วันจันทร์ที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2555

เอกชนไม่วางใจ 100% "เอาอยู่" เตรียมแผนสอง-กระตุ้นกำลังซื้อ


ก้าวเข้าสู่ช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี
          พร้อมปัจจัยลบที่ต้องจับตาอย่าง ใกล้ชิดกับ "สถานการณ์น้ำท่วม" ซึ่งยังไม่อาจคาดเดาได้ว่าถึงที่สุดแล้วจะ "เอาอยู่" หรือไม่ แม้รัฐจะทุ่มงบประมาณไปกับการนี้กว่า 3 แสนล้านบาท แต่ภาพที่เห็นกลับ "สวนทาง" กัน เนื่องจาก "บางพื้นที่" เริ่มเกิดปัญหาน้ำท่วมขัง จากปริมาณฝนที่ยังคงตก ต่อเนื่อง น่าตั้งคำถามถึงประสิทธิภาพการระบายน้ำ ไม่เพียงสร้างความกังวลให้กับประชาชนที่เริ่มรัดเข็มขัดกันมากขึ้นแล้วยังทำ ให้บรรดาผู้ประกอบการเริ่มหันซ้ายแลขวา เตรียม "แผนสอง" รับมือกับปัญหาน้ำท่วมปีนี้ ที่(อาจจะ)"รุนแรง" กว่าที่ประเมินไว้แต่แรก
          แม้ปากจะบอกว่า "วางใจรัฐ" แต่  "ไม่ 100 %" ดังนั้นในทางปฏิบัติ พวกเขา  ต่างเตรียมแผนรับมือกันไว้หมดแล้ว
          บุญชัย โชควัฒนา ประธานกรรมการ บมจ.สหพัฒนพิบูล กล่าวว่า จากมาตรการป้องกันน้ำท่วมที่รัฐบาลได้เตรียมงบประมาณไว้กว่า 3 แสนล้านบาท ทำให้ "มั่นใจ" ได้ระดับหนึ่งว่าไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ ประเทศไทยจะ "ไม่เผชิญ" กับสถานการณ์น้ำท่วมรุนแรงเหมือนปีก่อน อย่างไรก็ตามผู้ผลิตสินค้าคอนซูมเมอร์รายใหญ่ของประเทศอย่างเครือสหพัฒน์ได้เตรียมแผนรับมือไว้แล้วเช่นกัน ต่างจากปีก่อนที่ไม่คาดคิดว่าจะเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมขึ้น
          โดยข้อกังวลที่ต้องจับตาเป็นพิเศษในขณะนี้ คือ "ปริมาณน้ำฝน"ที่ค่อนข้างมากใน ปีนี้ ซึ่งต้องดูว่ารัฐจะมีมาตรการระบายน้ำฝน ในแต่ละพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใด ส่วนตัวยังเชื่อว่าอาจมีน้ำท่วมใน บางพื้นที่จากปริมาณฝนที่ตกหนัก แต่น้ำ จะลดลงอย่างรวดเร็วเช่นกัน พร้อมกับ บอกด้วยว่า ..
          "ยอมรับว่าไม่สบายใจ 100% จากปริมาณน้ำฝน เพราะเป็นเรื่องธรรมชาติ
          ที่คาดเดาไม่ได้"
          สำหรับมาตรการรับมือสถานการณ์ น้ำท่วมของเครือสหพัฒน์ ในส่วนของโรงงานและฝ่ายขาย ได้เตรียมการเรื่องยานพาหนะ ในการขนส่งสินค้าจากโรงงานไปยังจุดกระจายสินค้าและร้านค้าต่างๆ ด้วยการนำรถขนส่ง มายกล้อให้สูงกว่าเดิม"อีก 20 เซนติเมตร" รองรับสถานการณ์กรณีน้ำท่วมที่ไม่สูงมาก  แต่หากน้ำท่วมหนักก็คง "เอาไม่อยู่" เช่นกัน ส่วนแผนการตลาดในไตรมาส 4 ปีนี้ จนถึงขณะนี้เครือสหพัฒน์ยังคงเดินหน้า ตามแผนเดิม แม้จะเริ่มหวั่นไหวนิดๆ
          อย่างไรก็ตาม บุญชัย ยอมรับว่า  ความกังวลเรื่องปัญหาน้ำท่วม อาจส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอตัวลง จากกำลังซื้อที่หดตัวเพราะผู้บริโภคเก็บเงินไว้ใช้ป้องกันน้ำท่วม  ดังนั้นผู้ประกอบการรวมทั้งกลุ่มสินค้า คอนซูเมอร์ เครือสหพัฒน์จะต้องกระตุ้นกำลังซื้อด้วยการจัดโปรโมชั่น ชิงโชค เพื่อผลักดันยอดขายโค้งสุดท้ายให้เป็นไปตามเป้าหมาย ในการยอดขายปีนี้ให้เติบโต 16%  โดยช่วง  9 เดือนที่ผ่านมาเติบโต ราว 14%
