงชื่อสนับสนุนกว่า 1,000 ราย แต่ต่อมามีกลุ่มชาวบ้าน 103 คน ได้ออกมาต่อต้านดังนั้นเพื่อลดข้อขัดแย้งจึงเห็นควรยกเลิกการใช้พื้นที่ ดังกล่าวหลังจากนี้คงต้องสรรหาพื้นที่กันใหม่" นายวิทูร กล่าว
          นายสุรพล ทวีแสงสกุลไทย อดีตประธาน สภาอุตสาหกรรมจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้มีการผลักดันนิคมฯในจังหวัดขอนแก่นมาอย่างต่อเนื่อง แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ติดปัญหาการจัดการเรื่องที่ดิน ทำให้เสียโอกาสต่อการลงทุน ทั้งที่ขอนแก่นพร้อมจะเป็นศูนย์กลางการค้าเศรษฐกิจและโลจิสติกส์  ทางออกในเรื่องนี้เห็นว่าอาจต้องให้เอกชนเป็นผู้ดำเนินการทั้งในส่วนของการรวบรวมที่ดินและส่วนอื่น ขณะที่ภาครัฐเป็นผู้ให้การสนับสนุน
          น.ส.ทัศนีย์ เกียรติภัทรพร ผู้อำนวยการกองแผนและนโยบาย การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.)กล่าวว่า กนอ.พร้อมให้ความร่วมมือศึกษาความเป็นไปได้ต่อเนื่องจากอยู่ในนโยบายอยู่แล้ว โดยมองว่าการทำนิคมฯ อาจเปลี่ยนรูปแบบให้เฉพาะเพิ่มขึ้น เช่น เป็นนิคมด้านการบริการเพื่อลดปัญหาการต่อต้านหากเป็นการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับปัญหา สิ่งแวดล้อม "กนอ.ยินดีและพร้อมร่วมมือในการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการนิคมฯ ดังกล่าวอยู่แล้ว เพราะเป็นนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้อุตสาหกรรมดำเนินธุรกิจไปพร้อมๆกับการรักษาสิ่งแวดล้อมหรือดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและสามารถอยู่ร่วมกับชุมชนในพื้นที่ได้"  กนอ.พร้อมร่วมมือศึกษาความเป็นไปได้ ของโครงการนิคมฯ ดังกล่าวอยู่แล้ว
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น