วันอังคารที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2555

'5 ผู้นำธุรกิจ 5 ภาค'...เจาะลึก เศรษฐกิจอีสาน/ตะวันออกรุ่ง-ปักษ์ใต้ซึม


 ก้าวสู่ไตรมาสโค้งท้ายของปีแล้ว ทีมข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" ตะลุยสัมภาษณ์พิเศษนักธุรกิจมือโปร 5 คน 5 ภูมิภาคของไทยมาวิเคราะห์ เจาะลึกภาวะเศรษฐกิจในแต่ละภูมิภาค ซึ่งมีทั้งจุดแข็ง-โอกาส และความเสี่ยงต่อการวางแผนการค้า การลงทุนในปี 2556
          เมืองเหนือแหล่งผลิตอาหาร
          "ณรงค์ คองประเสริฐ" ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ เชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจในโค้งสุดท้ายจะยังขยายตัวได้จากหลายปัจจัยบวก แต่ยังมีความกังวลปัจจัยการเมือง เงินเฟ้อ ค่าแรง 300 บาท โดยเฉพาะนโยบาย "ประชานิยม" ที่รัฐบาลทุ่มงบฯมหาศาลเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะนั่นคือ ต้นทุนสำคัญของประเทศที่ส่งผลให้หนี้สินเพิ่มขึ้น และจะเกิดภาวะบริโภคเกินตัว
          ในส่วนของ จ.เชียงใหม่ เซ็กเตอร์ที่เติบโตค่อนข้างดี คือ ภาคการท่องเที่ยวที่ได้รับอานิสงส์จากงานราชพฤกษ์ (พืชสวนโลก) ในไตรมาส 1 ส่วนไตรมาส 2 นักท่องเที่ยว ลดลงเพราะเข้าสู่โลว์ซีซั่น แต่ก็โชคดีที่ได้นักท่องเที่ยวเพิ่มเข้ามาจากการเปิดบินตรงเชียงใหม่-มาเก๊า, เชียงใหม่-เกาหลี และนักท่องเที่ยวออสเตรเลีย
          ภาคการผลิตที่ดีต่อเนื่องก็คือ ภาคเกษตรแปรรูป ซึ่งภาคเหนือเป็นแหล่งผลิตอาหารที่สำคัญและมีแนวโน้มขยายตัวที่ดีมาก และธุรกิจค้าปลีกรถยนต์เติบโตขึ้นเกือบ 100%
          ขณะที่ภาคอสังหาริมทรัพย์ขยายตัวอย่างมากในเชียงใหม่ ส่วนหนึ่งเป็นผลพวงจากน้ำท่วมที่ภาคกลาง-กรุงเทพฯเมื่อปี 2554 ทำให้นักลงทุนแห่มาลงทุนทำบ้านจัดสรรและคอนโดมิเนียม ขณะที่ห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ และมอลล์ขนาดกลางก็เกิดขึ้นหลายแห่ง อีกปัจจัยที่กระตุ้นให้เร่งลงทุนมากก็คือ ผังเมืองรวมเมืองเชียงใหม่ที่จะบังคับใช้ในสิ้นปีนี้ ซึ่งไม่สนับสนุนให้เกิดการขยายตัวของเศรษฐกิจ
          แต่สิ่งที่ผู้ประกอบการกังวลมากคือ ค่าแรง 300 บาทที่จะปรับขึ้นต้นปี 2556 เพราะต้นทุนการผลิตจะเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะ ธุรกิจที่ต้องใช้แรงงานอย่างหัตถกรรม และภาคบริการ-โรงแรม อีกเรื่องที่ห่วงคือ เงินเฟ้อ ซึ่งกำลังซื้อจะลดลง