          แต่เชื่อว่าด้วยแผนการกระตุ้นตลาดเมื่อจบสิ้นปี อาจจะเห็นอัตราเติบโต 13-14%  ซึ่งถือว่า "ดีกว่า" ภาพรวมสินค้าในกลุ่มเดียวกัน
          ด้าน เกรียงศักดิ์ เทพผดุงพร กรรมการผู้จัดการบริษัท อำพลฟูดส์ โพรเซสซิ่ง จำกัด กล่าวว่า จากมาตรการเตรียมรับมือสถานการณ์น้ำท่วมของรัฐบาลในขณะนี้ ทำให้ "มั่นใจ 100%" ว่า น้ำจะไม่ท่วมกรุงเทพฯ ขณะที่ปริมาณน้ำในเขื่อนต่างๆ ปีนี้มีปริมาณอยู่ราวครึ่งเขื่อน ต่างจากปีก่อนที่มีน้ำเต็มจนล้นเขื่อน ขณะเดียวกันรัฐบาลยังมีการบริหารจัดการน้ำล่วงหน้า ทั้งมาตรการป้องกัน  การขุดลอก คูคลอง  ซึ่งสามารถสร้างความมั่นใจได้ ระดับหนึ่ง
          อย่างไรก็ตาม บริษัทได้เตรียมแผนฉุกเฉินรับมือสถานการณ์น้ำท่วม ด้วยการ จัดตั้งคณะกรรมการประเมินความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ ซึ่งจะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ทั้งปริมาณน้ำฝน น้ำทะเลหนุน รวมถึงปริมาณน้ำในเขื่อน โดยเป็นข้อมูลที่ส่งมาจาก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย  (ส.อ.ท.) ให้กับผู้ประกอบการได้เตรียมแผนรับมือ
          "ยังเชื่อว่าสถานการณ์น้ำท่วมปีนี้ จะดีกว่าปีก่อน เพียงแต่ต้องจับตาปริมาณ น้ำฝนมากกว่าปกติ และมาตรฐานการรับมือน้ำท่วมขังระยะสั้นจากปริมาณฝน" เกรียงศักดิ์ กล่าว
          ขณะที่ ภคพรรณ ลีวุฒินันท์ ประธานกรรมการบริหาร นู สกิน เอ็นเตอร์ไพร์ส ประเทศไทยและเวียดนาม กล่าวว่า ขณะนี้บริษัทได้วางแผนรองรับสถานการณ์น้ำท่วมและปัญหาฝนตกหนัก โดยเร่งพัฒนาพัฒนาระบบ "การสั่งซื้อสินค้าออนไลน์" ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับตัวแทนจำหน่ายและลูกค้าในการสั่งซื้อสินค้าจากบ้าน  พร้อมทั้งยังมีแผน "ขยายคลังสินค้าย่อย" ไปตามสถานที่ต่างๆ  ทั่วประเทศ เพื่อบริหารการจัดส่งสินค้าได้อย่างรวดเร็วหากเกิดปัญหาน้ำท่วม
          ทั้งนี้ บริษัทจะใช้ศูนย์จำหน่ายสินค้าที่มีอยู่จำนวน 9 สาขา แบ่งเป็นกรุงเทพฯ 2 สาขา และต่างจังหวัด 7 สาขา ประกอบด้วย หาดใหญ่ เชียงใหม่ ภูเก็ต ขอนแก่น นครราชสีมา ชลบุรี และตรังเป็นจุดกระจายสินค้าในเบื้องต้น
          ขณะเดียวกัน ได้ใช้งบ 10 ล้านบาท ปรับปรุงคลังสินค้าเก็บสต็อกสินค้าให้ได้นาน 1-2 เดือนหากเกิดปัญหาน้ำท่วม เพื่อให้สินค้าเพียงพอต่อความต้องการของลูกค้า เพราะจากประสบการณ์ ผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมในปีที่ผ่านมา ทำให้บริษัทต้องเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือ
          "ไม่สบายใจ  จากปริมาณนาฝน เพราะเป็นเรื่องธรรมชาติ ที่คาดเดาไม่ได้"
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น