วันพุธที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2555

เปิดประมูลที่รถไฟ 100 ทำเลทองธนารักษ์ปัดฝุ่นมักกะสัน 3 แสนล.


"รถไฟ" เร่งสำรวจที่ดินทำเลทองทั่วประเทศ ตั้งเป้าปัมรายได้จากการพัฒนาเพิ่ม คัด 100 ย่านสถานี เปิดประมูล "อยุธยา-หัวหิน-โคราชพิษณุโลก-ขอนแก่น" ดึงเอกชนร่วมทุนแปลงใหญ่มูลค่าเกิน 1 พันล้าน ด้าน "ชัชชาติ" ผนึกคลัง ดึง "ธนารักษ์" หยิบ "มักกะสัน" เนื้อที่ 571 ไร่ มูลค่ากว่า 3 แสนล้าน นำร่องหาเอกชนลงทุนรับรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ เคลียร์หนี้ รถไฟ 6 หมื่นล้าน
          นายวิโรจน์ เตรียมพงศ์พันธ์ รองผู้ว่าการกลุ่มยุทธศาสตร์และอำนวยการ และรักษาการผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า เมื่อเดือน ก.ค. 2555 ที่ผ่านมา รถไฟได้เซ็นบันทึกข้อตกลง (MOU) จ้างกรมธนารักษ์มาประเมินราคาที่ดินของรถไฟ ทั่วประเทศ จำนวน 234,976 ไร่ เพื่อประเมินมูลค่าทรัพย์สินด้านที่ดินใหม่ให้เป็นปัจจุบัน พร้อมจัดหมวดหมู่ที่ดินมีศักยภาพและไม่มีศักยภาพให้ชัดเจน เพื่อนำมาจัดหาประโยชน์รายได้จากการให้เช่าจากการพัฒนาที่ดิน ทั้งเป็นการรวบรวมข้อมูลยื่นบัญชีทรัพย์สินของรถไฟด้านที่ดินว่า มีมูลค่าเท่าไรให้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้ตรวจสอบและรับรองบัญชีต่อไป
          ขณะเดียวกันระหว่างรอผลประเมินราคาที่ดินจากกรมธนารักษ์ ทางหน่วยธุรกิจบริหารทรัพย์สินตามโครงสร้างใหม่ อยู่ระหว่างจัดทำแผนนำที่ดินสำหรับการพาณิชย์ (noncore business) จำนวน 36,302 ไร่ ที่ไม่ใช้เพื่อการเดินรถ คัดแปลงที่มีศักยภาพประมาณ 100 แปลงมาจัดหารายได้เพิ่มขึ้น จากปัจจุบันมีรายได้เฉลี่ย 1,600 ล้านบาท คาดว่าจะจัดหารายได้มากขึ้น เนื่องจากมูลค่าที่ดินต้องสูงขึ้นตามราคาประเมินที่กรมธนารักษ์ประเมินให้
          คัด 100 ย่านสถานีประมูล
          "ส่วนใหญ่เป็นที่ดินย่านสถานีใหญ่ ๆ มูลค่าไม่เกิน 1,000 ล้านบาท เพราะนำมาประมูลได้ทันที นอกเหนือจากกรุงเทพฯและที่ดินแปลงใหญ่ อาทิ ขอนแก่นพื้นที่ 21 ไร่ เชียงใหม่กว่า 15 ไร่ พระนครศรีอยุธยากว่า 9 ไร่ หัวหินพื้นที่ 7.8 ไร่ สระบุรีพื้นที่ 31 ไร่ ลำปางพื้นที่ 10 ไร่ ศิลาอาสน์พื้นที่ 12 ไร่ พิษณุโลกพื้นที่ 2.96 ไร่ หนองคายใหม่พื้นที่ 11 ไร่ หาดใหญ่ นครราชสีมา เป็นต้น นำมาเปิดประมูลให้เอกชนเข้ามาพัฒนาที่ดิน และรถไฟจะได้ค่าเช่าจากเอกชน"
          ดึงเอกชนร่วมทุนแปลงใหญ่
          นายวิโรจน์กล่าวต่อว่า สำหรับที่ดินแปลงใหญ่ เช่น ย่านพหลโยธิน จำนวน 2,983 ไร่ ราคาประเมินเดิม 41,660 ล้านบาท สถานีแม่น้ำ 279 ไร่ ราคาประเมินเดิม 5,245 ล้านบาท มักกะสันกว่า 571 ไร่ เดิมประเมินไว้มีมูลค่า 22,840 ล้านบาท และย่าน กม.11 พื้นที่ 359 ไร่ เป็นต้น จะแยกมาจัดหาประโยชน์ออกมาต่างหาก เพราะเป็นโครงการเกิน 1,000 ล้านบาท จะต้องให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯเป็นการเช่าระยะยาว 25-30 ปี
          ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้านี้รถไฟเคยรวบรวมที่ดินย่านสถานีมีศักยภาพเพื่อนำร่องมาพัฒนาหารายได้ เช่น สถานีรถไฟหัวหินเนื้อที่ 7 ไร่ และอยุธยาเนื้อที่ 9 ไร่ พัฒนาพื้นที่ซึ่งเน้นรูปแบบอนุรักษ์วัฒนธรรมหรือเน้นสถาปัตยกรรม ท้องถิ่นประจำภาค เน้นพัฒนาเป็น โรงแรม เกสต์เฮาส์แนวราบที่มีเอกลักษณ์
          คัดแปลงเด็ดให้ธนารักษ์บริหาร
          นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังและกระทรวงคมนาคมมีแนวคิดตรงกัน จะให้ทางกรมธนารักษ์มาช่วยดูแลและจัดหาประโยชน์ที่ดินของรถไฟให้ เพื่อให้มีรายได้จากการพัฒนาที่ดินมากขึ้น เนื่องจากมีประสบการณ์มาก่อน ขณะที่รถไฟเองไม่ค่อยมีความเชี่ยวชาญด้านที่ดินเท่าไหร่ ซึ่งกำลังสำรวจว่ามีที่ดินศักยภาพตรงไหนบ้างจะนำมาดำเนินการร่วมกัน เช่น อาจจะหารายได้โดยใช้โมเดลของกรมธนารักษ์ ในการคิดอัตราค่าเช่า เป็นต้น
          "จะให้รถไฟทำหน้าที่เดินรถอย่างเดียว เท่าที่ทราบว่าจะมีโครงการนำร่อง คือ นำที่ดินย่านมักกะสันกว่า 571 ไร่ มูลค่าการลงทุนกว่า 3 แสนล้านบาท มาดำเนินการก่อน เพราะอยู่ในแนวรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์และเป็นที่ดินในเมืองที่มีศักยภาพที่สุด โดยเปิดให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุน แต่ยังไม่ได้สรุปจะเริ่มได้เมื่อไหร่ เพื่อนำรายได้มาชำระหนี้รถไฟที่มีอยู่กว่า 6 หมื่นล้านบาท"
          ด้านแหล่งข่าวจาก ร.ฟ.ท.กล่าวว่า เมื่อประมาณ 6-7 ปีที่แล้ว กระทรวงการคลังมีแนวคิดให้กรมธนารักษ์นำที่ดินของรถไฟย่านในเมืองริมถนนรัชาดาภิเษกตลอดทั้งเส้นเพื่อนำมาจัดหาประโยชน์ให้เช่าเพื่อหารายได้มาล้างหนี้ให้รถไฟฯ ซึ่งในขณะนั้นรถไฟมีหนี้อยู่กว่า 4 หมื่นล้านบาท แต่ติดขัดเรื่องระเบียบและข้อกฎหมาย เนื่องจากที่ดินของรถไฟเวนคืนมาเพื่อการเดินรถซึ่งเป็นธุรกิจหลัก ถ้าจะทำอย่างอื่นต้องแก้กฎหมาย จึงทำให้เรื่องเงียบหายไป จนมาจู่ ๆ กระทรวงการคลังมีแนวคิดนี้ขึ้นมาอีก
          นายชาญณัฏฐ์ แก้วมณี รองอธิบดีกรมธนารักษ์ กล่าวว่า ขณะนี้กรมมีนโยบายให้ธนารักษ์จังหวัดทั่วประเทศประเมินราคาที่ราชพัสดุของกรมใหม่ให้เป็นปัจจุบัน และให้คัดเลือกแปลงที่มีศักยภาพประมาณ 100 แปลง มาจัดหาประโยชน์เชิงพาณิชย์เพื่อสร้างรายได้ ปัจจุบันยังไม่ได้รับรายงานแต่อย่างใด
          "เราจะดูว่าแต่ละแปลงสามารถนำมาประมูลในปี 2556 ได้ทันที และแปลงไหนจะต้องขอแก้ไขผังเมืองรวมเพื่อนำมาจัดหาประโยชน์ต่อไป"
          ทั้งนี้เบื้องต้นในย่านกรุงเทพฯ คาดว่าจะมี 3 แปลงที่จะนำมาประมูลในปี 2556 ได้แก่ 1.พื้นที่เขตพระนคร เนื้อที่ 2 ไร่เศษ เป็นที่ดินเดิมของกรมโรงงานอุตสาหกรรม 2.พื้นที่เขตบางพลัด เนื้อที่ 1 ไร่เศษ และ 3.พื้นที่เขตจตุจักร พื้นที่ 4 ไร่เศษ โดยทั้ง 3 แปลงเหมาะพัฒนาเชิงเศรษฐกิจ เช่น คอนโดฯ ฯลฯ ให้เช่าระยะยาว 30 ปี คาดว่าจะได้รายได้จากค่าธรรมเนียมไม่ต่ำกว่า 20 ล้านบาท
ที่มา  : ประชาชาติธุรกิจ 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น