          ณรงค์ทิ้งท้ายว่า การใช้นโยบายประชานิยม ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ดีในระยะสั้น แต่จะไม่เป็นผลดีในระยะยาว รัฐควรนำเงินงบประมาณไปลงทุนในระบบโครงสร้างพื้นฐาน ให้ประชาชนมากกว่า อาทิ การก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชียงใหม่-กรุงเทพฯ ซึ่งทุกจังหวัดในภาคเหนือก็จะได้รับประโยชน์ เพราะต้นทุนด้านโลจิสติกส์บ้านเราสูงมาก
          เขยฝรั่ง-จีนปักหลักอีสาน
          "สมชัย ไกรครุฑรี" กรรมการรองเลขาธิการหอการค้าไทย ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคตะวันออก เฉียงเหนือ เปิดเผยว่า ภาคอีสานเป็นภูมิภาคที่โชคดีที่ไม่มีเหตุการณ์รุนแรงทั้งน้ำท่วมหรือแผ่นดินไหว ขณะที่กำลังซื้อที่ไหลเวียนในภูมิภาคได้จากประเทศเพื่อนบ้านจำนวนมากทั้ง สปป.ลาว เวียดนาม กัมพูชาที่ต้องซึ้อสินค้าจากไทย 70-80% เฉพาะอุดรธานีมีรถยนต์จากเพื่อนบ้านเข้ามาในจังหวัดเฉลี่ย 3,000 กว่าคัน/วัน มีส่วนแบ่ง ของเม็ดเงินถึง 60% โดยหนองคายและขอนแก่นแบ่งกันไปจังหวัดละ 20%
          เช่นเดียวกับภาคการเกษตร มีปริมาณผลผลิต 22% ของประเทศ ข้าวหอมมะลิยังเป็นเบอร์ 1 และตามมาติด ๆ คือ ยางพารา ข้าว มันสำปะหลัง อ้อย ส่วนภาคการท่องเที่ยว และภาคอุตสาหกรรมก็ทยอยย้ายฐานการผลิตมาในอีสาน ทำให้รายได้ของประชากรดีขึ้นเรื่อย ๆ
          สิ่งที่น่าจับตามองคือ จีนเล็งภาคอีสานของไทยไว้ในอนาคตอันใกล้
          "มีการประชุมร่วมระหว่างหอการค้าไทยและหอการค้าภาคอีสานทั้ง 20 จังหวัด ยังไม่มีใครบ่นว่าค้าขายไม่ดี แต่สิ่งที่กังวลคือ เอสเอ็มอีกับการขึ้นค่าแรงงาน 300 บาทต้นปีหน้า ถ้าค่อย ๆ ขึ้น 20%, 50% และ 70% จะเป็นผลดีมากกว่า"
          สมชัยมองการเติบโตของภาคอีสานว่า ขณะนี้เป็นภาคที่ถูกพูดถึงทั้งในแง่ของการลงทุนและการมองหาที่พักอาศัยในอนาคต โดยเฉพาะคนกรุงเริ่มมองหาบ้านหลังที่ 2 ซึ่งเชียงใหม่ก็เริ่มแออัดแล้ว กลุ่มผู้เกษียณทั้งคนไทย และเขยฝรั่งในภูมิภาคนี้กว่า 4 หมื่นคู่ ก็เลือกที่จะปักหลักที่อีสาน ทั้งโคราช ขอนแก่น อุดรฯ หนองบัวลำภู หนองคาย สุรินทร์ กาฬสินธุ์ บุรีรัมย์ แต่วาระเร่งด่วนก็คือ การ "บริหารจัดการน้ำ" อย่างเป็นระบบในภาคอีสาน
          รง.ภาคกลางอ่วมค่าจ้าง 300-โลกร้อน
          "ดร.สิงห์ ตั้งเจริญชัยชนะ" ประธานสภาอุตสาหกรรมภาคกลาง มองว่า เศรษฐกิจภาพรวมปีนี้น่าจะเติบโตอยู่ที่ 7% เนื่องจากในระยะนี้ไปจนถึงปลายปี'55 ผลผลิตการเกษตรมีปัญหา ทำให้กำลังการผลิตลดน้อยลง และวิกฤตเศรษฐกิจโลก ทำให้ยอดการสั่งซื้อลดลงเช่นกัน
          ส่วนปัญหาในประเทศเกิดจากการเปลี่ยนแปลงด้านภูมิอากาศ ฝนฟ้าไม่ตกต้องตามฤดูกาล ช่วงนี้จึงไม่มีผลผลิตข้าวโพดหวาน สับปะรด ป้อนเข้าสู่โรงงาน และในบางจังหวัดเกิดปัญหาน้ำท่วมขังพื้นที่ปลูกข้าว ฝนตกชุกเกือบทุกวันก็กรีดยางพาราไม่ได้ ทั้ง ๆ ที่ราคายางตกต่ำอยู่แล้ว
          นอกจากนี้อุตสาหกรรมรถยนต์โดยเฉพาะรถบรรทุกเพื่อใช้ในการขนส่งปัจจุบันขาดแคลนมาก หากต้องการใช้รถจะต้องรอนาน 6-10 เดือน ขณะที่ราคาน้ำมัน เชื้อเพลิงก็ปรับขึ้นทำให้ค่าขนส่งสูงขึ้น
          อีกทั้งผู้ประกอบการหลายรายยังกังวลการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท พร้อมกันทั่วประเทศในวันที่ 1 ม.ค. 56 บางจังหวัดเท่ากับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำถึง 100% ส่วน ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีก็ทยอยปิดกิจการไปตั้งแต่เกิดเหตุน้ำท่วมเมื่อปีที่แล้ว ส่วนอุตฯขนาดกลางและขนาดใหญ่ได้เตรียมนำเครื่องจักรเข้ามาทดแทนแรงงาน ในระยะยาวการจ้างงานลดลงแน่นอน
          อุตฯหัวหอกใต้ทรุด-ปีหน้าเผาจริง
          "ทวี ปิยะพัฒนา" รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ดูแลพื้นที่ภาคใต้ วิเคราะห์ว่า ภาวะเศรษฐกิจของภาคใต้ในภาพรวม 3 ไตรมาสที่ผ่านมาถือว่าตกต่ำลงเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมที่เป็นหัวหอกหลักอย่างยางพารา ปาล์มน้ำมัน แปรรูปสัตว์น้ำ ส่งออกอาหารทะเล ทุกอย่างลดลงหมด ตัวเลขส่งออกลดลง 15% มีเพียงภาคการท่องเที่ยวเท่านั้นที่ยังพอไปได้
          ปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจไม่ดีมาจาก ทั่วโลก ตัวแปรมันแย่ทั้งกระดาน ไตรมาสสุดท้ายก็ยังไม่ดีขึ้น ภาวะตอนนี้ทุกคนชะลอไปหมด ต่างคนต่างประหยัด ชะลอการใช้จ่าย ล่าสุดเงินบาทแข็งค่าก็กระทบผู้ส่งออก ที่น่าห่วงคือเอสเอ็มอีต่างจังหวัด ที่พึ่งพาซัพพลายเชนจะอยู่ลำบาก เพราะปรับขึ้นราคาสินค้าไม่ได้ ขณะที่ค่าใช้จ่ายทุกอย่างแพงขึ้น ทั้งค่าแรง 300 บาท และหากรัฐบาลมีมาตรการหยุดการตรึงราคาดีเซล ก็จะกระทบหนักเข้าไปอีก
          "ผมมองว่าปีหน้าจะเป็นการเผาจริง หลังสงกรานต์จะเห็นชัดเจน"
          เรื่องเร่งด่วนที่รัฐบาลควรดำเนินการคือ 1.แก้ไข พ.ร.บ.ป่าไม้ ที่ระบุว่าการโค่นยางพาราต้องขออนุญาต ทั้ง ๆ ที่ยางเป็นป่าปลูก 2.การขยายเวลาเงินกู้ซอฟต์โลนออกไปอีก 3.ให้ประกาศพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นเขตปลอดภาษี เพื่อกระตุ้นการลงทุน และประกาศเป็นโซนพิเศษ สามารถรับแรงงานต่างด้าวได้ทุกเดือน ไม่ใช่แค่ปีละ 1 ครั้ง และขอให้รัฐบาลเร่งดำเนินการเรื่องโลจิสติกส์ โดยเฉพาะ รถไฟทางคู่จากใต้สุดถึง กทม. เพื่อเพิ่มศักยภาพการขนส่ง
          ตะวันออกสดใส-ลงทุนใหม่โต
          "สุนทร ธัญญรัตนกุล" ประธานหอการค้าจังหวัดชลบุรี ชี้ว่า ภาคตะวันออกมีการขยายตัวการลงทุนใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่องทั้งจากทุนท้องถิ่นและทุนขนาดใหญ่ครอบคลุมทุกธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นนิคมอุตสาหกรรม การค้า อสังหาริมทรัพย์ หรือธุรกิจบริการ โรงแรม ประกอบกับภูมิประเทศในภาคตะวันออกยังเอื้อต่อการลงทุน เพราะเป็นศูนย์กลางของนิคมอุตสาหกรรม อยู่ใกล้ท่าเรือน้ำลึก สนามบินสุวรรณภูมิและอู่ตะเภา สะดวกในการเดินทาง การขนส่ง การกระจายสินค้า และปัจจัยใหม่เรื่องน้ำไม่ท่วม
          "วันนี้เศรษฐกิจภาคตะวันออกสดใส มีการค้าขายลงทุนอย่างต่อเนื่อง ฉะนั้นไม่มีพระอาทิตย์ตกดินที่ภาคตะวันออกแน่นอน"
          ในส่วนของ จ.ชลบุรี ทุกวันนี้มีการลงทุนเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน ดัชนีชี้วัดสำคัญคือการซื้อขายที่ดินเพื่อการลงทุน ทำให้ราคาที่ดินเพิ่มขึ้นเท่าตัวในเขตทำเล ดี ๆ เช่น อ.ศรีราชา และ อ.เมือง เฉลี่ยไร่ละ 30-60 ล้านบาท หรือที่พัทยาเฉลี่ยไร่ละ 20 ล้านบาทขึ้นไป แต่ถ้าใกล้ชายหาดก็ไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท
          "ที่ดินในชลบุรีมีการจับจองจำนวนมาก เพื่อเตรียมขยายการลงทุน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมประกอบชิ้นส่วนยานยนต์ คนมีเงินไม่ได้อยากฝากธนาคารอย่างเดียวก็นำไปลงทุน นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเรื่องภาษีที่ดิน เมื่อรัฐยังไม่กล้าเก็บภาษีที่ดิน คนก็กล้าลงทุนมากขึ้น"
          นอกจากนี้ที่ดินในชลบุรีที่เคยเป็นแหล่งปลูกพืชเกษตร มีการแปลงสภาพไปเป็นพื้นที่อสังหาริมทรัพย์ หมู่บ้านจัดสรรขึ้นเป็นดอกเห็ด รวมทั้งการลงทุนคอนโดมิเนียม
          ปัญหาของภาคตะวันออกขณะนี้คือ การขาดแคลนแรงงานในภาคอุตสาหกรรม ส่วนใหญ่ใช้แรงงานต่างด้าว เพราะแนวโน้ม คนไทยใช้แรงงานลดน้อยลง
          ส่วนวิกฤตน้ำภาคตะวันออก ประธานหอฯชลบุรีฟันธงว่า ไม่น่าจะเป็นปัญหาสำคัญ โอกาสน้ำท่วมใหญ่หรือวิกฤตขาดแคลนน้ำในภาคตะวันออกคงไม่มี เพราะมีการ เตรียมความพร้อมไว้แล้ว
          นี่คือ 5 มุมมองสะท้อนเศรษกิจไทยที่เป็นอยู่ใน 5 ภูมิภาค...!
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น